บาลีวันละคำ

ปาฏิบุคลิกทาน (บาลีวันละคำ 3,325)

ปาฏิบุคลิกทาน

มีคนชอบทำ แต่ไม่ชอบรู้จัก

อ่านว่า ปา-ติ-บุก-คะ-ลิก-กะ-ทาน 

ประกอบด้วยคำว่า ปาฏิบุคลิก + ทาน 

(๑) “ปาฏิบุคลิก” บาลีเป็น “ปาฏิปุคฺคลิก” อ่านว่า ปา-ติ-ปุก-คะ-ลิ-กะ แยกศัพท์เป็น ปาฏิ + ปุคฺคลิก 

(ก) “ปาฏิ” รูปคำเดิมเป็น “ปฏิ-” (ปะ-ติ) 

ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “ปฏิ-” :

ปฏิ-” (ขีด – ข้างหลังหมายความว่าไม่ใช้ตามลำพัง แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ) เป็นศัพท์จำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค” 

นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลกันมาว่า “ปฏิ : เฉพาะ ตอบ ทวน กลับ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปฏิ– : คําอุปสรรคในภาษาบาลีใช้นําหน้าศัพท์อื่น แปลว่า เฉพาะ เช่น ปฏิทิน, ตอบ เช่น ปฏิพากย์, ทวน เช่น ปฏิโลม, กลับ เช่น ปฏิวัติ. (ป.; ส. ปฺรติ).”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “ปฏิ-” ว่า back (to), against, towards, in opposition to, opposite (กลับ, ตอบ, เฉพาะ, มุ่งไปยัง, ตรงกันข้าม, กลับกัน)

ปฏิ-” เมื่อประกอบกับคำว่า “ปุคฺคลิก” ทำกรรมวิธีทางไวยากรณ์โดยใช้สูตร “ทีฆะต้นศัพท์” คือ อะ ที่ -(ฏิ) เป็น อา 

ปฏิ– จึงกลายเป็น ปาฏิ

(ข) “ปุคฺคลิก” บาลีอ่านว่า ปุก-คะ-ลิ-กะ รากศัพท์มาจาก ปุคฺคล + อิก (อิ-กะ) ปัจจัย

(๑) “ปุคฺคล” (ปุก-คะ-ละ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ปุ (นรก) + คลฺ (ธาตุ = เคลื่อน) + (อะ) ปัจจัย, ซ้อน คฺ 

: ปุ + คฺ + คลฺ = ปุคฺคลฺ + = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เคลื่อนไปสู่นรก” 

(2) ปูติ (ของบูดเน่า) + คลฺ (ธาตุ = กิน) + (อะ) ปัจจัย, รัสสะ อู ที่ ปู-(ติ) เป็น อุ แล้วลบ ติ (ปูติ > ปุติ > ปุ), ซ้อน คฺ 

: ปูติ > ปุติ > ปุ + คฺ + คลฺ = ปุคฺคลฺ + = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กินอาหารคือของบูดเน่า” 

(3) ปุคฺค (อาหารที่ยังอายุของสัตว์ให้เต็ม) + ลา (ธาตุ = กิน) + (อะ) ปัจจัย, ลบ อา ที่ ลา (ลา >

: ปุคฺค + ลา = ปุคฺคลา > ปุคฺคล + = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กินอาหารที่ยังอายุของสัตว์ให้เต็มเป็นไป” (คือต้องกินจึงจะมีชีวิตอยู่ได้) 

(4) ปูร (เต็ม) + คล (เคลื่อน), รัสสะ อู ที่ ปู-(ร) เป็น อุ แล้วลบ (ปูร > ปุร > ปุ), ซ้อน คฺ ระหว่าง ปูร + คล 

: ปูร > ปุร > ปุ + คฺ + คล = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำหมู่สัตว์โลกให้เต็มและเคลื่อนไปสู่ธรรมดาคือจุติและอุบัติ” (คือเกิดมาทำให้โลกเต็มแล้วก็ตาย)

ปุคฺคล” ในบาลีหมายถึง –

(1) ปัจเจกชน, บุคคล, คน (an individual, person, man) 

(2) สัตว์, สัตว์โลก (being, creature)

ปุคฺคล” ใช้ในภาษาไทยว่า “บุคคล” (อ่านว่า บุก-คน, ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า บุก-คะ-ละ-, บุก-คน-ละ-) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

บุคคล, บุคคล– : (คำนาม) คน (เฉพาะตัว); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) คนซึ่งสามารถมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า บุคคลธรรมดา; กลุ่มบุคคลหรือองค์กรซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เป็นบุคคลอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ใช่บุคคลธรรมดา และให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า นิติบุคคล. (ป. ปุคฺคล; ส. ปุทฺคล).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเหลือเพียง –

บุคคล, บุคคล– : (คำนาม) คน (เฉพาะตัว); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล. (ป. ปุคฺคล; ส. ปุทฺคล).”

(๒) ปุคฺคล + อิก = ปุคฺคลิก แปลตามศัพท์ว่า “เป็นของเฉพาะบุคคล” หมายถึง เป็นของบุคคลคนเดียว, เฉพาะคน, ต่างหาก (belonging to a single person, individual, separate)

ปุคฺคลิก” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บุคลิก” อ่านว่า บุก-คะ-ลิก, ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า บุก-คะ-ลิก-กะ-

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บุคลิก, บุคลิก– : (คำวิเศษณ์) จําเพาะคน. (ป. ปุคฺคลิก).”

ปฏิ + ปุคฺคลิก = ปฏิปุคฺคลิก > ปาฏิปุคฺคลิก แปลว่า “เป็นของบุคคลโดยเฉพาะ” หมายถึง เฉพาะบุคคล (เจาะจง) (belonging to one’s equal)

ปาฏิปุคฺคลิก” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปาฏิบุคลิก” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ปาฏิบุคลิก : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) เฉพาะบุคคล, ไม่ทั่วไป. (ป. ปาฏิปุคฺคลิก).”

หมายเหตุ: คำว่า “คำแบบ” หมายถึง คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป

(๒) “ทาน” 

บาลีอ่านว่า ทา-นะ รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) 

: ทา + ยุ > อน = ทาน แปลตามศัพท์ว่า “การให้” “สิ่งของสำหรับให้

ทาน” มีความหมายว่า –

(1) การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

(2) สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทาน” ว่า giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence (การให้, การแจกให้, ของขวัญ; การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง)

ทาน” ใช้ในรูปเดียวกันทั้งบาลีและสันสกฤต 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ทาน : (คำนาม) ‘ทาน’, การให้, การบริจาค; มันเหลวซึ่งเยิ้มออกจากขมับช้างตกน้ำมัน; การอุปถัมภ์, การบำรุง; วิศุทธิ, นิรมลีกรณ์; การตัด, การแบ่ง; ทักษิณา, ของถวาย, ของให้เปนพิเศษ; การตี, การเฆาะ; อรัณยมธุ, น้ำผึ้งป่า; giving, gift, donation; fluid that flows from the temples of an elephant in rut; nourishing, cherishing; a present, a special gift; striking, beating; wild honey.”

ปาฏิปุคฺคลิก + ทาน = ปาฏิปุคฺคลิกทาน (ปา-ติ-ปุก-คะ-ลิ-กะ-ทา-นะ) แปลว่า “ให้เป็นของบุคคลโดยเฉพาะ” 

ปาฏิปุคฺคลิกทาน” ในภาษาไทยใช้เป็น “ปาฏิบุคลิกทาน” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ปาฏิบุคลิก” ไว้ แต่ไม่ได้เก็บคำว่า “ปาฏิบุคลิกทาน

คำว่า “ปาฏิบุคลิกทาน” มักเรียกตัดคำเหลือเพียง “บุคลิกทาน” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “บุคลิกทาน” ไว้ บอกไว้ดังนี้ –

บุคลิกทาน : (คำนาม) ทานที่ทายกให้จําเพาะตัวคน, คู่กับ สังฆทาน คือ ทานที่ให้แก่สงฆ์. (ตัดมาจาก ป. ปาฏิปุคฺคลิกทาน).”

อภิปรายขยายความ :

ปาฏิบุคลิกทาน” เป็นคำที่คู่กับ “สังฆทาน” (โปรดสังเกตว่าแม้แต่พจนานุกรมฯ ก็อธิบายว่า “บุคลิกทาน (คือ ปาฏิบุคลิกทาน) คู่กับ สังฆทาน” คนไทยรู้จักคำว่า “สังฆทาน” กันเป็นส่วนมาก แต่แทบจะไม่มีใครรู้จัก “ปาฏิบุคลิกทาน” และแม้แต่ “สังฆทาน” นั่นเองเดี๋ยวนี้ก็รู้จักอย่างผิดๆ คือเข้าใจผิดกันเสียเป็นส่วนมาก

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอถือโอกาสใช้คำว่า “ปาฏิบุคลิกทาน” เป็นสะพานข้ามไปทำความเข้าใจ “ทาน” ทั้งสองอย่างดังต่อไปนี้ 

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [12] ขยายความคำว่า “ทาน” ไว้ว่า –

…………..

[12] ทาน 2 (การให้ — Dāna: gift; giving; almsgiving; offering; charity; liberality; generosity; benevolence; donation; benefaction)

1. ปาฏิบุคลิกทาน (การให้จำเพาะบุคคล, ทานที่ให้เจาะจงตัวบุคคลหรือให้เฉพาะแก่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง — Pāṭipuggalika-dāna: offering to a particular person; a gift designated to a particular person)

2. สังฆทาน (การให้แก่สงฆ์, ทานที่ถวายแก่สงฆ์เป็นส่วนรวม หรือให้แก่บุคคล เช่นพระภิกษุหรือภิกษุณีอย่างเป็นกลางๆ ในฐานะเป็นตัวแทนของสงฆ์ โดยอุทิศต่อสงฆ์ ไม่เจาะจงรูปใดรูปหนึ่ง — Saṅghadāna: offering to the Sangha; a gift dedicated to the Order or to the community of monks as a whole)

ในบาลีเดิมเรียกปาฏิบุคลิกทานว่า ปาฏิปุคฺคลิกา ทกฺขิณา (ของถวายหรือของให้ที่จำเพาะบุคคล) และเรียกสังฆทาน ว่า สงฺฆคตา ทกฺขิณา (ของถวายหรือของให้ที่ถึงในสงฆ์)

ในทาน 2 อย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญสังฆทานว่าเป็นเลิศ มีผลมากที่สุด ดังพุทธพจน์ว่า “เราไม่กล่าวว่า ปาฏิบุคลิกทานมีผลมากกว่าของที่ให้แก่สงฆ์ ไม่ว่าโดยปริยายใดๆ” และได้ตรัสชักชวนให้ให้สังฆทาน

…………..

คำที่เราพูดกันด้วยความเข้าใจผิดมากที่สุดก็คือคำว่า “ถวายสังฆทาน” เราพูดว่า “ถวายสังฆทาน” ด้วยความเข้าใจผิดๆ ว่า “สังฆทาน” เป็น “สิ่งของ” ชนิดหนึ่ง

ฝ่ายผู้ประกอบการค้าก็ยิ่งตอกย้ำความเข้าใจผิดด้วยการผลิตสิ่งของจำพวกหนึ่งขึ้นมาแล้วเรียกว่า “ชุดสังฆทาน” ผู้คนก็พากันเข้าใจว่าชุดสังฆทานนั่นแหละคือ “สังฆทาน” เอาชุดสังฆทานไปถวายพระก็พากันเข้าใจว่านั่นแหละคือ “ถวายสังฆทาน” ถึงกับในช่วงเวลาหนึ่งผู้คนเป็นอันมากพากันยืนยันว่า จะถวายสังฆทานต้องมี “ชุดสังฆทาน” จึงจะเป็น “สังฆทาน” ไม่มีชุดสังฆทาน ไม่เป็นสังฆทาน แม้ถึงวันนี้ก็ยังมีคนเชื่ออย่างนี้อยู่

ที่หนักกว่านั้นก็คือ นักเรียนบาลีของเราเองก็ช่วยกันอธิบายว่า “สังฆทาน” เป็นชื่อสิ่งของ เช่นตั้งวิเคราะห์ ( = การกระจายคำเพื่อหาความหมาย) ว่า “สงฺฆสฺส ทาตพฺพนฺติ สงฺฆทานํ = สิ่งของอันบุคคลพึงถวายแก่สงฆ์ ชื่อว่า สังฆทาน” ทำให้ผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องสังฆทานพากันเชื่อมั่นดิ่งลงไปอีก 

โปรดทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า “สังฆทาน” เป็นคำเรียกเจตนาที่จะถวายสิ่งของให้เป็นของสงฆ์ ไม่มีสิ่งของชนิดใดๆ ทั้งสิ้นที่มีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า “สังฆทาน”

โปรดสดับคำอธิบายประกอบต่อไปนี้:

เรามีอาหารอยู่ชุดหนึ่ง เอาอาหารนั้นไปให้สุนัขกิน เป็น “สังฆทาน” หรือไม่? ไม่เป็น ไม่ใช่ เราให้อะไรแก่สุนัข? เราให้ “อาหาร” แก่สุนัข

เอาอาหารนั้นไปให้คนขอทาน เป็น “สังฆทาน” หรือไม่? ไม่เป็น ไม่ใช่ เราให้อะไรแก่คนขอทาน? เราให้ “อาหาร” แก่คนขอทาน 

เอาอาหารนั้นไปถวายพระมหาทองย้อยเป็นส่วนตัว เป็น “สังฆทาน” หรือไม่? ไม่เป็น ไม่ใช่ แบบนั้นเป็น “ปาฏิบุคลิกทาน” เราถวายอะไรแก่พระมหาทองย้อย? เราถวาย “อาหาร” แก่พระมหาทองย้อย 

เอาอาหารนั้นไปถวายเป็นของสงฆ์ เป็น “สังฆทาน” หรือไม่? เป็นสังฆทาน ใช่เลย อย่างนี้แหละคือ “สังฆทาน” เราถวายอะไรแก่สงฆ์? เราถวาย “อาหาร” แก่สงฆ์ อ้าว! ไม่ใช่ถวาย “สังฆทาน” แก่สงฆ์ดอกรึ!?

จะเห็นได้ว่า อาหารชุดนั้นให้สุนัขกิน ให้คนขอทาน หรือแม้แต่ถวายพระเป็นส่วนตัว ไม่เป็นสังฆทาน แต่อาหารชุดเดียวกันนั่นเองถวายเป็นของสงฆ์ เป็นสังฆทาน

ถ้า “อาหาร” ชุดนั้นเป็น “สังฆทาน” (ตามที่เข้าใจกันผิดๆ) เอาหารนั้นให้สุนัข ก็ต้องเป็นสังฆทาน เอาหารนั้นให้คนขอทาน ก็ต้องเป็นสังฆทาน เอาหารนั้นถวายพระเป็นส่วนตัว ก็ต้องเป็นสังฆทาน แต่นี่ไม่เป็น จะเป็น “สังฆทาน” ก็ต่อเมื่อเอาอาหารนั้นไปถวายเป็นของสงฆ์ เป็นการยืนยันว่า สังฆทานไม่ได้อยู่ที่สิ่งของ แต่อยู่ที่เจตนาแห่งการถวายประกอบด้วยสถานะของผู้รับ

เราถวายอะไรแก่สงฆ์ การถวายด้วยเจตนาเช่นนั้นแหละเรียกว่า “ถวายสังฆทาน” แต่ไม่มีสิ่งของชนิดใดๆ ที่มีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า “สังฆทาน”

และเวลาถวาย เราถวาย “สิ่งของ” ไม่ใช่ถวาย “สังฆทาน” เพราะ “สังฆทาน” ไม่ใช่สิ่งของ ไม่ได้เป็น “สังฆทาน” ที่สิ่งของ และไม่มีสิ่งของชนิดใดๆ ที่มีชื่อเรียกว่า “สังฆทาน”

จะถวายอะไรให้เป็นของสงฆ์ ก็ระบุชื่อลงไป เช่น –

ถวายอาหาร ก็ระบุลงไปว่า “อิมานิ มยํ ภนฺเต ภตฺตานิ …”

ถวายสิ่งของหลายอย่างอันสมควรแก่สมณบริโภค ก็ระบุลงไปว่า “อิมานิ มยํ ภนฺเต กปฺปิยภณฺฑานิ …”

คำถวายยอดนิยม “อิมานิ มยํ ภนฺเต สงฺฆทานานิ …” ควรจะเลิกกันได้หรือยังเจ้าข้า!?

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความเป็นเศรษฐีไม่ได้วัดกันที่มีเท่าไร

: แต่วัดกันที่ให้ได้เท่าไร

#บาลีวันละคำ (3,325)

20-7-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *