อิริยาบถ – อีกที (บาลีวันละคำ 4,622)

อิริยาบถ – อีกที
ท่านมีแรงเขียนคำผิด
ข้าพเจ้าก็มีแรงบอกคำถูก
“อิริยาบถ” ภาษาไทยอ่านว่า อิ-ริ-ยา-บด
บาลีเป็น “อิริยาปถ” อ่านว่า อิ-ริ-ยา-ปะ-ถะ
“อิริยาปถ” แยกคำเป็น อิริยา + ปถ
(๑) “อิริยา”
อ่านว่า อิ-ริ-ยา รากศัพท์มาจาก อิริย (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: อิริยฺ + อ = อิริย + อา = อิริยา แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาเป็นเหตุเป็นไปแห่งอัตภาพ” หรือ “กิริยาเป็นเหตุเป็นไปแห่งกิจทางร่างกาย” หมายถึง การเคลื่อนไหว, กิริยาอาการ, ท่าทาง (movement, posture, deportment)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อิริยา : (คำนาม) อาการเคลื่อนไหว, กิริยา, ท่าทาง. (ป.; ส. อีรฺยา).”
(๒) “ปถ”
อ่านว่า ปะ-ถะ รากศัพท์มาจาก ปถฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย
: ปถฺ + อ = ปถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นเครื่องเดินไป” (2) “ที่เป็นที่ไป” (3) “ที่อันผู้มีกิจน้อยใหญ่เกิดขึ้นดำเนินไป” หมายถึง หนทาง, ถนน, ทาง (path, road, way)
บาลี “ปถ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บถ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บถ : (คำแบบ) (คำนาม) ทาง เช่น กรรมบถ. (ป. ปถ).”
หมายเหตุ: คำว่า “คำแบบ” หมายความว่า คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป
: อิริยา + ปถ = อิริยาปถ (อิ-ริ-ยา-ปะ-ถะ) แปลตามศัพท์ว่า “ครรลองแห่งการเคลื่อนไหว”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อิริยาปถ” ว่า way of deportment; mode of movement; good behaviour
พจนานุกรม บาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ (ซึ่งใช้พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ เป็นต้นฉบับ) แปลภาษาอังกฤษเป็นไทยว่า อิริยาบถ, อาการของการเคลื่อนไหว; ความประพฤติดี
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความไว้ว่า –
There are 4 iriyāpathas or postures, viz. walking, standing, sitting, lying down
อิริยาบถหรืออาการมี 4 อย่าง, กล่าวคือ การเดิน, การยืน, การนั่ง, การนอน
ที่ยกพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ มาอ้าง ไม่ได้หมายความว่านับถือเลื่อมใสฝรั่งเหนือกว่าครูบาอาจารย์บาลีของไทย แต่เพื่อให้เห็นร่องรอยลีลาว่า ฝรั่งเรียนบาลีและเข้าใจบาลีแบบไหน
สรุปว่า “อิริยาปถ” ที่เป็นหลักหรืออิริยาบถใหญ่มี 4 อย่าง คือ –
การเดิน (walking)
การยืน (standing)
การนั่ง (sitting)
การนอน (lying down)
บาลี “อิริยาปถ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อิริยาบถ”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “อิริยาบถ” ไว้ดังนี้ –
…………..
อิริยาบถ : “ทางแห่งการเคลื่อนไหว”, ท่าทางที่ร่างกายจะเป็นไป, ท่าที่เคลื่อนไหวตั้งวางร่างกายอย่างใดอย่างหนึ่ง, อิริยาบถหลักมี ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน, อิริยาบถย่อย เรียกว่า จุณณิยอิริยาบถ หรือ จุณณิกอิริยาบถ ได้แก่ ท่าที่แปรเปลี่ยนยักย้ายไประหว่างอิริยาบถทั้ง ๔ นั้น
…………..
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อิริยาบถ : (คำนาม) อาการที่ร่างกายอยู่ในท่าใดท่าหนึ่ง เช่น วิ่ง กระโดด เดิน ยืน นั่ง นอน, ถ้าตามมหาสติปัฏฐานสูตร กำหนดไว้ ๔ อย่าง คือ เดิน ยืน นั่ง นอน. (ป.).”
ประกาศ :
คำว่า “อิริยาบถ” ประกอบด้วยคำว่า “อิริยา” และคำว่า “บถ”
คำว่า “อิริยา” คือ อิ-ริ-ยา
ไม่ใช่ อริยา
และไม่ใช่ อริย
คำว่า “บถ” คือ –บถ ถ ถุง สะกด
ไม่ใช่ บท ท ทหาร
“อิริยาบถ”
ไม่ใช่ อริยาบถ
ไม่ใช่ อริยบถ
ไม่ใช่ อิริยาบท
ไม่ใช่ อริยาบท
ไม่ใช่ อริยบท
แต่-คือ “อิริยาบถ” อิ-ริ-ยา-บถ
แถม :
การเขียนภาษาไทยก็ใช้หลักเดียวกับการปฏิบัติตามกฎกติกาทั้งปวงในสังคม
เช่น ข้ามถนนที่ทางม้าลาย
เราก็รับรู้กติกาว่า เขาให้ข้ามถนนที่ทางม้าลาย
ทุกครั้งที่จะข้ามถนน เราก็มองหาทางม้าลาย และข้ามที่ทางม้าลาย
ง่าย ๆ แค่นี้
การเขียนภาษาไทยก็เช่นเดียวกัน
เราก็รับรู้กติกาว่า คำนี้เขียนอย่างนี้ สะกดอย่างนี้
ทุกครั้งที่จะเขียนคำนั้น เราก็ตรวจสอบว่าคำนั้นสะกดอย่างไร แล้วก็สะกดตามนั้น
ง่าย ๆ แค่นี้
การสะกดคำให้ถูกต้องตามหลักภาษา ไม่ใช่การบังคับให้เราเอาศีรษะเดินต่างเท้า เพราะฉะนั้น จึงอยู่ในวิสัยที่ทุกคนสามารถปฏิบัติตามได้ ไม่ยาก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ความมักง่ายเป็นมิตรที่แสนดี
: แต่เป็นศัตรูที่แสนเลว
———————
ที่เขียนคำว่า “อิริยาบถ” เป็นบาลีวันละคำอีกที (และอาจจะต้องอีกหลายที) เพราะวันนี้ (6 ก.พ.2568) ได้อ่านโพสต์ที่อยู่ในระดับสูงโพสต์หนึ่ง ท่านสะกดคำว่า “อิริยาบถ” เป็น “อริยาบท” อย่างไม่น่าเชื่อ จึงขอถือเป็นโอกาสทบทวนความรู้กันอีกที
#บาลีวันละคำ (4,622)
6-2-68
…………………………….
…………………………….