บาลีวันละคำ

บุหรี่ (บาลีวันละคำ 4,621)

บุหรี่

บาลีว่าอย่างไร

คำว่า “บุหรี่” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

บุหรี่ : (คำนาม) ยาสูบที่ใช้ใบตองหรือกระดาษเป็นต้นมวนใบยาที่หั่นเป็นฝอย.”

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล “บุหรี่” เป็นอังกฤษว่า cigar, cigarette

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล cigar, cigarette เป็นบาลีว่า:

dhūmavaṭṭikā ธูมวฏฺฏิกา (ทู-มะ-วัด-ติ-กา) = สิ่งที่เป็นมวนกลมและมีควัน

…………..

ธูมวฏฺฏิกา” ประกอบด้วยคำว่า ธูม + วฏฺฏิกา 

(๑) “ธูม

อ่านว่า ทู-มะ รากศัพท์มาจาก ธู (ธาตุ = หวั่นไหว) + ปัจจัย

: ธู + = ธูม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เคลื่อนไหวขึ้นไปข้างบน” หมายถึง ควันไฟ, ไอ (smoke, fumes) 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บรูปคำ “ธูม” ไว้ แต่เก็บเป็น “ธุม” (ธุ– สระ อุ) บอกไว้ว่า – 

ธุม, ธุม– : (คำแบบ) (คำนาม) ควัน. (ป., ส. ธูม).”

(๒) “วฏฺฏิกา

อ่านว่า วัด-ติ-กา รูปคำเดิมมาจาก วฏฺฏิ + สกรรถ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

(ก) “วฏฺฏิ” อ่านว่า วัด-ติ รากศัพท์มาจาก วฏฺฏ (ธาตุ = หมุน, วน) + อิ ปัจจัย

: วฏฺฏ + อิ = วฏฺฏิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่กลม” “สิ่งที่หมุนเวียน” 

วฏฺฏิ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ไส้ตะเกียง (a wick) 

(2) สิ่งที่สอดเข้าไป, ผ้าซับใน, เยื่อ, หนัง (enclosure, lining, film, skin) 

(3) ขอบ, มุม, ริม, เส้นรอบวง (edge, rim, brim, cireumference) 

(4) ตอน, ขอบ, ชาย (strip, fringe) 

(5) ฝัก, ถุง, ฝักถั่ว (a sheath, bag, pod) 

(6) ก้อน, ลูกกลม (a lump, ball) 

(7) การกลิ้งหรือม้วน, การไหล [พูดถึงน้ำ], การเทลง (rolling forth or along, a gush [of water], pour) 

(ข) วฏฺฏิ + สกรรถ (ลง ปัจจัย แต่มีความหมายเท่าเดิม) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: วฏฺฏิ + = วฏฺฏิก + อา = วฏฺฏิกา (วัด-ติ-กา) แปลว่า “สิ่งที่กลม” “สิ่งที่หมุนเวียน” “สิ่งที่ประกอบกันเป็นมวน” มีความหมายเท่ากับ “วฏฺฏิ

ธูม + วฏฺฏิกา = ธูมวฏฺฏิกา (ทู-มะ-วัด-ติ-กา) แปลว่า “มวนที่มีควัน” > บุหรี่ > cigar, cigarette 

ขยายความ :

คำว่า “มวน” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้เป็น “มวน ๒” บอกไว้ว่า – 

มวน ๒ : (คำกริยา) ม้วนเส้นยาสูบด้วยใบตองหรือใบจากเป็นต้นให้เป็นบุหรี่. (คำนาม) ลักษณนามของบุหรี่ เช่น บุหรี่ ๒ มวน.”

…………..

บุหรี่” นั้น ตามวัฒนธรรมเดิมของไทย เมื่อจัดถวายพระ ท่านเรียกว่า “เภสัช” 

แปลว่าเรามองว่า “บุหรี่” เป็น “ยา” ชนิดหนึ่ง

จึงขึ้นอยู่กับว่า พระสูบบุหรี่ในฐานะเป็น “ยา” หรือสูบในฐานะเป็น “ยาเสพติด” 

และจะมีเกณฑ์วินิจฉัยอย่างไรว่า สูบแค่ไหนเป็นยา สูบแค่ไหนเป็นยาเสพติด กระบวนการตรวจสอบจะทำกันอย่างไร

แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ในวิถีชีวิตสงฆ์ มีความจำเป็นแค่ไหนเพียงไรที่พระจะต้องใช้วิธีบุหรี่เป็นยารักษาโรค 

ใครจะเป็นผู้ตอบวินิจฉัยคำถามนี้?

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ห้ามใจไม่ได้ ห้ามอะไรก็ห้ามไม่ได้

: ห้ามใจได้ ก็ไม่ต้องห้ามอะไรเลย

#บาลีวันละคำ (4,621)

5-2-68 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *