บาลีวันละคำ

ปาฏิบท (บาลีวันละคำ 4,624)

ปาฏิบท

คำบาลีที่ช่วยชี้ให้เห็นกฎของคำไทย

อ่านว่า ปา-ติ-บท

แยกศัพท์เท่าที่ตาเห็นเป็น ปาฏิ + บท

(๑) “ปาฏิ” 

รูปคำเดิมเป็น “ปฏิ-” อ่านว่า ปะ-ติ 

ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “ปฏิ-” :

ปฏิ-” (ขีด – ข้างหลังหมายความว่าไม่ใช้ตามลำพัง แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ) เป็นศัพท์จำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค” 

นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลกันมาว่า “ปฏิ : เฉพาะ ตอบ ทวน กลับ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปฏิ– : คําอุปสรรคในภาษาบาลีใช้นําหน้าศัพท์อื่น แปลว่า เฉพาะ เช่น ปฏิทิน, ตอบ เช่น ปฏิพากย์, ทวน เช่น ปฏิโลม, กลับ เช่น ปฏิวัติ. (ป.; ส. ปฺรติ).”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “ปฏิ-” ว่า back (to), against, towards, in opposition to, opposite (กลับ, ตอบ, เฉพาะ, มุ่งไปยัง, ตรงกันข้าม, กลับกัน)

ในที่นี้ “ปฏิ-” ประกอบกับคำว่า “ปท” ทำกรรมวิธีทางไวยากรณ์โดยใช้สูตร “ทีฆะต้นศัพท์” คือ อะ ที่ -(ฏิ) เป็น อา 

ปฏิ– จึงกลายเป็น ปาฏิ

(๒) “บท” 

บาลีเป็น “ปท” อ่านว่า ปะ-ทะ รากศัพท์มาจาก ปทฺ (ธาตุ = บรรลุ, ถึง) + (อะ) ปัจจัย

: ปทฺ + = ปท (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สภาวะอันพระอริยะบรรลุ” = นิพพาน (2) “สิ่งเป็นเหตุเป็นไปแห่งผล” = เหตุ, เค้ามูล, ปัจจัย (3) “อวัยวะเป็นเครื่องเดินไป” = เท้า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปท” (ท ทหาร สะกด) ดังนี้ –

(1) foot (เท้า)

(2) step, footstep, track (การก้าว, รอยเท้า, ทาง)

(3) way, path (หนทาง, ช่องทาง)

(4) position, place (ตำแหน่ง, สถานที่) 

(5) case, lot, principle, part, constituent, characteristic, ingredient, item, thing, element (กรณี, โชคชะตา, หลักการ, ส่วน, องค์ประกอบ, ลักษณะ, ส่วนประกอบ, รายการ, สิ่งของ, มูลฐาน)

(6) a word, verse [or a quarter of a verse], stanza, line, sentence (คำ, ฉันท์ [หรือหนึ่งในสี่ของฉันท์], โศลก, บท, ประโยค)

ปท” ในภาษาไทยมักใช้ทับศัพท์ว่า “บท” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “บท” ในภาษาไทยไว้ดังนี้ –

(1) ข้อความเรื่องหนึ่ง ๆ หรือตอนหนึ่ง ๆ เช่น บทที่ ๑ บทที่ ๒.

(2) กำหนดคำประพันธ์ที่ลงความตอนหนึ่ง ๆ เช่น โคลง ๔ สุภาพ ๔ บาท เป็น ๑ บท

(3) คำที่ตัวละครพูด เช่น บอกบท.

(4) คำประพันธ์ที่เขียนขึ้นสำหรับเล่นละคร มีทั้งบทร้องและบทเจรจา เช่น บอกบท เขียนบท.

(5) คราว, ตอน, ในคำเช่น บทจะทำก็ทำกันใหญ่ บทจะไปก็ไปเฉย ๆ บทจะตายก็ตายง่ายเหลือเกิน.

ปฏิ + ปท + (อะ) ปัจจัย, “ทีฆะต้นศัพท์” คือ อะ ที่ -(ฏิ) เป็น อา 

: ปฏิ + ปทฺ = ปฏิปทฺ + = ปฏิปท > ปาฏิปท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “วันที่มีดวงจันทร์ถึงความดับมืดหรือสว่างขึ้น” = วันแรกของปักษ์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปาฏิปท” ว่า lit, “entering, beginning”; the first day of the lunar fortnight (ตามตัว. “การเข้าไป, การเริ่มต้น”; วันหนึ่งค่ำทางจันทรคติ) 

บาลี “ปาฏิปท” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปาฏิบท” 

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายคำว่า “ปาฏิบท” ไว้ว่า –

ปาฏิบท : วันขึ้นค่ำหนึ่ง หรือวันแรมค่ำหนึ่ง แต่มักหมายถึงอย่างหลัง คือแรมค่ำหนึ่ง.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปาฏิบท : (คำแบบ) (คำนาม) วันขึ้นค่ำหนึ่ง หรือแรมค่ำหนึ่ง. (ป.).”

ขยายความ :

ที่ยกคำว่า “ปาฏิบท” มาเขียนเป็นบาลีวันละคำ ก็เพราะต้องการชี้ให้เห็นคำว่า “ค่ำหนึ่ง”

คำว่า “ค่ำหนึ่ง” นี้ คนสมัยใหม่จะพูดว่า “หนึ่งค่ำ” หรือเขียนเป็นตัวเลขว่า “1 ค่ำ” และจะไม่รู้จักคำว่า “ค่ำหนึ่ง” 

ได้ยินคนเก่าพูดว่า “ค่ำหนึ่ง” ก็เข้าใจว่าพูดผิด คือเข้าใจไปว่า “หนึ่งค่ำ” เป็นคำถูก ส่วน “ค่ำหนึ่ง” เป็นคำผิด

ความจริงตรงกันข้าม ภาษาไทยแท้ของเรา ท่านพูดว่า “ค่ำหนึ่ง” ผู้เขียนบาลีวันละคำเป็นเด็กชนบท ได้ยินผู้ใหญ่พูดว่า “ค่ำหนึ่ง” มาตั้งแต่จำความได้ ไม่เคยได้ยินใครพูดว่า “หนึ่งค่ำ” เลย

คนสมัยใหม่พูดว่า “หนึ่งค่ำ” ก็เพราะไม่ได้ศึกษาสืบทอดคติเก่าอันเป็นสมบัติวัฒนธรรมทางภาษาของชาติตนเอง

เมื่อพูดผิดมากคนเข้าและพูดผิดตามกันไปเพราะไม่ได้ศึกษา จึงเอาข้อที่ว่า “ภาษาเป็นสิ่งสมมุติ” มาแปรความเป็นทฤษฎีวิปริตว่า “เป็นสิ่งสมมุติ” หมายความว่าไม่มีผิดไม่มีถูก สุดแต่ว่าจะสมมุติกันอย่างไร ถ้าคนส่วนมากสมมุติกันอย่างนี้ พูดแล้วเข้าใจตรงกันว่าสื่อถึงอะไร ก็ใช้ได้แล้ว

ถ้าถือตามนี้ ต่อไปก็ไม่ต้องศึกษา เรียนรู้ สืบทอด ถ่ายทอด รักษาสมบัติวัฒนธรรมของชาติ ใครอยากประพฤติอะไรอย่างไรก็ทำกันตามใจชอบ ไม่ต้องคำนึงถึงถูกผิด ทำกันมาก ๆ ก็เห็นเป็นดีเป็นถูก เป็นข้ออ้างต่อไปอีกว่า-ใคร ๆ ที่ไหน ๆ เขาก็ทำกันอย่างนี้

ขาดวัฒนธรรมอันดีงามเสียแล้ว คนจะต่างอะไรกับสัตว์?

…………..

ดูก่อนภราดา!

อาหารนิทฺทา  ภยเมถุนญฺจ

สามญฺญเมตปฺปสุภี  นรานํ

ธมฺโมว  เตสํ  อธิโก  วิเสโส

ธมฺเมน  หีนา  ปสุภี  สมานา.

กิน นอน กลัว สืบพันธุ์

มีเสมอกันทั้งคนและสัตว์

ธรรมทำให้คนประเสริฐเหนือสัตว์

ทิ้งธรรม คนก็ต่ำเท่ากับสัตว์

#บาลีวันละคำ (4,624)

8-2-68

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *