พิสูจน์อักษร (บาลีวันละคำ 4,623)

พิสูจน์อักษร
สำคัญแค่ไหน ดูแต่พจนานุกรมไทยยังต้องเก็บคำนี้
อ่านว่า พิ-สูด-อัก-สอน
ประกอบด้วยคำว่า พิสูจน์ + อักษร
(๑) “พิสูจน์”
บาลีเป็น “วิสูจน” อ่านว่า วิ-สู-จะ-นะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + สูจฺ (ธาตุ = บ่ง, ชี้แจง, ประกาศ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: วิ + สูจฺ = วิสูจฺ + ยุ > อน = วิสูจน แปลตามศัพท์ว่า “การบ่งอย่างพิเศษ” หมายถึง การบ่งชี้, การแสดง (indicating, exhibiting)
“วิสูจน” มีนัย 2 อย่าง คือ –
(1) มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งหมกกลบอยู่ เช่นแผลกลัดหนอง เอาของแหลมเจาะแทงให้หนองไหลออกมาเพื่อให้รู้ว่าแผลและหนองมีอาการและลักษณะอย่างไร เป็นต้น ก็เรียกว่า “วิสูจน”
(2) มีปัญหา คือความสงสัยเคลือบแคลงว่า ความจริง ของจริง หรือข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรกันแน่ จึงค้นคว้าหาคำตอบเพื่อให้สิ้นสงสัย ก็เรียกว่า “วิสูจน”
ในภาษาไทย “วิสูจน” แผลง ว– เป็น พ– ตามหลักนิยมของไทย
: วิสูจน > พิสูจน
และเพื่อให้สะดวกแก่การออกเสียงแบบไทย จึงใส่เครื่องหมายทัณฑฆาตที่ น เป็น “พิสูจน์” อ่านว่า พิ-สูด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พิสูจน์ : (คำกริยา) บ่ง, ชี้แจงให้รู้เหตุผล, เช่น เอาพยานหลักฐานไปพิสูจน์ความจริงในศาล, ทดลองให้เห็นจริง, ทดลองหาความจริง, เช่น มีวิธีพิสูจน์ว่าเป็นผงชูรสแท้หรือไม่. (ส. วิสูจน).”
(๒) “อักษร”
อ่านว่า อัก-สอน บาลีเป็น “อกฺขร” อ่านว่า อัก-ขะ-ระ รากศัพท์มาจาก –
(1) น (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + ขร ( = แข็ง, ธาตุ = พินาศ) + อ (อะ) ปัจจัย, ซ้อน กฺ ระหว่างบทหน้ากับธาตุ, แปลง น เป็น อ
: น + กฺ + ขรฺ = นกฺขรฺ + อ = นกฺขรฺ > อกฺขร แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ไม่เป็นของแข็ง” (2) “สิ่งที่ไม่พินาศไป” (คือไม่เสื่อมสิ้นไป)
(2) น (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + ขี (ธาตุ = สิ้นไป) + อร ปัจจัย, ซ้อน กฺ ระหว่างบทหน้ากับธาตุ, แปลง น เป็น อ, แปลง อี (ที่ ขี) เป็น อะ
: น + กฺ + ขี = นกฺขี + อร = นกฺขีร > นกฺขร > อกฺขร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไม่สิ้นไป” (คือใช้ไม่มีวันหมด)
“อกฺขร” (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เป็นคำนาม หมายถึง เสียงที่เปล่งออก, เสียงสูงต่ำ, คำ, ถ้อยคำ (sounds, tones, words)
(2) เป็นคุณศัพท์ หมายถึง มั่นคง, คงเส้นคงวา, ทนทาน, ยั่งยืน (constant, durable, lasting)
บาลี “อกฺขร” สันสกฤตเป็น “อกฺษร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“อกฺษร : (คำนาม) อักขระตัวหนึ่ง; a letter of the alphabet.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “อักขระ” ตามบาลี และ “อักษร” ตามสันสกฤต บอกไว้ดังนี้ –
(1) อักขร-, อักขระ : (คำนาม) ตัวหนังสือ. (ป.; ส. อกฺษร).
(2) อักษร, อักษร– : (คำนาม) ตัวหนังสือ, วิชาหนังสือ เช่น ฉลาดรอบรู้ในอักษรสยาม. (ส.; ป. อกฺขร).
พิสูจน์ + อักษร = พิสูจน์อักษร เป็นคำประสมแบบไทย แปลจากหน้าไปหลังว่า “ตรวจตัวหนังสือ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “พิสูจน์อักษร” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –
“พิสูจน์อักษร : (คำกริยา) ตรวจและแก้ไขที่ผิดในการพิมพ์หนังสือ.”
ขยายความ :
คำว่า “พิสูจน์” รู้กันว่าคำอังกฤษว่า proof
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล proof เป็นไทยดังนี้ –
1. ข้อพิสูจน์
2. ใบลองที่โรงพิมพ์ทำมาให้แก้, พิมพ์ใบลอง
3. ป้องกัน (ไฟ) ได้, ไม่กลัว (ลูกระเบิด), ไม่หวั่นไหว (ต่อคำหมิ่นประมาท), ทน (ฝน), ทำให้ทน
4. (เหรียญ, ทองคำ) ที่พิสูจน์แล้ว
5. ตัวอย่าง
ในที่นี้ตรงกับความหมายตามข้อ 2. ใบลองที่โรงพิมพ์ทำมาให้แก้
พจนานุกรม สอ เสถบุตร มีคำว่า proof reader แปลเป็นไทยว่า คนตรวจใบลองในโรงพิมพ์, คนพิสูจน์อักษร
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล proof-reader เป็นบาลีดังนี้:
vaṇṇasodhaka วณฺณโสธก (วัน-นะ-โส-ทะ-กะ) = ผู้ตรวจชำระตัวหนังสือ
ข้อสังเกต :
พจนานุกรม สอ เสถบุตร สะกดคำอังกฤษเป็น proof reader
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี สะกดคำอังกฤษเป็น proof-reader
“วณฺณ” ในคำว่า “วณฺณโสธก” ไม่ได้หมายถึง ผิวพรรณวรรณะ หรือคำยกย่องสรรเสริญดังคำว่า อายุ วรรณะ สุขะ พละ แต่หมายถึง ตัวหนังสือ
คำเทียบที่จะช่วยให้เข้าใจได้ชัดคือคำว่า “วรรณกรรม” “วรรณคดี” “วรรณศิลป์” เป็นต้น “วรรณ” ในคำเหล่านี้ก็หมายถึง ตัวหนังสือ เช่นกัน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คำที่เขียนผิด แก้ให้ถูกได้
: บาปที่ทำแล้ว แก้ให้เป็นบุญไม่ได้
———————
ที่เขียนคำว่า “พิสูจน์อักษร” เป็นบาลีวันละคำ เพราะวันนี้ (7 ก.พ.2568) ได้อ่านโพสต์ที่อยู่ในระดับดีของท่านผู้หนึ่ง ท่านสะกดคำว่า “พิสูจน์” เป็น “พิศูจน์” (-ศูจน์ ศ ศาลา) ทุกแห่ง เช่นเดียวกับคำว่า “ทิเบต” ซึ่งเป็นชื่อของประเทศหนึ่ง ท่านก็สะกดเป็น “ธิเบต” (ธิ- ธ ธง) ทุกแห่ง เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่เผลอ แต่จงใจสะกดอย่างนี้ จึงต้องขอขอบพระคุณที่กรุณาหางานให้ทำอยู่เสมอ
#บาลีวันละคำ (4,623)
7-2-68
…………………………….
…………………………….