สาเหตุ (บาลีวันละคำ 3,341)
สาเหตุ
บาลีสัญชาติไทย
อ่านว่า สา-เหด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สาเหตุ : (คำนาม) ต้นเหตุ เช่น ความประมาทเป็นสาเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุ บุหรี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เป็นโรคมะเร็ง.”
พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกไว้ว่า “สาเหตุ” เป็นภาษาอะไรหรือมาจากคำในภาษาอะไร
ปกติถ้าเป็นคำที่มาจากภาษาบาลี พจนานุกรมฯ จะบอกไว้ในวงเล็บว่า “ป.” เป็นอักษรย่อจากคำว่า “ปาลิ” หมายถึงภาษาบาลี ถ้าเป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต พจนานุกรมฯ จะบอกไว้ในวงเล็บว่า “ส.” เป็นอักษรย่อจากคำว่า “สันสกฤต” หมายถึงภาษาสันสกฤต
แต่คำว่า “สาเหตุ” พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่าเป็นภาษาอะไรหรือมาจากคำในภาษาอะไร จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นคำแบบไทยๆ
อันที่จริง ความหมายของคำว่า “สาเหตุ” ก็ตรงกับความหมายของคำว่า “เหตุ” ในบาลีสันสกฤต และคำว่า “เหตุ” ก็เป็นคำในบาลีสันสกฤต
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เหตุ : (คำนาม) สิ่งหรือเรื่องที่ทําให้เกิดผล, เค้ามูล, เรื่อง; เหตุผล. (คำสันธาน) ด้วย, เพราะ. (ป., ส.).”
จะเห็นได้ว่า คำว่า “เหตุ” พจนานุกรมฯ จะบอกไว้ในวงเล็บว่า “(ป., ส.).” ซึ่งหมายถึงเป็นภาษาบาลีและสันสกฤต
“เหตุ” บาลีอ่านว่า เห-ตุ รากศัพท์มาจาก หิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; ตั้ง) + ตุ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ หิ เป็น เอ (หิ > เห)
: หิ + ตุ = หิตุ > เหตุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เป็นไปสู่ความเป็นผล” (2) “สิ่งที่ถึงความเป็นเหตุ” (3) “สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งผล” (4) “สิ่งเป็นเครื่องเป็นไปแห่งผล”
“เหตุ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เหตุ, เหตุผล, ปัจจัย, มูล (cause, reason, condition)
(2) ความเหมาะสมเพื่อบรรลุพระอรหันต์ (suitability for the attainment of Arahantship)
(3) ตรรกะ (logic)
จะเห็นได้ว่า “สาเหตุ” ก็มาจาก “เหตุ” ในบาลีสันสกฤตนั่นเอง แต่ในบาลีสันสกฤต โดยเฉพาะในคัมภีร์บาลีที่ผู้เขียนบาลีวันละคำพอจะสืบค้นได้ ยังไม่พบคำว่า “สาเหตุ”
จึงมีปัญหาว่า ถ้า “เหตุ” เป็นคำบาลี แล้ว “สา” ที่เติมเข้าข้างหน้ามาจากไหน มาได้อย่างไร
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอสันนิษฐานว่า “สาเหตุ” มาจากการปรุงคำตามหลักบาลี นั่นคือมาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + เหตุ, แปลง สํ เป็น สา
: สํ + เหตุ = สํเหตุ > สาเหตุ แปลตามศัพท์ว่า “เกี่ยวข้องกับเหตุ”
“สํ” คำอุปสรรคในที่นี้ใช้ในความหมายว่า “สมฺพนฺธ” คือ เกี่ยวข้องกับ-, ประกอบด้วย, มี, เหมือนกับ- (with, possessed of, having, same as)
“สาเหตุ” จึงมีความหมายตามศัพท์ว่า เกี่ยวข้องกับเหตุ, ประกอบด้วยเหตุ, มีเหตุ, เหมือนกับเหตุ
คำในบาลีที่อาจยกมาเทียบกันได้ เช่น –
“สาจริยก” (สา-จะ-ริ-ยะ-กะ) แปลว่า ศิษย์มีอาจารย์, พร้อมกับอาจารย์
“สาคาร” (สา-คา-ระ) แปลว่า มีอยู่ในบ้าน, อยู่ในบ้านเดียวกัน
“สาโลหิต” (สา-โล-หิ-ตะ) แปลว่า เกี่ยวข้องทางเลือด, สายเลือดเดียวกัน
คำว่า “สาเหตุ” น่าจะเป็นคำที่ปราชญ์ทางบาลีของไทยปรุงขึ้นใช้ในภาษาไทย จะเรียกว่า เชื้อชาติบาลี แต่สัญชาติไทย ก็น่าจะว่าได้ ควรนับว่าเป็นสมบัติวัฒนธรรมทางภาษาของไทยได้อีกคำหนึ่ง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ภาษาจะเคลื่อนคลายไปอย่างไร
: ก็อย่าให้หัวใจเคลื่อนคลาดไปจากธรรม
#บาลีวันละคำ (3,341)
5-8-64