ผู้ใหญ่สมัยนี้ตามเด็กไม่ทัน
ผู้ใหญ่สมัยนี้ตามเด็กไม่ทัน
————————–
เด็กสามารถคิดได้ด้วยตัวเด็กเองหรือไม่ว่า อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรดี อะไรชั่ว?
และเด็กสามาถที่จะทำสิ่งที่ควรทำคือความดีได้ด้วยตัวเด็กเอง สามารถที่จะไม่ทำสิ่งที่ไม่ควรทำคือความชั่วได้ด้วยตัวเด็กเอง โดยไม่ต้องมีผู้ใหญ่คอยกำกับดูแลหรือไม่?
พูดสั้นๆ ปล่อยให้เด็กดูแลตัวเองโดยผู้ใหญ่ไม่ต้องอบรมสั่งสอนอะไรทั้งสิ้น เด็กจะเติบโตขึ้นเป็นมนุษย์ที่มีมนุษยธรรมมีคุณธรรมสมควรแก่ฐานะของความเป็นมนุษย์ได้หรือไม่?
ที่ตั้งคำถามเช่นนี้ก็เพราะมีผู้กล่าวว่า ผู้ใหญ่-โดยเฉพาะผู้ใหญ่สมัยนี้-ตามเด็กไม่ทัน
ตามไม่ทันคืออย่างไร แล้วถ้าตามทันคืออย่างไร คงจะต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจน
แต่เนื่องจากเราไม่รู้ว่าใครเป็นผู้กล่าววาทะ “ผู้ใหญ่สมัยนี้ตามเด็กไม่ทัน” เป็นคนแรก จึงไม่รู้ว่าจะไปตามตัวเจ้าของวาทะได้ที่ไหนเพื่อขอให้มาอธิบายความหมายของคำกล่าวนี้
เพราะฉะนั้น ก็คงจะต้องตีความกันเอาเอง ซึ่งก็คงจะ “เละ” พอสมควร เพราะต่างคนต่างก็จะตีความกันไปตามความเข้าใจของตนอันจะให้เหมือนกันตรงกันย่อมไม่ได้อยู่เอง
นี่ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งของการสื่อสารสมัยนี้ กล่าวคือ มีคนพูดอะไรออกมาแล้วก็มีคนเอาไปพูดต่อ แล้วก็ไม่บอกว่าใครพูด จนในที่สุดก็เป็นอย่างที่สำนวนไทยพูดว่า “จับมือใครดมไม่ได้”
ปัญหาแบบนี้ในวงการภาษาบาลีมีเยอะมาก กล่าวคือ มีคนยกเอาถ้อยคำที่อ้างว่าเป็นคาถาและเป็นคำบาลีมาเสนอสู่สายตาของสังคม แต่ไม่บอกว่าข้อความนั้นมีต้นฉบับอยู่ที่ไหน หรือใครเป็นคิดขึ้นหรือเขียนขึ้น แต่ที่หนักหนาสาหัสก็คือถ้อยคำนั้นเป็นภาษาอะไรก็ไม่มีใครรู้ มีความหมายอย่างไรแปลว่าอย่างไรก็ไม่มีใครรู้ ส่วนมากอ้างว่าเป็นคำบาลี แต่ให้คนที่เรียนบาลีอ่านก็แปลไม่ได้ แต่ก็มีคนเอาไปท่องเอาไปสวดกันกระหึ่มไปหมด
………………..
คำว่า “ผู้ใหญ่สมัยนี้ตามเด็กไม่ทัน” เหมือนจะบอกเป็นนัยๆ ว่าผู้ใหญ่รู้ไม่ทันเด็ก ถูกเด็กหลอกก็ยังไม่รู้
แต่ถ้าไม่มีนัยแบบนี้ ก็จำจะต้องเข้าใจว่า ผู้ใหญ่ไม่รู้ความต้องการของเด็ก ผู้ใหญ่ไม่รู้จักทำอะไรให้ถูกใจเด็ก หรือไม่ก็-ผู้ใหญ่ไม่รู้นิสัย ไม่รู้ธรรมชาติของเด็ก จึงทำอะไรให้ถูกใจเด็กไม่เป็น
หรือพูดให้สั้นที่สุด-ผู้ใหญ่เลี้ยงเด็กไม่เป็น
ดูเหมือนผู้กล่าววาทะนี้ต้องการจะบอกว่า –
เด็กต้องการอะไร ผู้ใหญ่ต้องหามาให้ นั่น-จึงจะตามเด็กทัน
เด็กอยากทำอะไร ผู้ใหญ่ต้องสนับสนุนให้เด็กทำ นั่น-จึงจะตามเด็กทัน
เด็กไม่อยากทำอะไร – เช่นเด็กไม่อยากไปโรงเรียน – ผู้ใหญ่ที่ดีต้องพลอยผสม คือไม่ต้องบอกให้เด็กไปโรงเรียน หรือถ้าห้ามไปโรงเรียนด้วยยิ่งดี นั่น-จึงจะตามเด็กทัน
ต้องอย่างนี้จึงจะเรียกว่า ผู้ใหญ่ตามเด็กทัน
ผู้ใหญ่คนไหนห้ามเด็กไม่ให้ทำสิ่งที่เด็กอยากทำ
ผู้ใหญ่คนไหนสั่งสอนเด็กให้ทำสิ่งที่เด็กไม่อยากทำ
ผู้ใหญ่อย่างนี้คือผู้ใหญ่ที่ตามเด็กไม่ทัน
แต่ถ้าทั้งหมดตามที่กล่าวมานี้ไม่ใช่ ไม่ถูก ไม่ได้หมายความอย่างนี้ คำว่า “ผู้ใหญ่สมัยนี้ตามเด็กไม่ทัน” จะหมายความว่าอย่างไร?
…………………….
ในความคิดเห็นของผม ผู้ใหญ่ที่ตามเด็กทัน ควรเป็นดังที่จะกล่าวต่อไปนี้
ผู้ใหญ่จะต้องรู้ทันความต้องการ รู้ทันความคิด และรู้ทันธรรมชาติของเด็ก แล้วใช้ความรู้ทันนั้นแนะนำนำสั่งสอนอบรมประคับประคองเด็กให้เด็กรู้จักปฏิบัติตัวดำเนินชีวิตตามแนวทางที่ถูกต้องที่เหมาะสม
อะไรที่พอตามใจได้ก็ตามใจบ้างพอเหมาะพอควร
อะไรที่ผิดที่ไม่ดี ก็ต้องห้ามต้องปรามไม่ให้ทำ
อะไรที่ถูกต้องที่ดี ก็ต้องสอนต้องฝึกให้เด็กทำ
จนกว่าเด็กจะสามารถดูแลตัวเองได้อย่างปลอดภัยและอย่างดี
สอดคล้องกับหลักคำสอนเรื่อง “ทิศหก” ในพระพุทธศาสนาที่ว่าด้วยหน้าที่ของพ่อแม่จะพึงกระทำต่อลูก ๕ ข้อ อยู่ใน ๓ ข้อข้างต้น คือ –
(๑) ปาปา นิวาเรนฺติ = ห้ามปรามจากความชั่ว (They keep him back from evil.)
(๒) กลฺยาเณ นิเวเสนฺติ = ให้ตั้งอยู่ในความดี (They train him in virtue.)
(๓) สิปฺปํ สิกฺขาเปนฺติ = ให้ศึกษาศิลปวิทยา (They have him taught arts and sciences.)
(สิงคาลกสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๑๙๙, ภาษาอังกฤษจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต)
…………………….
สัตว์หลายชนิดเกิดแล้วพ่อแม่ไม่ต้องเลี้ยง แต่หลายชนิดพ่อแม่-โดยเฉพาะแม่-ยังต้องเลี้ยงไปชั่วระยะหนึ่ง ลูกจึงจะเลี้ยงตัวหรือดูแลตัวเองได้
ธรรมชาติของมนุษย์เกิดแล้วยังเลี้ยงตัวเองไม่ได้ทันที กล่าวตามสูตรในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ผลงานรจนาของพระพุทธโฆสะ พระอรรถกถาจารย์นามอุโฆษ ตั้งแต่เกิดจนอายุประมาณ ๑๐ ปี เป็นวัยที่เรียกว่า “มันททสกะ” แปลว่า “๑๐ ปีแห่งเด็กอ่อน” คือยังเป็นเด็ก ร่างกายและสติปัญญายังอ่อนอยู่ เป็นวัยที่ผู้ใหญ่จะต้องดูแล
จะเลี้ยงอย่างไร จะอบรมสั่งสอนอะไรอย่างไร ก็ทำได้เต็มที่ในช่วงวัยนี้ อุปมาเหมือนปลูกบ้าน ขุมหลุม ตอกเสาเข็ม ปูพื้น วางฐานราก ทำไปตั้งแต่ตอนนี้
เด็กทุกคนต้องมีพ่อแม่ผู้ปกครองหรือจะเป็นใครก็ตาม ที่เรียกว่า “ผู้ใหญ่” คอยดูแลอบรมสั่งสอน สุดแต่ว่าใครจะมีหลักอะไรหรือจะใช้หลักอะไรในกระบวนการดูแลอบรมสั่งสอน
ขออนุญาตเล่าถึงวิธีดูแลอบรมสั่งสอนลูกของผม เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองสมัยใหม่ อย่างน้อยๆ ก็รับฟังไว้เป็นข้อเปรียบเทียบ
………………………
ผมมีลูก ๓ คน ผู้หญิงคนโต ผู้ชาย ๒ คน คนเล็กอายุห่างคนโต ๔ ปี
ขอตัดตอนเล่าตั้งแต่เข้าโรงเรียน ผมกำหนดตารางเวลา ตื่นนอนกี่โมง ตื่นแล้วทำยังไงก่อน-เก็บที่นอนให้เรียบร้อย อาบน้ำ เตรียมชุดไปโรงเรียน ช่วยเตรียมโต๊ะกินข้าว ปูโต๊ะ ยกชาม กินข้าวแล้วช่วยกันเก็บโต๊ะ ไปโรงเรียน แรกๆ ไปส่ง พอรู้วิธีไปวิธีกลับแล้ว ให้ไปเองกลับเอง
กลับจากโรงเรียน เปลี่ยนชุดนักเรียน ไม่ใช่ใส่แช่ไปจนหกโมงสามทุ่ม ทำการบ้าน ช่วยงานบ้านตามกำลังที่สามารถทำได้ แต่มีหน้าที่หมดทุกคน
ห้าโมง ออกไปเล่นนอกบ้าน เป็นกฎ ต้องออกไปเล่น จะได้มีเพื่อน มีสังคม
หกโมงเย็น กลับเข้าบ้าน อาบน้ำ ช่วยเตรียมโต๊ะกินข้าว ปูโต๊ะ ยกชาม กินข้าวแล้วช่วยกันเก็บโต๊ะ ล้างชาม คว่ำชาม หลังจากนี้เป็นเวลาอิสระภายในบ้าน อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ ทำอะไรๆ ที่ชอบ ผมจะใช้ช่วงเวลานี้ทำสิ่งที่เรียกว่า “เล่านิทานให้ลูกฟัง” แทบทุกคืน
สองทุ่ม สวดมนต์ ผมจะเป็นคนนำสวด สอนลูกให้ท่องบทสวดมนต์ ตั้งแต่ นะโม ไตรสรณคมณ์-พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ … พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ อิติปิ โส จนถึง … โลกัสสาติ ตั้งแต่สวดสั้นๆ แล้วค่อยยาวขึ้นวันละเล็กวันละน้อย คำอาราธนาศีล มะยัง ภันเต … คำสมาทานศีล ปาณาติปาตา … พาหุง มหาการุณิโก และแม้แต่ชินบัญชร ชะยาสะนะคะตา พุทธา … สอนให้ท่องวันละเล็กวันละน้อย จนลูกสวดได้คล่อง
สวดมนต์เสร็จ ไหว้พ่อแม่แล้วเข้านอน
แล้วก็ไปเข้าวงรอบ-ตื่นนอนกี่โมง ตื่นแล้วทำยังไงก่อน …
ผมไม่ห่วงว่าโตขึ้นลูกๆ จะยังสวดมนต์ก่อนนอนหรือไม่ แต่ผมได้หว่านโปรยเมล็ดพืชแห่งบุญลงไปในจิตใจของลูกแล้ว และตามกฎธรรมดา วันหนึ่งเมล็ดพืชนั้นก็จะงอกงามขึ้นในใจ-ในชีวิตของเขา ถึงเวลานั้นเขาจะทำความดีเช่นนั้นได้ด้วยตัวของเขาเอง ถ้าเขามีลูก เขาก็จะสอนลูกของเขาต่อไปอีก-เหมือนกับที่พ่อแม่สอนเขามา
………………………
ตามข้อพิจารณา ศึกษา สังเกตของผม เชื่อว่า ณ วันนี้พ่อแม่ไทยส่วนมากไม่ได้สอนลูกให้สวดมนต์ก่อนนอน เพราะเมื่อเป็นเด็กพ่อแม่ของตัวเองก็ไม่เคยสอนเช่นกัน
การอบรมสั่งสอนภายในครอบครัวก็ละเลยกันจนแทบจะหมดสิ้น-อ้างความจำเป็นในการทำมาหากินและข้อจำกัดสารพัดอย่าง เพื่อที่จะยืนยันกันว่า การที่ผู้ใหญ่ไม่อบรมสั่งสอนเด็กนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แม้ไม่ถูกต้อง แต่ก็เป็นความจำเป็น-และจำเป็นที่จะต้องเป็นเช่นนี้ต่อไป
เป็นอันว่า บ้านก็ไม่ได้อบรม โรงเรียนก็ไม่ได้อบรม วัดก็ไม่ได้อบรม
แล้วใครอบรมสั่งสอนเด็ก?
ทุกวันนี้ระบบธุรกิจที่แพร่ไปทางเครื่องมือสื่อสารสารพัดช่องทาง-ที่ใกล้ตัวเด็กที่สุดคือโทรศัพท์-เป็นผู้อบรมสั่งสอนเด็ก
บทเรียนพื้นฐานคือ สอนให้อยากกิน อยากใช้ อยากได้ อยากมี ที่เราเรียกกันว่า วัตถุนิยมหรือบริโภคนิยม
………………………
แต่ที่เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์อยู่นิดหนึ่งก็คือ เด็กสมัยนี้ยังรู้จักไหว้พ่อแม่เมื่อพ่อแม่ไปส่งที่โรงเรียน ยังรู้จักไหว้ครูที่ยืนรับอยู่ที่ประตูโรงเรียน
นั่นแปลว่า พ่อแม่ยังรู้จักอบรมสั่งสอนลูกในบางเรื่องอยู่
นั่นแปลว่า เมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามยังพอหาได้ ยังไม่สูญไปเสียทีเดียว ยังมีโอกาสที่จะขยายพันธุ์หรือต่อยอดได้อยู่
ขอน้อมคารวะพ่อแม่+ผู้ใหญ่ทุกคนที่ยังสามารถทำเช่นนั้นได้
………………………
ที่ว่ามาคือการสาธยายปัญหา
แล้ววิธีแก้ไขล่ะ?
วิธีแก้ไขก็คือ แต่ละบ้านแต่ละครอบครัวจะต้องถอยกลับมาตั้งหลักกันใหม่ หาเวลาอบรมสั่งสอนลูกหลานให้จงได้
จะถอยมาตั้งหลักได้ ก็ต้องรู้จักคิด คิดได้หรือได้คิด หรือฉุกคิดขึ้นมา
จะฉุกคิดขึ้นมาได้ ก็ต้องบอกกัน เตือนกัน ให้ข้อคิดให้แนวคิดกัน-อย่างที่ผมกำลังพยายามทำอยู่นี้ก็เป็นทางหนึ่ง-ทางเล็กๆ
…………………….
ผิว่าท่านผู้ใดเห็นแย้งว่า ที่ผมว่ามานี้ก็ยังไม่ใช่ ไม่ถูก ไม่จำเป็นต้องทำแบบนี้ ก็ขอความกรุณาให้ท่านผู้นั้นตอบคำถามที่ผมตั้งไว้ข้างต้น –
เด็กสามารถคิดได้ด้วยตัวเด็กเองหรือไม่ว่า อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรดี อะไรชั่ว?
และเด็กสามาถที่จะทำสิ่งที่ควรทำคือความดีได้ด้วยตัวเด็กเอง สามารถที่จะไม่ทำสิ่งที่ไม่ควรทำคือความชั่วได้ด้วยตัวเด็กเอง โดยไม่ต้องมีผู้ใหญ่คอยกำกับดูแลหรือไม่?
พูดสั้นๆ ปล่อยให้เด็กดูแลตัวเองโดยผู้ใหญ่ไม่ต้องอบรมสั่งสอนอะไรทั้งสิ้น เด็กจะเติบโตขึ้นเป็นมนุษย์ที่มีมนุษยธรรมมีคุณธรรมสมควรแก่ฐานะของความเป็นมนุษย์ได้หรือไม่?
ถ้าท่านตอบว่า “ได้” หรือ “ใช่” ก็เอาเลย ตั้งแต่นี้ไป พอเด็กเกิดมาเราก็ปล่อยให้เด็กดูแลตัวเองไปตามสบาย ไม่ต้องอบรมสั่งสอนอะไรทั้งสิ้น แล้วเราก็อย่าเพิ่งตายเสียก่อน อยู่ดูกันว่าอนาคตของเด็กที่ดูแลตัวเองจะเป็นเช่นไร
แต่ถ้าอย่างนี้ก็ยังไม่ใช่อีก ก็ต้องวนกลับไปที่ข้อพิจารณาข้างต้นว่า-แล้วเราควรจะทำอย่างไรกับเด็ก จึงจะเป็นที่พอใจและจึงจะไม่ต้องถูกตำหนิติเตียนกันอีกว่า ผู้ใหญ่สมัยนี้ตามเด็กไม่ทัน?
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๕ สิงหาคม ๒๕๖๔
๑๑:๔๘