บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

แนวคิดเรื่องอันตรธาน

แนวคิดเรื่องอันตรธาน

ญาติมิตรที่ติดตามผมมาย่อมจะสังเกตได้ว่า ผมพยายามมาตลอดในการกระตุก กระตุ้น กระทบ กระแทก กระทุ้ง ให้ผู้ที่เรียนบาลีมีอุตสาหะลุกขึ้นศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกา 

ไม่ใช่อิ่มเอมเปรมใจชื่นชมยินดีอยู่แค่ว่าฉันสอบผ่านแล้ว ฉันเรียนจบแล้ว ฉันบรรลุเป้าหมายแล้ว ฉันไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว 

เคยนึกเฉลียวใจไหมครับว่า ไม่มีชาติไหนหรือชุมชนไหนในโลกใช้ภาษาบาลีสื่อสารกันในชีวิตประจำวันเลยแม้แต่ชาติเดียวชุมชนเดียว 

แล้วเราเรียนบาลีไปทำไม? 

เรียนภาษาที่ไม่มีใครเขาใช้ พูดสำนวนใหม่ก็ว่า-จะบ้าเรอะ

แหล่งข้อมูลที่บันทึกไว้เป็นภาษาบาลีในโลกนี้มีที่เดียวเท่านั้น คือที่เรียกรวมๆ กันว่า-พระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกา

พระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกานี่แหละคือเป้าหมายที่นักเรียนบาลีจะต้องบุกเข้าไปให้ถึง 

เรียนบาลีแล้ว แต่ไม่ศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกา ก็ไม่ต่างอะไรกับนักรบที่แต่งเครื่องรบครบเครื่อง แต่ไม่ออกรบ 

ยิ่งถ้ามีศึกสงครามที่ควรจะต้องออกรบ แต่ไม่ออกด้วยแล้ว หมดศักดิ์ศรีเลย

มีเรื่องราวเกี่ยวกับพระศาสนาที่จะต้องตอบต้องอธิบายต้องชี้แจง เรียนบาลีแล้ว แต่ไม่ค้นคว้าพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาหาคำตอบคำอธิบายคำชี้แจง ก็คือนักรบแต่งเครื่องรบครบเครื่อง ข้าศึกก็มาร้องท้าอยู่หน้าค่ายนั่นแล้ว – แต่ไม่ออกรบ ฉันเดียวกันนั่นแล้ว

เรื่อง “อันตรธาน” มีอยู่ในพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกา 

ขึ้นไปให้ถึงต้นน้ำนะครับ จะได้สมศักดิ์ศรีหน่อย อย่าดักช้อนเอาตามปลายน้ำ 

เรื่องกลองอานกะ เป็นเรื่องหนึ่งที่กล่าวถึงพระศาสนาอันตรธาน มีทั้งในพระไตรปิฎกและในอรรถกถา

………………….

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/2922906527803065

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/2925007740926277

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/2927565930670458

………………….

หนังสือพระปฐมสมโพธิกถาตอนท้ายมีกล่าวด้วยเรื่องอันตรธาน

เรื่องอันตรธานไม่ใช่แนวคิดของผู้แต่งปฐมสมโพธิกถา

ผู้แต่งปฐมสมโพธิกถาเพียงแต่ไปหยิบเอามาจากคัมภีร์

เหมือนคนอ่านหนังสือไม่แตก บอกว่าไตรภูมิพระร่วงเป็นความคิดของพระธรรมราชาลิไท

พระธรรมราชาลิไทท่านเพียงแต่รวบรวมมติจากคัมภีร์มาเรียบเรียงเป็นไตรภูมิพระร่วง มติเหล่านั้นท่านไม่ได้จินตนาการขึ้นมาเอง แต่มีอยู่ในคัมภีร์

แต่เรามักพูดกันว่า เรื่องในไตรภูมิพระร่วงเป็นแนวคิดของพระธรรมราชาลิไท

————-

เมื่อพูดถึงศาสนาเสื่อม มีคนชอบอ้างหลักอนิจจัง 

และหลักเรื่องไม่ยึดมั่นถือมั่น เรื่องคำสอนให้ปล่อยวาง

ก็คือจะบอกว่าไม่ต้องไปคิดทำอะไร

ผมว่าก็เหมือนคนที่รู้ว่าเกิดมาแล้วต้องตายแน่

แต่มีใครนอนรอความตายเฉยๆ กันบ้าง? 

ที่พยายามคิดอ่านเรื่องนี้ ไม่ใช่จะพยายามรั้งไม่ให้ศาสนาเสื่อม

แต่พยายามจะบอกว่าเราควรทำอะไรกัน มันจึงจะถูกต้อง

ไม่ใช่นอนรอความเสื่อมอยู่เฉยๆ 

จะยกเอาสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมาอ้างก็ได้

เช่นอ้างว่าพระทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ ศาสนาก็ยังอยู่ได้

คนไม่สนใจพระไตรปิฎกเลย เขาก็ยังอยู่ได้ 

ก็อ้างไป

อันที่จริง พูดให้หนักไปกว่านั้นก็ยังได้ –

คนที่นับถือศาสนาอื่น คนที่เขาดูถูกดูหมิ่นศาสนาพุทธ เขาก็ยังอยู่กันมาได้ ไม่เห็นเขาเป็นอะไร

อย่าว่าเพียงแค่มีพระประพฤติวิปริตผิดพระธรรมวินัยเท่านั้นเลย

ต่อให้ไม่ต้องมีศาสนาพุทธทั้งศาสนานั่นเลย โลกนี้ทั้งโลกก็ยังอยู่กันได้

แล้วจะต้องมาเป็นห่วงกังวลอะไรไปทำไม

อยู่กันไปแบบนี้แหละ ใครอยากทำอะไรก็ทำ ใครไม่อยากทำอะไรก็ไม่ต้องทำ นี่แหละเป็นธรรมชาติที่สุดแล้ว

————-

ผมเคยเขียนไว้นานแล้ว ขออนุญาตยกมาปิดท้ายอีกที

……………………………

ยุคมิคสัญญี คือยุคแห่งความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมนั้นมาถึงแน่ 

ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นปรารภสู่กันฟัง มิใช่เพื่อจะให้ช่วยกันคิดแก้ไข 

เพราะทำอย่างไรก็ห้ามไม่ฟัง รั้งไม่หยุดอยู่แล้ว

เพียงแต่อยากให้ช่วยกันรู้ทันเอาไว้

เหมือนกับนั่งไปในรถไฟขบวนเดียวกัน 

และเรารู้แน่แล้วว่าปลายทางของรถไฟขบวนนี้คือหุบเหว

จะทำอะไร จะรักษาชีวิตกันอย่างไร ก็รีบๆ คิดอ่านกันเข้าเถิด

รถไฟขบวนนี้หยุดไม่ได้นะครับ

……………………………

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๔ กันยายน ๒๕๖๔

๑๖:๓๐

ภาพประกอบ: หอไตรที่บรรพบุรุษของเราท่านสร้างไว้เพื่อเป็นที่เก็บรักษาและศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎก แต่ทุกวันนี้เป็นเพียงสิ่งก่อสร้างที่มีไว้เพื่อดูศิลปะสถาปัตยกรรมโบราณ

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *