บาลีวันละคำ

มนุสเปโต (บาลีวันละคำ 3,755)

มนุสเปโต

มนุษย์เปรต

เขียนแบบกึ่งไทยกึ่งบาลี แต่อ่านแบบบาลีว่า มะ-นุด-สะ-เป-โต

ประกอบด้วยคำว่า มนุส + เปโต

(๑) “มนุส”

เขียนแบบบาลีเป็น “มนุสฺส” อ่านว่า มะ-นุด-สะ รากศัพท์มาจาก –

(1) มน (ใจ) + อุสฺส (สูง)

: มน + อุสฺส = มนุสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีใจสูง”

(2) มนฺ (ธาตุ = รู้) + อุสฺส ปัจจัย

: มน + อุสฺส = มนุสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์”

(3) มนุ (มนู = มนุษย์คนแรก) + อุสฺส (แทนศัพท์ อปจฺจ = เหล่ากอ หรือ ปุตฺต = ลูก)

: มนุ + อุสฺส = มนุสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นเหล่ากอของมนู” หรือ “ผู้เป็นลูกของมนู”

คำว่า “มนู” หรือนิยมเรียกว่า “พระมนู” แปลว่า “ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ของสัตวโลก”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“มนู : (คำนาม) ชื่อพระผู้สร้างมนุษยชาติและปกครองโลก มี ๑๔ องค์ เรียงกันเป็นยุค ๆ ไป, ยุคหนึ่งเรียกว่า มนวันดร นานกว่า ๔,๐๐๐,๐๐๐ ปี องค์แรก คือ พระสวายมภูวะ พระมนูองค์นี้ถือกันว่าเป็นผู้ทรงออกกฎหมายหรือธรรมศาสตร์ซึ่งยังมีอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้เรียกว่า มนุสัมหิตา หรือ มนุสมฺฤติ, เพราะฉะนั้น คํา มนู จึงหมายถึงกฎหมายก็ได้ เช่น มนูกิจ. (ส. มนุ).”

บาลี “มนุสฺส” สันสกฤตเป็น “มนุษฺย”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

“มนุษฺย : (คำนาม) มนุษย์, มนุษยชาติ; man, mankind.”

ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “มนุษย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“มนุษย-, มนุษย์ : (คำนาม) สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล, สัตว์ที่มีจิตใจสูง, คน. (ส.; ป. มนุสฺส).”

ความหมายของคำว่า “มนุสฺส – มนุษย์” ที่ยอมรับกันมากที่สุดและเป็นความหมายตามตัวอักษรด้วย คือ “ผู้มีใจสูง”

ในที่นี้เขียนอิงรูปบาลี และตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่งเป็น “มนุส”

(๒) “เปโต”

รูปคำเดิมเป็น “เปต” อ่านว่า เป-ตะ รากศัพท์มาจาก ปร (โลกอื่น) + อิ (ธาตุ = ไป) + ต ปัจจัย, ลบ รฺ ที่ ปร (ปร > ป), แผลง อิ ธาตุเป็น เอ

: ปร + อิ > เอ = ปเร + ต = ปเรต (ลบ ร ทำให้ เอ เลื่อนไปควบ ป) > เปต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปสู่ปรโลก”

“เปต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เป็นคำกริยา แปลว่า ผ่านไป, ไปพ้นแล้ว, ละไป (gone past, gone before)

(2) เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ตาย, จากไป (dead, departed)

(3) เป็นคำนาม หมายถึง วิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไป, เปรต (the departed spirit, ghosts)

ในบาลีมีคำว่า “ปิตฺติ” (ปิด-ติ) อีกคำหนึ่งที่มีความหมายเหมือน “เปต” รากศัพท์มาจาก ปร (โลกอื่น) + อิ (ธาตุ = ไป) + ติ ปัจจัย, ซ้อน ต, ลบ รฺ ที่ ปร (ปร > ป)

: ปร > ป + อิ = ปิ + ตฺ + ติ = ปิตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปสู่ปรโลก”

“ปิตฺติ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ตาย, จากไป (dead, departed)

(2) เป็นคำนาม หมายถึง วิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไป, เปรต (the departed spirit, ghosts)

ในภาษาไทยไม่ได้เอาคำว่า “ปิตฺติ” มาใช้ แต่คำว่า “เปต” มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ รวมทั้งคำว่า “เปรต” ที่รู้จักกันดี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

(1) เปต : (คำนาม) สัตว์พวกหนึ่งเกิดในอบายภูมิ คือ แดนทุกข์; ผู้ตายไปแล้ว, เปรต ก็ว่า. (ป.; ส. เปฺรต).

(2) “เปรต, เปรต- : (คำนาม) สัตว์พวกหนึ่งเกิดในอบายภูมิ คือ แดนทุกข์, ผีเลวจําพวกหนึ่ง มีหลายชนิด ชนิดหนึ่งตามที่ว่ากันว่ามีรูปร่างสูงโย่งเย่งเท่าต้นตาล ผมยาวหย็อกหย็อย คอยาว ผอมโซ มีปากเท่ารูเข็ม มือเท่าใบตาล กินแต่เลือดและหนองเป็นอาหาร มักร้องเสียงดังวี้ด ๆ ในตอนกลางคืน; คําเรียกเป็นเชิงด่าหรือปรามาสคนที่อดอยากผอมโซ เที่ยวรบกวนขอเขากิน หรือเมื่อมีใครได้โชคลาภก็เข้ามาขอแบ่งปันเป็นอย่างขอแบ่งส่วนบุญหรือในทํานองเช่นนั้น ว่า เปรต หรือ อ้ายเปรต. (ส.; ป. เปต).

มนุสฺส + เปต = มนุสฺสเปต (มะ-นุด-สะ-เป-ตะ) แปลตามสำนวนคำสมาสว่า “มนุษย์ผู้เพียงดังเปรต”

“มนุสฺสเปต” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “มนุสฺสเปโต” อ่านว่า มะ-นุด-สะ-เป-โต

ในที่นี้ถือว่า “มนุสสเปโต” เป็นคำไทย แต่เขียนอิงรูปบาลี และตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง จึงเป็น “มนุสเปโต”

ที่ตัดตัวสะกดออกนั้น เทียบตามคำว่า “อุตฺตริมนุสฺสธมฺม” (อุด-ตะ-ริ-มะ-นุด-สะ-ทำ-มะ) ในภาษาไทย พจนานุกรมฯ สะกดเป็น “อุตริมนุสธรรม” “มนุสฺส” ตัด ส ออกตัวหนึ่งเป็น “มนุส”

ขยายความ :

“มนุสเปโต” เป็นคำในชุดมนุษย์ 4 ประเภท คือ –

(1) มนุสเนรยิโก = มนุษย์สัตว์นรก

(2) มนุสเปโต = มนุษย์เปรต

(3) มนุสติรัจฉาโน = มนุษย์เดรัจฉาน

(4) มนุสภูโต = มนุษย์ที่แท้จริง

“มนุสเปโต” = มนุษย์เปรต คือ ผู้ที่ขัดสนอดอยาก หาเช้าไม่พอกินค่ำ แต่เมื่อว่าโดยทางธรรม ท่านว่าหมายถึงมนุษย์ประเภทที่มีเท่าไรไม่รู้จักพอ ได้เท่านี้จะเอาเท่าโน้น หิวโหยอยู่ตลอดเวลาเหมือนเปรต

คัมภีรปรมัตถทีปนี (อรรถกถาวิมานวัตถุ) บรรยายลักษณะของ “มนุสเปโต” ไว้ ดังนี้ –

…………..

อปโร มนุสฺสชาติโกว สมาโน ปุพฺเพกตกมฺมุนา ฆาสจฺฉาทนมฺปิ น ลภติ ขุปฺปิปาสาภิภูโต ทุกฺขพหุโล กตฺถจิ ปติฏฺฐํ อลภมาโน วิจรติ อยํ มนุสฺสเปโต นาม ฯ

อีกประเภทหนึ่ง มีกำเนิดเป็นมนุษย์แท้ๆ ทว่าแต่ปางก่อนทำบุญกรรมไว้ (ไม่เพียงพอ) แม้อาหารและเครื่องนุ่งห่มก็หาไม่ได้ ต้องหิวโหยอดอยากมากไปด้วยความทุกข์ จะหาที่พำนักหลักแหล่งสักแห่งหนึ่งก็ไม่ได้ ต้องเร่ร่อนเรื่อยไป นี่แหละคือ “มนุสเปโต” – มนุษย์เปรต

ที่มา: ปรมัตถทีปนี (อรรถกถาวิมานวัตถุ) หน้า 29 (ปฐมปีฐวิมาน)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่มีสักอย่างจึงหิวโหย ควรจะกรุณา

: มีทุกอย่างแต่ยังหิวโหย ควรจะสังเวช

————————————-

ภาพประกอบจาก google: ภาพจิตรกรรมเปรตในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม

#บาลีวันละคำ (3,755)

23-9-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *