บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

การเรียนบาลีที่กำลังเป็นไป (๑)

คัมภีร์ที่ใช้เป็นแบบเรียนบาลีของคณะสงฆ์

ธมฺมปทฏฺฐกถา

ภาค ๑-๔ วิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค ๑-๒

ภาค ๕-๘ วิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค ป.ธ.๓

ภาค ๑ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้นประโยค ป.ธ.๔

ภาค ๒-๔ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้นประโยค ป.ธ.๕

ภาค ๕-๘ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้นประโยค ป.ธ.๖

ธัมมปทัฏฐกถา คัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในธรรมบท แห่งขุททกนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก พระพุทธโฆสาจารย์นำเนื้อความในอรรถกถาเก่าที่ใช้ศึกษาและรักษาสืบต่อกันมาในลังกาทวีป อันเป็นภาษาสิงหฬ เอามาเรียบเรียงกลับขึ้นเป็นภาษาบาลี เมื่อ พ.ศ. ใกล้จะถึง ๑๐๐๐ ดังที่ท่านเล่าไว้ในปณามคาถาของคัมภีร์นี้ว่า พระกุมารกัสสปเถระ (พระเถระรูปหนึ่งในลังกาทวีป ไม่ใช่ท่านที่เป็นมหาสาวกในพุทธกาล) คิดหวังว่า “อรรถกถาแห่งพระธรรมบทอันละเอียดลึกซึ้ง ที่นำสืบกันมาในตามพปัณณิทวีป ดำรงอยู่โดยภาษาของชาวเกาะ ไม่ช่วยให้ประโยชน์สำเร็จพร้อมบูรณ์แก่คนพวกอื่นที่เหลือได้ ทำอย่างไรจะให้อรรถกถาแห่งพระธรรมบทนั้นยังประโยชน์ให้สำเร็จแก่โลกทั้งปวงได้” จึงได้อาราธนาท่านให้ทำงานนี้ และท่านก็ได้นำอรรถกถานั้นออกจากภาษาสิงหฬ ยกขึ้นสู่ตันติภาษา (ภาษาที่มีแบบแผน ในที่นี้หมายถึงภาษาบาลี), ธัมมปทัฏฐกถานี้ รวมอยู่ในชุดที่มีชื่อเฉพาะว่า ปรมัตถโชติกา.

มงฺคลตฺถทีปนี

ภาค ๑ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้นประโยค ป.ธ.๗

ภาค ๑ วิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค ป.ธ.๔

ภาค ๒ วิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค ป.ธ.๕

มังคลัตถทีปนี ชื่อคัมภีร์อธิบายมงคล ๓๘ ประการ ในมงคลสูตร พระสิริมังคลาจารย์แห่งล้านนา รจนาที่เมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๗ โดยรวบรวมคำอธิบายจากอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกาต่างๆ เป็นอันมาก พร้อมทั้งคำบรรยายของท่านเอง

สมนฺตปาสาทิกา 

ภาค ๑ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้นประโยค ป.ธ.๘

ภาค ๑-๒ วิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค ป.ธ.๗

ภาค ๓ วิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค ป.ธ.๖

สมันตปาสาทิกา ชื่อคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในพระวินัยปิฎก พระพุทธโฆสาจารย์แปลและเรียบเรียงขึ้นเป็นภาษาบาลี เมื่อ พ.ศ. ใกล้จะถึง ๑๐๐๐ โดยอาศัยอรรถกถาภาษาสิงหฬที่มีอยู่ก่อน คือใช้คัมภีร์มหาอัฏฐกถา เป็นหลักพร้อมทั้งปรึกษาคัมภีร์ มหาปัจจรี และกุรุนที เป็นต้นด้วย. 

วิสุทฺธิมคฺค 

ภาค ๑-๒-๓ วิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค ป.ธ.๘

ภาค ๑-๒-๓ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้นประโยค ป.ธ.๙

วิสุทธิมรรค, วิสุทธิมัคค์ ปกรณ์พิเศษอธิบายศีล สมาธิ ปัญญา ตามแนววิสุทธิ ๗ พระพุทธโฆสาจารย์ พระอรรถกถาจารย์ชาวอินเดียเป็นผู้แต่งที่มหาวิหารในเกาะลังกา; พระพุทธโฆสะหรือที่นิยมเรียกว่าพระพุทธโฆสาจารย์นี้เป็นบุตรพราหมณ์ เกิดที่หมู่บ้านหนึ่งใกล้พุทธคยา อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในแคว้นมคธเมื่อประมาณ พ.ศ.๙๕๖ เรียนจบไตรเพท มีความเชี่ยวชาญมาก ต่อมาพบกับพระเรวตเถระ ได้โต้ตอบปัญหากัน สู้พระเรวตเถระไม่ได้ จึงขอบวชเพื่อเรียนพุทธวจนะ มีความสามารถมาก ได้รจนาคัมภีร์ ญาโณทัย เป็นต้น พระเรวตเถระจึงแนะนำให้ไปเกาะลังกา เพื่อแปลอรรถกถาสิงหฬ กลับเป็นภาษามคธ ท่านเดินทางไปที่มหาวิหาร เกาะลังกา เมื่อขออนุญาตแปลคัมภีร์ ถูกพระเถระแห่งมหาวิหารให้คาถามา ๒ บท เพื่อแต่งทดสอบความรู้ พระพุทธโฆสาจารย์จึงแต่งคำอธิบายคาถาทั้งสองนั้นขึ้นเป็นคัมภีร์วิสุทธิมรรค จากนั้นก็ได้รับอนุญาตให้ทำงานแปลอรรถกถาได้ตามประสงค์ เมื่อทำงานเสร็จสิ้นแล้ว ท่านก็เดินทางกลับสู่ชมพูทวีป พระพุทธโฆสาจารย์เป็นพระอรรถกถาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด มีผลงานมากที่สุด

อภิธมฺมตฺถวิภาวินี 

วิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค ป.ธ.๙

อภิธัมมัตถวิภาวินี ชื่อคัมภีร์ฎีกา อธิบายความในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ พระสุมังคละผู้เป็นศิษย์ของพระอาจารย์สารีบุตร ซึ่งเป็นปราชญ์ในรัชกาลของพระเจ้าปรักกมพาหุที่ ๑ (พ.ศ. ๑๖๙๖–๑๗๒๙) รจนาขึ้นในลังกาทวีป

…………………

อธิบายความชื่อคัมภีร์: จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต 

…………………

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๖ เมษายน ๒๕๖๔

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *