บาลีวันละคำ

สามกะเสียน (บาลีวันละคำ 246)

สามกะเสียน

คำในภาษาไทยที่ออกเสียง 2 พยางค์ว่า “กะ-เสียน” มี 3 คำ คือ

1. กะเสียนเณร คือ “เกษียณ” แปลตามศัพท์ว่า “สิ้นไป” ใช้ในความหมายว่าสิ้นกําหนดเวลารับราชการ หรือหมดอายุการทำงาน บาลีเป็น “ขีณ” สันสกฤตเป็น “กฺษีณ” แปลงรูปเป็นไทยเป็น “เกษียณ” – ณ เณร สะกด

2. กะเสียนเรือ คือ “เกษียร” แปลตามศัพท์ว่า “น้ำนม” มีคำที่ใช้ในภาษาไทยว่า “เกษียรสมุทร” แปลว่า ทะเลนํ้านม ตามคติเทพนิยายของพราหมณ์ว่าเป็นที่ประทับของพระนารายณ์ “เกษียร” คำนี้บาลีเป็น “ขีร” (ขี-ระ) สันสกฤตเป็น “กฺษีร” แปลงรูปเป็นไทยเป็น “เกษียร” – ร เรือ สะกด

3. กะเสียนหนู คือ “เกษียน” เป็นคำกริยาแปลว่า “เขียน” เป็นคำนามหมายถึงข้อความที่เขียนแทรกไว้, ข้อความที่เขียนไว้บนหัวกระดาษคําสั่งหรือหนังสือราชการ

“เกษียน” น หนู สะกดนี้ไม่ใช่คำบาลีสันสกฤต ผู้รู้ท่านว่าแผลงมาจากคำไทยว่า “เขียน” นั่นเอง เรียกได้ว่าเป็นเกษียนไทย หรือเรียกอย่างไม่เกรงใจก็คือ เกษียนปลอม เพราะ ข ไทย ไม่แผลงเป็น กฺษ เหมือน ข บาลี

“เขียน-เกษียน” น่าจะมีกำเนิดมาจากอารมณ์ขันของคนไทย เอากฎบาลีสันสกฤตมาล้อเล่น แล้วเกิด “ติดตลาด” ขึ้นมา เลยกลายเป็นมรดกทางภาษา (ที่กำลังจะถูกลืม) ไปอีกคำหนึ่ง

ระวัง : อย่าทำอะไรเล่นๆ เพราะอาจจะเป็นจริงๆ

บาลีวันละคำ (246)

11-1-56

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย