บาลีวันละคำ

รกฺขส (บาลีวันละคำ 247)

รกฺขส

อ่านว่า รัก-ขะ-สะ

ภาษาไทยใช้ตามเป็นรูปคำสันสกฤตเป็น “รากษส” อ่านว่า ราก-สด

“รกฺขส” แปลทับศัพท์ว่า รากษส แปลตามความเข้าใจว่า ผีเสื้อน้ำ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

“รากษส : ยักษ์ร้าย, ผีเสื้อนํ้า, ชื่อพวกอสูรชั้นต่ำ มีนิสัยดุร้าย ในคัมภีร์โลกทีปกสารว่า เป็นบริวารของพญายม, ในคัมภีร์โลกบัญญัติว่า เป็นบริวารของพระวรุณ, ใช้ รากโษส ก็มี”

“ผีเสื้อน้ำ” พจน.42 บอกไว้ว่า “เทวดาที่รักษาน่านนํ้า”

(คำนิยามของ พจน. ชวนให้สงสัยว่า รากษสเป็นยักษ์หรือเป็นเทวดา ?)

“รกฺขส – รากษส” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นแดนรักษาตนแห่งผู้คน” หมายความว่าถ้าคนเจอเข้าแล้วต้องหลบหนีเพื่อรักษาตน

ตามคำแปลนี้ รากษสเป็นยักษ์แน่

ในคัมภีร์เมื่อกล่าวถึงรากษสเป็นต้องเกี่ยวข้องกับน้ำเสมอ เช่นเป็นยักษ์เฝ้าสระน้ำ เป็นยักษ์อยู่ในทะเล หรือยักษ์ที่อยู่ตามเกาะ บางทีเรียกระบุลงไปชัดๆ ว่า “ทกรกฺขส” (ทะ-กะ-รัก-ขะ-สะ) ซึ่งตรงกับคำว่า “ผีเสื้อน้ำ” (ทก กร่อนมาจาก อุทก)

รากษสเป็นพวกที่มีความสามารถเหนือมนุษย์ เช่นแปลงตัวได้ แต่มักจะแพ้มนุษย์ทุกที โดยเฉพาะมนุษย์ที่มีคุณธรรม

เพราะฉะนั้น : ไม่ควรสามารถอย่างเดียว แต่ต้องสามารถอย่างดี

บาลีวันละคำ (247)

11-1-56

รกฺขส รากษส, ผีเสื้อน้ำ (ศัพท์วิเคราะห์)

รกฺขนฺติ อตฺตานํ เอตสฺมาติ รกฺขโส ผู้เป็นแดนรักษาตนแห่งผู้คน คือผู้ที่คนหลบหนีเพื่อรักษาตน

รกฺข ธาตุ ในความหมายว่าดูแลรักษา ส ปัจจัย

รากษส

 [รากสด] น. ยักษ์ร้าย, ผีเสื้อนํ้า, ชื่อพวกอสูรชั้นต่ำ มีนิสัยดุร้าย ในคัมภีร์โลกทีปกสารว่า เป็นบริวารของพญายม, ในคัมภีร์โลกบัญญัติว่า เป็นบริวารของพระวรุณ, ใช้ รากโษส ก็มี. (ส.; ป. รกฺขส).

รกฺขส รากษส, ผีเสื้อน้ำ

a kind of harmful (nocturnal) demon, usually making the water its haunt and devouring men

ผีเสื้อน้ำ

น. เทวดาที่รักษาน่านนํ้า, เสื้อนํ้า ก็เรียก.

ผีเสื้อสมุทร

น. ยักษ์พวกหนึ่ง เชื่อกันว่าสิงอยู่ในทะเล.

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย