วิธีทำบุญ (๑)
วิธีทำบุญ (๔)
วิธีทำบุญ (๔)
————-
วิธีทำบุญวิธีที่ ๖ คือ ปัตติทาน การให้ส่วนบุญ หรือการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น
การทำบุญด้วยวิธีนี้ก็คือ เมื่อเราได้ทำบุญคือทำความดีอย่างใด ๆ ก็ตาม ก็นำเอาเรื่องการทำดีนั้นไปบอกกล่าวแก่ผู้อื่นเพื่อให้เขาชื่นชมยินดีด้วย การบอกกล่าวนั้นก็บอกกล่าวอย่างเป็นกลาง ๆ มิใช่บอกเพื่อจะอวดอ้างคุณความดีของตัวเอง
ตัวอย่างที่คนไทยนิยมปฏิบัติกันมาก็เช่น ไปทำบุญที่วัดในวันพระ ขากลับเดินผ่านบ้านคนที่รู้จักกันก็ร้องบอกเข้าไปว่า “ฉันไปทำบุญมา ขอแบ่งส่วนบุญให้ด้วยนะ” คนในบ้านก็จะร้องตอบออกมาว่า “จ้ะ อนุโมทนาด้วยจ้ะ” เท่านี้ก็เป็นอันสำเร็จ
บุญที่เกิดจากการให้ส่วนบุญเช่นนี้ เรียกว่า “ปัตติทานมัย” บุญที่สำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ
การแบ่งส่วนบุญเช่นนี้ยังมีผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งคือ เป็นการจูงใจให้ผู้อื่นอยากจะทำความดีเช่นนั้นหรือทำความดีอื่น ๆ อีกด้วย
ยังมีการให้ส่วนบุญอีกแบบหนึ่ง คือการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ที่นิยมเรียกกันว่า กรวดน้ำ การกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญก็เป็นปัตติทานมัยเช่นกัน
ผู้ที่ทำบุญด้วยวิธีที่เรียกว่าปัตติทานนี้ ชื่อว่าได้บุญ ๒ ชั้น คือได้ทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่งมาแล้วชั้นหนึ่ง และได้ให้ส่วนบุญนั้นแก่ผู้อื่นอีกชั้นหนึ่ง
นี่ก็เป็นบุญอีกชนิดหนึ่งที่สมควรทำ
วิธีทำบุญวิธีที่ ๗ คือ ปัตตานุโมทนา การอนุโมทนาส่วนบุญ หรือทำบุญด้วยการยินดีในการทำดีของผู้อื่น
กล่าวคือ เมื่อได้ยิน ได้รู้ ได้เห็น ว่าใครเขาทำบุญหรือทำความดีด้วยประการใด ๆ ก็ตาม ก็แสดงกิริยาวาจาพลอยยินดีกับการทำบุญนั้นด้วย มีคำที่นิยมพูดกันว่า “ยกมือท่วมหัว” เป็นคำพูดที่มองเห็นภาพการพลอยอนุโมทนา และอาจจะได้ยินเสียง “สาธุ” ประกอบกันไปด้วย นั่นคือกิริยาวาจาพลอยยินดีกับการทำดีของผู้อื่น
บุญที่ทำด้วยวิธีเช่นนี้เรียกว่า “ปัตตานุโมทนามัย” บุญที่สำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ
การทำบุญวิธีนี้จะว่าง่ายก็ง่ายมาก ไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยอะไรเลย เพียงแค่ทำใจให้พลอยยินดีด้วยก็สำเร็จเป็นบุญแล้ว แต่จะว่ายากก็ยากมาก เพราะใจคนมักจะมีความริษยาอยู่ลึก ๆ เห็นใครได้ดี เห็นใครทำดีแล้วไม่ค่อยอยากจะยินดีด้วย คนที่จะทำบุญด้วยวิธีนี้ได้จะต้องเอาชนะกิเลสในใจตัวเองให้ได้เสียก่อน หาไม่แล้ว เรื่องง่าย ๆ นี่แหละก็ทำยากนักหนา
นี่ก็เป็นบุญอีกชนิดหนึ่งที่สมควรทำ
วิธีทำบุญวิธีที่ ๘ คือ ธัมมัสสวนะ การฟังธรรม
พอพูดว่าฟังธรรม เราก็จะนึกถึงการฟังพระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนาตามรูปแบบธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมา มีพระสงฆ์ขึ้นนั่งบนธรรมาสน์ มีการอาราธนาธรรม แล้วพระสงฆ์ก็แสดงธรรม จบแล้วก็อนุโมทนายถาสัพพี
แต่โดยเนื้อหาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือผู้ใดผู้หนึ่งผู้รู้ธรรมจะแสดงธรรมด้วยวิธีการใด ๆ คือจะขึ้นธรรมาสน์เทศน์ หรือแสดงปาฐกถา หรือแม้แต่พูดอธิบายธรรมะให้เราฟังในโอกาสใด ๆ ก็ตาม ก็จัดว่าเป็นธัมมัสสวนะทั้งนั้น และยังกินความรวมไปถึงการตั้งใจฟังคำแนะนำสั่งสอนของผู้รู้ผู้ปรารถนาดี หรือแม้แต่การรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ติชม รับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากคนอื่น ก็เข้าข่ายธัมมัสสวนะทั้งสิ้น
บุญที่ทำด้วยวิธีการเช่นนี้เรียกว่า “ธัมมัสสวนมัย” บุญที่สำเร็จด้วยการฟังธรรมคำสั่งสอน
จะเห็นได้ว่า พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่การฟังมาก ถึงกับจัดเป็นบุญชนิดหนึ่ง เพราะการฟังเป็นทางมาแห่งความรู้ ผู้ทรงความรู้ท่านเรียกว่า พหูสูต ซึ่งก็แปลว่า ผู้ฟังมากนั่นเอง
นี่ก็เป็นบุญอีกชนิดหนึ่งที่สมควรทำ
วิธีทำบุญวิธีที่ ๙ คือ ธัมมเทสนา การแสดงธรรม
การทำบุญวิธีนี้เป็นคู่กับการฟังธรรม เพราะจะมีการฟังธรรมได้ก็ต้องมีผู้แสดงธรรม ถ้าไม่มีใครแสดงธรรม การฟังธรรมก็ไม่เกิด การแสดงธรรมจึงมีความสำคัญมาก นอกจากจะเป็นบุญในตัวเองแล้ว ยังเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้ทำบุญด้วยวิธีธัมมัสสวนะอีกด้วย
การแสดงธรรมนั้นมีทั้งที่เป็นการแสดงตามแบบธรรมเนียม ที่เรียกกันว่าเทศน์ และการแสดงด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น ปาฐกถา อภิปราย การสอน การสนทนา รวมไปจนถึงการแนะนำสั่งสอน การแสดงข้อคิดเห็นต่าง ๆ การบอกแจ้งข้อมูลเรื่องราวต่าง ๆ แม้แต่กิจเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นการชี้บอกหนทางให้แก่คนที่ไม่รู้เป็นต้น ก็รวมอยู่ในคำว่า ธัมมเทสนา ได้ทั้งสิ้น
บุญที่ทำด้วยวิธีนี้ เรียกว่า “ธัมมเทสนามัย” บุญที่สำเร็จด้วยการแสดงธรรม
นี่ก็เป็นบุญอีกชนิดหนึ่งที่สมควรทำ
(ยังไม่จบ)
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๔
๑๓:๐๐
………………………………
วิธีทำบุญ (๕)-จบ
………………………………
วิธีทำบุญ (๓)