บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๑)

จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๐)

จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๐)

————————

ดำเนินความตามจักกวัตติสูตร

ได้นำเสนอรัตนะ ๗ ประการ และจักรวรรดิวัตรคือหลักการปกครองบ้านเมืองของพระเจ้าจักรพรรดิไปแล้ว เท่ากับเป็นการแนะนำให้รู้จักว่าพระเจ้าจักรพรรดิคือใคร มีคุณสมบัติอย่างไร

ต่อไปนี้จะได้ดำเนินความตามจักกวัตติสูตรเพื่อให้รู้ว่าเรื่องราวในพระสูตรเป็นอย่างไรต่อไป

……………

เหตุการณ์ในจักกวัตติสูตรเกิดขึ้นในสมัยที่มนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี กล่าวถึงพระเจ้าจักรพรรดิทรงพระนามว่า ทัฬหเนมิราช (สะกดเป็น ทัลหเนมิ ก็มี) ทรงแผ่อาณาเขตด้วยพลังแห่งจักรแก้วดังที่ได้บรรยายอานุภาพแล้วในตอนก่อนๆ 

จักรแก้วนั้นเมื่อแผ่อำนาจไปทั้งสี่ทิศแล้วก็กลับมาประดิษฐานที่เมืองหลวง 

อรรถกถาบรรยายว่า จักรแก้วนั้นลอยอยู่เหนือประตูพระราชวังชั้นใน (ดังจะให้เข้าใจว่าลอยอยู่ได้เองโดยไม่มีฐานรองรับและไม่มีสิ่งใดยึดโยง) 

มีเสาไม้ตะเคียน (ขทิรตฺถมฺภ) ๒ ต้นขนาบข้าง จักรแก้วลอยอยู่ตรงกลาง ขึงเชือกไว้กับเสา ๒ เส้น เส้นบนเสมอกงด้านบน เส้นล่างเสมอกงด้านล่าง

………………………………

ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็จงเขียนวงกลมวงหนึ่ง นั่นคือจักรแก้ว 

เขียนเส้นตั้ง ๒ เส้นซ้าย-ขวาของวงกลม นั่นคือเสาไม้ตะเคียน

ลากเส้นเหนือวงกลมเส้นหนึ่ง จากเส้นข้างซ้ายไปข้างขวา นั่นคือเชือกเส้นบน

ลากเส้นใต้วงกลมเส้นหนึ่งแบบเดียวกัน นั่นคือเชือกเส้นล่าง

ซ้าย-ขวา ชิดเสา 

บน-ล่าง ชิดเชือก

จักรแก้วลอยอยู่ตรงกลางด้วยลักษณาการดังนี้

………………………………

ถ้าเหตุการณ์บ้านเมืองเป็นปกติสุข จักรแก้วก็จะประดิษฐานอยู่ในลักษณาการดังนี้เป็นปกติ

เมื่อใดพระเจ้าจักรพรรดิหมดบุญบารมี จักรแก้วจะเลื่อนลงมาแตะเชือกเส้นล่าง-ห่างเชือกเส้นบน อาการอย่างนี้เรียกว่า “โอสกฺกิต” แปลว่า “คล้อยลง”

และถ้าบุญหมดไปเรื่อยๆ ระดับของจักรแก้วจะค่อยๆ เลื่อนลงเรื่อยไปจนกงด้านบนเลื่อนลงมาเสมอเชือกเส้นล่าง (คือวงล้อทั้งวงอยู่ใต้เชือกเส้นล่าง) อาการอย่างนี้เรียกว่า “ฐานา จุต” แปลว่า “เคลื่อนจากฐาน”

เพราะฉะนั้น จึงต้องมีเวรยามคอยตรวจตราและรายงานสภาพของจักรแก้วอยู่ตลอดเวลา

พระเจ้าทัฬหเนมิราชเสวยราชสมบัติอยู่เป็นเวลาหลายพันปี จนวันหนึ่งจักรแก้วก็เกิดอาการ “คล้อยลง” เจ้าพนักงานสังเกตเห็นก็กราบทูลขึ้นไปว่าจักรแก้วเริ่มคล้อยลงแล้ว

พระเจ้าทัฬหเนมิราชรับสั่งให้เฝ้าสังเกตอาการจนแน่พระทัยว่าจักรแก้วกำลังจะเคลื่อนจากฐาน ก็ทรงรู้ว่าพระองค์หมดบุญแล้ว จึงตรัสเรียกพระราชโอรสองค์ใหญ่มามอบราชสมบัติ

พระราชดำรัส “สั่งเสีย” ของพระเจ้าทัฬหเนมิราชตอนนี้มีเนื้อหาน่าสดับ ขอยกมาเสนอพร้อมทั้งคำบาลีเพื่อเป็นการเจริญสติและเจริญปัญญา ดังนี้ 

………………………….

ทิพฺพํ  กิร  เม  ตาต  กุมาร  จกฺกรตนํ  โอสกฺกิตํ  ฐานา  จุตํ

ดูก่อนพ่อกุมาร ได้ยินว่าจักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพ่อคล้อยเคลื่อนจากฐานแล้ว 

สุตํ  โข  ปเนตํ  ยสฺส  รญฺโญ  จกฺกวตฺติสฺส  ทิพฺพํ  จกฺกรตนํ  โอสกฺกติ  ฐานา  จวติ  นทานิ  เตน  รญฺญา  จิรํ  ชีวิตพฺพํ  โหตีติ 

พ่อได้สดับมาดังนี้ว่า จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์ใดคล้อยเคลื่อนจากฐาน บัดนี้พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์นั้นพึงทรงพระชนม์อยู่ได้ไม่นาน 

ภุตฺตา  โข  ปน  เม  มานุสกา  กามา

ก็กามทั้งหลายอันเป็นของมนุษย์พ่อก็ได้เสวยแล้ว 

สมโยทานิ  เม  ทิพฺเพ  กาเม  ปริเยสิตุํ

บัดนี้เป็นสมัยที่พ่อจะแสวงหากามทั้งหลายอันเป็นทิพย์ต่อไป 

เอหิ  ตฺวํ  ตาต  กุมาร  อิมํ  สมุทฺทปริยนฺตํ  ปฐวึ  ปฏิปชฺช

มาเถิดพ่อกุมาร ลูกจงปกครองแผ่นดินอันมีสมุทรเป็นขอบเขตนี้ 

อหํ  ปน  เกสมสฺสุํ  โอหาเรตฺวา  กาสายานิ  วตฺถานิ  อจฺฉาเทตฺวา  อคารสฺมา  อนคาริยํ  ปพฺพชิสฺสามีติ  ฯ

ฝ่ายพ่อจะปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาด ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิต

………………………….

ต่อไปเป็นพระพุทธดำรัสตรัสเล่าแก่ภิกษุทั้งหลาย

………………………….

อถโข  ภิกฺขเว  ราชา  ทลฺหเนมิ  เชฏฺฐปุตฺตํ  กุมารํ  สาธุกํ  รชฺเช  สมนุสาเสตฺวา  เกสมสฺสุํ  โอหาเรตฺวา  กาสายานิ  วตฺถานิ  อจฺฉาเทตฺวา  อคารสฺมา  อนคาริยํ  ปพฺพชิ  ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น พระเจ้าทัฬหเนมิราชทรงสั่งสอนพระกุมารซึ่งเป็นโอรสองค์ใหญ่ในราชสมบัติเป็นอันดีแล้ว ทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้าย้อมน้ำฝาด เสด็จออกจากพระราชวังทรงผนวชเป็นบรรพชิต

สตฺตาหํ  ปพฺพชิเต  โข  ปน  ภิกฺขเว  ราชิสิมฺหิ  ทิพฺพํ  จกฺกรตนํ  อนฺตรธายิ  ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อพระราชฤษีทรงผนวชได้ ๗ วัน จักรแก้วอันเป็นทิพย์ก็อันตรธานไป

ที่มา: จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๓๔

………………………….

เมื่อจักรแก้วอันตรธานไป พระราชาองค์ใหม่ก็เข้าไปทูลถามราชฤษีผู้เป็นพระราชบิดาว่าจะทำประการใดดี

ราชฤษีตรัสว่า จักรแก้วไม่ใช่มรดกที่จะมอบให้กันได้ แต่เป็นสมบัติเฉพาะตัว ขอให้พระราชาบำเพ็ญจักรวรรดิวัตรให้สมบูรณ์ต่อไป และให้รักษาอุโบสถศีลทุกวัน ๑๕ ค่ำ ปฏิบัติดังนี้ได้ถึงขนาด จักรแก้วประจำตัวก็คงจะเกิดมีขึ้นได้

พระราชาองค์ใหม่ก็ปฏิบัติตาม ไม่นานนักจักรแก้วประจำพระองค์ก็ปรากฏขึ้นในวันอุโบสถวันหนึ่ง 

พระราชาองค์ใหม่ก็ทรงหมุนจักรแก้วแผ่พระบารมีประกาศความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิไปทั้งสี่ทิศดุจเดียวกับพระเจ้าจักรพรรดิองค์ก่อน เมื่อจักรแก้วแผ่อำนาจไปทั้งสี่ทิศแล้วก็กลับมาประดิษฐานที่เมืองหลวงในลักษณาการเดียวกับจักรแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิองค์ก่อน พระเจ้าจักรพรรดิองค์ใหม่ก็เสวยราชสมบัติสืบไปเป็นเวลาหลายพันปี

เหตุการณ์ดำเนินไปเช่นนี้ติดต่อกันนับจำนวนพระเจ้าจักรพรรดิได้ ๗ พระองค์

เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์ที่ ๗ ออกผนวชเป็นฤษีได้ ๗ วัน จักรแก้วก็อันตรธาน 

ตามสูตร พระราชาองค์ที่ ๘ จะต้องไปทูลถามราชฤษีผู้เป็นพระราชบิดาว่าจะทำประการใดดี แต่ก็หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ 

พระสูตรบันทึกไว้ว่า –

………………………….

โน  จ   โข  ราชิสึ  อุปสงฺกมิตฺวา  อริยํ  จกฺกวตฺติวตฺตํ  ปุจฺฉิ  ฯ  โส  สมเตเนว   สุทํ   ชนปทํ   ปสาสติ …

แต่พระราชาองค์ใหม่ไม่ได้เสด็จเข้าไปเฝ้าราชฤาษีทูลถามถึงจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ นัยว่าท้าวเธอทรงปกครองประชาราษฎร์ตามพระมติของพระองค์เอง

ที่มา: จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๓๘

………………………….

คำว่า “ตามพระมติของพระองค์เอง” คำบาลีว่า “สมเตเนว” รูปศัพท์เดิมคือ “สมต” (สะ-มะ-ตะ) ประกอบด้วย (สะ) = ของตน + มต = ความรู้, ความเห็น, ความคิด, ความเข้าใจ

สมต = ความเห็นของตัวเอง 

หมายความว่า พระเจ้าจักรพรรดิองค์ก่อนๆ ปกครองประเทศโดยใช้หลักจักรวรรดิวัตร ไม่ได้ใช้ความเห็นหรือความพอใจส่วนพระองค์ ส่วนพระองค์จะชอบหลักจักรวรรดิวัตรหรือไม่ชอบ ไม่เอามาเป็นประมาณ แต่เอาหลักจักรวรรดิวัตรเป็นประมาณ หลักจักรวรรดิวัตรกำหนดไว้อย่างไร ก็ปฏิบัติให้สมบูรณ์ถูกต้องตามนั้น ไม่เอาความพอใจส่วนพระองค์เข้าไปแทรกปน

แต่พระราชาองค์ที่ ๘ ไม่ได้ปฏิบัติตามนั้น แต่ทรงปกครองโดยใช้ความพอใจส่วนพระองค์เป็นหลัก

เรื่องนี้อรรถกถาขยายความไว้ดังนี้ 

………………………….

สมเตนาติ  อตฺตโน  มติยา. … ปสาสตีติ  อนุสาสติ.  อิทํ  วุตฺตํ  โหติ:- โปราณกํ  ราชวํสํ  ราชปฺปเวณึ  ราชธมฺมํ  ปหาย อตฺตโน มติมตฺเต  ฐตฺวา  ชนปทมนุสาสตีติ.  เอวมยํ  มฆเทววํสสฺส  กฬารชนโก  วิย  ทฬฺหเนมิวํสสฺส  อุปจฺเฉทโก  อนฺติมปุริโส  หุตฺวา  อุปฺปนฺโน.

คำว่า  สมเตน แปลว่า ตามมติของตน 

คำว่า ปสาสติ แปลว่า ปกครอง. มีคำอธิบายว่า พระราชาทรงละทิ้งเชื้อสายของราชา ประเพณีของราชา คือหลักการของนักปกครองอันมีมาแต่ก่อนเก่า ใช้เพียงมติของตนปกครองประเทศ เมื่อเป็นเช่นนั้น พระราชาพระองค์นี้จึงเป็นพระราชาองค์สุดท้ายซึ่งเป็นผู้ตัดวงศ์ของพระเจ้าทัฬหเนมิราช ประดุจผู้ให้เกิดความด่างพร้อยแก่วงศ์มฆเทพฉะนั้น* 

ที่มา: สุมังคลวิลาสินี ภาค ๓ หน้า ๕๗ (จกฺกวตฺติสุตฺตวณฺณนา) 

………………………….

*วงศ์มฆเทพ เรื่องราวเป็นอย่างไร ขอแรงท่านผู้รู้เข้ามาช่วยเติมเต็มด้วยครับ

………………………….

นั่นคืออรรถกถาบอกว่า “มต” คือ “มติ” (แจกวิภัตติเป็น “มติยา”)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มติ” ว่า mind, opinion, thought; thinking of, hankering after, love or wish for (จิตใจ, ความเห็น, ความคิด; การคิดถึง, ความอยาก, ความอยากได้หรือปรารถนา)

สรุปว่า พระราชาพระองค์ที่ ๘ ทรงปกครองบ้านเมืองตามความพอใจของพระองค์เอง ไม่ได้ใช้หลักหลักจักรวรรดิวัตร

ต้นเหตุแห่งความเสื่อมของมนุษยชาติเริ่มแล้ว

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๔

๑๐:๑๐

…………………………….

จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๑)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๙)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *