บาลีวันละคำ

ปัตติทานมัย (บาลีวันละคำ 3,351)

ปัตติทานมัย (บุญกิริยาวัตถุข้อ 6)

“ทำบุญแบ่งบุญ”

…………..

วิธีทำบุญตามแนวพระพุทธศาสนา เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ” แปลว่า “ที่ตั้งแห่งการทำบุญ” มี 2 ชุด:

ชุดมาตรฐาน หรือชุดเล็ก มี 3 วิธี คือ –

1. ทานมัย ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ

2. สีลมัย ทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดี

3. ภาวนามัย ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือฝึกอบรมจิตใจเจริญปัญญา

ชุดใหญ่มี 10 วิธี คือขยายต่อจากชุดเล็กไปอีก 7 วิธี คือ 

4. อปจายนมัย ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม

5. เวยยาวัจจมัย ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้

6. ปัตติทานมัย ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น

7. ปัตตานุโมทนามัย ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น 

8. ธัมมัสสวนมัย ทำบุญด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้ 

9. ธัมมเทสนามัย ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้ 

10. ทิฏฐุชุกัมม์ ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง

…………..

ทำบุญวิธีที่ 6 “ปัตติทานมัย

อ่านว่า ปัด-ติ-ทาน-นะ-ไม

ประกอบด้วยคำว่า ปัตติทาน + มัย

(๑) “ปัตติทาน” 

ใช้คำเดียว ไม่มีคำอื่นสมาสข้างท้าย อ่านว่า ปัด-ติ-ทาน ถ้ามีคำอื่นสมาสข้างท้าย เช่นในที่นี้ อ่านว่า ปัด-ติ-ทา-นะ- ประกอบด้วยคำว่า ปัตติ + ทาน 

(ก) “ปัตติ” 

เขียนแบบบาลีเป็น “ปตฺติ” อ่านว่า ปัด-ติ รากศัพท์มาจาก ปทฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ติ ปัจจัย, แปลง ทฺ ที่ (ป)-ทฺ เป็น ตฺ (ปทฺ > ปตฺ)

: ปทฺ + ติ = ปทฺติ > ปตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปถึง

ปตฺติ” (อิตถีลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) การได้รับ, การได้มา, การได้, การเข้าร่วม, การเข้าถึง (obtaining, acquiring, getting, entering into, state of) 

(2) การบรรลุ, การถึง (attainment, acquisition) 

(3) การได้, สิ่งที่ได้, กำไร, ผลประโยชน์ (gaining, gain, profit, advantage) 

(4) ส่วนบุญ, กำไร, การมอบ, การแนะนำ, การอุทิศส่วนบุญ, ทักษิณา (merit, profit, accrediting, advising, transference of merit, a gift of merit) 

(5) สิ่งที่ได้รับ, โอกาส, สิ่งที่เกิดขึ้น, สถานะ, สถานที่, (that which obtains, occasion, happening, state, place) 

ในที่นี้ใช้ในความหมายตามข้อ (4) 

(ข) “ทาน” บาลีอ่านว่า ทา-นะ รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) 

: ทา + ยุ > อน = ทาน แปลตามศัพท์ว่า “การให้” “สิ่งของสำหรับให้

ทาน” (นปุงสกลิงค์) มีความหมายว่า –

(1) การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

(2) สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทาน” ว่า giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence (การให้, การแจกให้, ของขวัญ; การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง)

ทาน” ใช้ในรูปเดียวกันทั้งบาลีและสันสกฤต 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ทาน : (คำนาม) ‘ทาน’, การให้, การบริจาค; มันเหลวซึ่งเยิ้มออกจากขมับช้างตกน้ำมัน; การอุปถัมภ์, การบำรุง; วิศุทธิ, นิรมลีกรณ์; การตัด, การแบ่ง; ทักษิณา, ของถวาย, ของให้เปนพิเศษ; การตี, การเฆาะ; อรัณยมธุ, น้ำผึ้งป่า; giving, gift, donation; fluid that flows from the temples of an elephant in rut; nourishing, cherishing; a present, a special gift; striking, beating; wild honey.”

ปตฺติ + ทาน = ปตฺติทาน (ปัด-ติ-ทา-นะ) แปลว่า “การให้ส่วนบุญ” หมายถึง การอุทิศส่วนบุญให้, การให้ส่วนบุญ, การแบ่งส่วนบุญให้ (an assigned or accredited gift, giving of merit, transference of merit)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ปัตติทาน : (คำนาม) การให้ส่วนบุญ. (ป.).”

(๒) “มัย” 

บาลีเป็น “มย” อ่านว่า มะ-ยะ นักภาษาวิเคราะห์ความหมายของศัพท์ไว้ดังนี้ –

(1) มีความหมายว่า “มยํ” (มะ-ยัง) = ข้าพเจ้าเอง (“myself”)

(2) มีความหมายว่า “ปญฺญตฺติ” (บัญญัติ) = รับรู้กันว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ (“regulation”)

(3) มีความหมายว่า “นิพฺพตฺติ” = บังเกิด (“origin”, arising from)

(4) มีความหมายว่า “มโนมย” = ทางใจ (“spiritually”)

(5) มีความหมายว่า “วิการ” = ทำให้แปลกไปจากสภาพเดิมของสิ่งนั้น (“alteration”) เช่น เอาทองมาทำเป็นสร้อยคอ (ทอง = สภาพเดิม, สร้อยคอ = สิ่งที่ถูกทำให้แปลกจากเดิม)

(6) มีความหมายว่า “ปทปูรณ” (บทบูรณ์) = ทำบทให้เต็ม เช่น ทานมัย ก็คือทานนั่นเอง สีลมัย ก็คือศีลนั่นเอง เติม “มัย” เข้ามาก็มีความหมายเท่าเดิม (to make up a foot of the verse)

กฎของการใช้คำว่า “มย” ก็คือ ไม่ใช้เดี่ยวๆ แต่จะเป็นส่วนท้ายของคำอื่นเสมอ

ปตฺติทาน + มย = ปตฺติทานมย (ปัด-ติ-ทา-นะ-มะ-ยะ) แปลตามศัพท์ว่า “บุญที่สำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ” หรือ “บุญที่สำเร็จด้วยปัตติทาน” อาจเรียกสั้นๆ ว่า “ทำบุญแบ่งบุญ” หมายถึง บุญที่ทำด้วยวิธีแบ่งส่วนบุญให้แก่ผู้ยังมีชีวิตอยู่เพื่อให้เขาอนุโมทนา และอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ตลอดจนความมีน้ำใจเปิดโอกาสให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมในการทำความดีต่างๆ ด้วย

ขยายความ :

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ปัตติทานมัย : (คำวิเศษณ์) สำเร็จด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น, เป็นธรรมข้อ ๑ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐. (ป.).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

…………..

ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ, ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น, ทำความดีโดยให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมในการทำความดีนั้นด้วย (ข้อ ๖ ใน บุญกิริยาวัตถุ ๑๐)

…………..

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ มีคำว่า “ปตฺติทาน” แปลไว้ว่า an assigned or accredited gift, giving of merit (as permanent acquisition), transference of merit (การอุทิศส่วนบุญให้ [เป็นการได้มาอย่างถาวร], การให้ส่วนบุญ-อ้างแล้วข้างต้น) แต่ไม่มีคำที่สมาสกับ “มย” เป็น “ปตฺติทานมย” 

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [89] บุญกิริยาวัตถุ 10 บอกไว้ดังนี้ – 

…………..

6. ปัตติทานมัย (ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น — Pattidānamaya: by sharing or giving out merit)

…………..

กิเลสหรือ “บาป” ที่เป็นข้าศึกแก่ “ปัตติทานมัย” คือ มัจฉริยะ (ความตระหนี่) และ อิสสา (ริษยา, ไม่อยากให้คนอื่นได้ดี)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ยิ่งให้ยิ่งได้

: ยิ่งได้ยิ่งให้

#บาลีวันละคำ (3,351)

15-8-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *