บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๑)

จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๑)

————————

ผมกำลังศึกษาจักกวัตติสูตร ซึ่งผมเรียกเองว่า เป็นพระสูตรทำนายอนาคตของมนุษยชาติ ท่านใดสนใจเรื่องทำนายทายทัก สมควรศึกษา

ต้นฉบับจักกวัตติสูตรเป็นภาษาบาลี มีมาในพระไตรปิฎก คืออยู่ในคัมภีร์ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๓๓ – ๕๐ ความยาวภาษาบาลีอักษรไทยประมาณ ๒๕ หน้า

น่าเสียดายที่หลักสูตรการศึกษาบาลีของคณะสงฆ์ไทยไม่ได้ใช้พระไตรปิฎกเป็นแบบเรียนโดยตรง ใช้แต่คัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมาเป็นแบบเรียน แล้วก็ใช้แค่ ๕ คัมภีร์เท่านั้น นักเรียนบาลีบ้านเราจึงไม่ได้เรียนพระไตรปิฎก และจึงไม่ได้ศึกษาพระสูตรนี้รวมทั้งพระสูตรอื่นๆ หรือพูดให้ถูกก็คือ-ไม่ได้ศึกษาทั้งพระไตรปิฎกนั่นเลย

อันที่จริง ความมุ่งหมายของการเรียนบาลีก็เพื่อให้ผู้เรียนใช้บาลีเป็นกุญแจไขเข้าไปแปลพระไตรปิฎกคือเข้าไปศึกษาพระไตรปิฎกนั่นเอง เป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายอยู่ตรงนั้น 

แต่จะเป็นเพราะบริหารจัดการกันอย่างไรก็ไม่ทราบได้ เรียนไปเรียนมา กลายเป็นเรียนบาลีเพื่อให้ได้วุฒิ คือจบประโยคนั้นประโยคนี้แล้วเอาวุฒิไปทำอย่างอื่นต่อไป แบบเดียวกับที่ชาวบ้านเรียนมัธยมเรียนมหาวิทยาลัย จบแล้วเอาวุฒิไปสมัครงานหรือไปเรียนสูงๆ ต่อไปอีกนั่นแหละ

เรียนบาลี แต่ไปไม่ถึงพระไตรปิฎกตามเป้าหมายที่ (เคย) ตั้งไว้

อันที่จริงถ้าตั้งใจไปให้ถึงพระไตรปิฎก ก็ไปถึงได้ แต่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น หาคนตั้งใจไปได้น้อย เรียกได้ว่าแทบไม่มีเลย 

มีเสียงทักท้วงติงเตือนกันมาตลอดว่าให้มุ่งไปที่พระไตรปิฎกกันบ้างเถิด แต่ก็แปลกอีก คือไม่มีใครฟัง ทั้งผู้บริหารการเรียน ทั้งผู้เรียน คงมุ่งไปที่-เรียนเอาวุฒิกันอย่างเดียวเหมือนเดิม 

เหตุผลที่ยกมาอ้างกันก็คือ การเรียนบาลีเพื่อไปให้ถึงพระไตรปิฎกนั้นควรเป็นไปตามอัธยาศัยของผู้เรียน สวัสดี จบ

เมื่อไม่นานมานี้ มีพระราชปุจฉาไปยังคณะสงฆ์ว่า ทำอย่างไรการเรียนบาลีจึงจะไปถึงพระไตรปิฎก 

พระราชปุจฉานี้เป็นเรื่องที่เราทราบกันอยู่บ้าง แต่บัดนี้คณะสงฆ์ถวายวิสัชนาไปว่าอย่างไร ไม่มีใครทราบเลย กลายเป็นเรื่องลึกลับไป ทั้งๆ ที่ควรรับรู้รับทราบทั่วกัน เพื่อจะได้ช่วยกันถวายกำลังใจและถวายความอุปถัมภ์ให้คณะสงฆ์มีกำลังปรับปรุงการศึกษาบาลีให้เข้าถึงพระไตรปิฎกสนองพระราชปุจฉาสืบไป

บอกได้คำเดียวว่า น่าเสียดาย

————–

มาพูดถึงจักกวัตติสูตรกันต่อ

จักกวัตติสูตรนี้เป็นพระสูตรที่บรรยายความถึงยุคสมัยที่มนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี (แปดหมื่นปี) จนถึงยุคที่มนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี

ฟังแค่นี้ มนุษย์สมัยใหม่คงสั่นศีรษะ บอกว่า นิทานหลอกเด็กมาอีกแล้ว

ผมเคยอภิปรายกับบางท่าน เขาบอกว่า ตัวเลข ๘๐,๐๐๐ ปีนี่ยากที่จะยอมรับได้ 

ทางสรีรวิทยาหรือคุณภาพของธาตุที่ประกอบเข้าเป็นร่างกายมนุษย์นั้นไม่น่าจะมีอายุการใช้งานนานถึง ๘๐,๐๐๐ ปี บางทีอาจจะเป็นการเขียนหรือจำตัวเลขคลาดเคลื่อนก็เป็นได้

ข้อทักท้วงของเขามีเหตุผลนะครับ

แต่เมื่อเอาต้นฉบับมาตรวจสอบ ก็ยากที่บอกว่าเป็นการเขียนหรือจำตัวเลขคลาดเคลื่อน

ต้นฉบับบาลีตรงนี้เป็นดังนี้

………………………………

อสีติวสฺสสหสุสายุกานํ  มนุสฺสานํ  

(พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๔๒)

………………………………

อสีติ (อะสีติ) แปลว่า แปดสิบ

วสฺส (วัสสะ) แปลว่า ปี

สหสุส (สะหัสสะ) แปลว่า พัน (จำนวน ๑,๐๐๐)

อายุกานํ แปลว่า มีอายุ 

รวมกันเป็น “อสีติวสฺสสหสุสายุกานํ” แปลว่า “มีอายุแปดสิบพันปี” (นับทีละพัน > แปดสิบพัน = แปดหมื่น)

ภาษาบาลีนั้นใช้ตัวอักษรบอกจำนวน ไม่ใช้ตัวเลข เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะคลาดเคลื่อนจึงเป็นไปได้ยากมาก

แม้อย่างนี้ มนุษย์สมัยใหม่ก็ยังบอกอยู่นั่นเองว่า 

๘๐ ของจริง เชื่อได้ 

๘๐๐ พอกัดฟันเชื่อ 

แต่ ๘๐,๐๐๐ นี่ นิทานแล้ว

พระพุทธศาสนาของเรานี่ดีอย่างหนึ่ง ใครไม่เชื่อก็ไม่ว่าอะไรเลย ไม่เคยบอกว่าใครไม่เชื่อจะต้องตกนรก จะตกนรกหรือขึ้นสวรรค์ ขึ้นอยู่กับตัวของคนคนนั้นเอง ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาล

เพราะฉะนั้น ใครไม่เชื่อว่ามนุษย์จะมีอายุยืนได้ถึง ๘๐,๐๐๐ ปี ก็ไม่มีใครว่าอะไรเลย เป็นสิทธิเสรีภาพอยู่แล้ว 

เรื่องนี้เป็นการศึกษาว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างไร พระไตรปิฎกบันทึกไว้อย่างไร 

เชื่อหรือไม่เชื่อ แยกไว้ต่างหาก

—————–

เรื่องจักกวัตติสูตรศึกษานี่คงต้องว่ากันยาวหน่อย เพราะฉะนั้น จบเป็นตอนๆ ไว้แค่นี้ก่อนครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๔

๑๘:๒๓

…………………………….

จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๒)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *