บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๑)

จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๘)

จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๘)

————————

ดำเนินความตามจักกวัตติสูตร

เมื่อเกิดสัตถันดรกัปหรือมิคสัญญี ๗ วัน มนุษย์ฆ่ากันเหมือนล่าสัตว์ จนไม่เหลือทั้งผู้ถูกล่าและผู้ล่า-ซึ่งในที่สุดก็จะถูกฆ่าตายตามกันไปด้วย 

แล้วใครที่เหลือรอด?

ความในพระสูตรบรรยายว่า –

……………………………..

อถโข  เตสํ  ภิกฺขเว  สตฺตานํ  เอกจฺจานํ  เอวํ  ภวิสฺสติ  มา  จ  มยํ  กญฺจิ  มา  จ  อเมฺห  โกจิ  ยนฺนูน  มยํ  ติณคหณํ  วา  วนคหณํ  วา  รุกฺขคหณํ  วา  นทีวิทุคฺคํ  วา  ปพฺพตวิสมํ  วา  ปวิสิตฺวา  วนมูลผลาหารา  ยาเปยฺยามาติ  ฯ

ครั้งนั้น มนุษย์บางพวกมีความคิดอย่างนี้ว่า พวกเราอย่าฆ่าใครๆ เลย และใครๆ ก็อย่าฆ่าเราเลย ถ้ากระไรเราควรเข้าไปอยู่ตามป่าหญ้า สุมทุม พุ่มไม้ ซอกเกาะ หรือซอกเขา อาศัยรากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหารยังชีพอยู่เถิด

ที่มา: จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๔๗

……………………………..

ความในพระสูตรบอกว่า “พวกเราอย่าฆ่าใครๆ เลย และใครๆ ก็อย่าฆ่าเราเลย” นั่นก็คือ ถ้าไม่อยากถูกฆ่าและไม่อยากเป็นผู้ฆ่า ก็มีวิธีเดียวคือหลบออกไปเสียจากสังคมหรือจากฝูงชน และต้องหลบไปอยู่คนเดียวอย่าให้ใครเห็นและอย่าให้เห็นใคร

อย่าให้ใครเห็น: เพราะอาจถูกคนคนนั้นฆ่าเอาได้ ไว้ใจกันไม่ได้เลย-แม้แต่พ่อกับลูก-ดังที่แสดงไว้ในตอนก่อน

อย่าให้เห็นใคร: เพราะถ้าเห็น ตัวเองนั่นแหละอาจจะฆ่าคนคนนั้นเสียก็ได้

เพราะฉะนั้น อยู่ด้วยกัน ๒ คน ก็ไม่ปลอดภัย เพราะคนที่อยู่ด้วยกันอาจจะฆ่ากันเอง

ความข้อนี้อรรถกถากล่าวไว้ดังนี้ –

……………………………..

อยํ  โลกวินาโส  ปจฺจุปฏฺฐิโต,  น  สกฺกา  ทฺวีหิ  เอกฏฺฐาเน  ฐิเตหิ  ชีวิตํ  ลทฺธุนฺติ  มญฺญมานา  เอวํ  จินฺตยิสฺสนฺติ.

มนุษย์บางพวกเหล่านั้นพากันคิดอย่างนี้ว่า ความพินาศของชาวโลกมาอยู่ตรงหน้านี่แล้ว เราอยู่ร่วมที่เดียวกันสองคนอาจจะไม่รอดชีวิตอยู่ได้

ที่มา: สุมังคลวิลาสินี ภาค ๓ หน้า ๖๒ (จกฺกวตฺติสุตฺตวณฺณนา) 

……………………………..

คิดดังนี้ ต่างคนต่างก็แยกย้ายกระจายหนีกันไปซุกซ่อนตัวอยู่ตามที่ต่างๆ – ดงหญ้าบ้าง สุมทุมพุ่มไม้บ้าง ซอกเกาะซอกเขาบ้าง

—————

แวะตรงนี้นิดหนึ่งครับ ตรงนี้นักเลงบาลีควรจะสนใจศัพท์บาลีสักเล็กน้อย

ติณคหณ = ป่าหญ้า (a thicket of grass)

วนคหณ = รกชัฏ (jungle thicket)

รุกฺขคหณ = ดงไม้หรือเถาวัลย์พันเกี่ยว (tree-thicket or entanglement)

นทีวิทุคฺค = ที่ลุยน้ำข้ามฟากในแม่น้ำ (a difficult ford in a river)

ปพฺพตวิสม = สถานที่ไม่สม่ำเสมอหรือมีอันตรายหรือไม่อาจไปถึงตามภูเขา (an uneven or dangerous or inaccessible place of the mountain)

เปิดพจนานุกรมบาลี-อังกฤษที่ฝรั่งชาติอังกฤษทำไว้ เขาแปลไว้แบบนี้ เราก็อาศัยเป็นสะพานก้าวผ่านไปหาความรู้ต่อไป ศัพท์พวกนี้คัมภีร์อรรถกถาของพระสูตรนี้ท่านก็อธิบายไว้ ผมไม่ยกใส่ชามมาให้ เพราะอยากให้นักเรียน-นักเลงบาลีของเรามีอุตสาหะในการสืบค้น 

ชามอยู่ไหน หม้อข้าวหม้อแกงอยู่ไหน ครัวอยู่ไหน บอกให้แล้ว ลุกไปตักเองมั่งสิขอรับ

—————

สถานที่เหล่านี้คือที่ซึ่งผู้คนลี้ภัยจากสัตถันดรกัป-สงครามคนฆ่าคน เข้าไปพักอยู่แล้วรอดชีวิต ศึกษาสังเกตไว้ เผื่อถึงเวลานั้นจะได้พอนึกออก

ล่วงไป ๗ วัน ผู้คนเหล่านั้นก็ออกมาจากที่ซ่อน

ตรงนี้ไม่ชัดว่าเป็น ๗ วันระหว่างที่คนฆ่ากัน หรือหลังจากฆ่ากันจบแล้วนับต่อไปอีก ๗ วัน โปรดตีความกันเอาเอง

ตามที่เคยได้ฟังมา ท่านบอกว่าพอฆ่ากันครบ ๗ วันแล้ว ก็เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วม พัดพาเอาซากศพลงทะเลไปหมดสิ้น แผ่นดินก็สะอาดขึ้น แต่ความข้อนี้ไม่ปรากฏในจักกวัติสูตรไม่ว่าจะในพระบาลีหรืออรรถกถา

ดำเนินความตามจักกวัตติสูตรสืบไปว่า –

……………………………..

เต  ตสฺส  สตฺตาหสฺส  อจฺจเยน  ติณคหณา  วนคหณา  รุกฺขคหณา  นทีวิทุคฺคา  ปพฺพตวิสมา  นิกฺขมิตฺวา  อญฺญมญฺญํ  อาลิงฺคิตฺวา  สภาคายิสฺสนฺติ  สมสฺสาสิสฺสนฺติ  ทิฏฺฐา  โภ  สตฺตา  ชีวสิ  ตฺวํ  ทิฏฺฐา  โภ  สตฺตา  ชีวสีติ  ฯ

เมื่อล่วง ๗ วันไป เขาก็พากันออกจากป่าหญ้า สุมทุม พุ่มไม้ ซอกเกาะ ซอกเขา แล้วต่างสวมกอดกันและกัน เกิดความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน ปลอบใจกันว่า ชาวเราเอย เรารอดชีวิตท่านก็เห็นแล้ว ท่านรอดชีวิตเราก็เห็นแล้ว นะชาวเราเอย …

อถโข  เตสํ  ภิกฺขเว  สตฺตานํ  เอวํ  ภวิสฺสติ  มยํ  โข  อกุสลานํ  ธมฺมานํ  สมาทานเหตุ  เอวรูปํ  อายตํ  ญาติกฺขยํ  ปตฺตา 

ลำดับนั้น สัตว์เหล่านั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า เราถึงความสิ้นญาติอย่างใหญ่หลวงเห็นปานนี้เหตุเพราะไปประพฤติยึดถือสิ่งที่เป็นอกุศล 

ยนฺนูน  มยํ  กุสลํ  กเรยฺยาม 

อย่ากระนั้นเลย เราควรทำกุศลกันเถิด 

กึ  กุสลํ  กเรยฺยาม  

ควรทำกุศลอะไรกันดี?

ยนฺนูน  มยํ  ปาณาติปาตา  วิรเมยฺยาม  อิทํ  กุสลํ  ธมฺมํ  สมาทาย  วตฺเตยฺยามาติ  ฯ

ถ้ากระไรละก็ เราควรงดเว้นปาณาติบาต ควรสมาทานประพฤติกุศลธรรมข้อนี้กันเถิด

เต  ปาณาติปาตา  วิรมิสฺสนฺติ  อิทํ  กุสลํ  ธมฺมํ  สมาทาย  วตฺติสฺสนฺติ

เขาก็งดเว้นจากปาณาติบาต สมาทานประพฤติกุศลธรรมข้อนี้กันอยู่

เต  กุสลานํ  ธมฺมานํ  สมาทานเหตุ  อายุนาปิ  วฑฺฒิสฺสนฺติ  วณฺเณนปิ  วฑฺฒิสฺสนฺติ  

เพราะเหตุที่สมาทานกุศลธรรม มนุษย์ก็เจริญด้วยอายุ ทั้งเจริญด้วยวรรณะ 

เตสํ  อายุนาปิ  วฑฺฒมานานํ  วณฺเณนปิ  วฑฺฒมานานํ  ทสวสฺสายุกานํ  มนุสฺสานํ  วีสติวสฺสายุกา  ปุตฺตา  ภวิสฺสนฺติ  ฯ

เมื่อมนุษย์เจริญทั้งอายุ เจริญทั้งวรรณะ บุตรของมนุษย์ที่มีอายุ ๑๐ ปี ก็มีอายุเจริญขึ้นถึง ๒๐ ปี

ที่มา: จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๔๗

……………………………..

ตอนนี้ก็เริ่มต้นช่วงเวลาขาขึ้นของมนุษยชาติกันอีกครั้งหนึ่ง

ความดีอย่างแรกที่มนุษย์เริ่มประพฤติกันใหม่ คืองดเว้นจากปาณาติบาต 

อันที่จริงน่าจะพูดว่า ความชั่วอย่างแรกที่มนุษย์งดเว้น-ไม่ทำ คือปาณาติบาต-การฆ่ากัน

ขอให้สังเกตว่า ในช่วงเวลาขาลง ความชั่วที่มนุษย์เริ่มทำกันเป็นอย่างแรกคือ อทินนาทาน-ลักขโมย แต่ในช่วงเวลาขาขึ้น ความชั่วที่มนุษย์งดเว้น คือไม่ทำเป็นอย่างแรกคือ ปาณาติบาต-การฆ่ากัน

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะปาณาติบาต-การฆ่ากันเป็นความชั่วอย่างสุดท้ายที่มนุษย์โหมทำกันอย่างดุเดือด ต่อจากนั้นก็ไม่เหลือใครที่คิดจะทำความชั่วอะไรอีก

ดังนั้น เมื่อจะเริ่มต้นกันใหม่ สิ่งแรกที่จะต้อง “ไม่ทำอย่างเด็ดขาด” ก็คือการฆ่ากัน เพราะถ้ายังคิดจะฆ่ากันอยู่อีก ก็แปลว่าช่วงเวลาสัตถันดรกัปยังไม่สิ้นสุด นั่นคือยังเริ่มต้นใหม่ไม่ได้

กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เพราะการฆ่ากันเป็นเหตุให้ปิดฉากยุคเก่า ดังนั้น จะเปิดฉากยุคใหม่ได้ก็ต้องเปิดด้วยการไม่ฆ่ากันเป็นเบื้องต้น

สรุปความตามจักกวัตติสูตรว่า มนุษยชาติเริ่มยุคใหม่ด้วยการงดเว้นจากอกุศลกรรมบถ เริ่มจากปาณาติบาตเป็นข้อแรก

ต่อจากนั้นก็งดเว้นอทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ อภิชฌา พยาบาท และมิจฉาทิฏฐิ เป็นอันว่ามนุษย์เลิกประพฤติอกุศลกรรมบถได้หมดทุกอย่าง

ต่อจากนั้น ความวิปริตทางเพศ คือ อธรรมราคะ วิสมโลภะ มิจฉาธรรม ก็หายไปจากสันดานด้วย 

ต่อจากนั้น มนุษย์ก็เริ่มปฏิบัติชอบในบิดามารดา ปฏิบัติชอบในสมณะชีพราหมณ์ ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล รวมความว่า ความเคารพนับถือกันก็กลับคืนมา

เมื่อประพฤติอยู่ในศีลในธรรมกันมากขึ้น อายุขัยก็เพิ่มขึ้น รูปร่างหน้าตาผิวพรรณก็สวยงามยิ่งขึ้น 

เพิ่มการประพฤติปฏิบัติตามศีลธรรมขึ้นอย่างหนึ่ง อายุขัยก็เพิ่มขึ้นทีหนึ่ง เพิ่มขึ้นไปแบบทวีคูณ คือ จาก ๑๐ เป็น ๒๐ – ๔๐ – ๘๐ – ๑๖๐ – ๓๒๐ – ๖๔๐ แล้วก็ถึงพันปี สองพันปี สี่พันปี แปดพันปี สองหมื่นปี สี่หมื่นปี จนกระทั่งแปดหมื่นปี

ใช้สูตร “๑๐๐ ปีผ่านไป อายุขัยเพิ่มขึ้น ๑ ปี” – ใครที่เก่งคำนวณลองคำนวณดูทีว่า จากอายุขัย ๑๐ ปี ต้องใช้เวลากี่ล้านปี มนุษย์จึงจะมีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี? 

ถึงเวลานั้นมนุษย์เป็นอย่างไรกันบ้าง ติดตามไปดูกัน

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๔

๑๗:๕๑

…………………………….

จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๙)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๗)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *