บาลีวันละคำ

ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ (บาลีวันละคำ 3,377)

ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ (ชุดพรหมวิหารภาวนา)

จักเป็นผู้รับผลของกรรมอันนั้น” 

ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ” เขียนแบบบาลีเป็น “ตสฺส ทายาทา ภวิสฺสนฺติ” อ่านว่า ตัด-สะ ทา-ยา-ทา พะ-วิด-สัน-ติ

มีคำบาลีที่ควรทำความรู้จักไว้ คือ “ตสฺส” “ทายาทา” “ภวิสฺสนฺติ” 

(๑) “ตสฺส

อ่านว่า ตัด-สะ รูปศัพท์เดิมเป็น “” (ตะ) เป็นศัพท์จำพวก “สัพพนาม” 

“สัพพนาม” (สรรพนาม) ในบาลีมี 2 ประเภท คือ –

(1) “ปุริสสัพพนาม” (ปุริสสรรพนาม) คือคำแทนชื่อ มี 3 บุรุษ คือ –

1. ปฐมบุรุษ หมายถึงผู้ที่เราพูดถึง เช่น เขา มัน (he, she, they; it) บาลีใช้ศัพท์ว่า “” (ตะ) นิยมเรียก “-ศัพท์” 

2. มัธยมบุรุษ หมายถึงผู้ที่เราพูดด้วย เช่น แก เจ้า มึง (you) บาลีใช้ศัพท์ว่า “ตุมฺห” (ตุม-หะ) นิยมเรียก “ตุมฺห-ศัพท์” 

3. อุตตมบุรุษ หรือ อุดมบุรุษ หมายถึงเราซึ่งเป็นผู้พูด เช่น ฉัน ข้า กู (I, we) บาลีใช้ศัพท์ว่า “อมฺห” (อำ-หะ) นิยมเรียก “อมฺห-ศัพท์” 

(2) “วิเสสนสัพพนาม” (วิเสสนสรรพนาม) คือคำคุณศัพท์ทำหน้าที่ขยายคำนาม ในบาลีมีหลายคำ เช่น (ใด) อญฺญ (อื่น) ปร (อื่น) กตร (คนไหน, สิ่งไหน

ในที่นี้ “” เป็น “วิเสสนสัพพนาม” แปลว่า “นั้น” เป็นคำที่คู่กับ “” (ยะ) แปลว่า “ใด” นิยมเรียกคู่กันว่า “ยะตะ” มีสูตรที่นักเรียนบาลีต้องจำได้ คือ “มีใด ต้องมีนั้น” คือ ถ้าความท่อนแรกมี “” ความท่อนหลังต้องมี “” เรียกกันว่า “รับยะ รับตะ”

ในคำแผ่อุเบกขานี้ ความท่อนแรกว่า “ยํ กมฺมํ กริสฺสนฺติ” (จักทำกรรมอันใดไว้) มี “” (ยํ) อยู่ด้วย ความท่อนหลังจึงต้องมี “” รับ

” ในที่นี้ก็คือ “ตสฺส” เหตุที่เป็น “ตสฺส” ก็เพราะข้อความสืบเนื่องมาจากคำว่า “ทายาทา” ที่แปลว่า “ผู้รับผล” รับผลอะไร? รับผล “ของกรรม” คำว่า “กรรม” คำบาลีว่า “กมฺม” คำว่า “ของกรรม” แสดงว่า“กมฺม” จะต้องประกอบวิภัตตินามที่แปลว่า “ของ” นั่นก็คือวิภัตตินามที่สี่ (จตุตถีวิภัตติ) “กมฺม” จึงเปลี่ยนรูปเป็น “กมฺมสฺส” (กำ-มัด-สะ) แปลว่า “ของกรรม

ดังนั้น “-ศัพท์” ซึ่งทำหน้าที่ขยาย “กมฺมสฺส” จึงเปลี่ยนรูปเป็น “ตสฺส” ตามกฎที่ว่า คำขยายต้องประกอบลิงค์ วจนะ วิภัตติ ตามคำที่ตนขยาย

เทียบดู –

ความท่อนแรก: ยํ กมฺมํ

ความท่อนหลัง: ตสฺส กมฺมสฺส … (ในที่นี้ละ “กมฺมสฺส” ไว้ในฐานเข้าใจ คือเขียนไว้เฉพาะ “ตสฺส” ก็เป็นที่เข้าใจว่า เวลาแปลต้องเติม “กมฺมสฺส” เข้ามาด้วย)

(๒) “ทายาทา” 

บาลีอ่านว่า ทา-ยา-ทะ รากศัพท์มาจาก ทาย (อ่านว่า ทา-ยะ = สิ่งที่ควรมอบให้) + อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + ทา (ธาตุ = ให้) + ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือลบสระ อา ที่ ทา (ทา > )

: ทาย + อา + ทา = ทายาทา > ทายาท + = ทายาท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ถือเอาสิ่งที่ควรมอบให้” หมายถึง ผู้สืบสกุล, ผู้รับมรดก (heir)

หมายเหตุ : “อา” (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) ในที่นี้ใช้ในความหมาย “กลับความ” เมื่อนำหน้า “ทา” ธาตุ ซึ่งมีความหมายว่า “ให้” เป็น “อาทา” จึงกลับความจาก “ให้” (give) เป็น “เอา” (take) 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ทายาท” ในภาษาสันสกฤตไว้ดังนี้ –

ทายาท : (คำนาม) บุตร; ญาติ (สนิธหรือห่าง); ผู้รับมรดก, ผู้สืบวงศกุล; บุตรี; สตรีผู้สืบวงศกุล; a son; a kinsman (near or remote); an heir; a daughter; an heiress.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ทายาท” ในภาษาไทยไว้ว่า –

ทายาท : (คำนาม) ผู้สืบสันดาน, ผู้สืบสกุล, โดยปริยายหมายถึงผู้รับหรือผู้อยู่ในฐานะที่จะรับตําแหน่งหน้าที่ต่อจากบุคคลอื่น เช่น ทายาททางการเมือง; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) บุคคลรวมทั้งทารกในครรภ์มารดาซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย ถ้าสิทธินั้นเกิดขึ้นตามกฎหมาย เรียกว่า ทายาทโดยธรรม ถ้าสิทธินั้นเกิดขึ้นตามพินัยกรรม เรียกว่า ผู้รับพินัยกรรม. (ป., ส.).”

(๓) “ภวิสฺสนฺติ” 

อ่านว่า พะ-วิด-สัน-ติ เป็นคำกริยาที่เรียกว่า “กริยาอาขยาต” (– อา-ขะ-หฺยาด) 

พึงทราบว่า ในหมู่นักเรียนบาลีไทย คำว่า “กริยา” จะใช้ว่า “กิริยา” ไม่ใช่ “กริยา” เพราะฉะนั้น “กริยาอาขยาต” ถ้าเขียนให้ถูกหลักนิยมนักเรียนบาลีไทยต้องเขียนว่า “กิริยาอาขยาต”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายคำว่า “อาขยาต” ไว้ดังนี้ –

อาขยาต : (คำวิเศษณ์) กล่าวแล้ว. (คำนาม) ชื่อคำกริยาประเภทหนึ่งในไวยากรณ์บาลีและสันสกฤต ประกอบด้วย ธาตุ วิภัตติ กาล บท พจน์ บุรุษ วาจก ปัจจัย เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกเนื้อความให้ชัดเจน เช่น กโรติ = ย่อมกระทำ ประกอบด้วย กรฺธาตุ ติวิภัตติ ปัจจุบันกาล ปรัสสบท เอกพจน์ ปฐมบุรุษ กัตตุวาจก โอปัจจัย. (ป., ส.).”

ภวิสฺสนฺติ” รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + (อะ) ปัจจัยประจำหมวดธาตุ, ลง อิ อาคมหน้าวิภัตติ + สฺสนฺติ (วิภัตติอาขยาต หมวดภวิสสันติ บอกอนาคตกาล) พหูพจน์ ปฐมบุรุษ (ประธานในประโยคเป็นผู้ที่เราพูดถึง) กัตตุวาจก, แผลง อู ที่ ภู เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (อะ-วะ) (ภู > โภ > ภว)

: ภู > โภ > ภว + อิ + สฺสนฺติ = ภวิสฺสนฺติ แปลตามศัพท์ว่า “(สัตว์ทั้งหลาย) จักเป็น” 

ขยายความ :

ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ” แปลรวมทั้งประโยคว่า “อันว่าสัตว์ทั้งหลายจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น” 

ข้อความประโยคนี้เป็นคำที่ใช้ในคำแผ่พรหมวิหารภาวนาในส่วนที่เรียกว่า “แผ่อุเบกขา” และเป็นคำสรุปความลงท้ายคำแผ่พรหมวิหารภาวนา

คำ “แผ่อุเบกขา” มีคำบาลีที่กำหนดไว้ดังนี้ –

…………..

สพฺเพ  สตฺตา 

กมฺมสฺสกา 

กมฺมทายาทา 

กมฺมโยนี 

กมฺมพนฺธู 

กมฺมปฏิสรณา 

ยํ  กมฺมํ  กริสฺสนฺติ 

กลฺยาณํ  วา  ปาปกํ วา 

ตสฺส  ทายาทา  ภวิสฺสนฺติ. 

…………..

เขียนแบบคำอ่านเป็นดังนี้ –

…………..

สัพเพ  สัตตา 

กัมมัสสะกา 

กัมมะทายาทา 

กัมมะโยนี 

กัมมะพันธู 

กัมมะปะฏิสะระณา 

ยัง  กัมมัง  กะริสสันติ 

กัล๎ยาณัง  วา  ปาปะกัง วา 

ตัสสะ  ทายาทา  ภะวิสสันติ. 

…………..

คำบาลีสลับคำแปลที่นิยมแปลกันเป็นดังนี้ –

……………

สัพเพ  สัตตา = สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น 

กัมมัสสะกา = เป็นผู้มีกรรมเป็นของตน 

กัมมะทายาทา = เป็นผู้รับผลของกรรม 

กัมมะโยนี = เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด 

กัมมะพันธู = เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ 

กัมมะปะฏิสะระณา = เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย 

ยัง  กัมมัง  กะริสสันติ = จักทำกรรมอันใดไว้ 

กัล๎ยาณัง  วา  ปาปะกัง วา = ดีหรือชั่ว 

ตัสสะ  ทายาทา  ภะวิสสันติ. = จักเป็นผู้รับผลของกรรมอันนั้น.

…………..

อภิปราย:

เรานิยมบอกกล่าวแนะนำกันให้ “แผ่เมตตา” มีคำกล่าวแผ่เมตตาเป็นที่รู้กันทั่วไป แต่การแผ่มุทิตาเป็นเรื่องที่แทบจะไม่มีใครเอ่ยถึง ไม่มีใครนำมาเสนอแนะ ทั้งๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งในพรหมวิหารภาวนาเช่นเดียวกับแผ่เมตตานั่นเอง

แผ่เมตตา ใช้เมื่อเพื่อนมนุษย์มีชีวิตอยู่เป็นปกติสุข

แผ่กรุณา ใช้เมื่อเพื่อนมนุษย์ประสบปัญหา

แผ่มุทิตา ใช้เมื่อเพื่อนมนุษย์ประสบความสำเร็จ

แผ่อุเบกขา ใช้เมื่อไม่อยู่ในวิสัยที่จะแผ่เมตตา แผ่กรุณา หรือแผ่มุทิตาได้ 

ตัวอย่างเช่น เห็นนักโทษถูกตัดสินประหารชีวิต กรณีเช่นนี้จะแผ่เมตตาก็ไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้มีชีวิตอยู่เป็นปกติสุข แผ่กรุณาก็ไม่ได้ เพราะไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะช่วยอะไรเขาได้ แผ่มุทิตาเป็นอันไม่ต้องพูดถึงเพราะไม่ใช่โอกาสอันควรจะยินดีกับเขา

ถ้าไม่มีหลักหรือไม่มีวิธีคิดที่ถูกต้อง เราก็จะเป็นทุกข์ วุ่นวายใจไปด้วยประการต่างๆ กรณีเช่นนี้แหละที่ท่านแนะให้แผ่อุเบกขา

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “อุเบกขา” ไว้ดังนี้ –

…………..

(1) ความวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยชอบหรือชัง, ความวางใจเฉยได้ ไม่ยินดียินร้าย เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้นโดยสมควรแก่เหตุ และรู้ว่าพึงปฏิบัติต่อไปตามธรรม หรือตามควรแก่เหตุนั้น, ความรู้จักวางใจเฉยดู เมื่อเห็นเขารับผิดชอบตนเองได้ หรือในเมื่อเขาควรต้องได้รับผลอันสมควรแก่ความรับผิดชอบของเขาเอง, ความวางทีเฉยคอยดูอยู่ในเมื่อคนนั้นๆ สิ่งนั้นๆ ดำรงอยู่หรือดำเนินไปตามควรของเขาตามควรของมัน ไม่เข้าข้างไม่ตกเป็นฝักฝ่าย ไม่สอดแส่ ไม่จู้จี้สาระแน ไม่ก้าวก่ายแทรกแซง (ข้อ 4 ในพรหมวิหาร 4) 

(2) ความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ เรียกเต็มว่า อุเบกขาเวทนา ( = อทุกขมสุข); (ข้อ 3 ในเวทนา 3)

…………..

ถ้าเข้าใจได้อย่างนี้ แทนที่จะแผ่เมตตาอย่างเดียว หรือแนะนำสั่งสอนกันให้แผ่แต่เมตตา ก็ควรสนใจที่จะแผ่กรุณา แผ่มุทิตา และแผ่อุเบกขาให้แก่กันด้วย และช่วยกันทำให้มากขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็อย่าให้น้อยไปกว่าที่แผ่เมตตา

…………..

ดูเพิ่มเติม: “สัพเพ สัตตา” บาลีวันละคำ (2,859) 10-4-63 

…………..

ดูก่อนภราดา!

: มรดกทรัพย์ ปฏิเสธได้

: มรดกกรรม ปฏิเสธไม่ได้

#บาลีวันละคำ (3,377) (ชุดพรหมวิหารภาวนา)

10-9-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *