บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ข้ออ้างและข้อที่ไม่อ้าง

ข้ออ้างและข้อที่ไม่อ้าง

———————–

ผมเขียนเรื่องหลวงพ่อธัมมชโยสวมเสื้อ โดยตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีใครสงสัยกันบ้างเลยหรือว่าผิดถูกเป็นประการใด

มีผู้แสดงความคิดเห็นกันหลากหลาย ทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าที่ท่านสวมเสื้อเพราะท่านป่วย

พระป่วย ภาษาพระเรียกว่า อาพาธ

————–

ภาษาพระ เดี๋ยวนี้คนเข้าใจผิดๆ กันมาก

เช่น “จำพรรษา” ซึ่งหมายถึงอยู่ประจำที่วัดใดวัดหนึ่ง สื่อก็ไพล่ไปเรียกว่า “จำวัด” ซึ่งภาษาพระหมายถึงพระนอนหลับ 

มิหนำซ้ำอธิบายลากถูลู่ถูกังไปว่า นั่นแหละ พระนอนหลับนั่นแหละก็หมายความว่าพระอยู่ประจำที่-ว่าไปโน่น

แทนที่จะแก้ผิดให้ถูก กลับไปอธิบายผิดให้เป็นถูก

อีกคำหนึ่ง “เทียนพรรษา” ไพล่ไปเรียกกันว่า “เทียนจำนำพรรษา”

ใกล้เข้าพรรษาเข้ามา เดี๋ยวก็จะได้เห็นคำว่า “เทียนจำนำพรรษา” กันสะพรั่งอีก

เรียกว่า-เอาให้ผิดกลายเป็นถูกให้ได้

ได้ยินท่านผู้หนึ่งบอกว่า-ก็สังคมเขายอมรับกัน คุณจะไปฝืนเขาได้อย่างไร

————–

ผมเขียนดักคอไว้แล้วว่า เวลาพระทำงานโยธาก็ดี เวลาอากาศหนาวจัดก็ดี หรือพระที่ไปอยู่เมืองหนาวก็ดี ท่านก็แต่งตัวพิลึกกึกกือเหมือนกัน 

เจตนาก็เพื่อจะบอกว่า เมื่อมีเหตุเฉพาะกิจ เฉพาะเวลา เฉพาะสถานที่ ก็อนุโลมกันได้ แต่มิใช่แต่งแบบนั้นเป็นปกติวิสัยเหมือนเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว

ก็ยังมีผู้อ้างว่าหลวงพ่อท่านก็สวมเสื้อด้วยเหตุผลเช่นเดียวกันนั่นแหละ

ได้ข้อมูลเพิ่มขึ้นอีกนิดหนึ่งว่า หมอแนะนำให้หลวงพ่อสวมเสื้อผ้าแบบนั้น เป็นการรักษาสุขภาพ

มีท่านผู้หนึ่งบอกว่า เดี๋ยวนี้โรคบางอย่างเขามีเครื่องแต่งตัวเป็นชุดรักษาโรคนั้นๆ โดยเฉพาะ ถ้าพระป่วยด้วยโรคนั้น หมอก็จะแนะนำหรือบังคับให้สวมชุดแบบนั้น

ประมวลดูแล้วได้ความว่า เวลานี้หมอแนะนำหรือสั่งให้ทำอย่างไร พระเราพอใจที่จะถือตามคำแนะนำของหมอ แล้วอ้างอย่างหนักแน่นว่า “หมอเขาสั่ง”

กรณี “หมอเขาสั่ง” ที่เห็นกันชุกชุมก็คือ โรคกระเพาะ 

พระอาพาธด้วยโรคกระเพาะ หมอมักจะสั่งว่า ท่านต้องฉันอาหารมื้อเย็นจึงจะหาย

……….

ผมคิดเตลิดเปิดเปิงไปว่า พระอาพาธโรคปวดข้อ หมอแนะนำว่า ฉันสุราวันละ ๓ เป๊ก เช้า กลางวัน เย็น ไม่เกิน ๓ เดือน หายขาด-จะว่าอย่างไร

หรือหนักไปกว่านั้น พระอาพาธโรคเครียด หมอแนะนำว่าเสพเมถุนวันละครั้ง ไม่เกิน ๓ เดือน หายขาด-จะทำอย่างไร

จะเห็นได้ว่า เมื่อถึงที่สุดแล้ว ก็ต้องยึดพระธรรมวินัยเป็นหลัก

ไม่ใช่เอาคำแนะนำของหมอเป็นหลัก

……….

ถ้าหมอสั่งแบบที่สมมุตินั้น จะมีพระที่ยินดีปฏิบัติตามคำสั่งของหมอหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ

แต่เคยได้ยินว่ามีพระที่รักษาพระธรรมวินัยมากกว่าคำสั่งหมอ

ที่ได้ฟังมานั้นเป็นพระหลวงตาในจังหวัดราชบุรีนี่แหละ-อย่าให้ยืนยันว่าชื่ออะไรอยู่วัดไหน เพราะนานมาแล้ว จำไม่ได้-ท่านอาพาธต้องไปนอนโรงพยาบาล นางพยาบาลจะมาเช็ดตัวให้ท่าน ท่านไม่ยอมให้ทำ ท่านว่าถ้าจะทำขอให้ผู้ชายทำ ถ้าไม่มีผู้ชายทำก็ไม่ต้องทำ และถ้ายุ่งมากก็ขอกลับไปตายวัด

ผมเชื่อว่า พระที่รักษาพระธรรมวินัยเคร่งครัดเช่นนี้ยังมีอยู่มาก 

พระคุณเจ้าที่อ่านโพสต์นี้ อาจจะมีสักรูปหนึ่งหรือหลายรูปที่ได้เคยปฏิบัติเช่นว่านี้มาด้วยตัวเองแล้วด้วยซ้ำไป

กราบอนุโมทนาสาธุ

————–

ยังมีอีกประเภทหนึ่ง เห็นบวชอยู่ดีๆ บวชมานานแล้วด้วย มาเจออีกที สึกไปเสียแล้ว 

ถามดูก็ได้ความว่าป่วย 

“สึกไปรักษาตัว” ท่านบอก

คือกระบวนการรักษาโรคบางโรค ถ้าทำทั้งเป็นพระก็จะต้องละเมิดสิกขาบทบางข้อ หรือฝืนจารีตประเพณีของพระในบางเรื่องหรือหลายเรื่อง

เพื่อไม่ให้พระธรรมวินัยเศร้าหมองจึงลาเพศออกไปเสียก่อน

ที่สึกไปรักษาตัวจนหายขาดดีแล้ว กลับมาบวชใหม่ ผมก็เคยเห็นหลายคน

ประเภทนี้ควรแก่การคารวะอย่างแท้จริง

และการปฏิบัติเยี่ยงนี้แลคือ “เนติ” ที่บัณฑิตแต่ปางก่อนท่านดำเนินเป็นตัวอย่างกันมาแล้ว ยังเห็นร่องรอยอยู่

ท่านเหล่านั้นก็ยังเป็นปุถุชนเหมือนเรานี่เอง

น่าเสียดายที่ไม่ยักมีใครยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างบ้าง

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒ มิถุนายน ๒๕๕๙

๑๖:๐๓

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *