บาลีวันละคำ

กัมมะพันธู (บาลีวันละคำ 3,374)

กัมมะพันธู (ชุดพรหมวิหารภาวนา)

ผู้มีกรรมเป็นพวกพ้อง” 

กัมมะพันธู” เขียนแบบบาลีเป็น “กมฺมพนฺธู” อ่านว่า กำ-มะ-พัน-ทู

กมฺมพนฺธู” รูปคำเดิมเป็น “กมฺมพนฺธุ” อ่านว่า กำ-มะ-พัน-ทุ ประกอบด้วยคำว่า กมฺม + พนฺธุ 

(๑) “กมฺม

อ่านว่า กำ-มะ สันสกฤตเป็น “กรฺม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตและนิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม

ในที่นี้เขียน “กัมม” ตามรูปบาลี

กัมม” ในแง่ภาษา –

1- รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) 

2- ลบ รฺ ที่ธาตุ : กรฺ = ก- และ ที่ปัจจัย : รมฺม = -มฺม

3- กร > + รมฺม > มฺม : + มฺม = กมฺม

4- แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” “สิ่งที่ทำ” 

กัมม” ในแง่ความหมาย –

1- การกระทำทั้งปวง เรียกว่า กรรม 

2- การถูกทำ, สิ่งที่ถูกทำ, ผลของการกระทำ ก็เรียกว่า กรรม

3- การทำกิจการงาน, การประกอบอาชีพ ก็เรียกว่า กรรม

4- พิธีกรรม, พิธีการต่างๆ ก็เรียกว่า กรรม

กัมม” ในแง่ความเข้าใจ –

1- กฎแห่งกรรม คือ “ทำดี-ดี ทำชั่ว-ชั่ว ดุจปลูกพืชชนิดใด ต้องเกิดผลดอกใบของพืชชนิดนั้น

2- กรรมมี 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นผล คือสภาพทั้งปวงที่เรากำลังเผชิญหรือประสบอยู่ และส่วนที่เป็นเหตุ คือสิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่ในบัดนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดส่วนที่เป็นผลในลำดับต่อไป (ผู้ที่ไม่เข้าใจ เมื่อมอง “กรรม” มักเห็นแต่ส่วนที่เป็นผล แต่ไม่เห็นส่วนที่เป็นเหตุ)

3- กรรม เป็นสัจธรรม ไม่ขึ้นกับความเชื่อหรือความเข้าใจของใคร ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไรหรือไม่เชื่ออย่างไร กรรมก็เป็นจริงอย่างที่กรรมเป็น

(๒) “พนฺธุ” 

อ่านว่า พัน-ทุ รากศัพท์มาจาก พนฺธฺ (ธาตุ = ผูก, มัด, พัน) + อุ ปัจจัย

: พนฺธฺ + อุ = พนฺธุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกี่ยวข้องกัน” “ผู้อันความรักผูกพัน” “ผู้ผูกพันคนอื่นไว้ในตน” 

พนฺธุ” ในบาลีหมายถึง –

(1) พวกพ้อง, ญาติ, เหล่ากอ (a relation, relative, kinsman)

(2) เกี่ยวข้อง, เกี่ยวพัน, ผูกพัน (connected with, related to, dealing with)

กมฺม + พนฺธุ = กมฺมพนฺธุ (กำ-มะ-พัน-ทุ) แปลว่า “ผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์” หรือ “ผู้มีกรรมเป็นพวกพ้อง” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กมฺมพนฺธุ” ว่า having karma as one’s relative, i. e. closely tied to one’s karma (มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ คือ ผูกพันอยู่กับกรรมของตนอย่างใกล้ชิด)

ในทางธรรม “กมฺมพนฺธุ” มีความหมายว่า เมื่อทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ผลของกรรมนั้นจะติดตามเหมือนพวกพ้องที่ล้อมอยู่รอบตัวเจ้าของกรรม กรรมดีคอยส่งเสริมให้สดใสสุขสันต์ กรรมชั่วคอยซัดซ้ำให้ซวดเซ ราวกับเป็นเพื่อนเดินทางไปด้วยกันฉะนั้น

พนฺธุ” หมายถึง ญาติพี่น้อง พวกพ้อง เพื่อนฝูง สัตว์โลกเกิดมาย่อมมีญาติพี่น้อง พวกพ้อง เพื่อนฝูงเป็น “พนฺธุ” มากบ้าง น้อยบ้าง ตามสถานะของแต่ละชีวิต บางคนมี “พนฺธุ” มาก บางคนมี “พนฺธุ” น้อย และบางคนอาจจะรู้สึกว่าตนเป็นคนไร้ญาติขาดพี่น้อง คือไม่มีใครมาเป็น “พนฺธุ” อยู่ในสังคมอย่างหัวเดียวกระเทียมลีบ 

พระพุทธศาสนาสอนว่า ไม่ว่าใครจะมี “พนฺธุ” มากน้อย หรือไม่มี “พนฺธุ” เลยก็ตาม แต่ทุกคนมี “กรรม” คือชั่วดีที่ทำไว้นั่นแหละเป็น “พนฺธุ” ของตน 

ชั่วดีที่แต่ละคนทำไว้จะทำหน้าที่เสมือนเป็นญาติพี่น้อง พวกพ้อง เพื่อนฝูงของแต่ละคน จึงไม่ต้องกลัวเลยว่าเราจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดายไร้ญาติขาดพี่น้อง เพราะถึงจะไม่มีใครเลย เราก็ยังมี “กมฺม” เป็น “พนฺธุ” ประจำตัวเราอยู่นั่นเอง

ดังนี้ คือความหมายของ “กมฺมพนฺธุ” ในทางธรรม 

ในภาษาไทยมีคำว่า “กรรมพันธุ์” (กำ-มะ-พัน) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กรรมพันธุ์ : (คำนาม) ลักษณะ นิสัย ตลอดจนโรคหรือความวิกลวิการบางอย่างที่ลูกหลานสืบมาจากบรรพบุรุษ ปู่ย่าตายาย หรือพ่อแม่, พันธุกรรม ก็ว่า; มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ คือ เกี่ยวเนื่องด้วยกรรมของตนเอง. (ส. กรฺม + พนฺธุ; ป. กมฺม + พนฺธุ).”

นอกจากนี้ ยังมีคำว่า “พันธุกรรม” อีกคำหนึ่ง พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –

พันธุกรรม : (คำนาม) ลักษณะ นิสัย ตลอดจนโรคหรือความวิกลวิการบางอย่างที่ลูกหลานสืบมาจากบรรพบุรุษ ปู่ย่า ตายาย หรือพ่อแม่, กรรมพันธุ์ ก็ว่า.”

…………..

กมฺมพนฺธุ” เป็นคำที่ทำหน้าที่ขยายคำว่า “สตฺตา” (ในคำว่า “สพฺเพ สตฺตา”) จึงต้องประกอบลิงค์ วจนะ วิภัตติ ตามคำที่ตนขยาย “กมฺมพนฺธุ” จึงเปลี่ยนรูปเป็น “กมฺมพนฺธู

กมฺมพนฺธู” เขียนแบบคำอ่านเป็น “กัมมะพันธู

ขยายความ :

กัมมะพันธู” เป็นคำที่ใช้ในคำแผ่พรหมวิหารภาวนาในส่วนที่เรียกว่า “แผ่อุเบกขา” 

คำ “แผ่อุเบกขา” มีคำบาลีที่กำหนดไว้ดังนี้ –

…………..

สพฺเพ  สตฺตา 

กมฺมสฺสกา 

กมฺมทายาทา 

กมฺมโยนี 

กมฺมพนฺธู 

กมฺมปฏิสรณา 

ยํ  กมฺมํ  กริสฺสนฺติ 

กลฺยาณํ  วา  ปาปกํ วา 

ตสฺส  ทายาทา  ภวิสฺสนฺติ. 

…………..

เขียนแบบคำอ่านเป็นดังนี้ –

…………..

สัพเพ  สัตตา 

กัมมัสสะกา 

กัมมะทายาทา 

กัมมะโยนี 

กัมมะพันธู 

กัมมะปะฏิสะระณา 

ยัง  กัมมัง  กะริสสันติ 

กัล๎ยาณัง  วา  ปาปะกัง วา 

ตัสสะ  ทายาทา  ภะวิสสันติ. 

…………..

คำบาลีสลับคำแปลที่นิยมแปลกันเป็นดังนี้ –

……………

สัพเพ  สัตตา = สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น 

กัมมัสสะกา = เป็นผู้มีกรรมเป็นของตน 

กัมมะทายาทา = เป็นผู้รับผลของกรรม 

กัมมะโยนี = เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด 

กัมมะพันธู = เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ 

กัมมะปะฏิสะระณา = เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย 

ยัง  กัมมัง  กะริสสันติ = จักทำกรรมอันใดไว้ 

กัล๎ยาณัง  วา  ปาปะกัง วา = ดีหรือชั่ว 

ตัสสะ  ทายาทา  ภะวิสสันติ. = จักเป็นผู้รับผลของกรรมอันนั้น.

…………..

อภิปราย:

เรานิยมบอกกล่าวแนะนำกันให้ “แผ่เมตตา” มีคำกล่าวแผ่เมตตาเป็นที่รู้กันทั่วไป แต่การแผ่มุทิตาเป็นเรื่องที่แทบจะไม่มีใครเอ่ยถึง ไม่มีใครนำมาเสนอแนะ ทั้งๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งในพรหมวิหารภาวนาเช่นเดียวกับแผ่เมตตานั่นเอง

แผ่เมตตา ใช้เมื่อเพื่อนมนุษย์มีชีวิตอยู่เป็นปกติสุข

แผ่กรุณา ใช้เมื่อเพื่อนมนุษย์ประสบปัญหา

แผ่มุทิตา ใช้เมื่อเพื่อนมนุษย์ประสบความสำเร็จ

แผ่อุเบกขา ใช้เมื่อไม่อยู่ในวิสัยที่จะแผ่เมตตา แผ่กรุณา หรือแผ่มุทิตาได้ 

ตัวอย่างเช่น เห็นนักโทษถูกตัดสินประหารชีวิต กรณีเช่นนี้จะแผ่เมตตาก็ไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้มีชีวิตอยู่เป็นปกติสุข แผ่กรุณาก็ไม่ได้ เพราะไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะช่วยอะไรเขาได้ แผ่มุทิตาเป็นอันไม่ต้องพูดถึงเพราะไม่ใช่โอกาสอันควรจะยินดีกับเขา

ถ้าไม่มีหลักหรือไม่มีวิธีคิดที่ถูกต้อง เราก็จะเป็นทุกข์ วุ่นวายใจไปด้วยประการต่างๆ กรณีเช่นนี้แหละที่ท่านแนะให้แผ่อุเบกขา

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “อุเบกขา” ไว้ดังนี้ –

…………..

(1) ความวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยชอบหรือชัง, ความวางใจเฉยได้ ไม่ยินดียินร้าย เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้นโดยสมควรแก่เหตุ และรู้ว่าพึงปฏิบัติต่อไปตามธรรม หรือตามควรแก่เหตุนั้น, ความรู้จักวางใจเฉยดู เมื่อเห็นเขารับผิดชอบตนเองได้ หรือในเมื่อเขาควรต้องได้รับผลอันสมควรแก่ความรับผิดชอบของเขาเอง, ความวางทีเฉยคอยดูอยู่ในเมื่อคนนั้นๆ สิ่งนั้นๆ ดำรงอยู่หรือดำเนินไปตามควรของเขาตามควรของมัน ไม่เข้าข้างไม่ตกเป็นฝักฝ่าย ไม่สอดแส่ ไม่จู้จี้สาระแน ไม่ก้าวก่ายแทรกแซง (ข้อ 4 ในพรหมวิหาร 4) 

(2) ความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ เรียกเต็มว่า อุเบกขาเวทนา ( = อทุกขมสุข); (ข้อ 3 ในเวทนา 3)

…………..

ถ้าเข้าใจได้อย่างนี้ แทนที่จะแผ่เมตตาอย่างเดียว หรือแนะนำสั่งสอนกันให้แผ่แต่เมตตา ก็ควรสนใจที่จะแผ่กรุณา แผ่มุทิตา และแผ่อุเบกขาให้แก่กันด้วย และช่วยกันทำให้มากขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็อย่าให้น้อยไปกว่าที่แผ่เมตตา

…………..

ดูเพิ่มเติม: 

สัพเพ สัตตา” บาลีวันละคำ (2,859) 10-4-63 

กรรมพันธุ์” บาลีวันละคำ (1,169) 11-8-58 

กรรมพันธุ์ – ความหมายทางธรรม” บาลีวันละคำ (2,549) 5-6-62 

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่มีญาติขาดพวกพ้องไม่ต้องกลัว

: กรรมดีกรรมชั่วจะเป็นพวกพ้องของเรา

#บาลีวันละคำ (3,374) (ชุดพรหมวิหารภาวนา)

7-9-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *