ธมฺมสฺสวนกาโล (บาลีวันละคำ 3,408)
ธมฺมสฺสวนกาโล
เชิญเทวดามาทำอะไร
อ่านว่า ทำ-มัด-สะ-วะ-นะ-กา-โล
ประกอบด้วยคำว่า ธมฺม + สวน + กาโล
(๑) “ธมฺม”
อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้”
บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” ภาษาไทยนิยมเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
“ธมฺม – ธรรม” มีความหมายหลายหลาก ดังต่อไปนี้ –
สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
(๒) “สวน”
อ่านว่า สะ-วะ-นะ รากศัพท์มาจาก สุ (ธาตุ = ฟัง) + ยุ ปัจจัย แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ แล้วแผลง โอ เป็น อว (สุ > โส > สว)
: สุ > โส > สว + ยุ > อน = สวน แปลตามศัพท์ว่า “การฟัง”
“สวน” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) หู (the ear)
(2) การฟัง (hearing)
(๓) “กาโล”
อ่านว่า กา-โล รูปคำเดิมเป็น “กาล” (กา-ละ) รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ ก-(ลฺ) เป็น อา (กล > กาล)
: กลฺ + ณ = กลณ > กล > กาล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน
“กาล” ที่หมายถึง “เวลา” (time) ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ :
(ก) เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)
(ข) เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)
“กาล” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) ปุงลิงค์ เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “กาโล”
การประสมคำ :
(๑) ธมฺม + สวน ซ้อน สฺ ระหว่างบทหน้ากับบทหลัง
: ธมฺม + สฺ + สวน = ธมฺมสฺสวน แปลว่า “การฟังธรรม”
โดยถ้อยคำ “ธมฺมสฺสวน” หมายถึงฟังพระธรรมคำสอนอันมีในพระพุทธศาสนา แต่โดยความหมาย “ธมฺมสฺสวน” หมายถึงการศึกษาหาความรู้ความเข้าใจในหลักปฏิบัติอันดีงามทั่วไป
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธมฺมสฺสวน” ว่า hearing the preaching of the Dhamma, “going to church” (การฟังธรรม, “การไปวัด”)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มีคำว่า “ธรรมสวนะ” ซึ่งเป็นคำเดียวกับ “ธมฺมสฺสวน” บอกไว้ดังนี้ –
…………..
“ธรรมสวนะ : การฟังธรรม, การหาความรู้ความเข้าใจในหลักความจริงความถูกต้องดีงาม ด้วยการเล่าเรียน อ่านและสดับฟัง, การศึกษาหาความรู้ที่ปราศจากโทษ; ธัมมัสสวนะ ก็เขียน.”
(๒) ธมฺมสฺสวน + กาโล = ธมฺมสฺสวนกาโล (ทำ-มัด-สะ-วะ-นะ-กา-โล) แปลว่า “เวลาฟังธรรม” หรือ “เวลาที่ควรฟังธรรม”
อภิปรายขยายความ :
“ธัมมัสสวนกาโล” เป็นข้อความส่วนหนึ่งในบทชุมนุมเทวดา คำเต็มว่า “ธมฺมสฺสวนกาโล อยมฺภทนฺตา” (ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา) แปลว่า “ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย กาลนี้เป็นกาลควรฟังธรรม”
แปลเป็นไทยให้กระชับขึ้นว่า “ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย บัดนี้ได้เวลาฟังธรรมแล้ว”
ในบทชุมนุมเทวดาจะลงท้ายด้วยคำว่า “ธมฺมสฺสวนกาโล อยมฺภทนฺตา” 3 ครั้ง ทั้งนี้เป็นไปตามวัฒนธรรม “ตติยมฺปิ” ของชาวชมพูทวีปซึ่งไทยเรารับวัฒนธรรมนี้มาใช้ด้วย นั่นคือ คำบาลีที่เป็นเรื่องสำคัญนิยมกล่าวย้ำ 3 ครั้ง
วัฒนธรรม “ตติยมฺปิ” ถือว่าครั้งที่ 3 เป็นครั้งตัดสินหรือต้องตัดสินใจ และจะไม่มีพูดหรือถามเป็นครั้งที่ 4 ที่ 5 เพราะครั้งที่ 3 เป็นครั้งสุดท้าย
บทชุมนุมเทวดาเป็นการเชิญเทวดามาฟังธรรม ลงท้ายด้วยคำว่า “ธมฺมสฺสวนกาโล อยมฺภทนฺตา” 3 ครั้ง เป็นการย้ำยืนยันว่าเต็มใจเชิญ ตั้งใจเชิญมาฟังธรรมจริงๆ
ผู้เขียนบาลีวันละคำได้เห็นหนังสือสวดมนต์บางฉบับมีบทชุมนุมเทวดา แต่ตอนคำลงท้าย “ธมฺมสฺสวนกาโล อยมฺภทนฺตา” มีบอกไว้ว่า –
“ธมฺมสฺสวนกาโล อยมฺภทนฺตา” ครั้งที่ 1 อาจเปลี่ยนเป็น “พุทธะทัสสะนะกาโล อะยัมภะทันตา”
“ธมฺมสฺสวนกาโล อยมฺภทนฺตา” ครั้งที่ 2 อาจเปลี่ยนเป็น “ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา”
“ธมฺมสฺสวนกาโล อยมฺภทนฺตา” ครั้งที่ 3 อาจเปลี่ยนเป็น “สังฆะปะยิรุปาสะนะกาโล อะยัมภะทันตา”
คำที่เปลี่ยนนั้นหนังสือสวดมนต์ไม่ได้บอกว่ามีความหมายว่าอย่างไร จึงขอบอกไว้ในที่นี้ ดังนี้ –
“พุทธะทัสสะนะกาโล” แปลว่า “เวลาที่จะได้เห็นพระพุทธเจ้า” หรือ “เวลาที่จะได้เฝ้าพระพุทธเจ้า”
“สังฆะปะยิรุปาสะนะกาโล” แปลว่า “เวลาที่จะได้นั่งใกล้พระสงฆ์” หรือ “เวลาที่จะได้รับใช้พระสงฆ์”
ส่วน “ธมฺมสฺสวนกาโล อยมฺภทนฺตา” ครั้งที่ 2 ที่บอกว่าอาจเปลี่ยนเป็น “ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา” (ดูภาพประกอบ) นั้น คงบอกเพลินไป ทั้งนี้เพราะคำเดิมก็เป็น “ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา” อยู่แล้ว จึงไม่ต้องเปลี่ยน
เจตนาในการเปลี่ยน อ่านได้ว่าเป็นการยกพระรัตนตรัยเป็นที่ตั้ง คือเมื่อเชิญเทวดามาก็ไม่ควรจะเชิญมาฟังธรรมอย่างเดียว-ซึ่งก็จะได้เฉพาะ “พระธรรม” แต่พระพุทธกับพระสงฆ์ไม่ได้เอ่ยถึง ผู้เปลี่ยนคงมีเจตนาจะให้ได้ครบพระรัตนตรัย จึงเปลี่ยนคำว่า “ธัมม-” ในครั้งที่ 1 เป็น “พุทธะ” และในครั้งที่ 3 เป็น “สังฆะ” รวมกับ “ธัมม” ในบทเดิมก็จะได้พระรัตนตรัยครบทั้งสาม
เมื่อเปลี่ยนครั้งที่ 1 เป็น “พุทธะ” จะใช้คำเดิมเป็น “พุทธะสะวะนะ” (ฟังพระพุทธ) ก็ขัดข้อง จึงเปลี่ยน “สะวะนะ” เป็น “ทัสสะนะ” เป็น “พุทธะทัสสะนะ” แปลว่า “เห็นพระพุทธเจ้า” คือ “เฝ้าพระพุทธเจ้า”
ส่วนครั้งที่ 3 เมื่อเปลี่ยนเป็น “สังฆะ” ก็เปลี่ยน “สะวะนะ” เป็น “ปะยิรุปาสะนะ” เป็น “สังฆะปะยิรุปาสะนะ” แปลว่า “นั่งใกล้พระสงฆ์” หรือ “รับใช้พระสงฆ์”
เป็นอันว่า ตามเจตนาของท่านผู้เปลี่ยน กิจที่จะปฏิบัติต่อพระรัตนตรัยก็คือ –
พระพุทธ = เห็นหรือเฝ้า
พระธรรม = ฟัง
พระสงฆ์ = นั่งใกล้หรือรับใช้
ว่าโดยเจตนาที่จะเปลี่ยน ก็นับว่าเป็นกุศลเจตนา แต่น่าจะต้องอธิบายได้ด้วยว่า จะเปลี่ยนวัฒนธรรม “ตติยมฺปิ” กล่าวย้ำคำเดิม “ธมฺมสฺสวนกาโล อยมฺภทนฺตา” 3 ครั้ง เป็นการย้ำยืนยันว่าเต็มใจเชิญ ตั้งใจเชิญมาฟังธรรมจริงๆ ให้กลายเป็นพระรัตนตรัยเพื่อวัตถุประสงค์อันใด?
…………..
ดูก่อนภราดา!
: บางอย่าง เปลี่ยนแล้วดี
: บางอย่าง ไม่เปลี่ยนดีกว่า
#บาลีวันละคำ (3,408)
11-10-64