บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คนเดี๋ยวนี้เขาไม่คิดเรื่องแบบนี้กันแล้วแหละลุง

คนเดี๋ยวนี้เขาไม่คิดเรื่องแบบนี้กันแล้วแหละลุง

————

เมื่อเช้า (๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๑) ผมเดินออกกำลังจากบ้านลูกชายในซอยวัดหลวงพ่อโต บางพลี ไปทางถนนบางนา-ตราด ขึ้นสะพานข้ามถนนแล้วเดินไปทางตลาดกิ่งแก้ว ซื้อของที่ต้องการได้แล้วก็ขึ้นสะพานข้ามถนนตรงตลาดกิ่งแก้วข้ามกลับมา 

สรุปว่าผมขึ้นสะพานข้ามไป-ข้ามกลับ ๒ เที่ยว

ที่บรรยายเรื่องขึ้นสะพานก็เพราะมีเหตุที่ควรคิดสู่กันฟัง 

สะพานลอยคนเดินข้ามในกรุงเทพฯ เขากำหนดให้เดินชิดขวา คนเดินขึ้นก็ชิดขวาของตัวเอง คนเดินลงก็ชิดขวาของตัวเอง คือขวาของใครของมัน เดินบนสะพานก็เดินชิดขวา

ถ้าเทียบกับขับรถบนถนนในบ้านเราที่รถวิ่งสวนกัน ก็ตรงกันข้าม 

คือเราขับชิดซ้าย ให้รถที่วิ่งสวนอยู่ทางขวาของเรา

ข้ามสะพานเดินชิดขวา ให้คนที่เดินสวนอยู่ทางซ้ายของเรา 

เมื่อเช้า ตอนที่ผมข้ามสะพานกลับ ขาลงจากสะพาน ผมก็เดินชิดขวาตามกติกา ลงมาถึงครึ่งทาง ก็มีหนุ่มนายหนึ่งสวนขึ้นมา เขาเดินชิดซ้ายของเขา ซึ่งก็คือด้านเดียวกับที่ผมชิดขวาของผมลงไป

ก็ต้องประจันหน้ากันตรงขั้นบันได

วิธีแก้ปัญหา (แบบไทยๆ) ก็คือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหลีกทาง

แต่ปัญหาคือใครควรจะเป็นฝ่ายหลีก 

เห็นใครไม่เคารพกติกา-ไม่ว่าในที่ไหนๆ- ผมจะหงุดหงิดมาก

พูดเป็นสำนวนว่า “ลมออกหู” 

ผมยืนนิ่ง แบบรับรู้ว่าใครกำลังทำอะไร

หนุ่มนั้นก็ยืนนิ่งเหมือนกัน แต่สีหน้าท่าทางบอกว่าไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น ถึงยังไม่ได้พูดอะไร ผมก็เดาใจได้ว่าเขาอยากจะพูดว่า “ลุงมาขวางทางผมทำไม” 

พอดีว่าวันนี้เป็นวันส่งอุโบสถ 

เผื่อมีญาติมิตรกำลังงง ขออนุญาตแวะตรงนี้นิดหนึ่ง 

ปกติผมถืออุโบสถศีล ๓ วัน (ถ้าใครยังงงว่า “อุโบสถศีล” คืออะไร ก็ขอให้ผ่านไปก่อน)

๑ ก่อนวันพระ ที่เราเรียกรู้กันว่า “วันโกน” ท่านเรียกว่า “วันรับ” (รับอุโบสถ) อุปมาเหมือนมีแขกมา เราออกไปรับแขกที่หน้าบ้าน 

๒ วันพระ คือ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ (หรือ ๑๔ ค่ำ ในเดือนขาด) ท่านเรียกว่า “วันถือ” (ถืออุโบสถ) เหมือนแขกอยู่กับเรา เราก็ดูแลรับรอง

๓ รุ่งขึ้นหลังจากวันพระ ท่านเรียกว่า “วันส่ง” (ส่งอุโบสถ) เหมือนแขกจะกลับ เราออกไปส่งแขกที่หน้าบ้าน 

เมื่อวาน-๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย-วันพระ วันถืออุโบสถ

วันนี้- ๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๑ แรมค่ำ ๑ เดือนอ้าย-วันส่งอุโบสถ 

ผมประคองอารมณ์ให้ใส ไม่มีความประสงค์จะก่อเหตุขุ่นข้องหมองใจกับเพื่อนร่วมโลกในวันบำเพ็ญบุญพิเศษของผม 

ผมหยุดนิ่งมองหนุ่มนั้นชั่วอึดใจหนึ่ง แล้วชี้มือไปทางซ้าย 

“ควรจะไปทางซ้าย” ผมพูดเบาๆ 

ไม่รู้ว่าผมตั้งใจบอกหนุ่มนายนั้นหรือบอกตัวเอง 

เมื่อเห็นสีหน้าท่าทาง “ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น” ของเขา ผมก็รู้แน่ว่าผมควรบอกตัวเอง 

ผมเบี่ยงตัวออกไปทางซ้าย ปล่อยให้หนุ่มนั่นเดินตรงทื่อขึ้นไปตามทางที่เขาตั้งใจเดิน

——————-

สังคมเรามีปัญหาก็เพราะคนแบบนี้-คนแบบที่ไม่เคารพกติกาสังคม

แต่เมื่อมองอีกมุมหนึ่ง สังคมเรามีปัญหาก็เพราะเรายอมให้แก่คนที่ไม่เคารพกติกาสังคม-ด้วย ใช่หรือไม่? 

แค่ยอมกันบนสะพานลอย เพื่อให้เดินไปเดินมาได้สะดวก อาจไม่เป็นไร 

แค่เหตุผลที่ยอม-เพราะปรารถนาจะรักษาอารมณ์ให้ผ่องใสในวันบำเพ็ญบุญกุศล ก็อาจไม่เป็นไร 

แต่ถ้าเป็นเรื่องไม่เคารพกติกาสังคมที่ใหญ่กว่านี้ มีผลดีผลเสียต่อชาติบ้านเมืองมากกว่านี้ 

และถ้ายอมกันด้วยเหตุผลที่สลับซับซ้อน เช่นเพื่อเอื้อผลประโยชน์ทับซ้อนให้แก่กันมากกว่านี้ 

สังคมเราจะเป็นอย่างไร

บ้านเมืองเราจะเป็นอย่างไร 

หรือว่า-คนเดี๋ยวนี้เขาไม่คิดเรื่องแบบนี้กันแล้วแหละลุง

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๑

๑๑:๑๕

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *