สมมติ หรือ สมมุติ (บาลีวันละคำ 2,384)
สมมติ หรือ สมมุติ
ใช้คำไหนถูก
มีคำถามว่า “สมมติ” กับ “สมมุติ” ในบาลีมีความหมายต่างกันหรือไม่ ในภาษาไทยควรใช้คำไหน “สมมติ” หรือ “สมมุติ” ?
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำในชุดนี้ไว้หลายคำ บอกไว้ดังนี้ –
“สมมต, สมมติ, สมมติ-, สมมุติ, สมมุติ– : (คำกริยา) รู้สึกนึกเอาว่า เช่น สมมติให้ตุ๊กตาเป็นน้อง. (คำสันธาน) ต่างว่า, ถือเอาว่า, เช่น สมมุติว่าได้มรดกสิบล้าน จะบริจาคช่วยคนยากจน สมมุติว่าถูกสลากกินแบ่งรางวัลที่ ๑ จะไปเที่ยวรอบโลก. (คำวิเศษณ์) ที่ยอมรับตกลงกันเองโดยปริยาย โดยไม่คํานึงถึงสภาพที่แท้จริง เช่น สมมติเทพ.”
ในที่นี้ขอพิจารณา 2 คำ คือ “สมมติ” กับ “สมมุติ”
(๑) “สมมติ”
บาลีเป็น “สมฺมติ” (มีจุดใต้ มฺ ตัวแรก) อ่านว่า สำ-มะ-ติ รากศัพท์มาจาก สํ + มติ
(1) “สํ” (สัง) เป็นคำอุปสรรค ตำราบาลีไทยแปลว่า “พร้อม, กับ, ดี” หมายถึง พร้อมกัน, ร่วมกัน (together)
(2) “มติ” (มะ-ติ) รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้) + ติ ปัจจัย, ลบ น ที่สุดธาตุ (มนฺ > ม)
: มนฺ + ติ = มนติ > มติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” (คำหลักคือ “รู้” และมองว่า การรู้นั้นเป็น “ธรรมชาติ” อย่างหนึ่ง) หมายถึง ความรู้, ญาณ, ปัญญา, ความคิด
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ให้ความหมายคำว่า “มติ” ว่า mind, opinion, thought; thinking of, hankering after, love or wish for (จิตใจ, ความเห็น, ความคิด; การคิดถึง, ความอยาก, ความอยากได้หรือปรารถนา)
สํ + มติ แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ)
: สํ + มติ = สํมติ > สมฺมติ แปลว่า “การรู้พร้อมกัน” คือ รับรู้ร่วมกัน, ยอมรับร่วมกัน
(๒) “สมมุติ”
บาลีเป็น “สมฺมุติ” อ่านว่า สำ-มุ-ติ รากศัพท์มาจาก สํ + มุติ
(1) “สํ” (ดูข้างต้น)
(2) “มุติ” รากศัพท์มาจาก –
(ก) มุ (ธาตุ = รู้) + ติ ปัจจัย
: มุ + ติ = มุติ แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้”
(ข) มนฺ (ธาตุ = รู้) + ติ ปัจจัย, แปลง อะ ที่ ม-(นฺ) เป็น อุ (มนฺ > มุน), ลบ น ที่สุดธาตุ (มุนฺ > มุ),
: มนฺ + ติ = มนติ > มติ > มุติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” หมายถึง ญาณ, ปัญญา, ความรู้
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ให้ความหมายคำว่า “มติ” ว่า sense-perception, experience, understanding, intelligence (การกําหนดรู้โดยทางประสาท, ประสบการณ์, ความเข้าใจ, สติปัญญา)
โปรดสังเกตว่า คำแปลในภาษาไทย (จากหนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ [ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต]) “มติ” (ความรู้, ญาณ, ปัญญา, ความคิด) กับ “มุติ” (ญาณ, ปัญญา, ความรู้) ความหมายเหมือนกัน แต่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ให้ความหมายค่อนข้างแตกต่างกัน
สํ + มุติ แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ)
: สํ + มุติ = สํมุติ > สมฺมุติ แปลว่า “การรู้พร้อมกัน” คือ รับรู้ร่วมกัน, ยอมรับร่วมกัน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “สมฺมุติ” ในบาลีไว้ดังนี้ –
(1) consent, permission (การยินยอม, การอนุญาต)
(2) choice, selection, delegation (การเลือก, การคัดเลือก, คณะผู้แทน)
(3) fixing, determination [of boundary] (การกำหนด, การกำหนดหมาย [เขตแดน])
(4) common consent, general opinion, convention, that which is generally accepted (การยินยอมโดยทั่วๆ ไป, ความเห็นทั่วๆ ไป, ระเบียบแบบแผน, สิ่งที่ยอมรับทั่วๆ ไป)
(5) opinion, doctrine (ความคิดเห็น, คำสอน)
(6) definition, declaration, statement (คำจำกัดความ, คำประกาศ, การแถลง)
(7) a popular expression, a mere name or word (คำพูดที่นิยมกัน, เป็นเพียงชื่อหรือคำเท่านั้น)
(8) tradition, lore (ขนบประเพณี, เรื่องเก่า ๆ)
อภิปราย :
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “สมฺมุติ” (สำ-มุ-ติ) (คำนาม) ไว้หลายอย่าง แต่ไม่ได้แสดงความหมายของคำว่า “สมฺมติ” (สำ-มะ-ติ) ที่เป็นคำนามไว้เลย มีแต่ “สมฺมติ” ที่เป็นคำกริยา แปลว่า (1) สงบ, เงียบ; สิ้นลง (to be appeased, calmed; to cease) (2) พักผ่อน, อาศัยอยู่ (to rest, to dwell) (และความหมายอื่นๆ อีก)
ในพระไตรปิฎกบาลีของไทย ตรงไหนที่มีคำนามเป็น “สมฺมติ” (สำ-มะ-ติ) พระไตรปิฎกฉบับพม่าและยุโรปมักเป็น “สมฺมุติ” (สำ-มุ-ติ) ก็แปลว่าเราใช้ “สมฺมติ” (สำ-มะ-ติ) แต่ที่อื่นเขาใช้ “สมฺมุติ” (สำ-มุ-ติ) แต่ทั้งนี้พึงทราบว่า คำนี้ใช้ได้ทั้ง “สมฺมติ” และ “สมฺมุติ” และคัมภีร์บาลีของเราก็มีทั้งที่เป็น “สมฺมติ” และ “สมฺมุติ”
แต่ในคำพูดของคนทั่วไปในภาษาไทย ไม่ได้ยินใครพูดว่า สม-มะ-ติ, สม-มด หรือ สม-มัด เลย ได้ยินแต่ สม-มุด (สมมุติ) เป็นพื้น สอดคล้องกับคัมภีร์ทั่วไปที่ใช้ “สมฺมุติ” (สำ-มุ-ติ) ดังที่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “สมฺมุติ” (สำ-มุ-ติ) ไว้หลายอย่าง แต่ไม่ได้แสดงความหมายของคำว่า “สมฺมติ” (สำ-มะ-ติ) ที่เป็นคำนามไว้เลยนั่นแล
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าความยุติธรรมเป็นสิ่งสมมุติ
: ก็สมควรแท้ที่มนุษย์จะต้องสมมุติให้ยุติธรรม
#บาลีวันละคำ (2,384)
22-12-61