ธรรมบท-คัมภีร์ย่อยในขุทกนิกาย (บาลีวันละคำ 3,414)
ธรรมบท-คัมภีร์ย่อยในขุทกนิกาย
ทางแห่งความดี
อ่านว่า ทำ-มะ-บด
ประกอบด้วยคำว่า ธรรม + บท
(๑) “ธรรม”
บาลีเป็น “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)
(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)
(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)
(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ สรุปความหมายในแง่หนึ่งไว้ว่า “ธมฺม” หมายถึง –
(1) doctrine (คำสอน)
(2) right or righteousness (สิทธิหรือความถูกต้อง)
(3) condition (เงื่อนไข)
(4) phenomenon (ปรากฏการณ์)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปลคำว่า “ธมฺม” (Dhamma) เป็นอังกฤษไว้ดังนี้ –
1. the Dharma; the Dhamma; the Doctrine; the Teachings (of the Buddha).
2. the Law; nature.
3. the Truth; Ultimate Reality.
4. the Supramundane, especially nibbāna.
5. quality; righteousness; virtue; morality; good conduct; right behaviour.
6. tradition; practice; principle; norm; rule; duty.
7. justice; impartiality.
8. thing; phenomenon.
9. a cognizable object; mind-object; idea.
10. mental state; mental factor; mental activities.
11. condition; cause; causal antecedent.
บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายเน้นที่-คําสั่งสอนและหลักประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
(๒) “บท”
บาลีเป็น “ปท” อ่านว่า ปะ-ทะ รากศัพท์มาจาก ปทฺ (ธาตุ = บรรลุ, ถึง) + อ (อะ) ปัจจัย
: ปทฺ + อ = ปท แปลตามศัพท์ว่า (1) “สภาวะอันพระอริยะบรรลุ” = นิพพาน (2) “สิ่งเป็นเหตุเป็นไปแห่งผล” = เหตุ, เค้ามูล, ปัจจัย (3) “อวัยวะเป็นเครื่องเดินไป” = เท้า
“ปท” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เท้า (foot)
(2) การก้าว, รอยเท้า, ทาง (step, footstep, track)
(3) หนทาง, ช่องทาง (way, path)
(4) ตำแหน่ง, สถานที่ position, place
(5) กรณี, โชคชะตา, หลักการ, ส่วน, องค์ประกอบ, ลักษณะ, ส่วนประกอบ, รายการ, สิ่งของ, มูลฐาน (case, lot, principle, part, constituent, characteristic, ingredient, item, thing, element)
(6) ในบทร้อยกรองหมายถึง คำ, ฉันท์ (หรือหนึ่งในสี่ของฉันท์), โศลก, บท, ประโยค (a word, verse (or a quarter of a verse), stanza, line, sentence)
ในที่นี้ “ปท” ใช้ในความหมายตามข้อ (3)
“ปท” ในภาษาไทยมักใช้ทับศัพท์ว่า “บท”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “บท” ในภาษาไทยไว้ดังนี้ –
(1) ข้อความเรื่องหนึ่ง ๆ หรือตอนหนึ่ง ๆ เช่น บทที่ ๑ บทที่ ๒.
(2) กําหนดคําประพันธ์ที่ลงความตอนหนึ่ง ๆ เช่น โคลง ๔ สุภาพ ๔ บาท เป็น ๑ บท
(3) คําที่ตัวละครพูด เช่น บอกบท.
(4) คําประพันธ์ที่เขียนขึ้นสําหรับเล่นละคร มีทั้งบทร้องและบทเจรจา เช่น บอกบท เขียนบท.
(5) คราว, ตอน, ในคําเช่น บทจะทําก็ทํากันใหญ่ บทจะไปก็ไปเฉย ๆ บทจะตายก็ตายง่ายเหลือเกิน.
ธมฺม + ปท = ธมฺมปท (ทำ-มะ-ปะ-ทะ) แปลตามศัพท์ว่า “ทางแห่งธรรม”
“ธมฺมปท” ในที่นี้ใช้ในภาษาไทยเป็น “ธรรมบท” (ทำ-มะ-บด)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“ธรรมบท : (คำนาม) ข้อแห่งธรรม, ชื่อคาถาบาลีคัมภีร์หนึ่งในขุทกนิกายแห่งพระสุตตันตปิฎก.”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “ธรรมบท” ไว้ดังนี้ –
…………..
ธรรมบท :
1. บทแห่งธรรม, บทธรรม, ข้อธรรม
2. ชื่อพุทธคาถาอันเป็นบทแห่งธรรม จำนวน ๔๒๓ คาถา ซึ่งจัดเป็นคัมภีร์ที่ ๒ ในขุททกนิกาย แห่งพระสุตตันตปิฎก.
…………..
ขยายความ :
“ธรรมบท” เป็นชื่อคัมภีร์หนึ่งในขุทกนิกาย
“ขุทกนิกาย” เป็น 1 ใน 5 ส่วนของพระสุตตันปิฎกหรือพระสูตร (พระสุตตันตปิฎกเป็น 1 ใน 3 ของไตรปิฎก คือ พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม)
5 ส่วนของพระสุตตันปิฎกเรียกว่า “นิกาย” ประกอบด้วยทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย (คำเดิมสะกด สังยุตตนิกาย) อังคุตรนิกาย (คำเดิมสะกด อังคุตตรนิกาย) และขุทกนิกาย
ขุทกนิกายเป็นส่วนที่รวมคัมภีร์ย่อยไว้ 15 คัมภีร์ ที่เรียกว่า “คัมภีร์ย่อย” ไม่ได้หมายถึงเป็นคัมภีร์เล็กน้อยที่ไม่สำคัญ หากแต่หมายถึงคัมภีร์ที่ท่านไม่จัดรวมเข้าไว้ในนิกายทั้ง 4 แต่แยกออกมาไว้ต่างหาก บางคัมภีร์ใหญ่มากเช่น “ชาดก” มีความยาว 2 เล่มพระไตรปิฎก (เล่มที่ 27-28) และมีคัมภีร์อธิบายขยายความที่เรียกว่า “อรรถกถา” อีกถึง 10 เล่ม
คัมภีร์ย่อย 15 คัมภีร์มีชื่อดังนี้ (1) ขุททกปาฐะ (2) ธรรมบท (3) อุทาน (4) อิติวุตตกะ (5) สุตตนิบาต (6) วิมานวัตถุ (7) เปตวัตถุ (8 ) เถรคาถา (9) เถรีคาถา (10) ชาดก (11) นิทเทส (12) ปฏิสัมภิทามรรค (13) อปทาน (14) พุทธวงส์ (15) จริยาปิฎก
…………..
คัมภีร์ “ธรรมบท” แบ่งเรื่องเป็นหมวดหมู่เรียกว่า “วรรค” รวม 26 วรรค ประกอบด้วยคาถาทั้งหมด 423 บท
วรรคทั้ง 26 วรรคมีชื่อดังนี้ –
1 ยมกวรรค หมวดคู่
2 อัปปมาทวรรค หมวดไม่ประมาท
3 จิตวรรค หมวดจิต
4 ปุปผวรรค หมวดดอกไม้
5 พาลวรรค หมวดคนพาล
6 ปัณฑิตวรรค หมวดบัณฑิต
7 อรหันตวรรค หมวดพระอรหันต์
8 สหัสสวรรค หมวดพัน
9 ปาปวรรค หมวดบาป
10 ทัณฑวรรค หมวดลงทัณฑ์
11 ชราวรรค หมวดชรา
12 อัตตวรรค หมวดตน
13 โลกวรรค หมวดโลก
14 พุทธวรรค หมวดพระพุทธเจ้า
15 สุขวรรค หมวดความสุข
16 ปิยวรรค หมวดความรัก
17 โกธวรรค หมวดความโกรธ
18 มลวรรค หมวดมลทิน
19 ธัมมัฏฐวรรค หมวดเที่ยงธรรม
20 มรรควรรค หมวดทาง
21 ปกิณกวรรค หมวดเบ็ดเตล็ด
22 นิรยวรรค หมวดนรก
23 นาควรรค หมวดช้าง
24 ตัณหาวรรค หมวดตัณหา
25 ภิกขุวรรค หมวดภิกษุ
26 พราหมณวรรค หมวดพราหมณ์
…………..
ดูก่อนภราดา!
คำคนเก่าท่านว่า –
: ทางเตียนเวียนลงนรก
: ทางรกวกขึ้นสวรรค์
#บาลีวันละคำ (3,414)
17-10-64