บาลีวันละคำ

อุทาน-คัมภีร์ย่อยในขุทกนิกาย (บาลีวันละคำ 3,415)

อุทาน-คัมภีร์ย่อยในขุทกนิกาย

อุทานออกมาเป็นธรรม

อ่านว่า อุ-ทาน

อุทาน” บาลีอ่านว่า อุ-ทา-นะ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + อิ (ธาตุ = เปล่งเสียง) + ยุ ปัจจัย, ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลง อาคมระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุ + + อิ), แปลง อิ ธาตุเป็น อา

: อุ + + อิ > อา = อุทา + ยุ > อน = อุทาน แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาเปล่งออกมาด้วยความตกใจหรือดีใจ

อุทาน” ในบาลีมีความหมายดังนี้ –

(1) การเปล่งออก, การเปล่งเสียงร้อง, คือ อุทาน ซึ่งเกิดขึ้นโดยความรู้สึกที่แรงกล้าเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะดีใจหรือเศร้าโศก (breathing out, exulting cry, i e. an utterance inspired by a particularly intense emotion, whether it be joyful or sorrowful)

(2) องค์หนึ่งในบรรดานวังคสัตถุศาสตร์ หรือคำสอนของพระศาสดาซึ่งมีองค์เก้า (one of the angas or categories of the Buddhist Scriptures)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “อุทาน” ไว้ดังนี้ –

…………..

อุทาน :

1. วาจาที่เปล่งขึ้นโดยความเบิกบานใจ มักเป็นข้อความยาว ๑ หรือ ๒ คาถา ที่ยาวกว่านั้นมีน้อยครั้ง; ในภาษาไทย หมายถึงเสียงหรือคำที่เปล่งออกมาเวลาดีใจ แปลกใจ หรือตกใจ เป็นต้น 

2.พระอุทานคาถาของพระพุทธเจ้า อันสื่อธรรมที่ลึกซึ้งหรือเป็นคติธรรมสำคัญพร้อมทั้งเรื่องราวที่เป็นข้อปรารภให้ทรงเปล่งพระอุทานนั้นๆ ๘๐ เรื่อง รวมจัดเป็นคัมภีร์ที่ ๓ แห่งขุททกนิกาย.

…………..

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “อุทาน” ไว้ดังนี้ –

(1) อุทาน ๑ : (คำนาม) เสียงหรือคําที่เปล่งออกมาเวลาตกใจ ดีใจ หรือเสียใจ เป็นต้น; ในไวยากรณ์เรียกคําหรือเสียงที่เปล่งออกมาเช่นนั้นว่า คําอุทาน. (ป., ส.).

(2) อุทาน ๒ : (คำนาม) ชื่อคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาส่วน ๑ ใน ๙ ส่วนที่เรียกว่า นวังคสัตถุศาสน์. (ป.).

ข้อสังเกต :

คำว่า “ธรรมบท” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –

ธรรมบท : (คำนาม) ข้อแห่งธรรม, ชื่อคาถาบาลีคัมภีร์หนึ่งในขุทกนิกายแห่งพระสุตตันตปิฎก.”

แต่ “อุทาน” ซึ่งก็เป็น “คัมภีร์หนึ่งในขุทกนิกายแห่งพระสุตตันตปิฎก” เช่นเดียวกับ “ธรรมบท” พจนานุกรมฯ บอกว่า “ชื่อคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาส่วน ๑ ใน ๙ ส่วนที่เรียกว่า นวังคสัตถุศาสน์” ไม่ได้บอกว่าเป็น “คัมภีร์หนึ่งในขุทกนิกายแห่งพระสุตตันตปิฎก” แสดงว่าพจนานุกรมฯ มองฐานะของคัมภีร์ทั้งสองนี้ต่างกัน

ถ้ามองในแง่ “ฐานะของคัมภีร์” “อุทาน” มี 2 ฐานะ คือเป็น (1) คัมภีร์หนึ่งในขุทกนิกายแห่งพระสุตตันตปิฎก และ (2) คัมภีร์ในพระพุทธศาสนาส่วน 1 ใน 9 ส่วนที่เรียกว่า นวังคสัตถุศาสน์

ขยายความ :

อุทาน” เป็นชื่อคัมภีร์หนึ่งในขุทกนิกาย 

ขุทกนิกาย” เป็น 1 ใน 5 ส่วนของพระสุตตันปิฎกหรือพระสูตร (พระสุตตันตปิฎกเป็น 1 ใน 3 ของไตรปิฎก คือ พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม) 

5 ส่วนของพระสุตตันปิฎกเรียกว่า “นิกาย” ประกอบด้วยทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย (คำเดิมสะกด สังยุตตนิกาย) อังคุตรนิกาย (คำเดิมสะกด อังคุตตรนิกาย) และขุทกนิกาย

ขุทกนิกายเป็นส่วนที่รวมคัมภีร์ย่อยไว้ 15 คัมภีร์ ที่เรียกว่า “คัมภีร์ย่อย” ไม่ได้หมายถึงเป็นคัมภีร์เล็กน้อยที่ไม่สำคัญ หากแต่หมายถึงคัมภีร์ที่ท่านไม่จัดรวมเข้าไว้ในนิกายทั้ง 4 แต่แยกออกมาไว้ต่างหาก บางคัมภีร์ใหญ่มากเช่น “ชาดก” มีความยาว 2 เล่มพระไตรปิฎก (เล่มที่ 27-28) และมีคัมภีร์อธิบายขยายความที่เรียกว่า “อรรถกถา” อีกถึง 10 เล่ม 

คัมภีร์ย่อย 15 คัมภีร์มีชื่อดังนี้ (1) ขุททกปาฐะ (2) ธรรมบท (3) อุทาน (4) อิติวุตตกะ (5) สุตตนิบาต (6) วิมานวัตถุ (7) เปตวัตถุ (8 ) เถรคาถา (9) เถรีคาถา (10) ชาดก (11) นิทเทส (12) ปฏิสัมภิทามรรค (13) อปทาน (14) พุทธวงส์ (15) จริยาปิฎก

…………..

คัมภีร์ “อุทาน” คือพระอุทานคาถาของพระพุทธเจ้า อันสื่อธรรมที่ลึกซึ้งหรือเป็นคติธรรมสำคัญ พร้อมทั้งเรื่องราวที่เป็นข้อปรารภให้ทรงเปล่งพระอุทานนั้นๆ 80 เรื่อง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนพาลมักอุทานแบบวิปริต

: แต่บัณฑิตอุทานเป็นธรรม

#บาลีวันละคำ (3,415)

18-10-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *