บาลีวันละคำ

ขุททกปาฐะ-คัมภีร์ย่อยในขุทกนิกาย (บาลีวันละคำ 3,413)

ขุททกปาฐะ-คัมภีร์ย่อยในขุทกนิกาย

เรื่องย่อยที่เป็นเรื่องใหญ่

อ่านว่า ขุด-ทะ-กะ-ปา-ถะ

ประกอบด้วยคำว่า ขุททก + ปาฐะ 

(๑) “ขุททก” 

เขียนแบบบาลีเป็น “ขุทฺทก” (มีจุดใต้ ทฺ ตัวหน้า) อ่านว่า ขุด-ทะ-กะ รากศัพท์มาจาก ขุทฺ (ธาตุ = ไม่ทน) + ปัจจัย + ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “ก-สกรรถ” (กะ-สะ-กัด) คือลง ข้างท้าย แต่มีความหมายเท่าเดิม

: ขุทฺ + = ขุทฺท + = ขุทฺทก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไม่ทน” (คือแตกหักง่าย) 

ขุทฺทก” ในบาลีหมายถึง เล็ก, เลวกว่า, ต่ำต้อย; ไม่สำคัญ, เป็นเรื่องปลีกย่อย (small, inferior, low; trifling, insignificant)

(๒) “ปาฐะ” 

เขียนแบบบาลีเป็น “ปาฐ” อ่านว่า ปา-ถะ รากศัพท์มาจาก ปฐฺ (ธาตุ = สวด, พูด) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะต้นธาตุ คือ อะ ที่ -(ฐฺ) เป็น อาด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (ปฐฺ > ปาฐ

: ปฐฺ + = ปฐณ > ปฐ > ปาฐ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อาการอันเขาสวด” “บทอันเขาสวด” หมายถึง การอ่าน, การสวด, บทสวด, ข้อความในตัวบท, ถ้อยคำในคัมภีร์ (reading, text-reading; passage of a text, text)

หมายเหตุ : พึงทราบว่า อักษร ฐาน และ หญิง เมื่อใช้เขียนภาษาบาลี ท่านให้ตัดเชิงออก แต่อุปกรณ์ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้เขียนต้นฉบับไม่มีแบบตัวอักษร (font) ที่ใช้เขียนคำบาลีโดยเฉพาะ ดังนั้น ฐาน และ หญิง จึงเป็นตัวแบบมีเชิงตามปกติ ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎ เป็นเรื่องที่ผู้เขียนบาลีวันละคำจำต้องยอมให้ท่านผู้มีอัธยาศัยละเอียดยกขึ้นเป็นข้อตำหนิได้ตามอัธยาศัย

ขุทฺทก + ปาฐ = ขุทฺทกปาฐ (ขุด-ทะ-กะ-ปา-ถะ) แปลตามศัพท์ว่า “ตัวบทที่เป็นเรื่องย่อย

ขุทฺทกปาฐ” ในที่นี้ใช้ในภาษาไทยเป็น “ขุททกปาฐะ” 

ชี้แจง :

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ขุทกนิกาย” ไว้ บอกไว้ดังนี้ –

ขุทกนิกาย : (คำนาม) ชื่อคัมภีร์นิกายที่ ๕ แห่งพระสุตตันตปิฎก แปลว่า หมวดเล็กน้อย รวบรวมข้อธรรมะที่ไม่อยู่ใน ๔ นิกายข้างต้น มี ๑๕ เรื่อง ซึ่งมีธรรมบทและชาดก รวมอยู่ในคัมภีร์นี้ด้วย.”

แต่พจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บคำว่า “ขุทก” หรือ “ขุททก” โดดๆ หรือแม้แต่ที่สมาสกับคำอื่นไว้ เก็บแต่คำว่า “ขุทกนิกาย” คำเดียว ถ้าเอาคำว่า “ขุทกนิกาย” เป็นแนวเทียบ “ขุทฺทก” ในบาลีก็ควรใช้ในภาษาไทยเป็น “ขุทก” (ท ทหารตัวเดียว) 

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอถือโอกาสที่พจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บคำว่า “ขุทก” หรือ “ขุทกปาฐะ” ไว้ ใช้สิทธิ์สะกดคำนี้เป็น “ขุททก” (ท ทหาร 2 ตัว) เพื่อรักษารูปคำเดิม ทั้งเมื่อใช้รวมกับคำว่า “ปาฐะ” เป็น “ขุททกปาฐะ” ก็ถือว่าเป็นชื่อเฉพาะหรือวิสามานยนาม (proper name) มีสิทธิ์สะกดอย่างไรก็ได้ แต่ในที่นี้ใช้สิทธิ์สะกดตามรูปคำเดิม

ขยายความ :

ขุททกปาฐะ” เป็นชื่อคัมภีร์หนึ่งในขุทกนิกาย (คำเดิมสะกด ขุททกนิกาย) 

ขุทกนิกาย” เป็น 1 ใน 5 ส่วนของพระสุตตันปิฎกหรือพระสูตร (พระสุตตันตปิฎกเป็น 1 ใน 3 ของไตรปิฎก คือ พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม) 

5 ส่วนของพระสุตตันปิฎกเรียกว่า “นิกาย” ประกอบด้วยทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย (คำเดิมสะกด สังยุตตนิกาย) อังคุตรนิกาย (คำเดิมสะกด อังคุตตรนิกาย) และขุทกนิกาย

ขุทกนิกายเป็นส่วนที่รวมคัมภีร์ย่อยไว้ 15 คัมภีร์ ที่เรียกว่า “คัมภีร์ย่อย” ไม่ได้หมายถึงเป็นคัมภีร์เล็กน้อยที่ไม่สำคัญ หากแต่หมายถึงคัมภีร์ที่ท่านไม่จัดรวมเข้าไว้ในนิกายทั้ง 4 แต่แยกออกมาไว้ต่างหาก บางคัมภีร์ใหญ่มากเช่น “ชาดก” มีความยาว 2 เล่มพระไตรปิฎก (เล่มที่ 27-28) และมีคัมภีร์อธิบายขยายความที่เรียกว่า “อรรถกถา” อีกถึง 10 เล่ม 

คัมภีร์ย่อย 15 คัมภีร์มีชื่อดังนี้ (1) ขุททกปาฐะ (2) ธรรมบท (3) อุทาน (4) อิติวุตตกะ (5) สุตตนิบาต (6) วิมานวัตถุ (7) เปตวัตถุ (8 ) เถรคาถา (9) เถรีคาถา (10) ชาดก (11) นิทเทส (12) ปฏิสัมภิทามรรค (13) อปทาน (14) พุทธวงส์ (15) จริยาปิฎก

…………..

คัมภีร์ “ขุททกปาฐะ” มีเนื้อหาเป็นบทสวดย่อยๆ ประกอบด้วย –

(1) ไตรสรณคมน์ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ … ที่เราคุ้นปากกันดีมาจากบทแรกของขุททกปาฐะนี้

(2) สิกขาบท 10 ว่าด้วยสิกขาบท 10 ข้อ คือศีล 10 ของสามเณร 

(3) ทวัตติงสาการ แปลว่า “อาการสามสิบสอง” คือที่ขึ้นต้นว่า อตฺถิ อิมสฺมึ กาเย เกสา โลมา นขา ทนฺตา … มีอยู่ในกายนี้ คือผม ขน เล็บ ฟัน …

(4) สามเณรปัญหา ปัญหาที่ถามว่า อะไรชื่อว่าหนึ่ง จนถึงอะไรชื่อว่าสิบ หลักธรรมที่ว่า “สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิติกา สัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร” อยู่ในเรื่องตอนนี้

(5) มงคลสูตร เป็นพระสูตรที่เรารู้จักกันดี เป็นพระสูตรที่แสดงเรื่องมงคล 38 ประการ

(6) รตนสูตร ชื่อพระสูตรแปลว่า “พระสูตรว่าด้วยคุณแห่งพระรัตนตรัย” คำในพระสูตรที่รู้จักกันติดปากคือ “ยานีธะ ภูตานิ” จึงมักเรียกพระสูตรนี้ว่าบท “ยานี” นับถือกันว่าเป็นพระสูตรบำราบโรคระบาด การทำน้ำมนต์ก็มีที่มาจากพระสูตรนี้

(7) ติโรกุฑฑกัณฑสูตร ว่าด้วยการอุทิศส่วนบุญแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องที่มักเรียกกันว่า “เปรตพระเจ้าพิมพิสาร” – อันที่จริงคือเปรตที่เคยเป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสาร – ก็มีที่มาจากพระสูตรนี้ บท “อะยัญจะ โข” ที่พระสวดอนุโมทนาในงานอุทิศส่วนบุญก็มาจากพระสูตรนี้

(8 ) นิธิกัณฑสูตร ว่าด้วยการฝังขุมทรัพย์คือบุญในพระพุทธศาสนา

(9) กรณียเมตตสูตร ว่าด้วยวิธีแผ่เมตตาไปในสรรพสัตว์ โดยเฉพาะสำหรับนักปฏิบัติพระกรรมฐาน เพื่อให้ปลอดโปร่งปราศจากสิ่งกังวลรบกวนต่างๆ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทำการใหญ่ อย่าคิดเล็กคิดน้อย

: แต่เมื่อทำสำเร็จแล้ว อย่าลืมส่วนเล็กส่วนน้อย

#บาลีวันละคำ (3,413)

16-10-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *