บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

แนะนำพระไตรปิฎก : ขุทกนิกาย

แนะนำพระไตรปิฎก : ขุทกนิกาย

——————————–

ผมกำลังคิดจะเอาชื่อคัมภีร์ในขุทกนิกายมาเขียนเป็น “บาลีวันละคำ” 

เมื่อคิดก็ต้องค้น ลงมือค้นไป รวบรวมข้อมูลไป ก็ได้ภาพรวมของคัมภีร์ในขุทกนิกายมาอยู่ตรงหน้า 

แล้วก็นึกถึงญาติมิตร คิดว่าถ้าเอาข้อมูลที่รวบรวมได้นี้มาเสนอสู่กันอ่าน ก็น่าจะเป็นประโยชน์ นี่คือที่มาของเรื่องนี้

แล้วก็คิดต่อไปตามประสาผม คือคิดว่า ถ้านักเรียนบาลีของเรา-โดยเฉพาะท่านผู้สอบผ่านเปรียญธรรม ๙ ประโยคแล้ว ซึ่งถือว่าพร้อมแล้วที่จะก้าวเดินเข้าไปหาพระไตรปิฎกเป็นเป้าหมายอันดับต่อไป-จะมีใจอุตสาหะช่วยกันศึกษาสืบค้นเรื่องราวในพระไตรปิฎกให้ละเอียด พบเจออะไรที่น่ารู้น่าสนใจก็ช่วยกันเอาออกมาเผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้ได้ร่วมกันศึกษาต่อไป ความรู้ในหลักพระธรรมวินัยก็จะมีทางแพร่หลายขยายวงไปในหมู่ประชาชนได้มากขึ้น

วิธีดังว่านี้เป็นการนำเอาหลักพระธรรมวินัยบริสุทธิ์มาเสนอ “หลักพระธรรมวินัยบริสุทธิ์” หมายถึง เป็นหลักฐานในพระไตรปิฎกหรือในคัมภีร์ตรงๆ ยังไม่ผ่านการตีความหรืออธิบายไปต่างๆ นานาตามความเห็นหรือตามลีลาการนำเสนอของนักอธิบายธรรม เป็นการนำเอาข้อมูลชั้นปฐมภูมิมาวางไว้ให้พิจารณาเป็นหลักฐาน 

ในขั้นต่อไป ใครประสงค์จะอธิบายขยายความก็สามารถทำได้ตามเสรีภาพทางวิชาการ (ที่นิยมอ้างกัน) แต่ตัวข้อมูลหรือหลักการก็จะยังปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ คำอธิบายหรือความเห็นของใครถูกต้องหรือผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างไร ก็สามารถช่วยกันตรวจสอบดูได้ – เป็นการวัด “กึ๋น” ของนักเผยแผ่ธรรมะไปในตัว ว่าเอาธรรมะของพระพุทธเจ้าไปเผยแพร่ หรือว่าจริงๆ แล้วเอาความคิดเห็นของตัวเองไปแสดง

แต่-น่าเสียดายมาก ที่นักเรียนบาลีของเราขาดอุดมคติ ขาดอุดมการณ์ และขาดอุตสาหะที่จะช่วยกันทำงานนี้ มิหนำซ้ำเริ่มจะมีแนวคิดว่า การศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกนั้นไม่ใช่งานที่จำเป็นเร่งด่วน มีงานอย่างอื่นที่พระเณรควรทำมากกว่า 

งานที่มีวี่แววว่าจะมาแรงก็คือ งานช่วยเหลือสังคม งานช่วยเหลือชาวบ้านให้อยู่ดีกินดีมีสุข โดยมีเหตุผลว่า พระเณรต้องอยู่กับชาวบ้าน ถ้าชาวบ้านมีปัญหา พระเณรจะมามัวศึกษาพระไตรปิฎกอยู่ได้อย่างไร

อีกไม่ช้าคงแยกไม่ออกว่างานใครเป็นงานใคร ก็เพลินกันไปอีกแบบ

……………………………..

คนที่เรียนจบหมอคงรู้สึกได้ด้วยตัวเองว่า การรักษาคนป่วยเป็นภารกิจหลัก 

แต่หมอคนไหนจะไปช่วยเขาปลูกผักก็เป็นภารกิจรอง

……………………………..

อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังมีความหวังอยู่ว่า นักเรียนบาลีที่มีใจรัก มีอุดมคติ มีอุดมการณ์ และมีอุตสาหะที่จะช่วยกันทำงานศึกษาพระไตรปิฎก-ซึ่งก็คือศึกษาพระธรรมวินัย-และซึ่งก็คือศึกษาเนื้อตัวของพระศาสนา ก็ย่อมจะต้องมีอยู่ 

ขอส่งกำลังใจมายังท่านเหล่านั้น เรียนจบแล้วก็ช่วยกันทำงานด้านนี้กันให้มากๆ นะขอรับ – สาธุ

…………………….

ต่อไปนี้เป็นข้อมูลในคัมภีร์ในขุทกนิกายที่รวบรวมมาเพื่อเป็นส่วนเบื้องต้นของการศึกษา เมื่อได้เห็นภาพรวมนี้แล้ว ต่อไปท่านผู้ใดสนใจจะสืบเสาะเจาะลึกลงไปในส่วนไหนเรื่องไหน ก็คงจะทำได้ไม่ยาก

เชิญสดับครับ

…………………….

ขุทกนิกาย (คำเดิมสะกด ขุททกนิกาย) เป็น ๑ ใน ๕ ส่วนของพระสุตตันปิฎกหรือพระสูตร (พระสุตตันตปิฎกเป็น ๑ ใน ๓ ของไตรปิฎก คือ พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม) 

๕ ส่วนของพระสุตตันปิฎกเรียกว่า “นิกาย” ประกอบด้วยทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย (คำเดิมสะกด สังยุตตนิกาย) อังคุตรนิกาย (คำเดิมสะกด อังคุตตรนิกาย) และขุทกนิกาย

ขุทกนิกายเป็นส่วนที่รวมคัมภีร์ย่อยไว้ ๑๕ คัมภีร์ ที่เรียกว่า “คัมภีร์ย่อย” ไม่ได้หมายถึงเป็นคัมภีร์เล็กน้อยที่ไม่สำคัญ หากแต่หมายถึงคัมภีร์ที่ท่านไม่จัดรวมเข้าไว้ในนิกายทั้ง ๔ แต่แยกออกมาไว้ต่างหาก บางคัมภีร์ใหญ่มากเช่น “ชาดก” มีความยาว ๒ เล่มพระไตรปิฎก (เล่มที่ ๒๗-๒๘) และมีคัมภีร์อธิบายขยายความที่เรียกว่า “อรรถกถา” อีกถึง ๑๐ เล่ม 

คัมภีร์ย่อย ๑๕ คัมภีร์มีชื่อดังนี้ 

(๑) ขุททกปาฐะ (บทสวดย่อยๆ ประกอบด้วยไตรสรณคมน์ สิกขาบท ๑๐ (ศีล ๑๐ ของสามเณร) ทวัตติงสาการ (อาการ ๓๒) สามเณรปัญหา (ถามว่าอะไรชื่อว่าหนึ่ง จนถึงอะไรชื่อว่าสิบ) มงคลสูตร รตนสูตร ติโรกุฑฑกัณฑ์ นิธิกัณฑ์ กรณียเมตตสูตร)

(๒) ธรรมบท (แบ่งเรื่องเป็นหมวดหมู่เรียกว่า “วรรค” รวม ๒๖ วรรค ประกอบด้วยคาถาทั้งหมด ๔๒๓ บท)

(๓) อุทาน (พระอุทานคาถาของพระพุทธเจ้า อันสื่อธรรมที่ลึกซึ้งหรือเป็นคติธรรมสำคัญ พร้อมทั้งเรื่องราวที่เป็นข้อปรารภให้ทรงเปล่งพระอุทานนั้นๆ ๘๐ เรื่อง) 

(๔) อิติวุตตกะ (พระสูตรที่ไม่ขึ้นต้นด้วย เอวมฺเม สุตํ แต่เชื่อมความเข้าสู่คาถาด้วยคำว่า อิติ วุจฺจติ รวม ๑๑๒ สูตร) 

(๕) สุตตนิบาต (ชุมนุมพระสูตรชุดพิเศษ ซึ่งเป็นคาถาล้วนหรือมีความนำเป็นร้อยแก้วรวม ๗๑ สูตร)

(๖) วิมานวัตถุ (เรื่องผู้เกิดในสวรรค์อยู่วิมาน เล่าการทำความดีของตนในอดีต ที่ทำให้ได้ไปเกิดเช่นนั้น ๘๕ เรื่อง) 

(๗) เปตวัตถุ (เรื่องเปรตเล่ากรรมชั่วในอดีตของตน ๕๑ เรื่อง) 

(๘) เถรคาถา (คาถาของพระอรหันตเถระ ๒๖๔ รูปที่กล่าวแสดงความรู้สึกสงบประณีตในการบรรลุธรรม เป็นต้น) 

(๙) เถรีคาถา (คาถาของพระอรหันตเถรี ๗๓ รูปที่กล่าวแสดงความรู้สึกสงบประณีตในการบรรลุธรรม เป็นต้น)

(๑๐) ชาดก (คาถาแสดงคติธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ในอดีตชาติ และมีคาถาภาษิตของผู้อื่นปนอยู่บ้าง แบ่งเป็น ๒ ภาค ภาคแรก ตั้งแต่เรื่องที่มีคาถาเดียว (เอกนิบาต) ถึงเรื่องมี ๔๐ คาถา (จัตตาฬีสนิบาต) รวม ๕๒๕ เรื่อง ภาค ๒ เรื่องมี ๕๐ คาถา (ปัญญาสนิบาต) ถึงเรื่องมีคาถามากมาย (มหานิบาต) จบลงด้วยมหาเวสสันดรชาดกซึ่งมี ๑,๐๐๐ คาถา รวมทั้ง ๒ ภาค เป็น ๕๔๗ ชาดก)

(๑๑) นิทเทส (ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายขยายความพระสูตรต่างๆ แบ่งเป็นมหานิทเทส อธิบายความพระสูตร ๑๖ สูตรในอัฏฐกวรรคแห่งสุตตนิบาต และจูฬนิทเทส อธิบายความพระสูตร ๑๖ สูตรในปารายนวรรคและขัคควิสาณสูตรในอุรควรรค แห่งสุตตนิบาต)

(๑๒) ปฏิสัมภิทามรรค (ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายข้อธรรมที่ลึกซึ้งต่างๆ เช่นเรื่อง ญาณ ทิฏฐิ อานาปาน อินทรีย์ วิโมกข์ เป็นต้น อย่างพิสดารเป็นทางแห่งปัญญาแตกฉาน)

(๑๓) อปทาน (คาถาประพันธ์แสดงประวัติโดยเฉพาะในอดีตชาติ เริ่มด้วยพุทธอปทาน (ประวัติของพระพุทธเจ้า) ปัจเจกพุทธอปทาน (เรื่องราวของพระปัจเจกพุทธเจ้า) ต่อด้วยเถรอปทาน (อัตประวัติแห่งพระอรหันตเถระ) เรียงลำดับเริ่มแต่พระสารีบุตร ตามด้วยพระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระอนุรุทธะ พระปุณณมันตานีบุตร พระอุบาลี พระอัญญาโกณฑัญญะ พระปิณโฑลภารทวาชะ พระขทิรวนิยเรวตะ พระอานนท์ เป็นต้น รวม ๕๕๐ รูป ต่อนั้นเป็นเถรีอปทาน (อัตประวัติแห่งพระอรหันตเถรี) แสดงเรื่องราวของพระอรหันตเถรี เช่น พระมหาปชาบดีโคตมี พระเขมา พระอุบลวรรณา พระปฏาจารา พระกุณฑลเกสี พระกีสาโคตมี พระธรรมทินนา พระสกุลา พระนันทา พระโสณา พระภัททกาปิลานี พระยโสธรา เป็นต้น รวม ๔๐ รูป)

(๑๔) พุทธวงส์ (คาถาประพันธ์แสดงเรื่องของพระพุทธเจ้าในอดีต ๒๔ พระองค์ที่พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันเคยได้ทรงเฝ้าและได้รับพยากรณ์ จนถึงประวัติของพระองค์เอง รวมเป็นพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์) 

(๑๕) จริยาปิฎก (แสดงพุทธจริยาในอดีตชาติ ๓๕ เรื่องที่มีแล้วในชาดก แต่เล่าด้วยคาถาประพันธ์ใหม่ ชี้ตัวอย่างการบำเพ็ญบารมีบางข้อ)

…………………….

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๔

๑๘:๐๘

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *