บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๑)

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม

นำร่อง

——–

เรื่อง “ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม” ที่ญาติมิตรจะได้อ่านต่อไปนี้ผมเขียนไว้ตั้ง ๑๐ ปีมาแล้ว ต้นฉบับยาวกว่า ๒๐ หน้ากระดาษ A4 ถ้าโพสต์ทีเดียวทั้งเรื่องก็คงอ่านกันไม่ไหว จึงจำเป็นต้องแบ่งเป็นตอนๆ

แต่แบ่งเป็นตอนๆ ก็มีข้อเสีย คืออ่านจบเฉพาะตอนแล้วก็อาจจับประเด็นไม่ได้ว่าจะสื่อเรื่องอะไร เพราะฉะนั้นก็ต้องขอแรงญาติมิตรติดตามอ่านแต่ละตอนแล้วก็พยายามปะติดปะต่อแนวคิดให้ได้ เมื่ออ่านจนจบทั้งเรื่องก็คงพอมองเห็นประเด็นที่ต้องการนำเสนอ

……………………..

ถ้าท่านไปพบคนที่ไม่มีญาติพี่น้องอยู่ในที่นั้น แต่เขาเกิดเจ็บป่วย เป็นลม หรือประสบอุบัติเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเข้ากลางถนนหนทาง และสมมุติว่าท่านเป็นคนธรรมดาที่พอจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามวิสัยของคนธรรมดาคนหนึ่ง ท่านจะคิดอย่างไรและจะทำอย่างไร ?

ปัญหาที่ท่านจะต้องคิดมีอยู่ ๓ ทาง

๑ ค่าใช้จ่าย เช่นค่ารถราพาหนะ และค่าอะไรๆ ที่คาดคิดไม่ถึงอีกที่จะตามมา รวมทั้งค่าเสียเวลาด้วย ซึ่งอาจจะเรียกรวมๆ ว่าเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ

๒ ความมีน้ำใจหรือความแล้งน้ำใจ ซึ่งควรเรียกว่าเป็นปัญหาทางจริยธรรม หรือมนุษยธรรม

๓ หากเกิดผลที่ไม่พึงประสงค์ตามมาจะด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ใครจะรับผิดชอบ ซึ่งคงจะพอเรียกได้ว่าเป็นปัญหาความรับผิดชอบ

สรุปว่ามีปัญหาที่จะต้องคิด ๓ เรื่อง คือ ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางจริยธรรมหรือมนุษยธรรม และปัญหาความรับผิดชอบ ท่านจะคิดอย่างไรและจะทำอย่างไร ?

……………………..

ผมเคยประมวล “ความวิปริตของสังคม” (ตามทัศนะของผม) ไว้ ๑๐ เรื่อง ตอนนี้ยังค้นต้นฉบับไม่เจอว่า ทั้ง ๑๐ เรื่องนั้นมีอะไรบ้าง แต่มีเรื่องหนึ่งที่ผมบันทึกเอาไว้ คือเรื่องที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้

ความวิปริตของสังคมที่ผมบันทึกไว้นี้เป็นเรื่องสุดท้าย คือเรื่องความเห็นที่ว่า “ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง” ช่วงนั้นผมจัดรายการ “คุยกับคนข้างวัด” ออกอากาศทางสถานีวิทยุของวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี ผมนำเรื่องที่เกิดขึ้นเรื่องหนึ่งไปเล่าในรายการ

เรื่องก็คือในวันพระหนึ่ง (วันจันทร์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๒) ระหว่างที่ผู้ที่ถืออุโบสถนอนค้างวัดที่วัดมหาธาตุราชบุรี กำลังจะฟังเทศน์ตอนหัวค่ำอันเป็นกิจวัตรประจำวันอุโบสถตามปกติ ผู้ถืออุโบสถท่านหนึ่งก็เกิดเป็นลมหมดสติ 

ผมได้เล่าในรายการ “คุยกับคนข้างวัด” ด้วยว่าสมาชิกผู้ถืออุโบสถก็ได้ช่วยกันปฐมพยาบาลเท่าที่จะช่วยกันได้ พร้อมกันนั้นก็ได้โทรศัพท์แจ้งญาติให้รีบมาดู โดยที่ไม่มีใครคิดที่จะพาคนเป็นลมไปส่งโรงพยาบาล 

ผมได้เล่าย้ำด้วยว่า ผมเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วย และเป็นคนเดียวที่มีรถสี่ล้อซึ่งสามารถจะใช้เป็นพาหนะนำคนป่วยไปส่งโรงพยาบาลได้สะดวก คนอื่นๆ มีแต่รถชนิดสองล้อซึ่งย่อมจะไม่สามารถพาคนป่วยไปได้สะดวกอย่างแน่นอน แต่ผมก็ไม่ได้เสนอตัวที่จะนำคนป่วยไปส่งโรงพยาบาล หากแต่ว่ากลับเป็นคนหนึ่งที่โทรแจ้งญาติของผู้ป่วย

เรื่องนี้จบลงด้วยดี คือผู้ป่วยฟื้นคืนสติและปลอดภัยหลังจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ คือคณะผู้ถืออุโบสถช่วยกันบีบนวดปฐมพยาบาลเท่าที่จะสามารถทำได้ การฟังเทศน์ก็สามารถดำเนินต่อไปได้ตามปกติ เพียงแต่ล่าช้าไปเล็กน้อย

ผมได้เล่าต่อไปว่า ผมนำเหตุการณ์นี้ไปเล่าให้ท่านผู้หนึ่งฟัง ผมแสดงความเห็นต่อการกระทำของตัวผมเองว่า การที่ไม่พาผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลทั้งๆ ที่สามารถจะทำได้นั้น เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

แต่ปรากฏว่าท่านผู้ที่ผมเล่าเรื่องให้ฟังนั้นท่านบอกว่า การที่ไม่พาผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาล แต่แจ้งญาติของผู้ป่วยนั้น เป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้ว เหตุผลของท่านมีอยู่เพียงประการเดียวคือ ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง

ผมฟังเหตุผลนั้นแล้วก็ไม่เห็นด้วย ผมกลับเห็นว่าความคิดแบบนั้นเป็นความวิปริตอย่างหนึ่ง อย่างน้อยก็วิปริตไปจากวัฒนธรรมที่ดีของสังคมไทย ผมได้ยกบทพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ มายืนยันว่า 

เป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ 

ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ 

แม้บทพระราชนิพนธ์จะไม่ได้บอกว่า เป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ ใครเจ็บป่วยจะวายปราณต้องช่วยรักษา อะไรทำนองนั้น แต่ก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องทำนองเดียวกัน การต้อนรับขับสู้เลี้ยงดูด้วยข้าวปลาอาหารเรายังถือว่าเป็นธรรมเนียมไทยแท้ แล้วนี่คนเจ็บป่วยนอนอยู่ต่อหน้า สำคัญกว่าเรื่องข้าวปลาอาหารเป็นไหนๆ เราจะละเลยได้อย่างไร

เพราะผมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า “ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง” และต้องการจะแสดงความเห็นโต้แย้ง ผมจึงยกเอาเหตุการณ์ที่ผู้ถืออุโบสถเป็นลมแล้วก็ไม่ได้พาไปส่งโรงพยาบาลขึ้นมาเป็นต้นเรื่อง

……………………..

ครั้นเมื่อวันพระที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๓ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย) ผู้ถืออุโบสถท่านหนึ่งได้พบผม ท่านก็ทักท้วง จะเรียกว่าตำหนิติติงก็คงได้ ว่า ผมเอาเรื่องนี้ไปพูดได้อย่างไร คือเอาเรื่องนี้ไปพูดทำไม

ผมเข้าใจเอาเองว่า เหตุผลที่ท่านติติงก็คงจะเป็นเพราะว่า ใครฟังเรื่องที่ผมยกขึ้นมาเล่า โดยเฉพาะประเด็นที่ไม่ได้พาคนป่วยไปส่งโรงพยาบาลนั้นแล้ว ก็จะต้องเห็นไปว่า พวกถืออุโบสถคณะนี้แล้งน้ำใจ จึงเป็นเรื่องเสียหายมาก

ผมฟังแล้วก็ออกจะตกใจ แล้วก็สลดใจในการกระทำของตัวเอง ที่ว่าสลดใจนั้นผมหมายความว่า ผมนี่ก็แปลก ทำ พูด คิดอะไรออกไปด้วยเจตนาอย่างหนึ่ง แต่มักจะถูกประทับตราตัดสินไปเสียอีกอย่างหนึ่ง แทบจะทุกทีไป 

แต่ผมก็ระลึกถึงพระบรมราโชวาทในชุด ๓๖ แผนที่ชีวิต ที่ผมเคยศึกษามา มีอยู่ข้อหนึ่ง (ข้อ ๒๔) ที่ว่า –

“เป็นหน้าที่ของเราที่จะพูดให้คนอื่นเข้าใจ ไม่ใช่หน้าที่ของคนอื่นที่จะทำความเข้าใจในสิ่งที่เราพูด” 

ระลึกแล้วก็ค่อยตั้งสติได้

เพราะผมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า “ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง” และผมต้องการจะแสดงความเห็นโต้แย้งแนวคิดนั้น ผมจึงยกเอาเหตุการณ์ที่ผู้ถืออุโบสถเป็นลมแล้วก็ไม่ได้พาไปส่งโรงพยาบาลขึ้นมาเป็นต้นเรื่อง ผมไม่ได้มีเจตนาที่จะตำหนิติติงคณะผู้ถืออุโบสถคณะนั้นหรือท่านผู้ใดใครผู้หนึ่งว่าแล้งน้ำใจแต่ประการใดเลย

ในการยกเรื่องนั้นมาเล่า ผมอุตส่าห์ย้ำแล้วว่า คนอื่นๆ มีแต่รถชนิดสองล้อซึ่งย่อมจะไม่สามารถพาคนป่วยไปได้สะดวกอย่างแน่นอน แต่ผมเป็นคนเดียวที่มีรถสี่ล้ออยู่ในเวลานั้นซึ่งสามารถจะใช้เป็นพาหนะนำคนป่วยไปส่งโรงพยาบาลได้สะดวก (คนอื่นๆ ก็มีรถสี่ล้อ แต่รถไม่ได้อยู่ในที่นั้นและในเวลานั้น) เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีใจเป็นธรรมและมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ ฟังเรื่องที่ผมยกขึ้นมาเล่าเป็นต้นเรื่องนั้นแล้ว ย่อมจะตำหนิติติงคณะผู้ถืออุโบสถคนไหนมิได้เลย 

คนที่ควรถูกตำหนิในเหตุการณ์นั้นหากจะมี ก็มีคนเดียวคือตัวผมเองนี่ต่างหาก ที่สามารถจะนำคนป่วยไปส่งโรงพยาบาลได้สะดวก แต่ไม่ทำ กลับใช้วิธีโทรเรียกญาติให้มาดูแลกัน ซึ่งผมมานึกขึ้นทีหลังว่าตัวเองทำไม่ถูก

และที่ผมนำเหตุการณ์นั้นไปเล่าให้ท่านผู้หนึ่งฟัง อันเป็นเหตุให้ท่านผู้นั้นแสดงแนวคิดออกมาว่า “ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง” นั้น ก็เพื่อจะตำหนิตนเองนั่นแล้ว แต่ผิดคาด กลายเป็นว่าการตัดสินใจทำอย่างนั้นมีผู้เห็นด้วยว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง 

อันที่จริงถ้าท่านผู้ที่ผมเล่าให้ฟังนั้นไม่ได้แสดงแนวคิดอย่างที่แสดงมาแล้ว (คือแนวคิดที่ว่าการไม่นำคนเป็นลมไปส่งโรงพยาบาลเป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้ว) หากแต่สมมุติว่าท่านก็พลอยตำหนิติเตียนผมไปด้วยเหมือนกับที่ผมตำหนิตัวเอง ผมก็จะไม่ได้ยินได้ฟังแนวคิดที่ว่า “ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง” นั้น 

นั่นก็แปลว่า ผมก็ไม่ต้องไปคัดค้านโต้แย้งความคิดของใคร เพราะก็จะไม่มีแนวคิดอะไรของใครที่ผมจะเห็นว่าวิปริต และถ้าเป็นเช่นว่านี้ผมก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องหยิบยกเหตุการณ์คนเป็นลมขึ้นเล่าให้มีคนเข้าใจเจตนาผิดอย่างที่ได้เป็นมาแล้วนั้น 

……………………..

สรุปให้สั้นที่สุดก็คือ ผมยกเรื่องคนถืออุโบสถเป็นลมขึ้นมาเล่าก็เพื่อจะคัดค้านแนวคิดเรื่อง “ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง” เพราะแนวคิดดังว่านี้เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นั้นที่ผมร่วมตัดสินใจอยู่ด้วยคนหนึ่ง ซึ่งมีคนเห็นว่าผมทำถูก แต่ผมเห็นว่าไม่ถูก การยกเรื่องนั้นขึ้นมาเล่าจึงไม่ได้มีเจตนาที่จะตำหนิติติงหรือชี้ชวนให้ใครมาตำหนิติติงการตัดสินใจของคนถืออุโบสถว่าเป็นการกระทำที่แล้งน้ำใจแต่ประการใดทั้งสิ้น ขออนุญาตกล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่ง

หลักคำสอนที่สำคัญมากๆ ในพระพุทธศาสนาของเราก็คือเรื่อง กรรม พระพุทธองค์ตรัสว่าพระองค์เป็น “กรรมวาที” คือ ผู้ประกาศหลักกรรม หรือผู้ถือหลักกรรม เช่นยืนยัน — 

(๑) ว่ากรรมคือการกระทำมีจริง และมีผลจริง 

(๒) ว่าแต่ละคนมีกรรมเป็นของตนและเป็นไปตามกรรมนั้น 

(๓) ว่าการกระทำเป็นเครื่องตัดสินความดีเลวสูงทราม (มิใช่ชาติกำเนิดตัดสิน) 

(๔) ว่าการกระทำเป็นเหตุปัจจัยให้สำเร็จผล (มิใช่สำเร็จด้วยการอ้อนวอนดลบันดาล หรือแล้วแต่โชค) เป็นต้น 

และองค์ธรรมที่เป็นเครื่องตัดสินว่าอย่างไรแค่ไหนจึงจะเป็นกรรม ก็คือ เจตนา ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า 

“เจตนาหํ  ภิกฺขเว  กมฺมํ  วทามิ 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นตัวกรรม

ใครที่พูดคำว่า นโม  ตสฺส  ภควโต  อรหโต  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ได้ ก็สมควรแท้ที่จะจำพระพุทธพจน์บทนี้ไว้ให้ได้ด้วยอีกสักบทหนึ่ง เพราะเป็นหลักที่สำคัญที่สุดในการตัดสินการกระทำของคน

……………………..

ในทางกฎหมายมีคำกล่าวว่า “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา” แต่พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า เจตนาเป็นเครื่องกำหนดกรรม

เดินไปเหยียบมดตาย 

ปิดหน้าต่างแล้วบานหน้าต่างไปหนีบจิ้งจกตาย 

เป็นกรรมหรือไม่ บาปหรือไม่?

การกระทำเหมือนกันทุกอย่าง ผลที่เกิดจากการกระทำนั้นก็เท่ากันทุกอย่าง แต่การกระทำที่มีเจตนาคือจงใจทำ เป็นกรรม ส่วนที่ไม่จงใจทำ ไม่เป็นกรรม

ท่านเชื่อหรือไม่ว่า ทั้งๆ ที่เจตนาเป็นเรื่องสำคัญมากถึงเพียงนี้ แต่คนส่วนมาก หรือแทบจะพูดได้ว่าทั้งหมด เวลาที่จะตัดสินว่าใครถูกใครผิด เขามองกันแค่การกระทำเท่านั้น หาได้มองให้ลึกลงไปถึงตัวเจตนาที่อยู่เบื้องหลังการกระทำนั้นไม่ 

เป็นเรื่องที่น่าแปลกประหลาดมาก และก็น่าตกใจมากด้วย

……………………..

นอกจากมองข้ามเจตนาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่คนส่วนมากมักจะมองข้ามก็คือ การตรวจสอบหาข้อเท็จจริงที่ถูกต้องถ่องแท้ในการกระทำนั้น ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในกระบวนการตัดสินใจของคนเรา 

กระบวนการตัดสินใจของคนเรามีอยู่ ๓ ขั้นตอน คือ –

๑ รับข้อมูล คือมีเหตุการณ์ มีการกระทำ หรือมีตัวบุคคลเกิดขึ้น เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรา ที่จะต้องให้เราทำพูดคิดตัดสินใจ

๒ ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงที่ถูกต้องถ่องแท้  และ

๓ ตกลงใจหรือตัดสินใจว่าจะทำหรือจะไม่ทำอะไรอย่างไร

คนส่วนมากมักจะไม่ดำเนินการให้ครบตามขั้นตอน คือ ๑ ๒ ๓ แต่มักจะเริ่มจาก ๑ แล้วก็ข้ามไป ๓ เลย จึงมักจะปรากฏผลที่ผิดพลาดเสียหายตามมา เช่น เสียทรัพย์ เสียตัว เสียเพื่อน เสียโอกาสที่จะได้ทำความดี จนถึงเสียบ้านเสียเมือง หรือเสียชีวิตไปเลยก็เคยมีมาแล้ว

นอกจากไม่ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงที่ถูกต้องถ่องแท้แล้ว ทุกวันนี้เรายังยินยอมพร้อมใจให้สื่อต่างๆ เข้ามาครอบงำความคิดได้อย่างง่ายดาย 

เพียงหนังสือพิมพ์ลงข่าวพระสงฆ์ประพฤติไม่ดี ก็จะมีคนประกาศว่า ต่อไปนี้กูจะไม่ใส่บาตรให้แม่งแดก 

พระสงฆ์ที่ประพฤติไม่ดีนั้นอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ จริงหรือเท็จแค่ไหนก็ไม่ได้ตรวจสอบ ไม่เคยเห็นด้วยซ้ำไป 

แต่พระสงฆ์ที่อุ้มบาตรยืนอยู่ตรงหน้าเราตอนนี้ต้องพลอยอดไปด้วย เราเองก็ทิ้งโอกาสที่จะทำความดีไปง่ายๆ 

นี่เราฉลาดหรือเขลากันแน่?

และถ้าเราฉลาดอีกสักนิดก็จะทราบว่า เรื่องแบบนี้-คือเรื่อทำบุญให้ทาน ผู้รู้ท่านชี้ทางให้เรามานานนักหนาแล้วว่า ให้ทานแก่สัตว์เดรัจฉาน ได้บุญร้อยเท่า ให้ทานแก่คนชั่ว ได้บุญพันเท่า ให้ท่านแก่คนปกติธรรมดา ได้บุญแสนเท่า 

ก็แล้วพระสงฆ์ที่ยืนอยู่ตรงหน้าเราขณะนี้ท่านสูงกว่าสัตว์เดรัจฉานไม่รู้ว่ากี่เท่า ทำไมเราจึงไม่ใส่บาตร? 

เพราะเราคิดเพลินไปว่า พระสงฆ์ที่ตกเป็นข่าวกับพระสงฆ์ที่ยืนอยู่ตรงหน้าเรานี้เป็นพระสงฆ์รูปเดียวกัน หรือพวกเดียวกัน ก็คือเราถูกครอบงำถูกชี้นำด้วยข้อมูลที่ปราศจากการตรวจสอบ ปราศจากการพินิจให้รอบคอบของเราเอง ใช่หรือไม่

เมื่อตอนที่เมืองไทยเกิดเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า พฤษภาทมิฬ มีการปลุกกระแสให้เกลียดชังทหารทั่วไปหมด เพื่อนผมคนหนึ่งซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมก่อเหตุอะไรกับใครด้วยเลย วันหนึ่งเขาแต่งเครื่องแบบทหารขึ้นรถเมล์ไปทำงานตามปกติ เขาถูกด่ายับเยินบนรถเมล์ โดยคนด่าก็ไม่เคยเห็นหน้า ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน 

ช่วงนั้นผู้บังคับบัญชาทหารต้องแนะนำไม่ให้ทหารแต่งเครื่องแบบไปทำงาน

มาถึงวันนี้ คนที่ด่าทหารในตอนนั้นจะรู้สึกเสียใจบ้างหรือไม่ว่า นี่เราทำอะไรลงไป

แม้แต่ในกระบวนการยุติธรรมซึ่งถือว่าการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงที่ถูกต้องถ่องแท้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด และทำกันอย่างละเอียดถี่ถ้วนที่สุดแท้ๆ ก็ยังไม่วายที่จะผิดพลาด ดังมีเรื่องว่า ศาลได้ตัดสินประหารชีวิตจำเลยคนหนึ่ง ต่อมาอีกประมาณเกือบร้อยปี จึงได้ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนว่า จำเลยคนนั้นมิได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา

ถ้าผู้พิพากษา ลูกขุน ทนาย และใครอีกก็ตามในคดีนั้นที่มีส่วนทำให้จำเลยคนนั้นถูกประหารชีวิต ยังมีชีวิตอยู่และได้ทราบความจริงนี้ คนเหล่านั้นจะรู้สึกอย่างไรกันบ้าง?

เพราะฉะนั้น ในวงการยุติธรรมจึงมีปรัชญาอยู่ว่า ปล่อยคนผิดไปสิบคน ดีกว่าลงโทษคนบริสุทธิ์เพียงคนเดียว

เรื่อง “มองเห็นแต่ตาอย่าเพิ่งเชื่อ” ทำนองนี้ ผู้รู้ท่านเตือนสติกันไว้นัก และเตือนมานานนักหนาแล้ว ในกาลามสูตรพระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนไว้ชัดๆ ว่า “อย่าเพิ่งด่วนเชื่อตามอาการ” คือตามหลักฐานที่มองเห็น และ “อย่าเพิ่งด่วนเชื่อเพราะเห็นว่าลักษณะท่าทางหรือพฤติกรรมน่าเชื่อ” จนกว่าจะได้ตรวจสอบจนได้ประจักษ์ความจริงที่ถูกต้องถ่องแท้เสียก่อน

ผมเคยยกตัวอย่างเล่นๆ ว่า เราเห็นหนุ่มสาวคู่หนึ่งเดินออกมาจากโรงแรมในตอนสายของวันหนึ่งด้วยท่าทางอ่อนระโหยทั้งคู่ จากภาพที่ตาเราเห็น เราก็เลยตัดสินว่า เมื่อคืนที่ผ่านมาทั้งสองคนร่วมรักสนุกกันจนสว่าง เลยหมดแรงทั้งคู่

แต่ความจริงก็คือ หนุ่มสาวทั้งสองนั้นเป็นพี่น้องกัน ที่เห็นท่าทางอ่อนระโหยนั้นเพราะถ่ายท้องหลายครั้งเนื่องจากรับประทานอาหารเป็นพิษเข้าไป 

นี่คือความจริงที่เราไม่รู้ เพราะเราได้แต่เห็นท่าทางภายนอก แต่ไม่ได้ตรวจสอบ หรือไม่มีโอกาสตรวจสอบ หรือไม่มีความประสงค์ที่จะต้องตรวจสอบให้ถ่องแท้ไปถึงภายใน

แม้แต่คำพูดสมัยใหม่ก็ยังมีว่า “สิ่งที่ท่านเห็น อาจไม่ได้เป็นอย่างที่ท่านคิด” 

แต่ก็น่าประหลาดอัศจรรย์อย่างที่สุดที่เรามักจะลืมคำเตือนเหล่านี้กันง่ายๆ

ที่ผมพูดมาทั้งหมดในตอนนี้ก็สืบเนื่องมาจากได้อ้างหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ว่า เจตนาเป็นตัวกรรม แต่คนส่วนมากมักจะมองข้ามเจตนา จึงทำให้ตัดสินใจผิดพลาดกันอยู่บ่อยๆ

คนที่ตั้งใจทำดี แต่มาถูกกระทบเพราะคนมองข้ามเจตนาหรือไม่เข้าใจเจตนา ถ้าจิตใจไม่หนักแน่นพอ อาจจะประกาศออกมาว่า “ต่อไปนี้กูจะเลิกทำความดี” ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าเสียใจและน่าเสียดายมาก

กลับมาเข้าเรื่องปัญหาที่ตั้งประเด็นไว้ข้างต้น ว่าท่านไปพบเหตุการณ์เช่นนั้นเข้า – เหตุการณ์ที่มีใครทำอะไรหรือคิดอะไรออกมา แล้วท่านรู้สึกว่ามันไม่ถูก – ท่านจะคิดอย่างไร ท่านจะทำอย่างไร

ผมเห็นว่า เรื่องที่กำลังพูดอยู่นี้ถ้าตัดตัวบุคคลออกไป น่าจะปลอดภัยดีกว่า คือ ไม่ต้องไปให้ความสำคัญว่า ใครทำ หรือใครคิด แต่ขอให้สนใจแต่เพียงว่า ทำอะไร และคิดอะไรเท่านั้น แล้วก็ให้ความสำคัญที่ตัวเจตนาให้มาก ส่วนผู้ทำจะเป็นใคร หรือผู้คิดจะเป็นใครก็ช่าง เราจะได้ไม่ไปปะทะหรือไปขัดแย้งกับตัวบุคคล 

อย่างท่านที่เป็นเจ้าของแนวคิดที่ว่า “ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง” ก็ขอเรียนว่า ผมไม่ได้มีความประสงค์ที่จะทะเลาะกับตัวตนของคนคิด แต่ผมตั้งใจที่จะโต้แย้งกับแนวคิดแบบนั้นเท่านั้น ผมไม่สนใจด้วยว่าใครเป็นผู้คิด ต้องบอกไว้อย่างนี้ก่อน ประเดี๋ยวท่านจะมาตั้งตัวเป็นคู่ขัดแย้งกับผมเข้าอีกคนหนึ่ง

ผมเห็นว่าแนวคิดที่ว่า “ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง” เป็นแนวคิดที่วิปริต ผมเชื่อว่าแม้คนที่คิดแบบนี้นั่นเองก็จะต้องไม่เห็นด้วย หรืออย่างน้อยก็จะต้องไม่ชอบเป็นแน่-ถ้าญาติของท่านถูกปฏิบัติด้วยแนวคิดนี้

ผมจะสมมุติเหตุการณ์ให้คนที่คิดแบบนี้ตอบ ลองฟังดู

สมมุติว่าญาติของท่านประสบอุบัติเหตุ หรือไปเป็นลมเข้าที่ไหนสักแห่งหนึ่ง แล้วมีผู้โทรศัพท์แจ้งให้ท่านทราบ

แบบที่หนึ่ง 

ผู้แจ้งบอกท่านว่า ญาติของท่าน (พ่อท่าน แม่ท่าน ผัวท่าน เมียท่าน ลูกท่าน หลานท่าน ฯลฯ) ประสบอุบัติเหตุ หรือเป็นลมอยู่ที่โน่นที่นั่น เวลานี้เขาได้นำส่งโรงพยาบาลแล้ว ถึงมือหมอเรียบร้อยแล้ว หมอกำลังดูแลอยู่ ขอให้ท่านไปที่โรงพยาบาลนั้นๆ ได้เลย สวัสดี

แบบที่สอง 

ผู้แจ้งบอกท่านว่า ญาติของท่านประสบอุบัติเหตุ หรือเป็นลมอยู่ที่โน่นที่นั่น เวลานี้กำลังชักตาตั้ง หรือกำลังผะงาบๆ อยู่ข้างถนน ผู้แจ้งบอกด้วยว่าเขาถือหลักตามแนวคิดที่ว่า “ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง” เพราะฉะนั้นขอให้ท่านรีบไปรับผิดชอบกันเองเถิด สวัสดี

ถามว่า เหตุการณ์ตามแบบไหนที่ท่านต้องการ?

……………………..

ผมอยากจะเอาใจช่วย หรือมองในแง่ดีเหมือนกันว่า แนวคิดที่ว่า “ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง” นั้น ก็คงไม่ได้ตั้งใจจะให้มีการปฏิบัติแบบเถรตรงกันถึงขนาดนั้น 

เพียงแต่หมายถึงว่า เรื่องใหญ่ๆ หรือเรื่องหลักๆ เช่นเจ็บป่วยแล้วจะรักษากันอย่างไร จะเอาไปโรงพยาบาลไหน จะให้หมอคนไหนเป็นเจ้าของไข้ ค่าหมอค่ายาจะว่ากันอย่างไร นี่เป็นเรื่องที่ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง จะให้ชาวบ้านเขามารับภาระแทนนั้นไม่ได้ 

หมายความเพียงแค่นี้ 

แต่ส่วนเหตุการณ์เฉพาะหน้าก็ต้องจัดการกันไปตามควรแก่กรณี ไม่ถึงกับห้ามไม่ให้ดูดำดูดีกันเสียเลย

อันที่จริงการรับผิดชอบในเรื่องหลักๆ ดังที่ว่านั้นมันก็เป็นสามัญสำนึกของคนทั่วไปอยู่แล้ว ญาติของเราป่วย จะไปบอกให้ชาวบ้านมาช่วยออกค่าหมอค่ายาให้ได้อย่างไร 

แนวคิดหรือทฤษฎีที่ว่า “ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง” นั้นจึงต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมที่แน่นอนชัดเจนว่าจะให้ทำแค่ไหนอย่างไรกันแน่

อย่างไรก็ตาม ในคำทักท้วงของผู้ถืออุโบสถท่านนั้น มีอยู่ประโยคหนึ่งที่ท่านกล่าวว่า — 

ลองคิดดูซิว่า ถ้าตัดสินใจพาคนป่วยไปส่งโรงพยาบาล แล้วถ้าเกิดคนป่วยเป็นอะไรขึ้นมา ใครจะรับผิดชอบ?

คำพูดนี้กลับเป็นประเด็นใหญ่มากทันทีในความคิดของผม ผมว่าใหญ่ระดับชาติ หรือระดับโลกเลยก็ว่าได้ – ใครจะรับผิดชอบ?

ที่ผมตั้งชื่อเรื่องนี้ไว้ว่า “ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม” ก็มีสาเหตุมาจากคำพูดหรือคำถามประโยคนี้แหละครับ

แนวคิดทฤษฎีที่ว่า “ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง” นั้น ดูเหมือนว่าจะเป็นห่วงเฉพาะเรื่องการเสียเวลา ความยุ่งยากที่จะต้องวิ่งเต้นติดต่อในเรื่องต่างๆ ที่ภาษาทางทหารใช้คำว่า “ปัญหาทางธุรการ” 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องความสิ้นเปลือง และค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเรียกเป็นคำรวมๆ ว่า ความรับผิดชอบในแง่เศรษฐกิจ 

แต่ผู้เป็นต้นคิดทฤษฎีนั้นน่าจะยังไม่ได้คิดถึงปัญหาใหญ่มากๆ อีกเรื่องหนึ่ง คือความรับผิดชอบในทางจริยธรรม 

ใครจะกล้าตอบบ้างครับว่า เมื่อเราไปประสบพบเห็นคนป่วย หรือคนเกิดอุบัติเหตุอะไรก็ตาม ถ้าตัดสินใจนำคนป่วยไปส่งโรงพยาบาล แล้วเกิดคนป่วยนั้นเป็นอะไรขึ้นมา ใครจะรับผิดชอบ?

ก็เพราะไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้นั่นเองใช่หรือไม่ จึงส่งผลให้คนส่วนมากมีพฤติกรรม หรือตัดสินใจปฏิบัติต่อเหตุการณ์แบบนั้นไปในทำนองเดียวกัน คือ – อย่าเข้าไปยุ่งด้วย เดี๋ยวเดือดร้อน

ความเดือดร้อนตามความหมายนี้ ก็มีตั้งแต่เสียเวลา แค่เสียเวลายังไม่เท่าไร แต่ถ้าจะต้องเสียเงิน อย่างน้อยๆ ก็ค่ารถ ค่าน้ำมัน เผลอๆ อาจจะต้องเสียค่าหมอค่ายา หรือค่าอะไรต่อมิอะไรอีกเยอะแยะที่คาดไม่ถึง จะว่าอย่างไร – ใครจะรับผิดชอบ? 

แล้วที่สำคัญที่สุด ถ้าคนป่วยเกิดตายขึ้นมาระหว่างนั้นด้วยละก็ เป็นเรื่องใหญ่เลย 

เพราะฉะนั้น อย่าเข้าไปยุ่งด้วยดีกว่า จะได้ไม่ต้องเดือดร้อน 

และเพื่อจะป้องกันตัวเองต่อไปอีกไม่ให้ใครตำหนิได้ว่าแล้งน้ำใจ เราก็มักจะอ้างเหตุผลหรือความขัดข้องสารพัด เช่น – 

ไม่มีรถ 

ขับรถไม่เป็น 

รถเสีย 

กำลังปวดท้อง 

พอดีจะรีบไปธุระด่วน 

ฯลฯ

หรือไม่ก็อ้างว่าเห็นคนนั้นคนโน้นเขาช่วยทำอยู่แล้ว หรือเห็นว่าไม่เป็นอะไรร้ายแรง ก็เลยไม่ได้ช่วย – อะไรทำนองนี้ 

เหตุผลเหล่านี้อาจมีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่เหตุผลที่จริงที่สุดก็หนีไม่พ้นความจริงที่ว่า คือ ไม่อยากเดือดร้อน นั่นเอง

ข้อที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อเกิดเหตุและมีคนเจ็บป่วยนั้น มักจะมีบุคคลที่อยู่ในห้วงคิดคำนึงของคนทั่วไปอยู่ ๓ จำพวก คือ ตำรวจ หมอ และญาติ 

ในกรณีเจ็บป่วยนั้น หมอควรจะเป็นพวกแรกที่จำเป็นที่สุด แต่ข้อเท็จจริงมักจะเป็นว่า ญาติจะเป็นบุคคลกลุ่มแรกที่คนมักจะคิดถึงก่อน ควบคู่ไปกับหมอหรือตำรวจ 

ทำไมจึงเป็นอย่างนี้? 

คำตอบก็น่าจะอยู่ในแนวคิดทฤษฎีที่ว่า “ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง” นั่นเอง โดยมีความรู้สึกที่ไม่อยากจะเข้าไปร่วมเดือดร้อนหนุนหลังอยู่ลึกๆ

พูดมาถึงตรงนี้แล้วก็ยังไม่มีคำตอบอยู่นั่นเองว่า ใครจะรับผิดชอบ แต่มีคำถามให้ต้องคิดเพิ่มขึ้นมาอีก นั่นก็คือ –

ถ้าสมมุติว่า ท่านพบเหตุมีคนป่วยเฉพาะหน้า แล้วท่านก็นำคนป่วยไปส่งโรงพยาบาล ตามสามัญสำนึกของมนุษย์ที่ว่าคนเราควรจะช่วยเหลือเกื้อกูลกันเท่าที่สามารถจะทำได้ ถ้าคนป่วยไปถึงหมอโดยปลอดภัย ญาติพี่น้องของคนป่วยก็คงจะขอบคุณท่านเป็นการใหญ่ที่ช่วยชีวิตญาติของเขาไว้ 

แต่ถ้าเกิดคนป่วยนั้นเสียชีวิตในระหว่างทาง ท่านผู้ลองคาดเดาดูซิว่า คนที่นำคนป่วยไปโรงพยาบาลด้วยความปรารถนาดีเพราะมีมนุษยธรรมนั้นจะเจออะไรบ้าง ญาติพี่น้องของคนป่วยจะว่าอย่างไร

อย่างหนึ่งที่เขาจะต้องว่า หรือไม่ว่าก็คงจะต้องคิดแน่ๆ ก็คือ นี่ถ้าไอ้มนุษย์คนนี้ (คือตัวท่าน) ไม่สู่รู้เคลื่อนย้ายคนป่วยให้กระทบกระเทือน แต่ให้นอนพักอยู่ตรงนั้น ป่านนี้ญาติของกู (คือ พ่อกู แม่กู ผัวกู เมียกู ลูกกู หลานกู ฯลฯ) ก็คงจะยังไม่ตาย นี่เพราะไอ้คนเสือกไม่เข้าเรื่องคนเดียวแท้ๆ ที่ทำให้ญาติกูต้องตาย 

ต่อจากนั้น ถ้ามีทางอะไรที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากท่านได้ เขาก็คงไม่ละเว้นที่จะทำ โทษฐานเป็นเหตุให้ญาติของเขาตาย

ถ้าท่านเป็นมนุษย์คนนั้น ท่านจะรู้สึกอย่างไร?

ทีนี้สมมุติใหม่ สมมุติว่า ท่านพบเหตุมีคนป่วยเฉพาะหน้าเช่นเดียวกัน คราวนี้ท่านตัดสินใจไม่นำคนป่วยส่งโรงพยาบาล เพราะกลัวว่าจะโดนกล่าวหาว่าเสือกไม่เข้าเรื่อง กรณีนี้ถ้ามีรถพยาบาลมาถึงทันเวลา พาคนป่วยไปรักษาเรียบร้อย ญาติคนป่วยอาจจะขอบคุณท่านที่ช่วยเฝ้าดูแลคนป่วยอยู่ตรงนั้น

แต่ถ้าในระหว่างที่ท่านดูอยู่เฉยๆ นั้น คนป่วยเกิดเสียชีวิตอยู่ตรงนั้นเอง ท่านลองคาดเดาดูซิว่า คราวนี้ญาติพี่น้องของคนป่วยจะว่าอย่างไร

อย่างหนึ่งที่เขาจะต้องว่า หรือไม่ว่าก็คงจะต้องคิดแน่ๆ ก็คือ นี่ถ้าไอ้มนุษย์คนนี้ (คือตัวท่าน) มันไม่แล้งน้ำใจ ช่วยพาญาติของกู (คือ พ่อกู แม่กู ผัวกู เมียกู ลูกกู หลานกู ฯลฯ) ไปส่งโรงพยาบาลให้สักนิด ป่านนี้ญาติของกูก็คงจะยังไม่ตาย นี่เพราะไอ้คนแล้งน้ำใจคนเดียวแท้ๆ ที่ทำให้ญาติกูต้องตาย 

หลังจากวันนั้นเขาก็จะตำหนิติเตียนโพนทะนาความแล้งน้ำใจของท่านให้โลกได้รับรู้ต่อไปอีกสามปีเจ็ดปี หรืออาจจะตลอดชีวิต และถ้าบังเอิญเขาไปเจอท่านเข้าที่ไหน เขาก็จะสะบัดหน้า ถ่มน้ำลาย มองท่านอย่างไส้เดือนกิ้งกือตัวหนึ่ง

ถ้าท่านเป็นมนุษย์คนนั้น โดนเข้าอย่างนี้ท่านจะรู้สึกอย่างไร?

เป็นอันว่า ไม่ว่าท่านจะตัดสินใจนำคนป่วยไปส่งโรงพยาบาล หรือตัดสินใจปล่อยไว้ตรงนั้น ท่านย่อมมีโอกาสที่จะตกเป็นผู้ต้องหาในสายตาของคนเป็นญาติผู้ป่วยได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง

ตราบใดที่ท่านยังอยู่ในสังคมนี้ อย่านึกเป็นอันขาดว่าท่านจะไม่ต้องเจอปัญหาแบบนี้

แล้วจะทำอย่างไรกันดี?

นี่คือปัญหาทางจริยธรรมที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในสังคม และผมเชื่อว่าเป็นปัญหาที่ทุกคนอยากได้คำตอบจากสังคมด้วย

ผมคิดว่าคนที่จะต้องตอบคำถามข้อนี้ก็มีอยู่ ๒ พวก คือ คนที่ประสบเหตุหรืออยู่ในเหตุการณ์พวกหนึ่ง และคนที่เป็นญาติพี่น้องอีกพวกหนึ่ง

ถ้าท่านเป็นคนที่ประสบเหตุ ทางเลือกของท่านมีอยู่เพียงแค่ว่า ระหว่างข้อหา “เสือกไม่เข้าเรื่อง” กับข้อหา “แล้งน้ำใจ” ท่านพอใจที่จะเสี่ยงเลือกรับข้อหาไหนมากกว่ากัน

ถ้าท่านไม่กลัวข้อหา “เสือกไม่เข้าเรื่อง” รวมทั้งผลพ่วงต่างๆ ที่อาจจะตามมาทำให้ท่านเดือดร้อนอีกมากมาย ต่อไปนี้ถ้าเจอใครเป็นลมหรือประสบอุบัติเหตุ ท่านก็รีบพาไปส่งโรงพยาบาลได้เลย เรียกว่าไปตายเอาดาบหน้า 

ที่ว่า “ไปตายเอาดาบหน้า” นั้น ไม่ใช่เฉพาะคนป่วยเท่านั้น แต่หมายถึงตัวท่านเองด้วย ที่อาจจะต้องโดนข้อหาเสือกไม่เข้าเรื่อง และท่านอาจจะเดือดร้อนแทบตายหรืออาจจะตายเอาจริงๆ เลยก็ได้

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็คือ คนส่วนมากไม่สมัครใจจะเลือกวิธีนี้ แต่มักจะเลือกเสี่ยงกับข้อหา “แล้งน้ำใจ” ดีกว่า 

ข้อหานี้อาจจะทำให้ไม่สบายใจไปพักหนึ่ง แต่ก็ไม่ทำให้เดือดร้อนมากมายอะไร ซ้ำยังมีทางแก้ตัวให้ตัวเองอีกตั้งหลายทาง 

โดยเฉพาะคำสอนในพระพุทธศาสนานั่นเองก็มีอยู่ว่า สัตว์โลกต่างมีกรรมเป็นของของตน การที่คนป่วยต้องนอนตายอยู่ตรงนั้นก็เป็นกรรมของเขาเอง ไม่ใช่ความผิดของเราที่ไม่ได้ช่วยพาเขาไปส่งโรงพยาบาล

………………………….

พูดมาถึงตรงนี้ผมก็นึกถึงคนที่เราเรียกกันว่า “พลเมืองดี” คือคนที่ปรากฏในข่าวอาชญากรรมหรือข่าวอุบัติเหตุที่สื่อมวลชนมักจะรายงานว่า “มีพลเมืองดีผ่านมาประสบเหตุและได้นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

เราเรียกคนประเภทนี้ว่า “พลเมืองดี” แต่หาได้เฉลียวใจไม่ว่าเขาอาจจะกลายเป็น “พลเมืองร้าย” ในสายตาของญาติผู้ป่วยไปในทันทีเมื่อไรก็ได้ทุกโอกาส 

แต่ทั้งๆ ที่รู้อยู่เช่นนั้นเขาก็ยังกล้าเสี่ยง จึงเป็นคนที่น่าสรรเสริญ และเป็นคนที่บุคคลทั่วไปอาจจะพิศวงสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่า คนอย่างนี้มีจริงๆ หรือ

คราวนี้ก็มาถึงตาของคนที่เป็นญาติพี่น้องจะต้องตอบปัญหาบ้าง

ถ้าญาติของท่านตายลงในระหว่างทางที่มี “พลเมืองดี” นำไปส่งโรงพยาบาล ท่านจะกล่าวโทษ หรือฟ้องร้องพลเมืองดีคนนั้นหรือไม่ หรือท่านจะมองเขาคนนั้นด้วยความรู้สึกอย่างไร 

แล้วถ้าญาติของท่านตายลงตรงที่เกิดเหตุนั้นเองเพราะไม่มีใครกล้าเป็น “พลเมืองดี” ช่วยพาไปส่งโรงพยาบาล ท่านจะตำหนิติเตียนด่าว่าคนที่ไม่ยอมช่วยเหลือญาติของท่านหรือไม่ หรือท่านจะมองเขาคนนั้นด้วยความรู้สึกอย่างไร 

ถ้าท่านเป็นญาติคนป่วย ลองเปิดหัวใจของท่านออกมาให้สังคมได้ดูกันซิครับว่า ท่านคิดอะไรอยู่

คำตอบของญาติคนป่วยนี่แหละครับที่จะเป็นเครื่องตัดสิน และเป็นตัวกำหนดท่าทีของคนในสังคมว่าจะปฏิบัติอย่างไรกับคนที่เจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นเฉพาะหน้า

ท่านมีสิทธิ์ที่จะรักจะเสียดายชีวิตญาติของท่าน 

ท่านมีสิทธิ์ที่จะตั้งข้อหา “เสือกไม่เข้าเรื่อง” หรือข้อหา “แล้งน้ำใจ” เอากับคนที่เกี่ยวข้องได้ทั้งนั้น 

ท่านมีสิทธิ์ที่จะใช้สติมองให้ลึกเข้าไปถึงเจตนาของผู้เกี่ยวข้อง 

และท่านก็มีสิทธิ์ที่จะคิดได้ด้วยว่า ทุกฝ่ายก็ตั้งใจทำดีที่สุดแล้ว ญาติของท่านหมดบุญเพียงเท่านี้เอง จะทำอย่างไรได้ คนที่ยังอยู่นี่ต่างหากที่สำคัญกว่า มองกันด้วยสายตาที่เป็นมิตรดีกว่า ยังจะรักษามิตรภาพกันไว้ได้ หรืออาจจะได้กัลยาณมิตรเพิ่มขึ้นอีกด้วย

แน่นอน ท่านมีสิทธิ์ที่จะไม่คิดอย่างนี้ และมีสิทธิ์ที่จะคิดอย่างไรก็ได้ทั้งนั้น ไม่มีใครจะไปว่าอะไรท่านได้เลย 

แต่คำตอบของท่านก็จะเป็นคำตัดสินอยู่ในตัวเองว่า –

ระหว่างท่านกับ “พลเมืองดี” นั้น หัวใจของใครจะประเสริฐควรแก่การบูชากว่ากัน

ผมมีข้อสังเกตส่วนตัวอยู่อย่างหนึ่งจากประสบการณ์ชีวิต คือ เวลาเราเป็นผู้ถูกกระทำหรือถูกพูดจาว่ากล่าวอะไรก็ตามในเรื่องที่เราไม่พอใจ หรือที่ภาษาพระท่านเรียกว่า “อนิฏฐารมณ์” เรามักจะรู้สึกว่า คนที่ทำกับเราหรือพูดกับเราไม่น่าทำอย่างนั้น หรือไม่น่าพูดอย่างนั้นกับเราเลย

แต่ในฉับพลันทันทีที่เราเปลี่ยนสถานะจากผู้ถูกกระทำไปเป็นผู้กระทำบ้าง เราก็จะลืมความรู้สึกเมื่อตอนเป็นผู้ถูกกระทำจนหมดสิ้น คือเราก็จะทำจะพูดแบบเดียวกับที่เราไม่อยากให้ใครมาทำมาพูดกับเราเช่นนั้นนั่นเอง 

นี่เป็นเรื่องประหลาดอย่างยิ่งที่คนเราสามารถจะลืมอะไรได้รวดเร็วฉับพลันถึงปานนี้

เพราะฉะนั้น จึงขอให้ทุกฝ่ายตั้งสติให้ดี เวลาอยู่ในฐานะที่จะเป็นพลเมืองดี ก็อย่าลืมความรู้สึกหรือหัวอกของคนที่เป็นญาติผู้ป่วย และเวลาที่อยู่ในฐานะญาติผู้ป่วย ก็โปรดอย่าลืมนึกถึงหัวอกของผู้เป็นพลเมืองดีเอาไว้บ้าง

………………………….

มีข้อที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่ง คือ เวลาจะตัดสินหรือมองการกระทำของใครว่าถูกผิดดีชั่วอย่างไรนั้น เรามักจะยึดเอาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้งหรือเป็นเกณฑ์ตัดสิน และมองข้ามเจตนาของผู้กระทำนั้นไปเสียหมด

เช่นในกรณีที่กำลังถามใจญาติของคนป่วยอยู่นี้แหละ ถ้าญาติของเรารอดตาย เราก็จะบอกว่าคนที่พาญาติเราไปส่งโรงพยาบาลนั้นทำถูกทำดีแท้ๆ 

แต่ถ้าญาติของเราตาย เราก็จะต้องว่าคนที่พาญาติเราไปส่งโรงพยาบาลนั้นทำผิด – เช่นนี้ ใช่หรือไม่?

หรือในกรณีที่คนพบเหตุไม่พาญาติของเราไปส่งโรงพยาบาล แล้วญาติเราเกิดตายอยู่ตรงที่เกิดเหตุนั้นเอง เราก็จะต้องว่าคนที่ไม่พาญาติของเราไปส่งโรงพยาบาลนั้นทำผิด แล้งน้ำใจ ไร้มนุษยธรรม 

แต่ถ้าคนคนนั้นไม่พาญาติเราไปส่งโรงพยาบาล หากแต่ช่วยดูแลอยู่ตรงนั้นและญาติเรารอดตาย เราก็จะบอกว่าคนคนนั้นทำถูกทำดีแล้ว

จะเห็นได้ว่า เราตัดสินด้วยผลประโยชน์ของเราล้วนๆ 

ญาติเรารอด การกระทำนั้นถูก 

ญาติเราตาย การกระทำนั้นผิด 

การกระทำแบบเดียวกันแท้ๆ แต่เป็นได้ทั้งถูกทั้งผิด เพราะเราเอาผลประโยชน์ของเราเป็นตัวตัดสิน 

แต่สิ่งที่เราไม่ได้คิดคำนึงถึงเลย ทั้งๆ ที่เป็นส่วนสำคัญที่สุดในทุกเรื่องก็คือ เจตนาของผู้กระทำ 

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด แต่เรามักลืมส่วนสำคัญที่สุดของเรื่องไปอย่างน่าตกใจ ก็เพราะถูกผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาบดบังดวงตาปัญญาของเรานั่นเอง

พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ตัวตัดสินกรรมคือเจตนา แต่เวลาเราจะตัดสินคน แทนที่จะมองไปที่เจตนา เรากลับมองไปที่ผลประโยชน์ส่วนตัว ตลกดีไหม

เพื่อให้มองเห็นประเด็นชัดขึ้น ลองสมมุติอีกเรื่องหนึ่งก็ได้ สมมุติว่าตำรวจกระทำวิสามัญฆาตกรรมวัยรุ่นคนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นคนเกะกะเกเรก่อความเดือดร้อนรำคาญให้แก่คนในชุมชนที่อยู่ด้วยกันเป็นอย่างยิ่ง

ทีนี้ ลองถามความเห็นว่า คิดอย่างไรกับการกระทำของตำรวจ

คนในชุมชนนั้นจะยกมือท่วมหัวตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า สาธุ แผ่นดินจะได้สูงขึ้น

พ่อแม่ของวัยรุ่นคนนั้นจะตอบว่า ตำรวจเลวมากที่มาฆ่าลูกของฉัน

จะเห็นได้ว่า เป็นคำตอบที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ส่วนตัวโดยแท้ 

คนในชุมชนนั้นก็นึกถึงความสงบสุขของตน 

พ่อแม่ของวัยรุ่นก็นึกถึงแต่ว่า-ลูกของฉัน

เมื่อมองแต่ผลประโยชน์ของตน ก็ไม่ได้มองไปที่เจตนาของตำรวจที่เป็นตัวกำหนดให้มีการกระทำวิสามัญฆาตกรรม

แต่ถ้าลองไปถามคนที่อยู่ห่างออกไปร้อยกิโลเมตร ที่มิได้มีส่วนได้เสียกับชุมชนแห่งนั้น หรือไม่ได้กระทบกระเทือนอะไรกับพฤติกรรมของวัยรุ่นคนนั้น หรือไม่ได้เป็นญาติโกโหติเกกับวัยรุ่นคนนั้นและไม่ได้เป็นญาติโกโหติเกกับตำรวจด้วย เขาก็จะตอบว่า —

ต้องดูกันที่รายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้น วัยรุ่นคนนั้นไปทำอะไรมา เพราะอยู่ๆ ตำรวจจะไปเที่ยวยิงใครเอาตามใจชอบไม่ได้ ตำรวจก็คงมีเหตุผลในการกระทำครั้งนี้ ควรจะตรวจสอบข้อเท็จจริงกันก่อน

จะเห็นได้ว่า คราวนี้คำตอบจะพยายามเล็งไปที่ตัวเจตนาของผู้กระทำมากขึ้น เพราะผู้ตอบเป็นอิสระจากผลประโยชน์ส่วนตัว 

นั่นก็แปลว่า เราจะมองเห็นข้อเท็จจริงของเรื่องที่เกิดขึ้นได้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงได้มากกว่า และเราจะมีท่าทีที่จะปฏิบัติต่อผู้เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพราะไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาบดบังดวงตาปัญญา

ในที่สุดแล้ว … ถึงเราจะคิดจะอยากไปสักเท่าไรๆ ว่า ญาติของคนป่วยน่าจะคิดอย่างนั้นๆ น่าจะเข้าใจเจตนาของพลเมืองเมืองดีอย่างนี้ๆ แต่เราก็ไม่มีอำนาจอะไรที่จะไปบังคับให้ใครคิดอะไรตามใจอยากของเรา 

เพราะฉะนั้น ปัญหาก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป สร้างความลำบากใจให้แก่ผู้ที่ตั้งใจจะทำความดีอยู่ต่อไป 

และท่านก็อาจจะเป็นคนหนึ่งที่ต้องไปเจอกับปัญหาแบบนี้เข้าสักวันหนึ่ง ไม่ว่าจะในฐานะพลเมืองดี หรือในฐานะญาติของคนป่วยก็ตาม 

ถึงตอนนั้นแหละครับที่จะได้วัดใจกันละว่า ใครจะแน่กว่ากัน

ปัญหาทางจริยธรรมก็คือว่า เราจะปล่อยให้พลเมืองดีเผชิญชะตากรรมไปตามบุญตามกรรม และปล่อยให้ญาติคนป่วยปฏิบัติต่อพลเมืองดีโดยยึดผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้งต่อไปอย่างนี้ หรือว่าควรจะมีมาตรการอะไรสักอย่างออกมาช่วยแก้ปัญหา

ตรงนี้แหละครับที่ผมว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาระดับชาติ

และตรงนี้เองที่มีเรื่องจริงที่น่าจะนำมาเป็นแนวทางแห่งการพิจารณาได้บ้าง 

………………………….

เรื่องจริงนั้นก็คือ ทุกวันนี้ถ้ามีคนเจ็บป่วยและจะต้องรักษาโดยวิธีผ่าตัด ทางหมอหรือโรงพยาบาลจะต้องให้ญาติของผู้ป่วยเซ็นยินยอมเสียก่อน 

เรื่องเช่นนี้ผมไม่ทราบว่าเป็นระเบียบของทางราชการ หรือเป็นเพียงมาตรการส่วนตัวของหมอหรือของโรงพยาบาล 

แต่เป็นเรื่องที่น่าจะนำมาศึกษาเพื่อเป็นแนวเทียบหรือเป็นแนวทางได้

แน่นอน พลเมืองดีย่อมไม่มีเวลาที่จะไปล่าลายเซ็นของญาติคนป่วย และคงไม่มีเวลาที่จะไปเจรจาทำความตกลงกับญาติคนป่วยให้เรียบร้อยเสียก่อน ดังนั้น ทางที่จะทำได้ก็น่าจะเป็นการออกกฎหมายหรือกติกามารยาททางสังคมอะไรสักอย่างหนึ่งให้เป็นที่รู้แจ้งชัดเจนกันทั่วไปว่า —

ในกรณีที่มีคนเจ็บป่วยเกิดขึ้นเฉพาะหน้า แล้วมีพลเมืองดีพาไปส่งโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตามแก่คนป่วย ในกรณีเช่นว่านี้ญาติคนป่วย หรือหน่วยงานไหน หรือใครก็ตาม จะฟ้องร้อง เรียกร้อง หรือเอาความผิดใดๆ จากพลเมืองดีนั้นมิได้ ถ้าพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าพลเมืองดีนั้นกระทำไปด้วยเจตนาดี และมีความระมัดระวังอันสมควรแก่เหตุตามวิสัยที่วิญญูชนจะพึงกระทำ 

กฎหมาย หรือกฎกติกามารยาททำนองดังว่านี้ ผมเชื่อว่ายังไม่เคยมี และขณะนี้ก็ยังไม่มีอยู่ในสังคมไทย หรือสังคมประเทศไหนๆ ทั้งสิ้น

นอกจากจะไม่เอาความผิดแล้ว ถ้าจะให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นก็ควรจะกำหนดไว้ด้วยว่า ค่าใช้จ่าย หรือค่าเสียหายใดๆ ทั้งปวง อันพลเมืองดีได้จ่ายไปในการนำคนป่วยไปส่งโรงพยาบาลนั้น รัฐบาลจะเป็นผู้ออกให้ทั้งสิ้น รวมทั้งจะมีบำเหน็จรางวัลตอบแทนคุณงามความดีให้ตามสมควรอีกส่วนหนึ่งด้วย

รางวัลตอบแทนคุณงามความดี ก็อย่างเช่น ให้เป็นเงิน หรือให้มีสิทธิพิเศษบางประการ เช่น ลดค่าน้ำค่าไฟให้ตลอดชีวิต โดยสารรถยนต์รถไฟ รถไฟฟ้าฟรี ถ้ามีลูกก็ให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนตำรวจทหารได้โดยไม่ต้องสอบคัดเลือก หรือสอบโดยวิธีพิเศษ อย่างนี้เป็นต้น 

นี่เป็นการยกตัวอย่างเล่นๆ เท่านั้น ถ้าทำจริงก็จะต้องคิดกันให้ละเอียดรอบคอบกว่านี้

ถ้ามีกฎหมายลักษณะนี้เมื่อไร รับรองได้ว่า พลเมืองดีจะทำหน้าที่ได้อย่างมีความสุขที่สุด และจะมีพลเมืองดีเกิดขึ้นทุกตรอกซอกซอยของเมืองไทย 

นอกจากจะเป็นการสนับสนุนพลเมืองดีให้ทำหน้าที่ด้วยความสบายใจแล้ว กฎหมายลักษณะนี้ยังจะเป็นการสนับสนุนญาติของคนป่วยให้เข้าถึงสัจธรรมของชีวิตได้ง่ายขึ้นอีกทางหนึ่ง 

นั่นคือ แทนที่จะคิดถึงแต่ผลประโยชน์ของตัวด้านเดียว ก็จะได้รู้จักมองไปถึงเจตนาดีของคนอื่นกันบ้าง 

และถ้าญาติของตนตาย ก็จะเข้าใจเข้าถึงหลัก “กฎแห่งกรรม” ได้ลึกซึ้งขึ้น

ท่านคงจะเห็นว่า แนวคิดนี้ฟังดูออกจะเพ้อฝันไปหน่อย แต่ถ้าคิดถึงความจริงที่ว่า การผ่าตัดคนป่วยยังมีกติกาให้ญาติต้องเซ็นยินยอมก่อนได้ —

การออกกฎกติกาจูงใจคนให้ทำหน้าที่พลเมืองดีและป้องกันพลเมืองดีไม่ให้ต้องเดือดร้อนอันเนื่องมาจากทำหน้าที่นั้น ก็ย่อมจะมีทางเป็นไปได้ 

ท่านผู้มีประสบการณ์ทางสภา หรือการพิจารณาร่างกฎหมาย น่าจะให้คำตอบได้ว่า ถ้าจะให้มีกฎหมายแบบที่ว่านี้ออกมา จะต้องทำอย่างไร หรือจะทำได้แค่ไหน และใครควรจะเป็นคนนับหนึ่ง!?

อันที่จริง กติกาที่ให้ญาติต้องเซ็นยินยอมก่อนผ่าตัดคนป่วยนั้น ถ้าคิดดูให้ลึกๆ และลองมองอีกมุมหนึ่ง จะเห็นว่า เกิดจาก (๑) หมอไม่ไว้วางใจญาติคนป่วยว่าจะเอาผิดกับตนหรือไม่-ถ้าเกิดคนป่วยเป็นอะไรไป (๒) ข้างญาติคนป่วยก็ไม่ไว้วางใจหมอว่าจะรักษาญาติของตนให้ปลอดภัยได้หรือไม่ 

การที่ให้ญาติต้องเซ็นยินยอมก่อนผ่าตัดคนป่วยจึงเป็นการฟ้องอยู่ในตัวเองว่า เป็นกติกาที่เกิดขึ้นเพราะขาดความวางใจซึ่งกันและกัน และเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีคุณธรรมน้ำใจต่อกัน อันเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมไทย 

แต่กลายเป็นเหมือนสังคมฝรั่งที่ใช้หลักสัมพันธ์กันด้วยข้อบังคับของกฎหมาย มิใช่เพราะคุณธรรมสำนึก

………………………….

จิตใจไทยแต่เดิมนั้น คนป่วยรวมทั้งผู้คนทั้งบ้านจะมองหมอเหมือนพระมาโปรด 

หมอจะมองคนป่วยเหมือนสัตว์ผู้ยากที่จะต้องช่วยเหลือเพื่อเอาบุญเป็นที่ตั้ง 

แม้แต่ค่ายาค่ารักษา คำไทยแท้ๆ ก็เรียกว่า “ขวัญข้าว” เพราะเราถือว่าบุญคุณของหมอนั้นเป็นของสูง มิใช่จะตอบแทนกันได้ด้วยเงินทอง (เหตุผลทำนองเดียวกับที่เราไม่พูดว่า “ซื้อพระ” แต่เลี่ยงไปพูดว่า “เช่าพระ” นั่นแหละ) 

จิตใจไทยแบบนี้แหละเป็นที่มาของค่านิยมในหมู่เยาวชนที่พูดบอกผู้ใหญ่หรือบอกกันเองว่า โตขึ้นจะเรียนเป็นหมอ “จะได้ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์” 

(แต่ทุกวันนี้ค่านิยมนี้ก็เสื่อมลงไปแล้ว พร้อมกับมี “ค่านิยมทราม” ขึ้นมาแทนที่ คืออยากเรียนเป็นหมอ “เพราะรายได้ดี” ซึ่งฟังแล้วน่าสังเวชใจ ไม่น่าเชื่อว่างานที่คนสมัยก่อนเห็นว่าเป็นบุญกุศล แต่คนสมัยนี้กลับเอามาตีราคาเป็นเงินทองไปได้) 

แต่เมืองฝรั่งนั้น คนป่วยหรือญาติของคนป่วยอาจฟ้องร้องเป็นคดีความกับหมอ และหมอก็สามารถฟ้องร้องเป็นคดีความกับคนป่วยได้อย่างอุตลุด เพราะต่างฝ่ายต่างก็ยึดเอาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง โดยมีกฎหมายเป็นหลัก มิได้มีความสัมพันธ์ผูกพันกันด้วยคุณธรรมน้ำใจแต่ประการใดทั้งสิ้น

หากจะมีกฎหมายปกป้องพลเมืองดีดังความฝันที่ผมคิดให้ท่านฟังนั้น ก็น่าจะต้องคิดให้มากๆ หน่อย เพราะอาจกลายเป็นเครื่องมือทำร้ายหรือทำลายคุณธรรมคือความสุจริตจริงใจต่อกันให้หมดสิ้นไปจากจิตใจคนเร็วขึ้นก็เป็นได้

ฝรั่งเขายึดกันอยู่ด้วยหลักกฎหมายได้ เพราะระบบต่างๆ ของเขาค่อนข้างสมบูรณ์ลงตัวและเข็มแข็ง คนจึงไว้วางใจในระบบได้ค่อนข้างแน่นอน 

ตัวอย่างเช่น ถ้ามีเหตุฉุกเฉิน เช่นมีคนร้าย มีคนป่วย หรือไฟไหม้ ตำรวจ รถพยาบาล หรือรถดับเพลิง จะไปถึงที่เกิดเหตุภายในเวลาไม่เกิน ๑๐ นาที และจะเป็นที่เข้าใจตรงกันหมดว่า ในเหตุเช่นนั้นๆ ใครจะต้องรับผิดชอบส่วนไหน 

เพราะฉะนั้น ปัญหาที่จะต้องมานั่งสงสัยกันหรือเถียงกันว่า ถ้าตัดสินใจทำอย่างนั้นแล้วเกิดปัญหาอย่างโน้น ใครจะรับผิดชอบ อย่างที่พลเมืองดีในเมืองไทยมักจะเผชิญอยู่ จึงแทบไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้

แต่ในเมืองเรานี้ หลังจากเกิดเหตุ ก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่า ตำรวจ รถพยาบาล หรือรถดับเพลิง จะมาถึงภายในเวลากี่ชั่วโมง บางทีมาถึงแล้วยังลงมือทำอะไรไม่ได้ เพราะจะต้องมานั่งถาม หรือนั่งเถียง หรือนั่งเกี่ยงกันอีกว่า ใครจะรับผิดชอบอะไร ค่านั่นค่านี่ใครจะเป็นคนจ่าย

แต่สิ่งหนึ่งที่ฝรั่งไม่มี แต่คนไทยมี หรืออย่างน้อยก็เคยมี นั่นก็คือ –

น้ำใจ 

ไมตรี 

เจตนาดี 

เข้าใจกัน 

เห็นใจกันในยามยาก 

ซึ่งผมขอใช้คำเรียกรวมๆ ว่า “คุณธรรมน้ำใจ”

เพียงแต่มีคุณธรรมน้ำใจเท่านั้น ปัญหาข้อขัดแย้งทั้งปวงก็จะมลายหายสิ้น ไม่ต้องมานั่งคิดออกกฎหมายให้เหนื่อยใจ คนก็จะอยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่น ไม่ใช่อย่างอึดอัด 

แค่เข้าใจในเจตนาดีของกันและกันอย่างเดียว ก็จะรู้สึกเบาสบาย มองเห็นลู่ทางแก้ปัญหาอื่นๆ ได้โล่งตลอด และยิ้มให้กันได้อย่างมีความสุขท่ามกลางกองปัญหาต่างๆ นั่นเอง 

เพราะต่างก็จะรู้สึกว่า ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่นั้นมันไม่ใช่ปัญหา หากแต่ว่ามันคือเครื่องมือที่จะช่วยทำให้เราช่วยเหลือกัน ร่วมมือกัน และรักกันมั่นคงยิ่งขึ้นต่างหาก 

อย่างที่ผู้รู้ท่านบอกว่า – 

คนมีปัญญา สามารถแปรวิกฤตให้เป็นโอกาส 

แต่คนไม่ฉลาด แม้มีโอกาสก็กลับทำให้เกิดวิกฤต

………………………….

(จบ)

เขียนเมื่อ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๔

โพสต์ทางเฟซบุ๊ก ๑๗-๑๘ มีนาคม ๒๕๖๔

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *