บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๑)

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๒)

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๒)

————————————–

เพราะผมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า “ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง” และต้องการจะแสดงความเห็นโต้แย้ง ผมจึงยกเอาเหตุการณ์ที่ผู้ถืออุโบสถเป็นลมแล้วก็ไม่ได้พาไปส่งโรงพยาบาลขึ้นมาเป็นต้นเรื่อง

……………………..

ครั้นเมื่อวันพระที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๓ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย) ผู้ถืออุโบสถท่านหนึ่งได้พบผม ท่านก็ทักท้วง จะเรียกว่าตำหนิติติงก็คงได้ ว่า ผมเอาเรื่องนี้ไปพูดได้อย่างไร คือเอาเรื่องนี้ไปพูดทำไม

ผมเข้าใจเอาเองว่า เหตุผลที่ท่านติติงก็คงจะเป็นเพราะว่า ใครฟังเรื่องที่ผมยกขึ้นมาเล่า โดยเฉพาะประเด็นที่ไม่ได้พาคนป่วยไปส่งโรงพยาบาลนั้นแล้ว ก็จะต้องเห็นไปว่า พวกถืออุโบสถคณะนี้แล้งน้ำใจ จึงเป็นเรื่องเสียหายมาก

ผมฟังแล้วก็ออกจะตกใจ แล้วก็สลดใจในการกระทำของตัวเอง ที่ว่าสลดใจนั้นผมหมายความว่า ผมนี่ก็แปลก ทำ พูด คิดอะไรออกไปด้วยเจตนาอย่างหนึ่ง แต่มักจะถูกประทับตราตัดสินไปเสียอีกอย่างหนึ่ง แทบจะทุกทีไป 

แต่ผมก็ระลึกถึงพระบรมราโชวาทในชุด ๓๖ แผนที่ชีวิต ที่ผมเคยศึกษามา มีอยู่ข้อหนึ่ง (ข้อ ๒๔) ที่ว่า –

“เป็นหน้าที่ของเราที่จะพูดให้คนอื่นเข้าใจ ไม่ใช่หน้าที่ของคนอื่นที่จะทำความเข้าใจในสิ่งที่เราพูด” 

ระลึกแล้วก็ค่อยตั้งสติได้

เพราะผมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า “ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง” และผมต้องการจะแสดงความเห็นโต้แย้งแนวคิดนั้น ผมจึงยกเอาเหตุการณ์ที่ผู้ถืออุโบสถเป็นลมแล้วก็ไม่ได้พาไปส่งโรงพยาบาลขึ้นมาเป็นต้นเรื่อง ผมไม่ได้มีเจตนาที่จะตำหนิติติงคณะผู้ถืออุโบสถคณะนั้นหรือท่านผู้ใดใครผู้หนึ่งว่าแล้งน้ำใจแต่ประการใดเลย

ในการยกเรื่องนั้นมาเล่า ผมอุตส่าห์ย้ำแล้วว่า คนอื่นๆ มีแต่รถชนิดสองล้อซึ่งย่อมจะไม่สามารถพาคนป่วยไปได้สะดวกอย่างแน่นอน แต่ผมเป็นคนเดียวที่มีรถสี่ล้ออยู่ในเวลานั้นซึ่งสามารถจะใช้เป็นพาหนะนำคนป่วยไปส่งโรงพยาบาลได้สะดวก (คนอื่นๆ ก็มีรถสี่ล้อ แต่รถไม่ได้อยู่ในที่นั้นและในเวลานั้น) เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีใจเป็นธรรมและมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ ฟังเรื่องที่ผมยกขึ้นมาเล่าเป็นต้นเรื่องนั้นแล้ว ย่อมจะตำหนิติติงคณะผู้ถืออุโบสถคนไหนมิได้เลย 

คนที่ควรถูกตำหนิในเหตุการณ์นั้นหากจะมี ก็มีคนเดียวคือตัวผมเองนี่ต่างหาก ที่สามารถจะนำคนป่วยไปส่งโรงพยาบาลได้สะดวก แต่ไม่ทำ กลับใช้วิธีโทรเรียกญาติให้มาดูแลกัน ซึ่งผมมานึกขึ้นทีหลังว่าตัวเองทำไม่ถูก

และที่ผมนำเหตุการณ์นั้นไปเล่าให้ท่านผู้หนึ่งฟัง อันเป็นเหตุให้ท่านผู้นั้นแสดงแนวคิดออกมาว่า “ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง” นั้น ก็เพื่อจะตำหนิตนเองนั่นแล้ว แต่ผิดคาด กลายเป็นว่าการตัดสินใจทำอย่างนั้นมีผู้เห็นด้วยว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง 

อันที่จริงถ้าท่านผู้ที่ผมเล่าให้ฟังนั้นไม่ได้แสดงแนวคิดอย่างที่แสดงมาแล้ว (คือแนวคิดที่ว่าการไม่นำคนเป็นลมไปส่งโรงพยาบาลเป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้ว) หากแต่สมมุติว่าท่านก็พลอยตำหนิติเตียนผมไปด้วยเหมือนกับที่ผมตำหนิตัวเอง ผมก็จะไม่ได้ยินได้ฟังแนวคิดที่ว่า “ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง” นั้น 

นั่นก็แปลว่า ผมก็ไม่ต้องไปคัดค้านโต้แย้งความคิดของใคร เพราะก็จะไม่มีแนวคิดอะไรของใครที่ผมจะเห็นว่าวิปริต และถ้าเป็นเช่นว่านี้ผมก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องหยิบยกเหตุการณ์คนเป็นลมขึ้นมาเล่าให้มีคนเข้าใจเจตนาผิดอย่างที่ได้เป็นมาแล้วนั้น 

……………………..

สรุปให้สั้นที่สุดก็คือ ผมยกเรื่องคนถืออุโบสถเป็นลมขึ้นมาเล่าก็เพื่อจะคัดค้านแนวคิดเรื่อง “ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง” เพราะแนวคิดดังว่านี้เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นั้นที่ผมร่วมตัดสินใจอยู่ด้วยคนหนึ่ง ซึ่งมีคนเห็นว่าผมทำถูก แต่ผมเห็นว่าไม่ถูก การยกเรื่องนั้นขึ้นมาเล่าจึงไม่ได้มีเจตนาที่จะตำหนิติติงหรือชี้ชวนให้ใครมาตำหนิติติงการตัดสินใจของคนถืออุโบสถว่าเป็นการกระทำที่แล้งน้ำใจแต่ประการใดทั้งสิ้น ขออนุญาตกล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่ง

……………………..

(ยังมีต่อ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๗ มีนาคม ๒๕๖๔

๑๙:๔๘

………………………….

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๑)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………….

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๓)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *