บาลีวันละคำ

ทินกร (บาลีวันละคำ 4,018)

ทินกร

ผู้ทำงานกลางวัน

อ่านว่า ทิน-นะ-กอน

แยกศัพท์เป็น ทิน + กร

(๑) “ทิน” 

บาลีอ่านว่า ทิ-นะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ทา (ธาตุ = ให้) + อิน ปัจจัย, ลบ อา ที่ ทา (ทา > )

: ทา > + อิน = ทิน แปลตามศัพท์ว่า “ช่วงเวลาที่ให้ความพยายามและความยืนหยัด” ความหมายนี้หมายถึง “กลางวัน” อันเป็นช่วงเวลาที่คนทั้งหลายลุกขึ้นมาทำการงาน

(2) ทิวุ (ธาตุ = รื่นเริง, สนุกสนาน) + (อะ) ปัจจัย, แปลง วุ ที่ ทิวุ เป็น นฺ (ทิวุ > ทิน)

: ทิวุ > ทิน + = ทิน แปลตามศัพท์ว่า “ช่วงเวลาเป็นที่รื่นเริง” ความหมายนี้ก็หมายถึง “กลางวัน” อันเป็นช่วงเวลาที่มีแสงสว่าง พ้นจากเวลาที่มืดมิด ทำให้เกิดอาการกระปรี้กระเปร่า

(3) ที (ธาตุ = สิ้นไป) + อิน ปัจจัย, ลบ อี ที่ ที (ที > )

: ที > + อิน = ทิน แปลตามศัพท์ว่า “ช่วงเวลาเป็นเหตุสิ้นไปแห่งอายุ” ความหมายนี้หมายถึงทั้งกลางวันและกลางคืน คือที่เรียกรวมว่า “วัน” เมื่อวันล่วงไปๆ อายุ คือช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ ก็หมดไป

สรุปว่า “ทิน” หมายถึง วัน, กลางวัน (day)

(๒) “กร” 

บาลีอ่านว่า กะ-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + (อะ) ปัจจัย 

: กรฺ + = กร แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “การทำ” หมายถึง ผลิต, ก่อ, ประกอบ, กระทำ (producing, causing, forming, making, doing)

(2) “ผู้ทำ” หมายถึง ผู้กระทำ (the maker)

(3)“อวัยวะเป็นเครื่องทำงาน” หมายถึง มือ (the hand)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “กร” ไว้ว่า –

(1) กร ๑ : (คำนาม) ผู้ทํา, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น กรรมกร เกษตรกร. (ป.).

(2) กร ๒ : (คำนาม) มือ (มักใช้ในบทประพันธ์); แขน เช่น เจ้างามกรอ่อนดังงวงเอราวัณ. (กลบท); (ราชา) มือ, แขน, ปลายแขน, ใช้ว่า พระกร หรือ กร. (ป., ส.).

(3) กร ๓ : (คำนาม) แสง, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น รัชนีกร นิศากร. (ป.).

ในที่นี้ “กร” มีความหมายตามข้อ (1) 

ทิน + กร = ทินกร แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ทำให้มีกลางวัน” (2) “ผู้ทำดอกบัวให้บาน” หมายถึง ดวงอาทิตย์ (the sun)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทินกร : (คำนาม) พระอาทิตย์. (ป., ส.).”

ขยายความ :

คำบาลีที่หมายถึง ดวงอาทิตย์ มีอีกหลายคำ ตามคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา ท่านว่ามี 19 คำ ดังนี้ –

…………..

อาทิจฺโจ สูริโย สูโร

สตรํสิ ทิวากโร

เวโรจโน ทินกโร

อุณฺหรํสิ ปภงฺกโร.

อํสมาลี ทินปติ

ตปโน รวิ ภานุมา

รํสิมา ภากโร ภานุ

อกฺโก สหสฺสรํสิ จ.

ที่มา: อภิธานัปปทีปิกา คาถาที่ 62-63

…………..

แต่ละคำมีความหมายดังนี้ –

(1) อาทิจฺโจ = ดวงไฟที่รุ่งเรืองยิ่งนัก (ไทยใช้ อาทิตย์)

(2) สูริโย = ดวงไฟที่ยังความกล้าให้เกิด, ดวงไฟที่เบียดเบียน

(3) สูโร = ดวงไฟที่ยังความกล้าให้เกิด …(แปลเหมือน สุริย)

(4) สตรํสิ = มีรัศมีเป็นร้อย

(5) ทิวากโร= ผู้ทำให้มีกลางวัน, ผู้มีรัศมีในเวลากลางวัน

(6) เวโรจโน = ดวงไฟที่สว่างเจิดจ้า (ไทยใช้ ไพโรจน์)

(7) ทินกร = ผู้ทำให้มีกลางวัน, ผู้ทำดอกบัวให้บาน

(8 ) อุณฺหรํสิ = ผู้มีรัศมีร้อนแรง

(9) ปภงฺกโร = ผู้ทำแสงสว่าง

(10) อํสมาลี ดวงไฟที่มีระเบียบแห่งแสง

(11) ทินปติ = เจ้าแห่งกลางวัน

(12) ตปโน = ผู้แผดเผา

(13) รวิ = ดวงไฟเป็นเหตุให้ส่งเสียงร้องเพราะถูกแผดเผา (ไทยใช้ รวี, รพี)

(14) ภานุมา = ดวงไฟที่มีแสงสว่าง, ผู้มีแสงสว่าง (ไทยใช้ ภาณุมาศ)

(15) รํสิมา = ดวงไฟที่มีรัศมี

(16) ภากโร = ผู้ทำแสงสว่าง, ผู้เป็นต้นกำเนิดแห่งแสงสว่าง

(17) ภานุ = ผู้สว่าง

(18) อกฺโก = ดวงไฟที่แม้เทวดาก็ยังบูชา

(19) สหสฺสรํสิ = มีรัศมีเป็นพัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ใหญ่ถูกเวลา

: ใหญ่ได้ตลอดเวลา

#บาลีวันละคำ (4,018)

13-6-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *