บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๑)

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๓)

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๓)

————————————–

หลักคำสอนที่สำคัญมากๆ ในพระพุทธศาสนาของเราก็คือเรื่อง กรรม พระพุทธองค์ตรัสว่าพระองค์เป็น “กรรมวาที” คือ ผู้ประกาศหลักกรรม หรือผู้ถือหลักกรรม เช่นยืนยัน — 

(๑) ว่ากรรมคือการกระทำมีจริง และมีผลจริง 

(๒) ว่าแต่ละคนมีกรรมเป็นของตนและเป็นไปตามกรรมนั้น 

(๓) ว่าการกระทำเป็นเครื่องตัดสินความดีเลวสูงทราม (มิใช่ชาติกำเนิดตัดสิน) 

(๔) ว่าการกระทำเป็นเหตุปัจจัยให้สำเร็จผล (มิใช่สำเร็จด้วยการอ้อนวอนดลบันดาล หรือแล้วแต่โชค) เป็นต้น 

และองค์ธรรมที่เป็นเครื่องตัดสินว่าอย่างไรแค่ไหนจึงจะเป็นกรรม ก็คือ เจตนา ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า 

“เจตนาหํ  ภิกฺขเว  กมฺมํ  วทามิ 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นตัวกรรม

ใครที่พูดคำว่า นโม  ตสฺส  ภควโต  อรหโต  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ได้ ก็สมควรแท้ที่จะจำพระพุทธพจน์บทนี้ไว้ให้ได้ด้วยอีกสักบทหนึ่ง เพราะเป็นหลักที่สำคัญที่สุดในการตัดสินการกระทำของคน

……………………..

ในทางกฎหมายมีคำกล่าวว่า “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา” แต่พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า เจตนาเป็นเครื่องกำหนดกรรม

เดินไปเหยียบมดตาย 

ปิดหน้าต่างแล้วบานหน้าต่างไปหนีบจิ้งจกตาย 

เป็นกรรมหรือไม่ บาปหรือไม่?

การกระทำเหมือนกันทุกอย่าง ผลที่เกิดจากการกระทำนั้นก็เท่ากันทุกอย่าง แต่การกระทำที่มีเจตนาคือจงใจทำ เป็นกรรม ส่วนที่ไม่จงใจทำ ไม่เป็นกรรม

ท่านเชื่อหรือไม่ว่า ทั้งๆ ที่เจตนาเป็นเรื่องสำคัญมากถึงเพียงนี้ แต่คนส่วนมาก หรือแทบจะพูดได้ว่าทั้งหมด เวลาที่จะตัดสินว่าใครถูกใครผิด เขามองกันแค่การกระทำเท่านั้น หาได้มองให้ลึกลงไปถึงตัวเจตนาที่อยู่เบื้องหลังการกระทำนั้นไม่ 

เป็นเรื่องที่น่าแปลกประหลาดมาก และก็น่าตกใจมากด้วย

……………………..

นอกจากมองข้ามเจตนาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่คนส่วนมากมักจะมองข้ามก็คือ การตรวจสอบหาข้อเท็จจริงที่ถูกต้องถ่องแท้ในการกระทำนั้น ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในกระบวนการตัดสินใจของคนเรา 

กระบวนการตัดสินใจของคนเรามีอยู่ ๓ ขั้นตอน คือ –

๑ รับข้อมูล คือมีเหตุการณ์ มีการกระทำ หรือมีตัวบุคคลเกิดขึ้น เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรา ที่จะต้องให้เราทำพูดคิดตัดสินใจ

๒ ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงที่ถูกต้องถ่องแท้  และ

๓ ตกลงใจหรือตัดสินใจว่าจะทำหรือจะไม่ทำอะไรอย่างไร

คนส่วนมากมักจะไม่ดำเนินการให้ครบตามขั้นตอน คือ ๑ ๒ ๓ แต่มักจะเริ่มจาก ๑ แล้วก็ข้ามไป ๓ เลย จึงมักจะปรากฏผลที่ผิดพลาดเสียหายตามมา เช่น เสียทรัพย์ เสียตัว เสียเพื่อน เสียโอกาสที่จะได้ทำความดี จนถึงเสียบ้านเสียเมือง หรือเสียชีวิตไปเลยก็เคยมีมาแล้ว

นอกจากไม่ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงที่ถูกต้องถ่องแท้แล้ว ทุกวันนี้เรายังยินยอมพร้อมใจให้สื่อต่างๆ เข้ามาครอบงำความคิดได้อย่างง่ายดาย 

เพียงหนังสือพิมพ์ลงข่าวพระสงฆ์ประพฤติไม่ดี ก็จะมีคนประกาศว่า ต่อไปนี้กูจะไม่ใส่บาตรให้แม่งแดก 

พระสงฆ์ที่ประพฤติไม่ดีนั้นอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ จริงหรือเท็จแค่ไหนก็ไม่ได้ตรวจสอบ ไม่เคยเห็นด้วยซ้ำไป 

แต่พระสงฆ์ที่อุ้มบาตรยืนอยู่ตรงหน้าเราตอนนี้ต้องพลอยอดไปด้วย เราเองก็ทิ้งโอกาสที่จะทำความดีไปง่ายๆ 

นี่เราฉลาดหรือเขลากันแน่?

และถ้าเราฉลาดอีกสักนิดก็จะทราบว่า เรื่องแบบนี้-คือเรื่อทำบุญให้ทาน ผู้รู้ท่านชี้ทางให้เรามานานนักหนาแล้วว่า ให้ทานแก่สัตว์เดรัจฉาน ได้บุญร้อยเท่า ให้ทานแก่คนชั่ว ได้บุญพันเท่า ให้ท่านแก่คนปกติธรรมดา ได้บุญแสนเท่า 

ก็แล้วพระสงฆ์ที่ยืนอยู่ตรงหน้าเราขณะนี้ท่านสูงกว่าสัตว์เดรัจฉานไม่รู้ว่ากี่เท่า ทำไมเราจึงไม่ใส่บาตร? 

เพราะเราคิดเพลินไปว่า พระสงฆ์ที่ตกเป็นข่าวกับพระสงฆ์ที่ยืนอยู่ตรงหน้าเรานี้เป็นพระสงฆ์รูปเดียวกัน หรือพวกเดียวกัน ก็คือเราถูกครอบงำถูกชี้นำด้วยข้อมูลที่ปราศจากการตรวจสอบ ปราศจากการพินิจให้รอบคอบของเราเอง ใช่หรือไม่

เมื่อตอนที่เมืองไทยเกิดเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า พฤษภาทมิฬ มีการปลุกกระแสให้เกลียดชังทหารทั่วไปหมด เพื่อนผมคนหนึ่งซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมก่อเหตุอะไรกับใครด้วยเลย วันหนึ่งเขาแต่งเครื่องแบบทหารขึ้นรถเมล์ไปทำงานตามปกติ เขาถูกด่ายับเยินบนรถเมล์ โดยคนด่าก็ไม่เคยเห็นหน้า ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน 

ช่วงนั้นผู้บังคับบัญชาทหารต้องแนะนำไม่ให้ทหารแต่งเครื่องแบบไปทำงาน

มาถึงวันนี้ คนที่ด่าทหารในตอนนั้นจะรู้สึกเสียใจบ้างหรือไม่ว่า นี่เราทำอะไรลงไป

แม้แต่ในกระบวนการยุติธรรมซึ่งถือว่าการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงที่ถูกต้องถ่องแท้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด และทำกันอย่างละเอียดถี่ถ้วนที่สุดแท้ๆ ก็ยังไม่วายที่จะผิดพลาด ดังมีเรื่องว่า ศาลได้ตัดสินประหารชีวิตจำเลยคนหนึ่ง ต่อมาอีกประมาณเกือบร้อยปี จึงได้ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนว่า จำเลยคนนั้นมิได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา

ถ้าผู้พิพากษา ลูกขุน ทนาย และใครอีกก็ตามในคดีนั้นที่มีส่วนทำให้จำเลยคนนั้นถูกประหารชีวิต ยังมีชีวิตอยู่และได้ทราบความจริงนี้ คนเหล่านั้นจะรู้สึกอย่างไรกันบ้าง?

เพราะฉะนั้น ในวงการยุติธรรมจึงมีปรัชญาอยู่ว่า ปล่อยคนผิดไปสิบคน ดีกว่าลงโทษคนบริสุทธิ์เพียงคนเดียว

เรื่อง “มองเห็นแต่ตาอย่าเพิ่งเชื่อ” ทำนองนี้ ผู้รู้ท่านเตือนสติกันไว้นัก และเตือนมานานนักหนาแล้ว ในกาลามสูตรพระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนไว้ชัดๆ ว่า “อย่าเพิ่งด่วนเชื่อตามอาการ” คือตามหลักฐานที่มองเห็น และ “อย่าเพิ่งด่วนเชื่อเพราะเห็นว่าลักษณะท่าทางหรือพฤติกรรมน่าเชื่อ” จนกว่าจะได้ตรวจสอบจนได้ประจักษ์ความจริงที่ถูกต้องถ่องแท้เสียก่อน

ผมเคยยกตัวอย่างเล่นๆ ว่า เราเห็นหนุ่มสาวคู่หนึ่งเดินออกมาจากโรงแรมในตอนสายของวันหนึ่งด้วยท่าทางอ่อนระโหยทั้งคู่ จากภาพที่ตาเราเห็น เราก็เลยตัดสินว่า เมื่อคืนที่ผ่านมาทั้งสองคนร่วมรักสนุกกันจนสว่าง เลยหมดแรงทั้งคู่

แต่ความจริงก็คือ หนุ่มสาวทั้งสองนั้นเป็นพี่น้องกัน ที่เห็นท่าทางอ่อนระโหยนั้นเพราะถ่ายท้องหลายครั้งเนื่องจากรับประทานอาหารเป็นพิษเข้าไป 

นี่คือความจริงที่เราไม่รู้ เพราะเราได้แต่เห็นท่าทางภายนอก แต่ไม่ได้ตรวจสอบ หรือไม่มีโอกาสตรวจสอบ หรือไม่มีความประสงค์ที่จะต้องตรวจสอบให้ถ่องแท้ไปถึงภายใน

แม้แต่คำพูดสมัยใหม่ก็ยังมีว่า “สิ่งที่ท่านเห็น อาจไม่ได้เป็นอย่างที่ท่านคิด” 

แต่ก็น่าประหลาดอัศจรรย์อย่างที่สุดที่เรามักจะลืมคำเตือนเหล่านี้กันง่ายๆ

ที่ผมพูดมาทั้งหมดในตอนนี้ก็สืบเนื่องมาจากได้อ้างหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ว่า เจตนาเป็นตัวกรรม แต่คนส่วนมากมักจะมองข้ามเจตนา จึงทำให้ตัดสินใจผิดพลาดกันอยู่บ่อยๆ

……………………..

(ยังมีต่อ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๗ มีนาคม ๒๕๖๔

๒๒:๑๘

………………………….

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๒)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………….

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๔)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *