รอบรู้กับธรรมธารา

วันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 24 ก.ค.64 ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 8 ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา หรือ เทศน์กัณฑ์แรก ชื่อว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดพระปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมือง พาราณสี หลังทรงตรัสรู้ได้ 2 เดือน 

ผลของพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้ เป็นเหตุให้ พระอัญญา โกณฑัญญะ ได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบัน จึงขอบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุองค์แรกของ พระพุทธศาสนา และทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ 

คำว่า “อาสาฬหบูชา” นั้นประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ อาสาฬห ที่แปลว่า เดือน 8 ทางจันทรคติ กับคำว่า บูชา ที่แปลว่า การบูชา เมื่อนำมารวมกันจึงแปลว่า การบูชาในเดือน 8 หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน 8

ข้อมูลจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อธิบายใจความสำคัญของปฐมเทศนา ที่มีหลักธรรมสำคัญอยู่ 2 ประการ ได้แก่

1.มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง

คือการปฏิบัติที่เป็นกลางและถูกต้องเหมาะสม ไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป โดยพระพุทธเจ้าทรงยกตัวอย่างการดำเนินชีวิตที่สุด 2 ด้านได้แก่

– การประกอบตนให้ลำบากด้วยการทรมานกาย เช่น บำเพ็ญตบะการทรมานตน หรือการดำเนินชีวิตแบบก่อความทุกข์ให้ตนเอง เหนื่อยแรงกาย แรงสมอง แรงความคิด

– การไม่ประกอบตนให้เพลิดเพลินในกามสุข มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง

เพื่อละเว้นการดำเนินชีวิตที่สุดโต่งเหล่านี้ จึงต้องใช้หลักทางสายกลางในการดำเนินชีวิต ซึ่งมีหลักปฏิบัติ 8 ประการ ที่เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ 8 ได้แก่

1. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ

2. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ

3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ

4. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ

5. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ

6. สัมมาวายามะ เพียรชอบ

7. สัมมาสติ ระลึกชอบ

8. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ

2.อริยสัจ 4 หรือความจริงอันประเสริฐของอริยะ ซึ่งเป็นบุคคลที่ห่างไกลกิเลสได้แก่

1. ทุกข์ หรือความไม่สบายกายไม่สบายใจ

2. สมุทัย หรือเหตุให้เกิดทุกข์

3. นิโรธ หรือความดับทุกข์

4. มรรค หรือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

การถือปฏิบัติวันอาสาฬหบูชาในไทย

พิธีวันอาสาฬหบูชา เริ่มกำหนดเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2501 โดยพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) ครั้งดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษาได้เสนอคณะสังฆมนตรี ให้เพิ่มวันศาสนพิธีทำพุทธบูชาขึ้น อีกวันหนึ่ง คือ วันธรรมจักร หรือวันอาสาฬหบูชา ด้วยเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตนสูตร คณะสังฆมนตรีลงมติรับหลักการให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาและให้ถือเป็นหลักปฏิบัติในเวลาต่อมา โดยออกเป็นประกาศคณะสงฆ์ เรื่อง กำหนดวันสำคัญทางศาสนา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2501 และในวันเดียวกันนั้นได้มีประกาศสำนักสังฆนายก กำหนดระเบียบปฏิบัติในพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นไว้ให้วัดทุกวัดถือปฏิบัติทั่วกัน

กิจกรรมในวันอาสาฬหบูชาแบ่งเป็นกิจกรรมของพระภิกษุสงฆ์และพุทธศาสนิกชน โดยพระภิกษุสงฆ์เตรียมจัดกิจกรรมที่วัด รวมถึงแสดงพระธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตามที่พระพุทธเจ้าเคยแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ส่วนกิจกรรมของชาวพุทธ มีทั้ง ทำบุญตักบาตรในช่วงเช้า, การไปวัดรับศีล งดทำบาป, การถวายสังฆทานหรือให้ทาน, การฟังธรรมเทศนา และการเวียนเทียนรอบอุโบสถในช่วงเย็น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *