บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๑)

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๔)

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๔)

————————————–

คนที่ตั้งใจทำดี แต่มาถูกกระทบเพราะคนมองข้ามเจตนาหรือไม่เข้าใจเจตนา ถ้าจิตใจไม่หนักแน่นพอ อาจจะประกาศออกมาว่า “ต่อไปนี้กูจะเลิกทำความดี” ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าเสียใจและน่าเสียดายมาก

กลับมาเข้าเรื่องปัญหาที่ตั้งประเด็นไว้ข้างต้น ว่าท่านไปพบเหตุการณ์เช่นนั้นเข้า – เหตุการณ์ที่มีใครทำอะไรหรือคิดอะไรออกมา แล้วท่านรู้สึกว่ามันไม่ถูก – ท่านจะคิดอย่างไร ท่านจะทำอย่างไร

ผมเห็นว่า เรื่องที่กำลังพูดอยู่นี้ถ้าตัดตัวบุคคลออกไป น่าจะปลอดภัยดีกว่า คือ ไม่ต้องไปให้ความสำคัญว่า ใครทำ หรือใครคิด แต่ขอให้สนใจแต่เพียงว่า ทำอะไร และคิดอะไรเท่านั้น แล้วก็ให้ความสำคัญที่ตัวเจตนาให้มาก ส่วนผู้ทำจะเป็นใคร หรือผู้คิดจะเป็นใครก็ช่าง เราจะได้ไม่ไปปะทะหรือไปขัดแย้งกับตัวบุคคล 

อย่างท่านที่เป็นเจ้าของแนวคิดที่ว่า “ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง” ก็ขอเรียนว่า ผมไม่ได้มีความประสงค์ที่จะทะเลาะกับตัวตนของคนคิด แต่ผมตั้งใจที่จะโต้แย้งกับแนวคิดแบบนั้นเท่านั้น ผมไม่สนใจด้วยว่าใครเป็นผู้คิด ต้องบอกไว้อย่างนี้ก่อน ประเดี๋ยวท่านจะมาตั้งตัวเป็นคู่ขัดแย้งกับผมเข้าอีกคนหนึ่ง

ผมเห็นว่าแนวคิดที่ว่า “ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง” เป็นแนวคิดที่วิปริต ผมเชื่อว่าแม้คนที่คิดแบบนี้นั่นเองก็จะต้องไม่เห็นด้วย หรืออย่างน้อยก็จะต้องไม่ชอบเป็นแน่-ถ้าญาติของท่านถูกปฏิบัติด้วยแนวคิดนี้

ผมจะสมมุติเหตุการณ์ให้คนที่คิดแบบนี้ตอบ ลองฟังดู

สมมุติว่าญาติของท่านประสบอุบัติเหตุ หรือไปเป็นลมเข้าที่ไหนสักแห่งหนึ่ง แล้วมีผู้โทรศัพท์แจ้งให้ท่านทราบ

แบบที่หนึ่ง 

ผู้แจ้งบอกท่านว่า ญาติของท่าน (พ่อท่าน แม่ท่าน ผัวท่าน เมียท่าน ลูกท่าน หลานท่าน ฯลฯ) ประสบอุบัติเหตุ หรือเป็นลมอยู่ที่โน่นที่นั่น เวลานี้เขาได้นำส่งโรงพยาบาลแล้ว ถึงมือหมอเรียบร้อยแล้ว หมอกำลังดูแลอยู่ ขอให้ท่านไปที่โรงพยาบาลนั้นๆ ได้เลย สวัสดี

แบบที่สอง 

ผู้แจ้งบอกท่านว่า ญาติของท่านประสบอุบัติเหตุ หรือเป็นลมอยู่ที่โน่นที่นั่น เวลานี้กำลังชักตาตั้ง หรือกำลังผะงาบๆ อยู่ข้างถนน ผู้แจ้งบอกด้วยว่าเขาถือหลักตามแนวคิดที่ว่า “ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง” เพราะฉะนั้นขอให้ท่านรีบไปรับผิดชอบกันเองเถิด สวัสดี

ถามว่า เหตุการณ์ตามแบบไหนที่ท่านต้องการ?

……………………..

ผมอยากจะเอาใจช่วย หรือมองในแง่ดีเหมือนกันว่า แนวคิดที่ว่า “ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง” นั้น ก็คงไม่ได้ตั้งใจจะให้มีการปฏิบัติแบบเถรตรงกันถึงขนาดนั้น 

เพียงแต่หมายถึงว่า เรื่องใหญ่ๆ หรือเรื่องหลักๆ เช่นเจ็บป่วยแล้วจะรักษากันอย่างไร จะเอาไปโรงพยาบาลไหน จะให้หมอคนไหนเป็นเจ้าของไข้ ค่าหมอค่ายาจะว่ากันอย่างไร นี่เป็นเรื่องที่ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง จะให้ชาวบ้านเขามารับภาระแทนนั้นไม่ได้ 

หมายความเพียงแค่นี้ 

แต่ส่วนเหตุการณ์เฉพาะหน้าก็ต้องจัดการกันไปตามควรแก่กรณี ไม่ถึงกับห้ามไม่ให้ดูดำดูดีกันเสียเลย

อันที่จริงการรับผิดชอบในเรื่องหลักๆ ดังที่ว่านั้นมันก็เป็นสามัญสำนึกของคนทั่วไปอยู่แล้ว ญาติของเราป่วย จะไปบอกให้ชาวบ้านมาช่วยออกค่าหมอค่ายาให้ได้อย่างไร 

แนวคิดหรือทฤษฎีที่ว่า “ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง” นั้นจึงต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมที่แน่นอนชัดเจนว่าจะให้ทำแค่ไหนอย่างไรกันแน่

อย่างไรก็ตาม ในคำทักท้วงของผู้ถืออุโบสถท่านนั้น มีอยู่ประโยคหนึ่งที่ท่านกล่าวว่า — 

ลองคิดดูซิว่า ถ้าตัดสินใจพาคนป่วยไปส่งโรงพยาบาล แล้วถ้าเกิดคนป่วยเป็นอะไรขึ้นมา ใครจะรับผิดชอบ?

คำพูดนี้กลับเป็นประเด็นใหญ่มากทันทีในความคิดของผม ผมว่าใหญ่ระดับชาติ หรือระดับโลกเลยก็ว่าได้ – ใครจะรับผิดชอบ?

ที่ผมตั้งชื่อเรื่องนี้ไว้ว่า “ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม” ก็มีสาเหตุมาจากคำพูดหรือคำถามประโยคนี้แหละครับ

แนวคิดทฤษฎีที่ว่า “ญาติพี่น้องของใครก็ต้องรับผิดชอบกันเอง” นั้น ดูเหมือนว่าจะเป็นห่วงเฉพาะเรื่องการเสียเวลา ความยุ่งยากที่จะต้องวิ่งเต้นติดต่อในเรื่องต่างๆ ที่ภาษาทางทหารใช้คำว่า “ปัญหาทางธุรการ” 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องความสิ้นเปลือง และค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเรียกเป็นคำรวมๆ ว่า ความรับผิดชอบในแง่เศรษฐกิจ 

แต่ผู้เป็นต้นคิดทฤษฎีนั้นน่าจะยังไม่ได้คิดถึงปัญหาใหญ่มากๆ อีกเรื่องหนึ่ง คือความรับผิดชอบในทางจริยธรรม 

ใครจะกล้าตอบบ้างครับว่า เมื่อเราไปประสบพบเห็นคนป่วย หรือคนเกิดอุบัติเหตุอะไรก็ตาม ถ้าตัดสินใจนำคนป่วยไปส่งโรงพยาบาล แล้วเกิดคนป่วยนั้นเป็นอะไรขึ้นมา ใครจะรับผิดชอบ?

ก็เพราะไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้นั่นเองใช่หรือไม่ จึงส่งผลให้คนส่วนมากมีพฤติกรรม หรือตัดสินใจปฏิบัติต่อเหตุการณ์แบบนั้นไปในทำนองเดียวกัน คือ – อย่าเข้าไปยุ่งด้วย เดี๋ยวเดือดร้อน

ความเดือดร้อนตามความหมายนี้ ก็มีตั้งแต่เสียเวลา แค่เสียเวลายังไม่เท่าไร แต่ถ้าจะต้องเสียเงิน อย่างน้อยๆ ก็ค่ารถ ค่าน้ำมัน เผลอๆ อาจจะต้องเสียค่าหมอค่ายา หรือค่าอะไรต่อมิอะไรอีกเยอะแยะที่คาดไม่ถึง จะว่าอย่างไร – ใครจะรับผิดชอบ? 

แล้วที่สำคัญที่สุด ถ้าคนป่วยเกิดตายขึ้นมาระหว่างนั้นด้วยละก็ เป็นเรื่องใหญ่เลย 

เพราะฉะนั้น อย่าเข้าไปยุ่งด้วยดีกว่า จะได้ไม่ต้องเดือดร้อน 

และเพื่อจะป้องกันตัวเองต่อไปอีกไม่ให้ใครตำหนิได้ว่าแล้งน้ำใจ เราก็มักจะอ้างเหตุผลหรือความขัดข้องสารพัด เช่น – 

ไม่มีรถ 

ขับรถไม่เป็น 

รถเสีย 

กำลังปวดท้อง 

พอดีจะรีบไปธุระด่วน 

ฯลฯ

หรือไม่ก็อ้างว่าเห็นคนนั้นคนโน้นเขาช่วยทำอยู่แล้ว หรือเห็นว่าไม่เป็นอะไรร้ายแรง ก็เลยไม่ได้ช่วย – อะไรทำนองนี้ 

เหตุผลเหล่านี้อาจมีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่เหตุผลที่จริงที่สุดก็หนีไม่พ้นความจริงที่ว่า คือ ไม่อยากเดือดร้อน นั่นเอง

……………………..

(ยังมีต่อ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๘ มีนาคม ๒๕๖๔

๑๐:๐๘

………………………….

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๓)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………….

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๕)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *