บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๑)

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๖)

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๖)

————————————–

ผมคิดว่าคนที่จะต้องตอบคำถามข้อนี้ก็มีอยู่ ๒ พวก คือ คนที่ประสบเหตุหรืออยู่ในเหตุการณ์พวกหนึ่ง และคนที่เป็นญาติพี่น้องอีกพวกหนึ่ง

ถ้าท่านเป็นคนที่ประสบเหตุ ทางเลือกของท่านมีอยู่เพียงแค่ว่า ระหว่างข้อหา “เสือกไม่เข้าเรื่อง” กับข้อหา “แล้งน้ำใจ” ท่านพอใจที่จะเสี่ยงเลือกรับข้อหาไหนมากกว่ากัน

ถ้าท่านไม่กลัวข้อหา “เสือกไม่เข้าเรื่อง” รวมทั้งผลพ่วงต่างๆ ที่อาจจะตามมาทำให้ท่านเดือดร้อนอีกมากมาย ต่อไปนี้ถ้าเจอใครเป็นลมหรือประสบอุบัติเหตุ ท่านก็รีบพาไปส่งโรงพยาบาลได้เลย เรียกว่าไปตายเอาดาบหน้า 

ที่ว่า “ไปตายเอาดาบหน้า” นั้น ไม่ใช่เฉพาะคนป่วยเท่านั้น แต่หมายถึงตัวท่านเองด้วย ที่อาจจะต้องโดนข้อหาเสือกไม่เข้าเรื่อง และท่านอาจจะเดือดร้อนแทบตายหรืออาจจะตายเอาจริงๆ เลยก็ได้

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็คือ คนส่วนมากไม่สมัครใจจะเลือกวิธีนี้ แต่มักจะเลือกเสี่ยงกับข้อหา “แล้งน้ำใจ” ดีกว่า 

ข้อหานี้อาจจะทำให้ไม่สบายใจไปพักหนึ่ง แต่ก็ไม่ทำให้เดือดร้อนมากมายอะไร ซ้ำยังมีทางแก้ตัวให้ตัวเองอีกตั้งหลายทาง 

โดยเฉพาะคำสอนในพระพุทธศาสนานั่นเองก็มีอยู่ว่า สัตว์โลกต่างมีกรรมเป็นของของตน การที่คนป่วยต้องนอนตายอยู่ตรงนั้นก็เป็นกรรมของเขาเอง ไม่ใช่ความผิดของเราที่ไม่ได้ช่วยพาเขาไปส่งโรงพยาบาล

………………………….

พูดมาถึงตรงนี้ผมก็นึกถึงคนที่เราเรียกกันว่า “พลเมืองดี” คือคนที่ปรากฏในข่าวอาชญากรรมหรือข่าวอุบัติเหตุที่สื่อมวลชนมักจะรายงานว่า “มีพลเมืองดีผ่านมาประสบเหตุและได้นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

เราเรียกคนประเภทนี้ว่า “พลเมืองดี” แต่หาได้เฉลียวใจไม่ว่าเขาอาจจะกลายเป็น “พลเมืองร้าย” ในสายตาของญาติผู้ป่วยไปในทันทีเมื่อไรก็ได้ทุกโอกาส 

แต่ทั้งๆ ที่รู้อยู่เช่นนั้นเขาก็ยังกล้าเสี่ยง จึงเป็นคนที่น่าสรรเสริญ และเป็นคนที่บุคคลทั่วไปอาจจะพิศวงสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่า คนอย่างนี้มีจริงๆ หรือ

คราวนี้ก็มาถึงตาของคนที่เป็นญาติพี่น้องจะต้องตอบปัญหาบ้าง

ถ้าญาติของท่านตายลงในระหว่างทางที่มี “พลเมืองดี” นำไปส่งโรงพยาบาล ท่านจะกล่าวโทษ หรือฟ้องร้องพลเมืองดีคนนั้นหรือไม่ หรือท่านจะมองเขาคนนั้นด้วยความรู้สึกอย่างไร 

แล้วถ้าญาติของท่านตายลงตรงที่เกิดเหตุนั้นเองเพราะไม่มีใครกล้าเป็น “พลเมืองดี” ช่วยพาไปส่งโรงพยาบาล ท่านจะตำหนิติเตียนด่าว่าคนที่ไม่ยอมช่วยเหลือญาติของท่านหรือไม่ หรือท่านจะมองเขาคนนั้นด้วยความรู้สึกอย่างไร 

ถ้าท่านเป็นญาติคนป่วย ลองเปิดหัวใจของท่านออกมาให้สังคมได้ดูกันซิครับว่า ท่านคิดอะไรอยู่

คำตอบของญาติคนป่วยนี่แหละครับที่จะเป็นเครื่องตัดสิน และเป็นตัวกำหนดท่าทีของคนในสังคมว่าจะปฏิบัติอย่างไรกับคนที่เจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นเฉพาะหน้า

ท่านมีสิทธิ์ที่จะรักจะเสียดายชีวิตญาติของท่าน 

ท่านมีสิทธิ์ที่จะตั้งข้อหา “เสือกไม่เข้าเรื่อง” หรือข้อหา “แล้งน้ำใจ” เอากับคนที่เกี่ยวข้องได้ทั้งนั้น 

ท่านมีสิทธิ์ที่จะใช้สติมองให้ลึกเข้าไปถึงเจตนาของผู้เกี่ยวข้อง 

และท่านก็มีสิทธิ์ที่จะคิดได้ด้วยว่า ทุกฝ่ายก็ตั้งใจทำดีที่สุดแล้ว ญาติของท่านหมดบุญเพียงเท่านี้เอง จะทำอย่างไรได้ คนที่ยังอยู่นี่ต่างหากที่สำคัญกว่า มองกันด้วยสายตาที่เป็นมิตรดีกว่า ยังจะรักษามิตรภาพกันไว้ได้ หรืออาจจะได้กัลยาณมิตรเพิ่มขึ้นอีกด้วย

แน่นอน ท่านมีสิทธิ์ที่จะไม่คิดอย่างนี้ และมีสิทธิ์ที่จะคิดอย่างไรก็ได้ทั้งนั้น ไม่มีใครจะไปว่าอะไรท่านได้เลย 

แต่คำตอบของท่านก็จะเป็นคำตัดสินอยู่ในตัวเองว่า –

ระหว่างท่านกับ “พลเมืองดี” นั้น หัวใจของใครจะประเสริฐควรแก่การบูชากว่ากัน

………………………….

(ยังมีต่อ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๘ มีนาคม ๒๕๖๔

๑๑:๔๔

………………………….

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๕)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………….

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๗)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *