บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๑)

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๘)

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๘)

————————————–

ในที่สุดแล้ว … ถึงเราจะคิดจะอยากไปสักเท่าไรๆ ว่า ญาติของคนป่วยน่าจะคิดอย่างนั้นๆ น่าจะเข้าใจเจตนาของพลเมืองเมืองดีอย่างนี้ๆ แต่เราก็ไม่มีอำนาจอะไรที่จะไปบังคับให้ใครคิดอะไรตามใจอยากของเรา 

เพราะฉะนั้น ปัญหาก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป สร้างความลำบากใจให้แก่ผู้ที่ตั้งใจจะทำความดีอยู่ต่อไป 

และท่านก็อาจจะเป็นคนหนึ่งที่ต้องไปเจอกับปัญหาแบบนี้เข้าสักวันหนึ่ง ไม่ว่าจะในฐานะพลเมืองดี หรือในฐานะญาติของคนป่วยก็ตาม 

ถึงตอนนั้นแหละครับที่จะได้วัดใจกันละว่า ใครจะแน่กว่ากัน

ปัญหาทางจริยธรรมก็คือว่า เราจะปล่อยให้พลเมืองดีเผชิญชะตากรรมไปตามบุญตามกรรม และปล่อยให้ญาติคนป่วยปฏิบัติต่อพลเมืองดีโดยยึดผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้งต่อไปอย่างนี้ หรือว่าควรจะมีมาตรการอะไรสักอย่างออกมาช่วยแก้ปัญหา

ตรงนี้แหละครับที่ผมว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาระดับชาติ

และตรงนี้เองที่มีเรื่องจริงที่น่าจะนำมาเป็นแนวทางแห่งการพิจารณาได้บ้าง 

………………………….

เรื่องจริงนั้นก็คือ ทุกวันนี้ถ้ามีคนเจ็บป่วยและจะต้องรักษาโดยวิธีผ่าตัด ทางหมอหรือโรงพยาบาลจะต้องให้ญาติของผู้ป่วยเซ็นยินยอมเสียก่อน 

เรื่องเช่นนี้ผมไม่ทราบว่าเป็นระเบียบของทางราชการ หรือเป็นเพียงมาตรการส่วนตัวของหมอหรือของโรงพยาบาล 

แต่เป็นเรื่องที่น่าจะนำมาศึกษาเพื่อเป็นแนวเทียบหรือเป็นแนวทางได้

แน่นอน พลเมืองดีย่อมไม่มีเวลาที่จะไปล่าลายเซ็นของญาติคนป่วย และคงไม่มีเวลาที่จะไปเจรจาทำความตกลงกับญาติคนป่วยให้เรียบร้อยเสียก่อน ดังนั้น ทางที่จะทำได้ก็น่าจะเป็นการออกกฎหมายหรือกติกามารยาททางสังคมอะไรสักอย่างหนึ่งให้เป็นที่รู้แจ้งชัดเจนกันทั่วไปว่า —

ในกรณีที่มีคนเจ็บป่วยเกิดขึ้นเฉพาะหน้า แล้วมีพลเมืองดีพาไปส่งโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตามแก่คนป่วย ในกรณีเช่นว่านี้ญาติคนป่วย หรือหน่วยงานไหน หรือใครก็ตาม จะฟ้องร้อง เรียกร้อง หรือเอาความผิดใดๆ จากพลเมืองดีนั้นมิได้ ถ้าพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าพลเมืองดีนั้นกระทำไปด้วยเจตนาดี และมีความระมัดระวังอันสมควรแก่เหตุตามวิสัยที่วิญญูชนจะพึงกระทำ 

กฎหมาย หรือกฎกติกามารยาททำนองดังว่านี้ ผมเชื่อว่ายังไม่เคยมี และขณะนี้ก็ยังไม่มีอยู่ในสังคมไทย หรือสังคมประเทศไหนๆ ทั้งสิ้น

นอกจากจะไม่เอาความผิดแล้ว ถ้าจะให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นก็ควรจะกำหนดไว้ด้วยว่า ค่าใช้จ่าย หรือค่าเสียหายใดๆ ทั้งปวง อันพลเมืองดีได้จ่ายไปในการนำคนป่วยไปส่งโรงพยาบาลนั้น รัฐบาลจะเป็นผู้ออกให้ทั้งสิ้น รวมทั้งจะมีบำเหน็จรางวัลตอบแทนคุณงามความดีให้ตามสมควรอีกส่วนหนึ่งด้วย

รางวัลตอบแทนคุณงามความดี ก็อย่างเช่น ให้เป็นเงิน หรือให้มีสิทธิพิเศษบางประการ เช่น ลดค่าน้ำค่าไฟให้ตลอดชีวิต โดยสารรถยนต์รถไฟ รถไฟฟ้าฟรี ถ้ามีลูกก็ให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนตำรวจทหารได้โดยไม่ต้องสอบคัดเลือก หรือสอบโดยวิธีพิเศษ อย่างนี้เป็นต้น 

นี่เป็นการยกตัวอย่างเล่นๆ เท่านั้น ถ้าทำจริงก็จะต้องคิดกันให้ละเอียดรอบคอบกว่านี้

ถ้ามีกฎหมายลักษณะนี้เมื่อไร รับรองได้ว่า พลเมืองดีจะทำหน้าที่ได้อย่างมีความสุขที่สุด และจะมีพลเมืองดีเกิดขึ้นทุกตรอกซอกซอยของเมืองไทย 

นอกจากจะเป็นการสนับสนุนพลเมืองดีให้ทำหน้าที่ด้วยความสบายใจแล้ว กฎหมายลักษณะนี้ยังจะเป็นการสนับสนุนญาติของคนป่วยให้เข้าถึงสัจธรรมของชีวิตได้ง่ายขึ้นอีกทางหนึ่ง 

นั่นคือ แทนที่จะคิดถึงแต่ผลประโยชน์ของตัวด้านเดียว ก็จะได้รู้จักมองไปถึงเจตนาดีของคนอื่นกันบ้าง 

และถ้าญาติของตนตาย ก็จะเข้าใจเข้าถึงหลัก “กฎแห่งกรรม” ได้ลึกซึ้งขึ้น

ท่านคงจะเห็นว่า แนวคิดนี้ฟังดูออกจะเพ้อฝันไปหน่อย แต่ถ้าคิดถึงความจริงที่ว่า การผ่าตัดคนป่วยยังมีกติกาให้ญาติต้องเซ็นยินยอมก่อนได้ —

การออกกฎกติกาจูงใจคนให้ทำหน้าที่พลเมืองดีและป้องกันพลเมืองดีไม่ให้ต้องเดือดร้อนอันเนื่องมาจากทำหน้าที่นั้น ก็ย่อมจะมีทางเป็นไปได้ 

ท่านผู้มีประสบการณ์ทางสภา หรือการพิจารณาร่างกฎหมาย น่าจะให้คำตอบได้ว่า ถ้าจะให้มีกฎหมายแบบที่ว่านี้ออกมา จะต้องทำอย่างไร หรือจะทำได้แค่ไหน และใครควรจะเป็นคนนับหนึ่ง!?

………………………….

(ยังมีต่อ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๘ มีนาคม ๒๕๖๔

๑๗:๐๓

………………………….

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๗)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………….

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๙) (จบ)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *