อันตราย (บาลีวันละคำ 475)
อันตราย
ภาษาไทยอ่านว่า อัน-ตะ-ราย
บาลีเป็น “อนฺตราย” อ่านว่า อัน-ตะ-รา-ยะ
“อนฺตราย” รากศัพท์คือ
– อนฺตร (= ระหว่าง) + อิ หรือ อย (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป.) แปลง อิ หรือ อย เป็น อาย (อ่านว่า อา-ยะ)
– อนฺตร (= ระหว่าง) + อาย (ธาตุ = เดือดร้อน)
: อนฺตร + อาย = อนฺตราย
“อนฺตราย” ภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “อันตราย” เป็นอีกคำหนึ่งที่เราพูดกันคุ้นปากแต่อาจจะไม่ได้นึกถึงความหมายตามรากศัพท์
“อนฺตราย” แปลตามศัพท์ว่า
– “ภาวะที่มาในระหว่าง”
– “ภาวะที่มาในระหว่างจุติกับปฏิสนธิ”
– “ภาวะเป็นเหตุให้เดือดร้อนในระหว่างที่เกิดแล้วยังไม่ตาย”
– “ภาวะเป็นเหตุให้ความสำเร็จแห่งการงานถึงความหยุดลงกลางคัน”
“อนฺตราย” หมายถึง ความขัดข้อง, สิ่งขัดขวาง, อุปสรรค, การขัดขวาง, การป้องกัน (ที่จะต้องฝ่าเข้าไป), เครื่องกีดขวาง, อุบัติเหตุ
พจน.42 บอกความหมายว่า “อนฺตราย : เหตุที่อาจทําให้ถึงแก่ความตายหรือพินาศ”
โปรดสังเกตว่า ในภาษาบาลี เพียงแค่ความขัดข้อง หรือสิ่งขัดขวางไม่ให้กิจที่กำลังทำอยู่ดำเนินไปได้ตามปกติ ท่านก็เรียกว่า “อนฺตราย” แต่ในภาษาไทยต้องร้ายแรงถึงขั้นอาจทําให้ถึงแก่ความตายหรือพินาศ จึงจะถือว่าเป็น “อันตราย”
พระพุทธพจน์ :
กษัตริย์ อย่าดูหมิ่นว่ายังทรงพระเยาว์ (จะรู้เรื่องรู้ราวอะไร)
งูเห่า อย่าดูหมิ่นว่าตัวน้อยเท่านี้ (จะไปมีพิษสักแค่ไหน)
อัคนี อย่าดูหมิ่นว่านิดหน่อย (จะเผาไหม้อะไรได้)
ภิกษุหนุ่มสามเณรน้อย อย่าดูหมิ่นว่ายังหนุ่ม (จะเคร่งสู้หลวงพ่อหลวงปู่ได้หรือ)
: เห็นอันตรายว่าไม่เป็นอันตราย – นั่นแหละอันตราย !
2-9-56