บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๑)

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๙)(จบ)

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๙)(จบ)

————————————–

อันที่จริง กติกาที่ให้ญาติต้องเซ็นยินยอมก่อนผ่าตัดคนป่วยนั้น ถ้าคิดดูให้ลึกๆ และลองมองอีกมุมหนึ่ง จะเห็นว่า เกิดจาก (๑) หมอไม่ไว้วางใจญาติคนป่วยว่าจะเอาผิดกับตนหรือไม่-ถ้าเกิดคนป่วยเป็นอะไรไป (๒) ข้างญาติคนป่วยก็ไม่ไว้วางใจหมอว่าจะรักษาญาติของตนให้ปลอดภัยได้หรือไม่ 

การที่ให้ญาติต้องเซ็นยินยอมก่อนผ่าตัดคนป่วยจึงเป็นการฟ้องอยู่ในตัวเองว่า เป็นกติกาที่เกิดขึ้นเพราะขาดความวางใจซึ่งกันและกัน และเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีคุณธรรมน้ำใจต่อกัน อันเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมไทย 

แต่กลายเป็นเหมือนสังคมฝรั่งที่ใช้หลักสัมพันธ์กันด้วยข้อบังคับของกฎหมาย มิใช่เพราะคุณธรรมสำนึก

………………………….

จิตใจไทยแต่เดิมนั้น คนป่วยรวมทั้งผู้คนทั้งบ้านจะมองหมอเหมือนพระมาโปรด 

หมอจะมองคนป่วยเหมือนสัตว์ผู้ยากที่จะต้องช่วยเหลือเพื่อเอาบุญเป็นที่ตั้ง 

แม้แต่ค่ายาค่ารักษา คำไทยแท้ๆ ก็เรียกว่า “ขวัญข้าว” เพราะเราถือว่าบุญคุณของหมอนั้นเป็นของสูง มิใช่จะตอบแทนกันได้ด้วยเงินทอง (เหตุผลทำนองเดียวกับที่เราไม่พูดว่า “ซื้อพระ” แต่เลี่ยงไปพูดว่า “เช่าพระ” นั่นแหละ) 

จิตใจไทยแบบนี้แหละเป็นที่มาของค่านิยมในหมู่เยาวชนที่พูดบอกผู้ใหญ่หรือบอกกันเองว่า โตขึ้นจะเรียนเป็นหมอ “จะได้ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์” 

(แต่ทุกวันนี้ค่านิยมนี้ก็เสื่อมลงไปแล้ว พร้อมกับมี “ค่านิยมทราม” ขึ้นมาแทนที่ คืออยากเรียนเป็นหมอ “เพราะรายได้ดี” ซึ่งฟังแล้วน่าสังเวชใจ ไม่น่าเชื่อว่างานที่คนสมัยก่อนเห็นว่าเป็นบุญกุศล แต่คนสมัยนี้กลับเอามาตีราคาเป็นเงินทองไปได้) 

แต่เมืองฝรั่งนั้น คนป่วยหรือญาติของคนป่วยอาจฟ้องร้องเป็นคดีความกับหมอ และหมอก็สามารถฟ้องร้องเป็นคดีความกับคนป่วยได้อย่างอุตลุด เพราะต่างฝ่ายต่างก็ยึดเอาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง โดยมีกฎหมายเป็นหลัก มิได้มีความสัมพันธ์ผูกพันกันด้วยคุณธรรมน้ำใจแต่ประการใดทั้งสิ้น

หากจะมีกฎหมายปกป้องพลเมืองดีดังความฝันที่ผมคิดให้ท่านฟังนั้น ก็น่าจะต้องคิดให้มากๆ หน่อย เพราะอาจกลายเป็นเครื่องมือทำร้ายหรือทำลายคุณธรรมคือความสุจริตจริงใจต่อกันให้หมดสิ้นไปจากจิตใจคนเร็วขึ้นก็เป็นได้

ฝรั่งเขายึดกันอยู่ด้วยหลักกฎหมายได้ เพราะระบบต่างๆ ของเขาค่อนข้างสมบูรณ์ลงตัวและเข็มแข็ง คนจึงไว้วางใจในระบบได้ค่อนข้างแน่นอน 

ตัวอย่างเช่น ถ้ามีเหตุฉุกเฉิน เช่นมีคนร้าย มีคนป่วย หรือไฟไหม้ ตำรวจ รถพยาบาล หรือรถดับเพลิง จะไปถึงที่เกิดเหตุภายในเวลาไม่เกิน ๑๐ นาที และจะเป็นที่เข้าใจตรงกันหมดว่า ในเหตุเช่นนั้นๆ ใครจะต้องรับผิดชอบส่วนไหน 

เพราะฉะนั้น ปัญหาที่จะต้องมานั่งสงสัยกันหรือเถียงกันว่า ถ้าตัดสินใจทำอย่างนั้นแล้วเกิดปัญหาอย่างโน้น ใครจะรับผิดชอบ อย่างที่พลเมืองดีในเมืองไทยมักจะเผชิญอยู่ จึงแทบไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้

แต่ในเมืองเรานี้ หลังจากเกิดเหตุ ก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่า ตำรวจ รถพยาบาล หรือรถดับเพลิง จะมาถึงภายในเวลากี่ชั่วโมง บางทีมาถึงแล้วยังลงมือทำอะไรไม่ได้ เพราะจะต้องมานั่งถาม หรือนั่งเถียง หรือนั่งเกี่ยงกันอีกว่า ใครจะรับผิดชอบอะไร ค่านั่นค่านี่ใครจะเป็นคนจ่าย

แต่สิ่งหนึ่งที่ฝรั่งไม่มี แต่คนไทยมี หรืออย่างน้อยก็เคยมี นั่นก็คือ –

น้ำใจ 

ไมตรี 

เจตนาดี 

เข้าใจกัน 

เห็นใจกันในยามยาก 

ซึ่งผมขอใช้คำเรียกรวมๆ ว่า “คุณธรรมน้ำใจ”

เพียงแต่มีคุณธรรมน้ำใจเท่านั้น ปัญหาข้อขัดแย้งทั้งปวงก็จะมลายหายสิ้น ไม่ต้องมานั่งคิดออกกฎหมายให้เหนื่อยใจ คนก็จะอยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่น ไม่ใช่อย่างอึดอัด 

แค่เข้าใจในเจตนาดีของกันและกันอย่างเดียว ก็จะรู้สึกเบาสบาย มองเห็นลู่ทางแก้ปัญหาอื่นๆ ได้โล่งตลอด และยิ้มให้กันได้อย่างมีความสุขท่ามกลางกองปัญหาต่างๆ นั่นเอง 

เพราะต่างก็จะรู้สึกว่า ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่นั้นมันไม่ใช่ปัญหา หากแต่ว่ามันคือเครื่องมือที่จะช่วยทำให้เราช่วยเหลือกัน ร่วมมือกัน และรักกันมั่นคงยิ่งขึ้นต่างหาก 

อย่างที่ผู้รู้ท่านบอกว่า – 

คนมีปัญญา สามารถแปรวิกฤตให้เป็นโอกาส 

แต่คนไม่ฉลาด แม้มีโอกาสก็กลับทำให้เกิดวิกฤต

………………………….

(จบ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๘ มีนาคม ๒๕๖๔

๑๗:๔๕

………………………….

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๘)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………….

ความแล้งน้ำใจกับปัญหาทางจริยธรรม (๑)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *