บาลีวันละคำ

พลวปัจจัย (บาลีวันละคำ 1,712)

พลวปัจจัย

ไม่ยากเกินที่จะเข้าใจได้

อ่านว่า พะ-ละ-วะ-ปัด-ไจ

ประกอบด้วย พลว + ปัจจัย

(๑) “พลว” (พะ-ละ-วะ)

รูปศัพท์เดิมเป็น พล + วนฺตุ ปัจจัย

ก) “พล

บาลีอ่านว่า พะ-ละ  รากศัพท์มาจาก พลฺ (ธาตุ = มีชีวิต, ระวัง, ครอบงำ) + ปัจจัย

: พล + = พล แปลตามศัพท์ว่า “เหตุอันทำให้มีชีวิตอยู่ได้” “ผู้เฝ้าระวัง” “ผู้ครอบงำศัตรู

พล” ใช้ในความหมาย 2 อย่างคือ –

(1) ความแข็งแรง, พลัง, อำนาจ (strength, power, force)

(2) กองทัพ, กองกำลังทหาร (an army, military force)

ข) พล + วนฺตุ (วัน-ตุ) ปัจจัย

วนฺตุ” ปัจจัย แปลว่า “มี” ลงท้ายคำนามทำให้นามคำนั้นแปลว่า “มี-” และใช้เป็นคุณศัพท์ เช่นในที่นี้ลงท้ายคำว่า “พล

: พล + วนฺตุ = พลวนฺตุ (พะ-ละ-วัน-ตุ) แปลว่า “มีกำลัง” คือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ “มีกำลัง” อยู่ในตัว และสามารถขับเคลื่อนสิ่งอื่นๆ ไปได้

พลวนฺตุ” แจกรูปด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ ได้รูปเป็น “พลวา” (พะ-ละ-วา)

เมื่อมีศัพท์อื่นมาสมาสข้างท้าย รัสสะ อา เป็น อะ จึงเป็น “พลว-”

(๒) “ปัจจัย

บาลีเป็น “ปจฺจย” (ปัด-จะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก ปฏิ หรือ ปติ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง ปฏิ เป็น ปจฺจ หรืออีกนัยหนึ่ง แปลง อิ ที่ ปติ เป็น , แปลง ตย (คือ ปตย) เป็น ปจฺจ, แปลง อิ ธาตุเป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย

: ปฏิ > ปจฺจ (ปติ > ปตย > ปจฺจ) + อิ > เอ > อย : ปจฺจ + อย + = ปจฺจย

พิสูจน์การกลายรูปและเสียง :

ลองออกเสียง ปะ-ติ-อะ-ยะ (ปฏิ + อิ) ทีละพยางค์ช้าๆ แล้วเพิ่มความเร็วขึ้นทีละน้อยจนเร็วที่สุด ปะ-ติ-อะ-ยะ จะกลายเสียงเป็น ปัด-จะ-ยะ ได้ การกลายรูปจึงมาจากธรรมชาติของการกลายเสียงนั่นเอง

ปจฺจย” แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นแดนอาศัยเป็นไปแห่งผล” “เหตุเป็นเครื่องเป็นไปแห่งผล” มีความหมายว่า –

(1) อาศัย, หันไปพึ่ง, รากฐาน, เหตุ, สาเหตุ (resting on, falling back on, foundation, cause, motive)

(2) สิ่งสนับสนุน, ของที่จำเป็น, ปัจจัย, วิถีทาง, เครื่องค้ำจุน (support, requisite, means, stay)

(3) เหตุผล, วิธี, เงื่อนไข (reason, ground, condition)

(4) เหตุผลสำหรับ, ความเชื่อ, ความมั่นใจ, ความเชื่อมั่น, การเชื่อถือหรืออาศัย (ground for, belief, confidence, trust, reliance)

ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปคือ ปัจจัย, เหตุ, สาเหตุ, ที่พึ่ง, ความช่วยเหลือ ฯลฯ

ปจฺจย” ภาษาไทยใช้ว่า “ปัจจัย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

(1) เหตุอันเป็นทางให้เกิดผล, หนทาง, เช่น การศึกษาเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้ความสามารถ, องค์ประกอบ, ส่วนประกอบ, เช่น ปัจจัยในการผลิต, คํา “ปัจจัย” กับ คํา “เหตุ” มักใช้แทนกันได้.

(2) เครื่องอาศัยยังชีพ, เครื่องอาศัยเลี้ยงชีวิตของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา ๔ อย่าง คือ จีวร (ผ้านุ่งห่ม) บิณฑบาต (อาหาร) เสนาสนะ (ที่อยู่) คิลานเภสัช (ยา) รวมเรียกว่า จตุปัจจัย คือ ปัจจัย ๔, โดยปริยายหมายถึงเงินตราก็ได้ (มักใช้แก่ภิกษุสามเณร).

(3) (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) ส่วนเติมท้ายธาตุหรือศัพท์เพื่อแสดงความหมายเป็นต้น. (ป.).

พลว + ปจฺจย = พลวปจฺจย > พลวปัจจัย แปลว่า “ปัจจัยที่มีกำลัง” หมายถึง เหตุที่บุคคลตั้งใจทำอย่างเต็มที่ ส่งให้เกิดผลสำเร็จได้จริงและอย่างรวดเร็ว

…………..

อภิปราย :

ชาวพุทธส่วนมากเมื่อแสดงความปรารถนาดีต่อกัน มักพูดเพลินไปว่า ขอสิ่งนั้นสิ่งนี้จงดลบันดาลให้-มีความสุขความเจริญ ปรารถนาสิ่งใดขอให้สำเร็จ

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอว่า คำว่า “จงดลบันดาล” นั้น ถ้าเปลี่ยนเป็น “จงเป็นพลวปัจจัย” จะเป็นเหตุเป็นผลสมกับเป็นชาวพุทธ

เพราะคำว่า “จงดลบันดาล” นั้น ผู้รับผลไม่จำเป็นต้องทำอะไรนอกจากอ้อนวอน แต่คำว่า “จงเป็นพลวปัจจัย” ผู้รับผลจะต้องทำเหตุคือคุณความดีอย่างใดอย่างหนึ่งเสียก่อน จึงจะมีสิทธิ์อ้างเอาความดีนั้นมาเป็น “พลวปัจจัย” คือเป็นเหตุที่มีพลังให้สำเร็จผลที่ปรารถนา

ดังนี้ ย่อมตรงตามหลักเหตุผลอันเป็นหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา

…………..

: บำเพ็ญความดีเป็นพลวปัจจัย

: ดีกว่าอ้อนวอนขอให้ใครช่วยดลบันดาล

10-2-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย