บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เราควรเรียนบาลีไปทำอะไร

เราควรเรียนบาลีไปทำอะไร

—————————–

ผมอ่านพบ “พระคาถากรึงงานให้สำเร็จ” ในหนังสือเล่มหนึ่ง บอกไว้ดังนี้ (ดูภาพประกอบ) –

…………..

พระคาถากรึงงานให้สำเร็จ

(ของานสำเร็จ) 

คะเตสิก คะเตสิก คะเตสิก, 

กรึงสะระณัง อะหังปิดหู อะหังปิดตา อะหังปิดใจ, 

ชานามิ นะ ชานามิ, 

ขอให้อยู่กับที่ อยู่ตรงนี้ อยู่ดีดี อยู่ด้วย, 

นะโมพุทธายะ นะชาลีติ สิทธัตถะ ฯ 

…………..

คาถานี้นักเล่นคาถาคงจะเอาไป “ใช้” ตามนี้กันเยอะ 

แต่นักเรียนบาลีอ่านคาถานี้แล้วคงอึ้งไปตามๆ กัน

เหมือนคนเคยรู้จักกัน ไม่ได้เจอกันนานมาก พอมาเจอกันอีกที แต่งเนื้อแต่งตัวแปลกตาจนจำแทบไม่ได้

…………………

พระคาถาของแท้ มีข้อความที่ถูกต้องตามต้นฉบับ ดังนี้ (ดูภาพประกอบ) –

…………..

เขียนแบบบาลี : 

ฆเฏสิ  ฆเฏสิ  กึการณา  ฆเฏสิ  อหํปิ  ตํ  ชานามิ  ชานามิ.

เขียนแบบคำอ่าน : 

ฆะเฏสิ  ฆะเฏสิ  กิงการะณา  ฆะเฏสิ  อะหังปิ  ตัง  ชานามิ  ชานามิ.

ที่มา: คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๒ หน้า ๘๔

…………..

คาถานี้มีที่มาจากคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๒ เรื่องพระจูฬปันถกเถระ เรื่องอย่างย่นย่อว่า มาณพคนหนึ่งไปเรียนวิชาที่เมืองตักสิลา แต่เป็นคนหัวทึบเรียนอะไรก็ไม่รู้เรื่อง อาจารย์สอนคาถาให้บทหนึ่ง กลัวศิษย์จะลืมจึงสั่งว่า ให้หมั่นท่องทบทวนเสมอ กลับถึงบ้านเมืองจะได้เอาไว้ใช้เลี้ยงตัว มาณพเคารพคำอาจารย์สั่ง นึกได้ตอนไหนก็ท่องตอนนั้น 

วันหนึ่งตื่นขึ้นมากลางดึก ก็ท่องคาถาดังๆ พอดีว่าขโมยกำลังจะงัดบ้าน ขโมยได้ยินคาถานั้นก็เผ่นหนีไป 

จึงถือกันว่าคาถานี้เป็น “พระคาถากันขโมย” 

……………………………….

https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=12&p=3

……………………………….

คำแปลคาถากันขโมย

แปลเป็นไทยแบบยกศัพท์ : 

ตฺวํ อันว่าท่าน ฆเฏสิ จงพยายาม 

ตฺวํ อันว่าท่าน ฆเฏสิ จงพยายาม 

ตฺวํ อันว่าท่าน ฆเฏสิ จงพยายาม กึการณา เพราะเหตุไร 

อหํปิ แม้อันว่าข้าพเจ้า ชานามิ ย่อมรู้ ตํ การณํ ซึ่งเหตุนั้น 

อหํ อันว่าข้าพเจ้า ชานามิ ย่อมรู้.

…………..

แปลเป็นไทยโดยอรรถ :

ท่านพยายามไปเถิด พยายามไปเถิด 

เพราะเหตุไรท่านจึงพยายาม 

แม้ข้าพเจ้าก็รู้เหตุนั้นอยู่ รู้อยู่

…………..

แปลเป็นภาษาชาวบ้าน :

พยายามไปเถอะพยายามเข้าไป

ข้ารู้ว่าแกพยายามจะทำอะไร

ข้ารู้นะ 

…………..

อ่าน “พระคาถากรึงงานให้สำเร็จ” แล้วเทียบกับ “คาถากันขโมย” เราท่านคงจะพอได้คำตอบว่า ทำไมคำบาลีที่เป็นคาถาอาคมต่างๆ ก็ดี คำบาลีที่เอามาพูดกันในภาษาไทยก็ดี จึงมักจะแปลกประหลาดมหัศจรรย์ยิ่งนัก 

เช่น –

ฆเฏสิ” เป็น “คะเตสิก” 

กิงการะณา” เป็น “กรึงสะระณัง

อะหังปิ  ตัง” เป็น “อะหังปิดตา” เป็นต้น

น่าเสียดายที่ “นักเรียนบาลี” ของเรายอมแพ้ “นักเล่นคาถา” กันหมดสิ้น

ถ้าอุปมากับการวิ่งแข่ง “ศรัทธา” ก็ทิ้งห่าง “ปัญญา” จนมองไม่เห็นฝุ่น

ควรจะถามกันว่า ในบ้านเมืองของเรานี้ เราควรเรียนบาลีไปทำอะไร? 

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๔

๑๕:๒๘

……………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *