บาลีวันละคำ

ทักษิณสวายุ (บาลีวันละคำ 3,453)

ทักษิณสวายุ

แปลว่าอะไร

อ่านว่า ทัก-สิน-สะ-วา-ยุ

แยกคำเท่าที่ตาเห็นเป็น ทักษิณ + สวายุ

(๑) “ทักษิณ

บาลีเป็น “ทกฺขิณ” (ทัก-ขิ-นะ) รากศัพท์มาจาก ทกฺขฺ (ธาตุ = เจริญ, รุ่งเรือง; ว่องไว, ฉลาด, ขยัน) + อิณ ปัจจัย 

: ทกฺขฺ + อิณ = ทกฺขิณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเจริญ” “สิ่งอันว่องไว

ทกฺขิณ” (คุณศัพท์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ขวา, มีการเจือปนด้วยความมีฤกษ์ดี, มีโชคดี และความเด่น (right, with a tinge of the auspicious, lucky & prominent)

(2) มีความสันทัด, ได้รับการฝึกฝนดี (skilled, well-trained)

(3) ทิศที่อยู่ด้านขวามือเมื่อหันหน้าไปทางที่ดวงอาทิตย์ขึ้น คือทางทิศใต้ (southern) 

ทกฺขิณ” ภาษาไทยนิยมใช้เป็น “ทักษิณ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทักษิณ : (คำนาม) ทิศใต้ ใช้ว่า ทิศทักษิณ. (คำวิเศษณ์) ใต้; ข้างขวา เช่น ฝ่ายทักษิณ. (ส.; ป. ทกฺขิณ).”

เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์มักถนัดมือขวา และในการหาทิศตามธรรมชาติเราใช้วิธีหันหน้าไปทางดวงอาทิตย์ที่กำลังขึ้น ด้านหน้าเป็นทิศตะวันออก ด้านมือขวาเป็นทิศใต้ คำว่า “ทกฺขิณ” ซึ่งแต่เดิมหมายถึงมือข้างที่ถนัด จึงหมายถึง “ทิศใต้” ไปโดยปริยาย

(๒) “สวายุ” 

อ่านว่า สะ-วา-ยุ วินิจฉัยได้เป็น 2 นัย คือ:

(1) มาจาก สุ (คำอุปสรรค ดี งาม, ง่าย) + อายุ

(ก) “อายุ” อ่านว่า อา-ยุ รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ณุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น อา, แปลง ที่ ณุ เป็น อย (ณุ : + อุ : > อย + อุ = อยุ)

: อิ > อา + ณุ > อยุ : อา + อยุ = อายุ 

หรือ –

: อิ + ณุ = อิณุ > อาณุ > (ณุ > อยุ : อา + อยุ = ) อายุ 

อายุ” (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุดำเนินไปแห่งสัตวโลก” หมายความว่า สัตวโลกดำเนินไปได้ด้วยสิ่งนั้น ถ้าสิ่งนั้นหมดลง การดำเนินไปของสัตวโลกก็หยุดลงเพียงนั้น

อายุ” หมายถึง ชีวิต, ความสามารถดำรงชีวิต, การกำหนดอายุ, ความมีอายุยืน (life, vitality, duration of life, longevity)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อายุ : (คำนาม) เวลาที่ดํารงชีวิตอยู่, เวลาชั่วชีวิต, ช่วงเวลานับตั้งแต่เกิดหรือมีมาจนถึงเวลาที่กล่าวถึง, ระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น อายุใบอนุญาต ยานี้หมดอายุแล้ว, ระยะเวลาที่กําหนดรู้ความยั่งยืนของสิ่งนั้น ๆ เช่น อายุของหิน. (ป.; ส. อายุสฺ หรือ อายุษฺ เมื่อนําหน้าบางคํา, แต่เมื่อนําหน้าอักษรตํ่ากับตัว ห เปลี่ยน สฺ เป็น รฺ เช่น อายุรเวท, แต่ถ้าใช้อย่างบาลีก็ไม่ต้องมี ส หรือ ร).”

(ข) สุ + อายุ แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (อะ-วะ)

: สุ > โส > สว + อายุ = สวายุ (สะ-วา-ยุ) แปลตามศัพท์ว่า “อายุงาม” คืออายุยืนยาน

(2) มาจาก (ตัดมาจาก “สห” = ร่วมกัน, พร้อมกัน) + วายุ

(ก) “วายุ” อ่านว่า วา-ยุ รากศัพท์มาจาก วา (ธาตุ = ไป) + อาคม + อุ ปัจจัย 

: วา + + อุ = วายุ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่พัดไป” “สิ่งเป็นเหตุให้ฟุ้งไปแห่งกลิ่นดอกไม้เป็นต้น” “สิ่งที่ประกาศกลิ่น” หมายถึง ลม (wind) 

ในภาษาไทย แผลง เป็น เขียนเป็น “พายุ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “วายุ” และ “พายุ” บอกไว้ดังนี้ –

(1) วายุ : (คำนาม) ลม, อากาศ, ลมหายใจ; เทพแห่งลม. (ป., ส.). (ดู พายุ).

(2) พายุ : (คำนาม) ลมแรง. (ป., ส. วายุ ว่า ลม).

(ข) + วายุ = สวายุ (สะ-วา-ยุ) แปลตามศัพท์ว่า “พร้อมกับลม” หรือ “มีลม” หมายถึง มีลมพัดผ่านดี

ทักษิณ + สวายุ = ทักษิณสวายุ (ทัก-สิน-สะ-วา-ยุ)

ความหมาย :

ตามนัยที่ 1 (สุ + อายุ) แปลว่า “ประตูทิศใต้อายุยืน” = ใครผ่านเข้าออกประตูนี้จะมีอายุยืนยาน

ตามนัยที่  ( + วายุ) แปลว่า “ประตูทิศใต้ทิศทางลมดี” = ประตูด้านนี้ลมพัดผ่านสะดวก ใครผ่านเข้าออกจะมีสุขภาพดี

ขยายความ :

คำว่า “ทักษิณสวายุ” เป็นชื่อประตูรั้วด้านทิศใต้ของวัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี สันนิษฐานว่า พระธรรมปัญญาภรณ์ (ไพบูลย์ ชินวํโส ป.ธ.7) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุเป็นผู้ตั้งชื่อ เจตนาจะให้มีความหมายอย่างไรไม่ทราบแน่ ที่แปลมานี้จึงเป็นการสันนิษฐานตามรูปศัพท์เท่าที่ตาเห็นเท่านั้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: แต่ชื่อเดียวเจียวยังกลายเป็นหลายนัย

: นี่หรือใจจะเป็นหนึ่งอย่าพึงนึก

#บาลีวันละคำ (3,453)

25-11-64 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *