พยาธิสภาพ (บาลีวันละคำ 3,452)
พยาธิสภาพ
คำเตือนของมัจจุราช
อ่านว่า พะ-ยา-ทิ-สะ-พาบ
ประกอบด้วยคำว่า พยาธิ + สภาพ
(๑) “พยาธิ”
บาลีเป็น “พฺยาธิ” (มีจุดใต้ พ) อ่านว่า พฺยา-ทิ (เพีย-อา-ทิ) รากศัพท์มาจาก –
(1) วิธฺ (ธาตุ = ทิ่มแทง) + อิ ปัจจัย, ลง อา อาคมกลางธาตุ (วิธฺ > วิ–อา–ธฺ), แปลง อิ ที่ วิ เป็น ย, แผลง วฺ เป็น พฺ
: วิธฺ + อิ = วิธิ > วิ–อา–ธิ > วฺยาธิ > พฺยาธิ แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เสียดแทง”
(2) วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ) + อธิ (ธาตุ = บีบคั้น) + อ ปัจจัย, แปลง อิ ที่ วิ เป็น ย (วิ > วฺย), แผลง วฺ เป็น พฺ, ทีฆะต้นธาตุ (อธิ > อาธิ)
: วิ > วฺย + อธิ = วฺยาธิ + อ = วฺยาธิ > พฺยาธิ แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่บีบคั้นโดยพิเศษ”
(3) พาธฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + อิ ปัจจัย, ลง ย อาคมที่พยัญชนะต้นธาตุ (พาธฺ > พฺยาธ)
: พาธฺ + อิ = พาธิ > พฺยาธิ แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เบียดเบียน”
(4) พฺยาธฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + อิ ปัจจัย
: พฺยาธฺ + อิ = พฺยาธิ แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เบียดเบียนสัตว์”
(5) วิ (คำอุปสรรค = ต่าง) + อาธิ ( = การบีบคั้นจิตใจ), แปลง อิ ที่ วิ เป็น ย (วิ > วฺย), แผลง วฺ เป็น พฺ
: วิ > วฺย + อาธิ = วฺยาธิ > พฺยาธิ แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะเป็นที่มีการเบียดเบียนต่างๆ”
“พฺยาธิ” หมายถึง ความป่วย, โรค, เชื้อโรค (sickness, disease)
บาลี “พฺยาธิ” สันสกฤตเป็น “วฺยาธิ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“วฺยาธิ : (คำนาม) ความป่วยไข้, โรค; sickness, disease.”
“พฺยาธิ” ในภาษาไทยเขียน “พยาธิ” (ไม่มีจุดใต้ พ) อ่านว่า พะ-ยา-ทิ ความหมายเป็นอย่างหนึ่ง อ่านว่า พะ-ยาด ความหมายเป็นอีกอย่างหนึ่ง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) พยาธิ ๑ : [พะยาทิ] (คำนาม) ความเจ็บไข้ เช่น โรคาพยาธิ ชาติชราพยาธิ. (ป. พฺยาธิ, วฺยาธิ; ส. วฺยาธิ).
(2) พยาธิ ๒ : [พะยาด] (คำนาม) ชื่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังซึ่งอย่างน้อยในระยะหนึ่งของชีวิตจะอาศัยดูดกินเลือดอยู่ในมนุษย์และสัตว์ มีรูปร่างและขนาดต่าง ๆ กัน ชนิดตัวแบน เช่น พยาธิใบไม้ พยาธิตัวตืด ชนิดตัวกลมหรือหนอนพยาธิ เช่น พยาธิไส้เดือน พยาธิแส้ม้า พยาธิเส้นด้าย พยาธิเข็มหมุด.
ในทางธรรม พยาธิเป็น 1 ในสภาวะสามัญของชีวิต 4 อย่าง คือ –
(1) ชาติ (ชา-ติ) ความเกิด
(2) ชรา ความแก่
(3) พยาธิ ความเจ็บ
(4) มรณะ ความตาย
(๒) “สภาพ”
บาลีเป็น “สภาว” อ่านว่า สะ-พา-วะ รากศัพท์มาจาก ส + ภาว
(ก) “ส” (สะ) :
(1) มีความหมายเท่ากับ “อตฺต” แปลว่า “ตน”
(2) ตัดมาจากคำว่า “สนฺต” หรือ “สํวิชฺชมาน” แปลว่า “มีอยู่”
(3) ตัดมาจากคำว่า “สยํ” แปลว่า “เอง”
(ข) “ภาว” (พา-วะ) รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อู ที่ ภู เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อาว (ภู > โภ > ภาว)
: ภู + ณ = ภูณ > ภู > โภ > ภาว แปลตามศัพท์ว่า “ความมี” “ความเป็น” “สิ่งที่เป็นอย่างนั้นเอง” “สิ่งที่มีอยู่ในจิต”
“ภาว” (ปุงลิงค์) หมายถึง ความมี, ความเป็น, ภาวะ, ธรรมชาติ (being, becoming, condition, nature)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภาว-, ภาวะ : (คำนาม) ความมี, ความเป็น, ความปรากฏ, เช่น ภาวะน้ำท่วม ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ. (ป., ส.).”
ส + ภาว = สภาว (สะ-พา-วะ) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะของตน” (2) “ภาวะอันมีพร้อมอยู่” (3) “ภาวะที่เป็นเอง”
“สภาว” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) สถานะ [ของจิต], ธรรมชาติ, สภาพ, สภาวะ (state [of mind], nature, condition)
(2) ลักษณะ, อุปนิสัย, ความประพฤติ (character, disposition, behaviour)
(3) สัจจะ, ความจริง, ความสุจริต (truth, reality, sincerity)
บาลี “สภาว” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สภาพ” (สะ-พาบ) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สภาพ : (คำนาม) ความเป็นเองตามธรรมดาหรือตามธรรมชาติ เช่น สภาพความเป็นอยู่ สภาพดินฟ้าอากาศ, ลักษณะในตัวเอง; ภาวะ, ธรรมชาติ. (ป. สภาว; ส. สฺวภาว).”
พยาธิ + สภาพ = พยาธิสภาพ (พะ-ยา-ทิ-สะ-พาบ) แปลตามศัพท์ว่า “สภาพของความเจ็บป่วย”
ขยายความ :
คำว่า “พยาธิสภาพ” รูปคำน่าจะเป็นศัพท์บัญญัติ หนังสือศัพท์บัญญัติ อังกฤษ – ไทย, ไทย – อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน รุ่น ๑.๑ ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้ค้นคว้าอยู่ไม่มีศัพท์นี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็ยังไม่ได้เก็บคำนี้ไว้
ลองค้นดูทางอินเทอร์เน็ต ขอยกมาให้ดูแห่งหนึ่ง ได้ผลดังนี้ –
…………..
อังกฤษ-ไทย: คลังศัพท์ไทย โดย สวทช.
Autonomic Neuropathy
พยาธิสภาพประสาทอัตโนมัติ, ความพิการของระบบประสาทอัตโนมัติ [การแพทย์]
Brain Damage, Organic
พยาธิสภาพในสมอง [การแพทย์]
Contour, Double
พยาธิสภาพเป็นขอบซ้อน [การแพทย์]
Cranial Nerve Palsy
พยาธิสภาพของเส้นประสาทสมอง [การแพทย์]
Cytopathie Effect
พยาธิสภาพของการติดเชื้อ [การแพทย์]
Dermopathy
พยาธิสภาพผิวหนัง [การแพทย์]
Disease Conditions
พยาธิสภาพของโรค [การแพทย์]
Immunologic Tissue Injuries
พยาธิสภาพที่เกิดจากภาวะแพ้ [การแพทย์]
Infection, Local Metastatic
พยาธิสภาพเป็นตำบลๆ [การแพทย์]
Involvement, Diffused
พยาธิสภาพที่เกิดขึ้นเป็นชนิดที่เกิดกับทุกๆ ส่วน [การแพทย์]
ที่มา: https://dict.longdo.com/search/พยาธิสภาพ
…………..
จะเห็นได้ว่า ภาษาไทยมีคำว่า “พยาธิสภาพ” ทุกคำ แต่ภาษาอังกฤษไม่ตรงกันเลยสักคำเดียว จึงไม่อาจบอกได้ว่า คำว่า “พยาธิสภาพ” บัญญัติขึ้นจากคำอังกฤษคำไหน
มีอยู่คำหนึ่งที่ใช้คำอังกฤษตรงตัว คือ Disease Conditions
Disease = พยาธิ
Conditions = สภาพ
แต่ภาษาไทยใช้คำซ้ำซ้อนว่า “พยาธิสภาพของโรค”
อีกแห่ง ตั้งชื่อหัวข้อว่า “นิยามและคำศัพท์ที่ควรรู้ในการศึกษาพยาธิวิทยา” บอกความหมายของ “พยาธิสภาพ” ไว้ดังนี้ –
…………..
พยาธิสภาพหรือสภาพโรค (Disease) คือ สภาพที่ร่างกายไม่สามารถรักษาสภาพสมดุลได้ นั่นคือมีความผิดปกติทั้งร่างกายและจิตใจ
ที่มา: https://vet.kku.ac.th/pathology/sutthisak/gp1.htm
…………..
ขณะนี้ยังไม่พบคำนิยามความหมายที่ชัดเจนของคำว่า “พยาธิสภาพ” แต่เมื่อประมวลความเข้าใจทั่วไปแล้ว คำว่า “พยาธิสภาพ” น่าจะหมายถึง อาการของโรคหรืออาการเจ็บป่วยตั้งแต่เริ่มเกิดขึ้น แล้วเปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลา จนกระทั่งสิ้นสุดลง
ท่านผู้ใดพบคำนิยามที่ชัดเจน ตลอดจนที่ไปที่มาของคำว่า “พยาธิสภาพ” ขอความกรุณานำมาร่วมบูรณาการเพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
หน่วยงานที่ควรรู้เรื่องนี้ดีที่สุดคือ ราชบัณฑิตยสภา
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ความเจ็บป่วยเป็นส่วนล่วงหน้าของมัจจุราช
: ควรคิดว่าเราโชคดีที่ยังมีโอกาสได้รับคำเตือน
#บาลีวันละคำ (3,452)
24-11-64
…………………………….