ใครควรศึกษาพระไตรปิฎก (๑)
ใครควรศึกษาพระไตรปิฎก (๒)
ใครควรศึกษาพระไตรปิฎก (๒)
—————————
ญาติมิตรคงได้อ่าน “ใครควรศึกษาพระไตรปิฎก (๑)” กันไปแล้ว
ต่อไปนี้เป็นความคิดเห็นของผม
ขอแสดงวาทะของผมเองไว้เป็นเบื้องต้นว่า –
………………………………………………..
พูดถึงการศึกษาพระไตรปิฎก ไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึงผู้จบประโยค ๙
แต่ถ้าพูดถึงผู้จบประโยค ๙ จำเป็นต้องเอ่ยถึงการศึกษาพระไตรปิฎก
………………………………………………..
ความข้อนี้โปรดตราไว้จงดี
อุปมาเหมือน-
พูดถึงกระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วย ไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึงคนที่เป็นหมอเท่านั้น
แต่ถ้าพูดถึงคนที่เป็นหมอ จำเป็นต้องเอ่ยถึงกระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วย
เจตนารมณ์ของการเป็นหมอก็คือเข้าไปเป็นส่วนประกอบของกระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วย
ใครเรียนหมอแล้วบอกว่า ฉันเรียนเล่นโก้ๆ เรียนไว้ประดับความรู้ เรียนไว้เป็นเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูล ฯลฯ แล้วไม่เข้าสู่กระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วยใดๆ ทั้งสิ้น นั่งยิ้มกริ่มอยู่กับบ้านอย่างเดียว
นั่นคือวิปริต
แต่ในกระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วยนั้น บางขั้นตอนไม่จำเป็นต้องใช้คนที่จบหมอ บางที-แค่คนที่ไม่ใช่หมอเข้ามาช่วยปฏิบัติการบางอย่าง คนป่วยก็อาจหายป่วยได้
แต่ถ้าเกิดมีใครเข้าใจไปว่า คนป่วยไม่จำเป็นต้องพึ่งหมอ
ก็วิปริตอีกเหมือนกัน
ความในคำอุปมานี้ก็โปรดตราไว้จงดี
……………….
ทีนี้มาดูของจริง
ดูกันที่การเรียนพระไตรปิฎกของชาวโลกทั่วไป เว้นเมืองไทยไว้ก่อน
ชาติต่างๆ ที่เรียนพระไตรปิฎก ทั้งที่นับถือพุทธและที่มิได้นับถือพุทธ (เช่นชาติเยอรมันและอังกฤษเป็นต้น) ไม่มีใครจบประโยค ๙ เลยสักคนเดียว
แต่เรียนพระไตรปิฎกได้อย่างเชี่ยวชาญแตกฉานยิ่งกว่าคนไทยที่จบประโยค ๙
ทำได้อย่างไร?
ทำได้ เพราะเขาเรียนภาษาบาลี
เราต้องหักแนวคิดของเรากลับมาที่ตรงนี้-ตรงที่ภาษาบาลี
พระไตรปิฎกบันทึกไว้เป็นภาษาบาลี ดังนั้น จึงไม่มีใครสามารถเรียนรู้พระไตรปิฎกได้โดยไม่ต้องรู้ภาษาบาลี
โปรดอย่าเพิ่งนึกกระโดดข้ามขั้นไปที่พระไตรปิฎกแปล
นึกแบบนั้นจะหลงทาง
ชาติต่างๆ ที่เรียนภาษาบาลี เขาเรียนเพื่อเอาไปเป็นอุปกรณ์ในการศึกษาพระไตรปิฎก
เรียนภาษาบาลีแล้ว รู้พอแล้ว ก็มุ่งตรงไปที่พระไตรปิฎก ศึกษาพระไตรปิฎก จนกลายเป็นผู้แตกฉานในพระไตรปิฎกล้ำหน้าเรา
เหมือนคนเรียนหมอ เรียนจบแล้วก็มุ่งไปที่กระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วยทันที
ไม่ได้นั่งกระดิกขาให้เป็นเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูลอยู่กับบ้านเฉยๆ
เป็นอันว่า ถ้ารู้ภาษาบาลีก็เรียนพระไตรปิฎกได้ (อย่าลืม-อย่าเพิ่งนึกกระโดดข้ามขั้นไปที่พระไตรปิฎกแปล)
หัวใจของการเรียนพระไตรปิฎกจึงอยู่ที่-การรู้ภาษาบาลี
เหมือนหัวใจของกระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วยอยู่ที่-การเป็นหมอ
คนที่ไม่ได้เป็นหมอก็สามารถเข้าไปอยู่ในกระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วยได้ แต่ทำได้เป็นบางเรื่องเท่านั้น
ที่จะสามารถทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างดีที่สุดและดูแลรักษาได้อย่างถึงที่สุด-ก็ต้องเป็นหมอ
เหมือนคนที่จะเรียนพระไตรปิฎกได้อย่างดีที่สุดและเรียนได้อย่างถึงที่สุด-ก็ต้องรู้บาลี
……………….
ทีนี้ก็มาถึงประเด็น-ผู้ไม่รู้บาลีก็สามารถเรียนพระไตรปิฎกได้
ผู้ไม่รู้บาลีสามารถเรียนพระไตรปิฎกได้แน่นอน แต่เรียนได้เฉพาะพระไตรปิฎกที่แปลมาเป็นภาษาที่ตนอ่านออก
ถ้าเป็นคนไทย ก็ต้องเรียนจากพระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นภาษาไทย
ถ้าเป็นฝรั่ง ก็ต้องเรียนจากพระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษเป็นต้น
ถามว่า เรียนพระไตรปิฎกจากฉบับแปลไม่ได้หรือ? ผิดหรือ? ต้องเรียนจากฉบับภาษาบาลีเท่านั้นหรือ?
ได้สิครับ
ไม่ผิดสิครับ
ไม่เรียนจากฉบับบาลีก็ได้ครับ
แต่ผู้เรียนก็จะได้เห็นแต่หลักฐานที่เป็น secondary sources เท่านั้น
ถ้าแปลมาผิด ก็ไม่มีทางรู้
แล้วถ้าเกิดเอาหลักฐานผิดๆ นั้นไปอ้างอิงต่อไปอีก
ขอประทานโทษ-ฉิบหายละทีนี้
เหมือนที่เขาเล่ากันว่า-พระไตรปิฎกแปลเป็นไทยฉบับหนึ่งในที่แห่งหนึ่งพิมพ์ไว้ว่า
………………………………………………..
… อุปมาเหมือนต้นยางที่กรีดด้วยมือ …
………………………………………………..
คนอ่านข้อความตรงนี้แล้วก็สนใจมากเป็นพิเศษ พากันสันนิษฐานว่าในชมพูทวีปสมัยโน้นอาจจะมียางพันธุ์พิเศษที่สามารถใช้ “มือ” กรีดได้
แต่เมื่อผู้รู้ภาษาบาลีตรวจสอบพระไตรปิฎกฉบับบาลีดูแล้ว ปรากฏว่าคำว่า “กรีดด้วยมือ” นั้น ต้นฉบับภาษาบาลีเป็น “วาสิยา” ซึ่งแปลว่า “(กรีด) ด้วยมีด”
พระไตรปิฎกที่แปลเป็นไทยแล้วเอามาอ้างอิงต่อๆ กันฉบับนั้นพิมพ์ผิด พิมพ์คำว่า “มีด” เป็น “มือ”
ที่รู้ว่าผิดก็เพราะมีผู้สงสัยไปตรวจดูต้นฉบับบาลี
ที่ไปตรวจดูต้นฉบับบาลีได้ก็เพราะรู้ภาษาบาลี
กรณีแบบนี้ คนไม่รู้บาลีเรียนพระไตรปิฎกจากฉบับแปลจะทำอย่างไรกัน?
ถ้าไปเจอคำผิดที่อื่นอีกและผิดแบบอื่นอีก จะรู้หรือไม่ว่าผิด และจะทำอย่างไรกัน?
เรื่องแบบนี้ไม่ใช่ว่าจะไปจำกัดสิทธิ์ หรือกีดกันหวงห้าม สงวนไว้เฉพาะคนรู้บาลี
คนไม่รู้บาลีก็เรียนได้ แต่ฝากไว้ให้คิด
เจอปัญหาแบบนี้จะแก้ไขกันอย่างไร ต้องเตรียมลู่ทางไว้ให้ดี
ไม่มีความรู้ทางหมอ ไปเจอโรคที่ไม่รู้จัก จะรักษาอย่างไร
ผู้มีประสบการณ์จากการเรียนพระไตรปิฎกแปลจะต้องช่วยกันคิด
ขออนุญาตยกเรื่องไม่รู้บาลีมาสาธกแทรกไว้ตรงนี้เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น
คนไม่รู้บาลี แต่ชอบยกคำบาลีไปพูดผิดๆ – ที่ได้ยินกันอยู่เสมอก็อย่างเช่น –
อะโรคะยา ปะระมา ลาภา – พูดอย่างนี้กันทั่วบ้านทั่วเมือง
โดยที่คนพูดก็ไม่รู้ว่าผิดอย่างไร
คนฟังก็ไม่รู้ว่าผิดอย่างไร
แล้วก็แปลกันว่า “ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” หรือ “ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง”
ข้อความที่ถูกต้องของบาลีคำนั้นก็คือ “อาโรคฺยปรมา ลาภา” (อาโรค๎ยะปะระมา ลาภา)
ไม่ใช่ – อโรคยา ปรมา ลาภา (อะโรคะยา ปะระมา ลาภา)
อา– ไม่ใช่ อะ–
อาโรคฺย– ไม่ใช่ อโรคยา
อาโรคฺยปรมา – เขียนติดกัน เป็นคำเดียวกัน ไม่ใช่แยกเป็น อโรคยา คำหนึ่ง ปรมา อีกคำหนึ่ง
“อาโรคฺยปรมา ลาภา” แปลว่า “ลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง”
หมายความว่า เอา “ลาภ” คือรายได้หรือผลประโยชน์ร้อยอย่างพันอย่างมาวางเรียงกัน แล้วให้เลือกเอาที่ดีที่สุดมาอย่างเดียว ก็จะพบว่า “ความไม่มีโรค” ดีกว่า ยอดเยี่ยมกว่า ยิ่งกว่า “ลาภ” ทั้งหมด
นี่แหละคือความหมายของคำว่า “ลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง”
“ลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง” กับ “ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” หรือ “ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง” ความหมายคล้ายกันก็จริง แต่อรรถรสของภาษาแตกต่างกันมาก
อรรถรสที่ว่านี้ ไม่เรียนบาลีไม่มีทางเข้าใจ
……………….
อีกสักตัวอย่างหนึ่ง
พุทธภาษิตบทหนึ่งที่อ่านออกเสียงว่า นัด-ถิ-สัน-ติ-ปะ-รัง-สุ-ขัง
บาลีบทนี้ เมื่อนำไปเขียนหรือนำไปพูด มักคลาดเคลื่อน ๒ เรื่อง คือ –
(1) เขียนแยกคำไม่ถูกต้อง
คือมักแยกเป็น ๔ คำ คือ “นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ” (นตฺถิ / สนฺติ / ปรํ / สุขํ)
ที่ผิดก็คือแยก “สนฺติ” เป็นคำหนึ่ง และ “ปรํ” เป็นอีกคำหนึ่ง
แบบนี้ผิด
ที่ถูก “สนฺติ” กับ “ปรํ” ต้องเขียนติดกันเป็นคำเดียว
คือ “สนฺติปรํ” (สัน-ติ-ปะ-รัง)
นั่นคือข้อความทั้งวรรคเขียนเป็น “นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ” (นตฺถิ / สนฺติปรํ / สุขํ)
(2) แปลไม่ถูกต้อง
เท่าที่พบ มักแปลกันว่า “สุขอื่นนอกจากความสงบไม่มี”
แปล “สนฺติ” ว่า “ความสงบ” ซึ่งเป็นคำแปลที่ไม่ผิด
แปล “ปรํ” ว่า “อื่น” ซึ่งในที่นี้เป็นคำแปลที่คลาดเคลื่อน
รวมกันเป็นคำแปลว่า “อื่นจากความสงบ” ก็คือ-นอกจากความสงบ
เมื่อรวมทั้งประโยคจึงเป็น “สุขอื่นนอกจากความสงบไม่มี” ซึ่งเป็นคำแปลที่ผิดความจริง
คำว่า “นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ” (เป็นคาถา ๑ บาทหรือ ๑ วรรค) มาในพระไตรปิฎก
คัมภีร์อรรถกถาอธิบายว่า –
………..
สนฺติปรํ สุขนฺติ: นิพฺพานโต อุตฺตรึ อญฺญํ สุขํปิ นตฺถิ. อญฺญํ หิ สุขํ สุขเมว, นิพฺพานํ ปน ปรมสุขนฺติ อตฺโถ.
แปลว่า: สองบทว่า สนฺติปรํ สุขํ ความว่า แม้สุขอื่นยิ่งกว่าพระนิพพานย่อมไม่มี. อธิบายว่า ความจริงสุขอย่างอื่นก็เป็นสุขเหมือนกัน, แต่พระนิพพานเป็นสุขที่ยอดเยี่ยม (กว่าสุขอื่นๆ).
ที่มา: อัญญตรกุลทาริกาวัตถุ, ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๖ หน้า ๑๒๕
………..
ถ้าแปลว่า “สุขอื่นนอกจากความสงบไม่มี” ก็ย่อมผิดความจริง
ความจริงก็คือสุขอื่นๆ ก็ยังมี ไม่ใช่ไม่มี
เช่นสุขของคฤหัสถ์ ๔ อย่าง (สุขเกิดจากการมีทรัพย์ สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์บริโภค สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ สุขเกิดจากการทำงานที่ปราศจากโทษ) พระพุทธองค์ก็ตรัสสอนไว้เอง
จะว่า “สุขอื่นไม่มี” ได้อย่างไร
ประเด็นอยู่ตรงที่-แม้สุขอื่นๆ จะมีอยู่ก็จริง แต่ก็ไม่มีสุขใดที่ยอดเยี่ยมไปกว่าสันติ
สันติ (คือพระนิพพาน) จึงเป็นสุขที่ยอดเยี่ยมกว่าสุขอื่นๆ
เพราะฉะนั้น “นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ” จึงต้องแปลว่า สุขอื่น “ยิ่งกว่า” สันติไม่มี (ไม่มีสุขอื่นยิ่งกว่าสันติ)
ไม่ใช่ – สุขอื่น “นอกจาก” สันติไม่มี (ไม่มีสุขอื่นนอกจากสันติ) – ซึ่งผิดความจริง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สนฺติปรํ” ว่า higher than calm (สูงกว่าความสงบ) หมายความว่า สุขอื่นๆ ก็มี แต่สุขที่จะ “สูงกว่าความสงบ” ไม่มี
นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เอาไปพูดกันผิดๆ เพราะไม่รู้บาลี
ความเห็นของผมยังไม่หมดครับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒
๑๕:๑๕
…………………………….