บาลีวันละคำ

อันตรายิกธรรม (บาลีวันละคำ 2,721)

อันตรายิกธรรม

ศัพท์วิชาการที่ควรรู้

อ่านว่า อัน-ตะ-รา-ยิ-กะ-ทำ

ประกอบด้วยคำว่า อันตรายิก + ธรรม

(๑) “อันตรายิก

เขียนแบบบาลีเป็น “อนฺตรายิก” อ่านว่า อัน-ตะ-รา-ยิ-กะ รากศัพท์มาจาก อนฺตราย + อิก ปัจจัย

(ก) “อนฺตราย” (อัน-ตะ-รา-ยะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) “อนฺตร” ( = ระหว่าง) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง อิ เป็น อย ทีฆะ อะ เป็น อา (อิ > อย > อาย)

: อนฺตร + อิ > อย > อาย : อนฺตร + อาย = อนฺตราย + = อนฺตราย แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะที่ถึงในระหว่างจุติกับปฏิสนธิ” (2) “ภาวะเป็นเหตุให้ความสำเร็จแห่งการงานถึงความหยุดลงกลางคัน

(2) “อนฺตร” ( = ระหว่าง) + อายฺ (ธาตุ = เดือดร้อน) + ปัจจัย,

: อนฺตร + อายฺ = อนฺตราย + = อนฺตราย แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะเป็นเหตุให้เดือดร้อนในระหว่างจุติกับปฏิสนธิ

(3) “อนฺตร” ( = ระหว่าง) อา (คำอุปสรรค กลับความ) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง อิ ที่ อิ เป็น (อิ > อย)

: อนฺตร + อา = อนฺตรา + อิ > อย = อนฺตราย + = อนฺตราย แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่มาในระหว่าง” (พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลตรงกันว่า “coming in between”)

อนฺตราย” หมายถึง อุปสรรค, การขัดขวาง, สิ่งกีดขวาง, การป้องกัน, เครื่องกีดขวาง, อันตราย, อุบัติเหตุ (obstacle, hindrance, impediment; prevention, bar; danger, accident)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อันตราย : (คำนาม) เหตุที่อาจทําให้ถึงแก่ความตายหรือพินาศ. (ป., ส. อนฺตราย ว่า อุปสรรคหรือภัยอันมาในระหว่าง).”

(ข) อนฺตราย + อิก = อนฺตรายิก (อัน-ตะ-รา-ยิ-กะ) แปลว่า “มีอันตราย” “เป็นอันตราย” “ทำอันตราย

(๒) “ธรรม

บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้

ในที่นี้ “ธมฺม” มีความหมายตามข้อ (4)

ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

อนฺตรายิก + ธมฺม = อนฺตรายิกธมฺม > อันตรายิกธรรม แปลว่า “สิ่งที่ทำอันตราย” หมายถึง ข้อขัดข้องหรือเหตุขัดขวางทำให้ไม่บรรลุผลที่ต้องการ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ว่า –

อันตรายิกธรรม : ธรรมอันกระทำอันตราย คือ เหตุขัดขวางต่างๆ เช่นเหตุขัดขวางการอุปสมบท ๑๓ อย่าง มีการเป็นโรคเรื้อน เป็นต้น.”

ขยายความ :

อันตรายิกธรรม” ที่เข้าใจกันทั่วไปคือ ข้อห้ามและคุณสมบัติของผู้ที่จะอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา อาจเรียกว่า “อันตรายิกธรรมทางวินัย” มี 13 ข้อ ดังนี้ –

(1) กุฏฺฐํ = ไม่เป็นโรคเรื้อน

(2) คณฺโฑ = ไม่เป็นฝี

(3) กิลาโส = ไม่เป็นโรคกลาก

(4) โสโส = ไม่เป็นโรคมองคร่อ

(5) อปมาโร = ไม่เป็นโรคลมบ้าหมู

(6) มนุสฺโสสิ = เป็นมนุษย์

(7) ปุริโสสิ = เป็นผู้ชาย

(8) ภุชิสฺโสสิ = เป็นไทแก่ตัว (ไม่เป็นทาสใคร)

(9) อนโณสิ = ไม่มีหนี้สิน

(10) นสิ ราชภโฏ = ไม่เป็นราชภัฏ คือไม่เป็นข้าราชการ ถ้าเป็น ต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการแล้ว)

(11) อนุญฺญาโตสิ มาตาปิตูหิ = มารดาบิดาอนุญาต

(12) ปริปุณฺณวีสติวสฺโสสิ = มีอายุครบ 20

(13) ปริปุณฺณนฺเต ปตฺตจีวรํ = มีบาตรจีวรครบ

ผู้ที่เคยเข้าไปสังเกตการณ์ในพิธีอุปสมบท ย่อมจะได้เห็นตอนที่พระคู่สวดยืนสวดตรงหน้าผู้อุปสมบทนอกที่ชุมนุมสงฆ์ นั่นคือการตรวจสอบ “อันตรายิกธรรม” เหล่านี้

“อันตรายิกธรรมทางวินัย” นี้ มิใช่มีเฉพาะผู้จะอุปสมบทเป็นภิกษุ แม้ผู้จะอุปสมบทเป็นภิกษุณีก็ต้องมีเช่นกัน เพียงแต่เรามักจะไม่รู้กันเพราะในคณะสงฆ์เถรวาทในปัจจุบันไม่มีการบวชภิกษุณี

อันตรายิกธรรม” ของผู้ที่จะอุปสมบทเป็นภิกษุณีมี 24 ข้อ ดังนี้ –

(1) นสิ อนิมิตฺตา = ไม่มีเครื่องหมายเพศ

(2) นสิ นิมิตฺตมตฺตา = สักแต่ว่ามีเครื่องหมายเพศ

(3) นสิ อโลหิตา = ไม่มีประจำเดือน

(4) นสิ ธุวโลหิตา = มีประจำเดือนไม่หยุด

(5) นสิ ธุวโจฬา = ใช้ผ้าซับในเสมอ

(6) นสิ ปคฺฆรนฺตี = มีประจำเดือนไหลซึม

(7) นสิ สิขริณี = มีเดือย

(8) นสิ อิตฺถีปณฺฑกา = เป็นบัณเฑาะก์หญิง

(9) นสิ เวปุริสิกา = มีลักษณะคล้ายชาย

(10) นสิ สมฺภินฺนา = มีทวารหนักทวารเบาติดกัน

(11) นสิ อุภโตพฺยญฺชนกา = มีสองเพศ

[ข้อ (1) ถึง (11) เป็นข้อห้าม ถ้ามีลักษณะตามนี้คือขาดคุณสมบัติ]

(12) กุฏฺฐํ = ไม่เป็นโรคเรื้อน

(13) คณฺโฑ = ไม่เป็นฝี

(14) กิลาโส = ไม่เป็นโรคกลาก

(15) โสโส = ไม่เป็นโรคมองคร่อ

(16) อปมาโร = ไม่เป็นโรคลมบ้าหมู

(17) มนุสฺสาสิ = เป็นมนุษย์

(18) อิตฺถีสิ = เป็นผู้หญิง

(19) ภุชิสฺสาสิ = เป็นไทแก่ตัว (ไม่เป็นทาสใคร)

(20) อนณาสิ = ไม่มีหนี้สิน

(21) นสิ ราชภฏี = ไม่เป็นราชภัฏ

(22) อนุญฺญาตาสิ มาตาปิตูหิ สามิเกน = มารดาบิดาอนุญาต ถ้ามีสามี สามีต้องอนุญาต

(23) ปริปุณฺณวีสติวสฺสาสิ = มีอายุครบ 20

(24) ปริปุณฺณนฺเต ปตฺตจีวรํ = มีบาตรจีวรครบ

อันตรายิกธรรม” อีกประเภทหนึ่งไม่เกี่ยวกับทางพระวินัย อาจเรียกว่า “อันตรายิกธรรมทางธรรม” คือการกระทำที่ใครทำเข้าหรือใครเป็นเช่นนั้นก็จะไม่อาจบรรลุมรรคผลในพระพุทธศาสนาได้ (ห้ามมรรคผลนิพพาน) หรือไม่อาจทำกุศลเป็นเหตุให้เกิดในสวรรค์ได้ (ห้ามสวรรค์)

อันตรายิกธรรม” ส่วนนี้มี 5 ประการ คือ –

(1) กรรม : หมายถึงผู้ทำอนันตริยกรรม 5 อย่าง (ฆ่าบิดา ฆ่ามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป ทำสงฆ์ให้แตกกัน)

(2) กิเลส : หมายถึงมิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรมชนิดดื้อรั้นถึงที่สุดไม่เปลี่ยนความคิด

(3) วิบาก : หมายถึงการเกิดในทุคติคือกำเนิดที่ไม่อาจรับรู้คุณธรรมบาปบุญใดๆ ได้ เช่นเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานเป็นต้น

(4) อริยูปวาท : คือการว่าร้ายใส่ร้ายพระอริยะ

(5) อาณาวีติกกมะ : หมายถึงการที่ภิกษุสามเณรทุศีลจงใจละเมิดสิกขาบทโดยปราศจากความละอายแก่ใจ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: นักเลงจริงไม่ต้องเชื่อนรกสวรรค์

: รอให้ถึงวันนั้นก็ได้เจอของจริง

#บาลีวันละคำ (2,721)

24-11-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย