เอกังสัง (บาลีวันละคำ 2,722)
เอกังสัง
ห่มลดไหล่
อ่านว่า เอ-กัง-สัง
“เอกังสัง” เขียนแบบบาลีเป็น “เอกํสํ” แยกศัพท์เป็น เอก + อํส
(๑) “เอก”
บาลีอ่านว่า เอ-กะ รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป, ตั้งอยู่) + ณฺวุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น เอ, แปลง ณฺวุ เป็น อก
: อิ > เอ + ณฺวุ = เอณฺวุ > เอก แปลตามศัพท์ว่า (1) “ไปตามลำพัง” (คือไม่มีเพื่อนไปด้วย) (2) “ดำรงอยู่ในความเป็นหนึ่งเดียวเพราะไร้ผู้เหมือนกัน”
“เอก” ในบาลีใช้ใน 2 สถานะ คือ :
(1) เป็นสังขยา (คำบอกจำนวน) เช่น “ชายหนึ่งคน” เน้นที่จำนวน 1 คน = มุ่งจะกล่าวว่าชายที่เอ่ยถึงนี้มีเพียง “หนึ่งคน”
(2) เป็นคุณศัพท์ เช่น “ชายคนหนึ่ง” ไม่เน้นที่จำนวน = มุ่งจะกล่าวถึงชายคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
“เอก” หมายถึง หนึ่ง, หนึ่งเดียว, ดีที่สุด
(๒) “อํส” (อัง-สะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) อนฺ (ธาตุ = มีชีวิตอยู่) + ส ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็นนิคหิต (อนฺ > อ + อํ = อํ)
: อนฺ > อ + อํ = อํ + ส = อํส แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องดำรงชีวิต”
(2) อมฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ส ปัจจัย, แปลง มฺ ที่สุดธาตุเป็นนิคหิต (อมฺ > อ + อํ = อํ)
: อมฺ > อ + อํ = อํ + ส = อํส แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะที่เป็นไป” (2) “ส่วนที่เป็นไปตามปกติ”
“อํส” ในภาษาบาลีหมายถึง –
(1) บ่า (the shoulder)
(2) ส่วน, ข้าง (a part, side)
(3) จุด, มุม, ขอบ (point, corner, edge)
ในภาษาสันสกฤตมีคำว่า “อํศ” (-ศ ศ ศาลา) และ “อํส” (-ส ส เสือ) มีความหมายอย่างเดียวกัน
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อํศ : (สกรรมกริยา; a transitive verb.) แยกหรือแบ่ง; to separate or divide;- (คำนาม) หุ้นส่วน, ภาค, บ่า; a share, a part, a shoulder.”
อํส, อํศ ในภาษาไทย:
“อํส” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อังสะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อังส-, อังสะ : (คำนาม) เรียกผ้าที่พระภิกษุสามเณรใช้ห้อยเฉวียงบ่าว่า ผ้าอังสะ; ส่วน, ภาค; ส่วนของมุม. (ป. อํส).”
“อํส” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อังสา” หมายถึง บ่า, ไหล่.
“อํศ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “องศา” พจน.54 บอกความหมายไว้ว่า –
(๑) หน่วยในการวัดขนาดของมุม โดยกําหนดให้มุมที่รองรับโค้ง ๑ ใน ๓๖๐ ส่วนของเส้นรอบวง มีขนาด ๑ องศา และ ๙๐ องศา เป็น ๑ มุมฉาก.
(๒) หน่วยในการวัดอุณหภูมิตามชนิดของเครื่องวัด.
(๓) (คำที่ใช้ในโหราศาสตร์) ส่วนหนึ่งของจักรราศี คือ วงกลมในท้องฟ้า แบ่งจักรราศีออกเป็น ๑๒ ราศี และแบ่ง ๑ ราศีออกเป็น ๓๐ องศา ฉะนั้นวงกลมจึงเท่ากับ ๓๖๐ องศา.
ในภาษาไทย เมื่อพูดว่า “องศา” ความเข้าใจของคนทั่วไปมักจะหมายถึง “หน่วยในการวัดอุณหภูมิ” เช่น วันนี้จังหวัดสุโขทัยร้อนถึง 40 องศา
ในที่นี้ “อํส” รูปคำบาลี ใช้ในความหมายว่า บ่า,ไหล่
เอก + อํส = เอกํส (เอ-กัง-สะ) แปลตามศัพท์ว่า “บ่าข้างหนึ่ง” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง เป็นของบ่าข้างหนึ่ง, บนบ่าข้างหนึ่ง (belonging to one shoulder, on or with one shoulder)
“เอกํส” ในภาษาไทยเขียนเป็น “เอกังส” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำที่ขึ้นต้นว่า “เอกังส-” ไว้ 2 คำ คือ “เอกังสพยากรณ์” และ “เอกังสวาที” บอกไว้ดังนี้ –
(1) เอกังสพยากรณ์ [เอกังสะพะยากอน] : (คำนาม) “การพยากรณ์โดยส่วนเดียว” หมายถึง การพยากรณ์เด็ดขาดเพียงสถานเดียวโดยไม่มีข้อแม้ เช่น พราหมณ์โกณฑัญญะพยากรณ์สิทธัตถราชกุมารว่าจะต้องออกบวชและตรัสรู้เป็นศาสดาเอกของโลกอย่างแน่นอน จัดเป็น เอกังสพยากรณ์, การตอบปัญหาที่ผู้ถามถามอย่างชัดเจน สามารถตอบได้อย่างแจ่มแจ้งทันที.
(2) เอกังสวาที : (คำนาม) “ผู้กล่าวโดยส่วนเดียว” หมายถึง ผู้กล่าวยืนยันเด็ดขาดเพียงสถานเดียวโดยไม่มีข้อแม้.
อภิปรายขยายความ :
“เอกังสัง” ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำยกขึ้นมาเสนอนี้ยังไม่มีในภาษาไทย ในภาษาบาลีก็ยังไม่ใช่คำสำเร็จรูป หมายความว่าต้องมีคำอื่นมาประกอบอีกจึงจะมีความหมาย
ข้อความเต็มๆ ที่พบบ่อยในบาลีมักเป็น “เอกํสํ อุตฺตราสงฺคํ กโรติ” (เอกังสัง อุตตะราสังคัง กะโรติ) แปลตามตัวว่า “ทำผ้าอุตราสงค์ (ผ้าห่ม) ให้มีบ่าข้างหนึ่ง” หมายถึง ห่มผ้าเฉวียงบ่า คือปิดบ่าซ้าย เปิดบ่าขวา
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เอกํสํ อุตฺตราสงฺคํ กโรติ” ว่า to arrange the upper robe over one shoulder (the left) (จัดวางผ้าอุตราสงค์คลุมบ่าข้างหนึ่ง [บ่าซ้าย])
“เอกังสัง” ที่หมายถึงห่มผ้าเฉวียงบ่านี้ เป็นมารยาทอย่างหนึ่งของชาวชมพูทวีป คือผู้ที่อยู่ในที่ชุมนุมเมื่อต้องการแสดงความเห็นหรือขออนุญาตทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่งต่อที่ชุมนุมนั้น ก็จะเริ่มด้วย “เอกํสํ อุตฺตราสงฺคํ กโรติ” = “ทำผ้าห่มเฉวียงบ่า” เป็นกิริยาแสดงความเคารพต่อที่ประชุม
พระภิกษุในพระพุทธศาสนารับเอามารยาท “เอกังสัง” มาใช้ด้วย เมื่อเข้าไปสู่อาวาส วิหาร ลานพระเจดีย์ หรือปูชนียสถานใดๆ ก็จะทำกิริยา “เอกังสัง”
พระภิกษุในเมืองไทยย่อมถือเป็นมารยาทที่สำคัญมาก เช่นไปต่างวัด พอย่างเข้าประตูวัดนั้นก็จะ “เอกังสัง” ทันที เรียกรู้กันด้วยคำว่า “ลดไหล่” หรือ “ห่มลดไหล่”
คำว่า “ลดไหล่” หรือ “ห่มลดไหล่” เป็นคำเรียกเทียบกับ “ห่มคลุม” คือห่มผ้าปิดไหล่ทั้งสองข้าง (ใช้เมื่อไปนอกวัดหรือเข้าบ้าน) เมื่อห่มเปิดไหล่ข้างหนึ่ง จึงเรียกกันว่า “ลดไหล่” คือลดผ้าลงจากไหล่ข้างหนึ่ง หรือจะว่าลดจำนวนไหล่ที่ผ้าปิดไว้ลงข้างหนึ่ง จากปิด 2 ข้าง ลดลงเหลือข้างเดียว ดังนี้ก็ได้
เมื่ออยู่ภายในวัด หรือเมื่อทำกิจกรรม-พิธีการใดๆ ภายในวัด พระภิกษุจะใช้วิธีครองผ้าแบบ “เอกังสัง” – ห่มลดไหล่เสมอ
วันหนึ่ง ผู้เขียนบาลีวันละคำกำลังนั่งสนทนาธรรมอยู่กับพระธรรมปัญญาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ราชบุรี ในศาลาบำเพ็ญกุศล มีพระภิกษุมาจากต่างวัด 3 รูป ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นแต่ไกลว่า ท่านลงจากรถแล้วยืนครองผ้าเตรียมเข้ามาหาท่านเจ้าอาวาส แล้วก็ละสายตา มาเห็นอีกทีก็เมื่อท่านเข้ามาในศาลาแล้วเข้ามากราบท่านเจ้าอาวาส จึงได้เห็นว่าทุกรูปครองจีวรแบบที่เรียก “ห่มคลุม” คือห่มปิดไหล่ทั้ง 2 ข้าง
ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นแล้วก็ตกใจว่าท่านไม่รู้มารยาทการครองจีวรภายในวัดหรืออย่างไร ยิ่งทราบภายหลังว่าเป็นพระที่มากวัดชื่อดังมากๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี ก็ยิ่งตกใจยิ่งขึ้นว่า เดี๋ยวนี้การอบรมสั่งสอนถ่ายทอดสรรพวิทยาการต่างๆ ในหมู่ชาววัดมาเสื่อมสูญขาดตอนลงไปแล้วหรือไร
มารยาทครองจีวรแบบ “เอกังสัง” – ห่มลดไหล่ ที่พระสมัยก่อนรู้กันดี พระสมัยนี้ไม่รู้จักเสียแล้วหรือ?
นี่คือสาเหตุที่ยกเอาคำว่า “เอกังสัง” – ห่มลดไหล่ มาเขียนเป็นบาลีวันละคำ
ขอวิงวอนให้ชาวเราช่วยกันพูดและจำความหมายของคำว่า “เอกังสัง” – ห่มลดไหล่ ให้ติดปากติดใจด้วยเถิด
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เรื่องของตัวเองก็ยังโง่ๆ เซ่อๆ
: แล้วยังคิดจะโกอินเตอร์กันอยู่อีกฤๅ
#บาลีวันละคำ (2,722)
25-11-62