บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

จงเรียกมันว่าความเสื่อม (1)

จงเรียกมันว่าความเสื่อม (10) 

จงเรียกมันว่าความเสื่อม (10) 

—————————-

ตอน-ท่าทีของเพื่อนแท้

เมื่อก่อน เวลาอ่านหนังสือผมจะถือดินสอไว้ด้วย ถ้าเจอคำที่สะกดผิดก็จะเอาดินสอกาเป็นวงรอบคำไว้ เป็นการเตือนสติตัวเองว่าอย่าเขียนผิดแบบนี้

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าคำไหนเขียนผิดเขียนถูก?

ตรงนี้แหละครับสำคัญ วิธีที่ผมใช้ก็คือตั้งข้อสงสัยไว้ทุกคำที่ควรสงสัย

เช่นคำว่า “โรงเรียน”

อย่างนี้ไม่ใช่คำที่ควรสงสัย เพราะมันชัดอยู่แล้วว่าต้องสะกดแบบนี้

แต่ถ้า “เลียนแบบ” “แบบเรียน”

อย่างนี้น่าจะต้องสงสัยนิดๆ ว่าคำไหน “เลียน” คำไหน “เรียน”

แบบนี้ผมก็แก้ปัญหาด้วยการเปิดพจนานุกรมทบทวนความรู้

แต่ถ้าไปเจอคำศัพท์หรือคำแปลกๆ อย่างเช่น –

“บุคลากร” ค ควายกี่ตัว?

“อุตริมนุสธรรม” อุตริ ต เต่ากี่ตัว มนุสธรรม ส เสือกี่ตัว มนุสธรรม หรือ มนุษยธรรม?

แบบนี้ผมก็เปิดพจนานุกรมอีกนั่นแหละ แต่เป็นการเปิดเพื่อหาความรู้หรือเพิ่มเติมความรู้ว่าสะกดอย่างไรแน่และมีความหมายอย่างไร

ผมเข้าใจว่าคนสมัยนี้ไม่เปิดพจนานุกรมกันแล้ว หากแต่สะกดคำไปตามที่เคยหรือที่เข้าใจเอาเองว่าแบบนี้แหละถูกแล้ว 

และเมื่อเขียนไปแล้วก็ปล่อยเลยตามเลย ผิดถูกไม่หันหลังมามองอีก

ไม่น่าเชื่อว่า นักเขียนเฟซบุ๊กหลายๆ ท่านที่เขียนหนังสือน่าอ่านอย่างยิ่ง แต่สะกดคำบางคำ-หลายคำผิด ไม่ใช่ผิดเพราะเผลอ แต่ผิดเพราะเข้าใจว่าสะกดอย่างนั้นถูกต้องแล้ว

ยิ่งเป็นคำวัดๆ ด้วยแล้ว หายห่วง

นักเขียนท่านหนึ่งสะกดคำว่า “ปวารณา” เป็น “ปราวนา” 

ไม่ใช่เผลอ แต่สะกดอย่างนี้ทุกครั้ง

“อิริยาบถ” สะกดเป็น “อิริยาบท” หรือไม่ก็ “อริยาบท”

“กิริยาอาการ” สะกดเป็น “กริยาอาการ” โดยไม่รับรู้ว่า “กิริยา” กับ “กริยา” ในภาษาไทยใช้ต่างกันอย่างไร

ต่างๆ นาๆ 

ได้รับเงินเดือน ๆ ละ …

นี่แค่เรื่องสะกดการันต์

นอกจากนั้นยังมีสำนวนภาษา โครงสร้างของประโยค ประธาน กรรม กริยา และ หรือ จึง ก็ กับ แก่ แต่ ต่อ …

และนี่ก็เพียงเรื่องเดียว คือเรื่องภาษาและการใช้ภาษา

ถ้าขยายไปถึงเรื่องอื่นๆ เช่น ความคิดเห็นที่พลาด ความเข้าใจที่ผิด ตลอดจนการกระทำที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนต่างๆ ที่เราได้รู้ ได้เห็น ได้พบ ได้สัมผัส หรือได้เกี่ยวข้องในฐานะต่างๆ ก็จะมีเรื่องราวอีกเป็นอเนกอนันต์

คำถามคือ เราจะทำอย่างไรดี?

ทักท้วง ติงเตือน แนะนำ

หรือปล่อยไปตามบุญตามกรรม ถือว่าธุระไม่ใช่

———————-

ธรรมชาติอย่างหนึ่งของคนเราคือ ไม่ชอบให้ใครมาชี้ข้อบกพร่อง

ถ้าใครมาบอกว่า คำนี้คุณเขียนผิด เรื่องนี้คุณเข้าใจผิด ฯลฯ คนส่วนใหญ่จะไม่พอใจ

ถ้าคนมาบอกมีสถานะต่ำกว่า ก็จะโต้กลับอย่างดุเดือด … เอ็งเป็นใคร อวดดีอย่างไรมาว่าข้า

ถ้าคนมาบอกมีสถานะสูงกว่า ก็จะฮึดฮัดขัดเคืองอยู่ในใจ หรือบ่นว่าลับหลัง … หนอย ถือว่าใหญ่กว่า ทำเป็น … 

และธรรมชาติอย่างหนึ่งของคนไทย คือ มักเกรงใจคนทำผิด 

ลองสังเกตดูเถิด แม้แต่ชื่อ แม้แต่หน้า ก็ไม่กล้าเอามาเปิดเผย กลัวเขาจะเสียหาย ไม่ต้องว่าถึงขั้นที่จะไปชี้แนะบอกกล่าว 

ยิ่งถ้าผู้ทำผิดพลาดบกพร่องเป็นผู้ใหญ่กว่าด้วยแล้ว ยิ่งไม่กล้าแตะ

เวลานี้ คำหนึ่งที่มักมีผู้ยกขึ้นมาอ้างคือ “จับผิด” เช่น –

คนนี้ชอบจับผิด 

อย่าเที่ยวไปจับผิดใครเขา

น่าประหลาดที่คนเดี๋ยวนี้ แยกไม่ออกระหว่าง “จับผิด” กับ “ชี้โทษ”

จับผิด (รนฺธคเวสก) คือเรื่องยังไม่ปรากฏ แต่ไปเที่ยวขุดคุ้ยข้อบกพร่องของเขาขึ้นมาพูดเพื่อให้เขาเสียหาย-เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ

ชี้โทษ (วชฺชทสฺสี) คือข้อบกพร่องผิดพลาดปรากฏอยู่ตรงหน้าโต้งๆ ชัดๆ แต่เจ้าตัวไม่รู้ หรืออาจไม่ทันรู้ตัว เราบอกให้เขารู้ด้วยความปรารถนาดี-เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ควรรู้กาละ เทศะ จังหวะเวลา

เวลานี้คนเราแยกไม่ออกว่าอย่างไรจับผิด อย่างไรชี้โทษ 

มองการชี้โทษเป็นการจับผิดไปหมด

พอใครอ้าปากจะชี้โทษ เป็นต้องถูกขนาบทันทีว่า-ไม่ควรไปเที่ยวจับผิดชาวบ้านเขา

ผสมกับธรรมชาติคนไทยเกรงใจคนทำผิดเข้าด้วย ก็พอดีกัน 

เห็นใครทำผิด ก็ไม่มีใครกล้าทักท้วงติงเตือน

คนทำผิดก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนทำนั้นผิด

คนรู้ก็ไม่กล้าเตือน 

ไม่อยากเตือน 

ไม่อยากเปลืองตัว

หรือพออ้าปากจะเตือน ก็มีเสียงตวาด-มาเที่ยวจับผิดชาวบ้านอยู่ได้ ว่างมากงั้นรึ

คนทำผิด จึงยังคงทำผิดเรื่อยไปเพราะไม่รู้ ไม่มีใครเตือน

พอจะมีใครเตือน ก็ถูกสกัดด้วยคำว่า-เอาแต่จับผิดชาวบ้าน

เท่ากับช่วยกันปกป้องการทำผิดให้ดำรงอยู่และขยายตัวต่อไป

นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม

และพวกเรานี่แหละที่ร่วมมือกันทำให้มันเกิด

…………….

ผมเคยเขียนบาลีวันละคำแล้วลงท้ายว่า –

ดูก่อนภราดา!

: เพื่อนแท้ย่อมไม่ปล่อยให้เพื่อนลืมรูดซิปกางเกง

: แล้วเดินเป็นนักเลงไปทั่วบ้านทั่วเมือง

เวลานี้สังคมกำลังเป็นเหมือน-เพื่อนที่ปล่อยให้เพื่อนทำแบบนั้น 

เราควรจะเรียกสภาพเช่นนี้ว่าอะไรดี

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๐

๑๒:๔๒

……………..

ตอน 11 นักฉวยโอกาสที่น่ารังเกียจ

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………..

ตอน 9 คุณสมบัติของผู้บริหารบ้านเมือง

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………..

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *