จงเรียกมันว่าความเสื่อม (1)
จงเรียกมันว่าความเสื่อม (13)
——————————-
ตอน-ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล
ญาติมิตรทั้งหลายคงจะเคยได้ยินคำอุทิศส่วนบุญที่เป็นคำกลอนขึ้นต้นว่า “ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล” กันมาบ้างแล้ว บางท่านอาจจะเคยกล่าว เคยเขียน เคยใช้ด้วยตัวเอง
แต่สิ่งหนึ่งที่ถ้าสังเกตก็จะเห็น ก็คือ ถ้อยคำสำนวนที่ปรากฏต่อๆ มามักจะผิดแผกแตกต่างกันออกไป
ผมเปิดดูในห้องสารพัดนึก google เห็นมีวางล่อตาอยู่หลากหลาย ขออนุญาตนำมาอ่านกันเพื่อให้เห็นว่าแต่ละสำนวนแตกดอกออกช่อกันไปขนาดไหนสัก ๒-๓ สำนวน
สำนวนหนึ่งว่าดังนี้ –
ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล
บุญกุศลนี้แผ่ไปให้ไพศาล
ถึงบิดามารดาครูอาจารย์
ทั้งลูกหลานญาติมิตรสนิทกัน
ทั้งคนรักคนชังแต่ครั้งไหน
ขอให้ได้ในกุศลผลของฉัน
ทั้งเจ้ากรรมนายเวรและเทวัน
ขอให้ท่านได้กุศลผลนี้เทอญ.
ขอเดชะ ตั้งจิต อุทิศผล
บุญกุศล นี้แผ่ไป ให้ไพศาล
ถึงบิดา มารดา ครูอาจารย์
ทั้งลูกหลาน ญาติมิตร สนิทกัน
ผู้เคยร่วม กิจการ งานทั้งหลาย
ขอจงได้ ในกุศล ผลของฉัน
ทั้งเจ้ากรรม นายเวร และเทวัญ
ขอให้ท่าน ได้กุศล ผลนี้เทอญ ฯ
สำนวนหนึ่งว่าดังนี้ –
ขอเดชะ ตั้งจิตอุทิศผล
บุญกุศลนี้แผ่ไปให้ไพศาล
ถึงบิดา มารดา ครูอาจารย์
ทั้งลูกหลานญาติมิตรสนิทกัน
ทั้งคนเคยร่วมรักสมัครใคร่
ขอให้ได้ส่วนกุศลผลของฉัน
ทั้งพระราชา พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา
คณะรัฐบาล ทหาร ตำรวจ
และสาธุชนทั้งหลายที่ช่วยบำรุงพระพุทธศาสนา
ขอให้ได้ส่วนกุศลผลของฉัน
ทั้งเจ้ากรรมนายเวร และเทวัญ
มีพระอินทร์ พระพรหม พระยม พระกาฬ
ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔
พระภูมิเจ้าที่ นางพระธรณี
พระเพลิง พระพาย พระแม่โพสพ
พระแม่คงคา ตลอดทั้งสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ดวงวิญญาณทั้งหลาย
ที่ได้รับความทุกข์ ขอให้พ้นจากทุกข์
ที่ได้รับความสุข ขอให้สุขยิ่งๆขึ้นไป
ขอให้ท่านทั้งหลาย เหล่านั้น
จงได้รับอนุโมทนากุศลผลบุญ
ที่ข้าพเจ้าทั้งหลายได้บำเพ็ญกันแล้วในวันนี้
จงได้รับกันทุกคน ทุกตน เทอญฯ
สำนวนหนึ่งว่าดังนี้ –
ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล
บุญกุศลแผ่ไปให้ไพศาล
ถึงบิดามารดาครูอาจารย์
ทั้งลูกหลานญาติมิตรสนิทกัน
คนเคยรักเคยชังแต่ครั้งไหน
ขอให้ได้บุญกุศลผลของฉัน
ทั้งเจ้ากรรมนายเวรและเทวัญ
ขอให้ท่านได้กุศลและผลบุญ
อีกปู่ย่าตายายทั้งหลายนั้น
ขอให้ท่านได้กุศลผลอุดหนุน
ทหารตำรวจตรวจแดนไทยจงได้บุญ
ช่วยป้องกันศัตรูภัยได้บุญนี้
สำหรับท่านหมั่นปฏิบัติวิปัสสนา
ขอให้พาได้พบสุขทุกวิถี
ประสบพบนิพพานของญาณมุนี
ในชาตินี้มีมรรคผลทุกคนเทอญ
สำนวนหนึ่งว่าดังนี้ –
ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล
บุญกุศลนี้แผ่ไปให้ไพศาล
ถึงบิดามารดาครูอาจารย์
ทั้งลูกหลานญาติมิตรสนิทกัน
ทั้งคนเคยร่วมกิจการงานทั้งหลาย
มีส่วนได้ในส่วนกุศลผลของฉัน
ทั้งเจ้ากรรมนายเวรและเทวัญ
ขอให้ได้ในส่วนกุศลผลบุญ
อีกปู่ย่า ตา ยาย ทั้งหลายนั้น
ขอให้ท่านได้กุศลผลอุดหนุน
ประชาชนคนทั้งหลาย รวมทั้งผู้ถวายปัจจัยสี่จงได้บุญ
ทั้งค้ำจุนสรรพสัตว์ทั้งหลายทุกชาติชั้นวรรณะ
ทุกศาสนาทุกภาษา ที่มีอยู่ทั่วทุกมุมแห่งโลก
จงได้รับส่วนบุญส่วนกุศลที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญมาแล้วนี้
จงทุกตนทุกคนเถิด
………..
หาอีก ก็คงเจอสำนวนแปลกๆ ออกไปอีกเป็นอเนกอนันต์
แต่ที่สำคัญก็คือ ไม่มีใครสนใจว่าข้อความตามสำนวนไหนถูกผิดอย่างไร
ใครชอบใจสำนวนไหนก็คว้าเอาไปใช้ตามใจชอบ
สมมุติว่าท่านเป็นเจ้าของสำนวนกลอนอุทิศส่วนบุญ “ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล” เป็นคนแรกที่แต่งกลอนบทนี้ขึ้นมา แล้วมาได้เห็นคนเอาไปพูดเอาไปบอกเอาไปเขียนเอาไปอ่านเอาไปอ้างชนิดแตกดอกออกช่อจนแทบไม่เห็นต้นเดิม-แบบนี้ ท่านจะทำอย่างไร?
——————–
วัดมหาธาตุราชบุรีสมัยผมเป็นสามเณรมาเรียนบาลี มีธรรมเนียมปฏิบัติอยู่อย่างหนึ่ง คือในพรรษาพระเณรลงทำวัตรสวดมนต์ตอนตีสี่ทุกวัน ยกเว้นวันพระ พอทำวัตรสวดมนต์เสร็จก็จะมีพระเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอ่านหนังสือให้พระเณรฟัง
หนังสือที่อ่านประจำคือ “เมื่อเราบวช” พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารีมหาเถระ) เป็นผู้แต่ง อ่านวันละประมาณ ๓-๔ หน้า พอสมควรแก่เวลา ต่อด้วยการปฏิบัติจิตภาวนาตามควรแก่สติกำลังจนกระทั่งได้เวลาออกบิณฑบาต
หนังสือ “เมื่อเราบวช” นี้ พออ่านเสร็จก็จะวางไว้ใต้โต๊ะหมู่บูชาในพระอุโบสถนั่นเอง เป็นโอกาสให้ผมแอบไปเปิดดูอยู่บ่อยๆ
ในหนังสือเล่มนี้แหละที่ผมได้เห็นคำกลอน “ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล” อันเป็นต้นฉบับที่พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารีมหาเถระ) เป็นผู้แต่ง
พอมาเห็นกลอน “ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล” สำนวนแตกดอกออกช่อที่เผยแพร่กันอยู่ทุกวันนี้ ผมก็คิดถึงหนังสือ “เมื่อเราบวช” ขึ้นมา แต่ผมไม่มีหนังสือเล่มนี้ จึงถามไปยังมิตรสหาย ก็มีท่านผู้หนึ่งบอกว่าท่านมี ผมก็ขอให้ท่านช่วยดูให้ทีว่ามีคำกลอนบทนี้หรือไม่ ถ้ามีก็ขอแรงถ่ายรูปข้อความที่เป็นคำกลอนนั้นส่งมาให้หน่อย
ปรากฏว่าในหนังสือ “เมื่อเราบวช” มีคำกลอนบทนี้จริงๆ ญาติมิตรท่านนั้นก็ถ่ายส่งมาให้ตามภาพประกอบที่เห็นอยู่นั้น
——————–
คำกลอน “ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล” ตามต้นฉบับเป็นดังนี้ –
ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล
บุญกุศลนี้ไปให้ไพศาล
ถึงบิดามารดาและอาจารย์
ทั้งลูกหลานญาติมิตรสนิทกัน
คนเคยร่วมเคยรักสมัครใคร่
มีส่วนได้ในกุศลผลของฉัน
ทั้งเจ้ากรรมนายเวรและเทวัญ
ขอให้ท่านได้กุศลผลนี้ เทอญฯ
………….
หมายเหตุ
คำว่า “เทวัญ” ในต้นฉบับหนังสือสะกดผิดเป็น “เทวัน”พจนานุกรมมีทั้ง “เทวัญ” และ “เทวัน” แต่ความหมายต่างกัน
เทวัญ : (คำนาม) พวกชาวสวรรค์ที่มีตาทิพย์ หูทิพย์ และกินอาหารทิพย์.เทวัน : (คำนาม) พี่เขย, น้องเขย. (ส.).
ในที่นี้มุ่งอุทิศส่วนบุญให้ชาวสวรรค์ ไม่ใช่มุ่งอุทิศให้พี่เขยน้องเขยอย่างนี้แก้ตัวสะกดได้ แต่คำและความยังคงเดิมโปรดเปรียบเทียบคำกลอนที่เผยแพร่กันทั่วไปกับคำกลอนที่เป็นต้นฉบับว่าผิดเพี้ยนกันไปอย่างไรบ้าง
——————–
ใคร่ขอร้องมา ณ ที่นี้ว่า
๑ ถ้าจะใช้คำกลอน “ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล” ของท่าน ก็ขอให้นำไปใช้ให้ถูกต้องครบถ้วนตามต้นฉบับ
๒ กรุณาอย่าเอาของท่านไปต่อเติมเสริมแต่งเอาตามใจชอบ ทำแบบนั้นไม่ใช่วิถีของผู้เจริญ
๓ ถ้าอยากจะใช้ของตัวเอง ก็แต่งใหม่เป็นสำนวนของตัวเองล้วนๆ อย่าให้ไปเกี่ยวกับของท่าน และอย่าเอาของท่านมาแปะมาปะตรงนั้นตรงโน้น
เรื่องนี้บอกให้รู้ว่า คนทุกวันนี้ ๑ ละเลยการศึกษาสืบค้นเป็นอันมาก ๒ มักง่ายกันเป็นอันมาก และ ๓ ขาดความรับผิดชอบกันเป็นอันมากอีกด้วย
ลักษณะแบบนี้คงไม่ต้องถามว่าจะเรียกมันว่าอะไร เพราะตอบได้เลยว่า จงเรียกมันว่าความเสื่อมแต่การที่เราพากันปล่อยปละละเลย ไม่ช่วยกันสอดส่องดูแล ตลอดจนมักจะคิดว่าธุระไม่ใช่
และที่ลึกไปกว่านั้นคือพากันอ้างว่า เรื่องแบบนี้มันเป็นธรรมดา ที่ไหนๆ มันก็เป็นแบบนี้ เรื่องแค่นี้ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ที่บ้านโน้นเมืองโน้นเขาทำกันหนักกว่านี้ ยุคสมัยแบบนี้มันก็ต้องเป็นแบบนี้หละ เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปทำอะไรกับมันให้เหนื่อยหรอก ปล่อยให้มันเป็นอย่างนี้แหละดีแล้ว
ความคิดความรู้สึกแบบนี้ต่างหากที่ควรจะถามว่า-จะให้เรียกว่าอะไรดี
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๐
๑๓:๕๕
……………..
ตอน 14 ไม่ยึดมั่นถือมั่น
……………..
ตอน 12 มองภาษาไทย เห็นจิตใจของผู้คน