จงเรียกมันว่าความเสื่อม (1)
จงเรียกมันว่าความเสื่อม (6)
จงเรียกมันว่าความเสื่อม (6)
————————-
ตอน-ต้นแบบของคนดี
เรื่องที่จะเขียนนี้เกี่ยวกับอดีตนายกรัฐมนตรี-นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เขียนเป็นกรณีศึกษาเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับความชอบความชังไม่ว่าจะทางการเมืองหรือทางส่วนตัว
ไม่ใช่เรื่องฟื้นฝอย
และไม่ใช่เรื่องตามกระแสใดๆ ทั้งสิ้น
เขียนเพราะอยากจะชวนให้ญาติมิตรได้ความคิดอะไรบางอย่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นที่รับรู้ทั่วกันแล้ว-เท่านั้น
………………..
ขอเรียนไว้ก่อนว่า ผมเป็นกลางทางการเมือง ไม่ชอบไม่ชังพรรคไหน คนไหนทั้งสิ้น ไม่เลือกข้าง ไม่มีสี
เหตุผลก็คือ ผมประจักษ์ใจแล้วว่าการเมืองที่ปรากฏในสังคมไทยเป็นเรื่องกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องโดยเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนบังหน้า
เป็นพฤติการณ์ที่น่ารังเกียจ
แต่เมื่อยังอยู่ในสังคม ผมก็ปฏิบัติตามกฎกติกา
มีเลือกตั้งผมก็ไปเลือกตั้ง
ขอความร่วมมืออะไร ผมก็ให้ความร่วมมือทุกครั้ง
ในฐานะสมาชิกสังคม ผมจะได้อะไรหรือเสียอะไร ผมก็ตั้งอารมณ์ว่าได้หรือเสียตามกติกาสังคม
สังคมตกลงกันให้ได้ ก็ได้
สังคมตกลงกันให้เสีย ก็เสีย
ไม่ใช่ได้เพราะทักษิณ เพราะยิ่งลักษณ์
หรือเสียเพราะทักษิณ เพราะยิ่งลักษณ์
เมื่อตอนผมเป็นผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ตามกติกาสังคม ผอ.มีเงินตำแหน่ง (ภาษาราชการเรียกเงินอะไรผมจำไม่ได้) สองหมื่น
ญาติมิตรหลายคนที่เป็น ผอ. ในช่วงเวลานั้นพากันบอกว่า เขาได้สองหมื่นเพราะทักษิณให้
คล้ายๆ วาทะที่โด่งดังที่ว่า-มีวันนี้เพราะพี่ให้
แต่ผมบอกว่าได้สองหมื่นตามกติกาสังคม ไม่ใช่เพราะทักษิณให้
ถ้าจะเถียงกัน ก็จะมีคนถามต่อไปอีกว่า-แล้วที่สังคมกำหนดแบบนั้นเพราะใครสั่ง หรือเพราะนโยบายของใคร
เราส่วนมากพลาดตรงนี้ ตรงที่เอากติกาสังคมไปผูกไว้กับตัวบุคคล
จึงไม่แปลกอะไรที่-พอเปลี่ยนตัวบุคคลที กติกาสังคมก็เปลี่ยนที
สังคมเราจึงหากติกาที่ดีและยั่งยืนได้ยาก
และเพราะเอาความชอบชังไปผูกไว้กับตัวบุคคล อคติก็ตามมา
ถ้าชอบ บุคคลนั้นทำอะไรก็ดีหมด
ทำผิดทำชั่ว ก็ช่วยหาเหตุผลมาแก้แทนให้ว่าทำถูกทำดี
ถ้าชัง บุคคลนั้นทำอะไรก็เสียหมด
ทำถูกทำดี ก็พยายามหาเหตุผลมาเหยียบย่ำให้เห็นว่าทำผิดทำชั่ว
เราจึงมองคน ตัดสินคนไม่ตรงกับความเป็นจริง
——————–
เมื่อเข้าใจแล้วว่าผมเป็นกลาง ต่อไปนี้มาเข้าเรื่อง
ญาติมิตรคงยังจำได้ว่าวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๐ เป็นวันที่ศาลนัดฟังคำพิพากษานางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คดีจำนำข้าว
ก่อนวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๐ หลายวัน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจคณะทำดอกไม้จันทน์ที่วัดช่องลม พระอารามหลวง จังหวัดราชบุรี แล้วเลยไปไหว้พระที่วัดมหาธาตุ
วัดช่องลมกับวัดมหาธาตุระยะทางพอเดินถึงกันได้สบายๆ พระวัดมหาธาตุถ้าไปบิณฑบาตในตลาดราชบุรีต้องเดินผ่านวัดช่องลมก่อน
ประโยคแทรก พอให้นึกถึงสภาพภูมิศาสตร์
เมื่อคณะของอดีตนายกรัฐมนตรีไปถึงวัดมหาธาตุ พระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าอาวาสท่านทราบ ท่านก็มาต้อนรับ พาไปไหว้พระบนวิหารหลวง และเข้าไปไหว้พระมหาธาตุด้านใน
…………………..
มีคนเขียนไปรษณียบัตรมาเตือนหลวงพ่อ สรุปสั้นๆ เป็นภาษาพูดว่า-อย่าได้ไปสนับสนุนยิ่งลักษณ์
…………………..
ต่อมาอีกไม่กี่วัน ก็มีคนเขียนไปรษณียบัตรมาขอให้หลวงพ่อชักชวนคนให้ไปสนับสนุนยิ่งลักษณ์
หลวงพ่อเอาไปรษณียบัตรทั้งสองใบมาให้ผมดู พลางสั่นศีรษะ
ปรากฏว่า หลวงพ่อท่านไม่ได้ทำทั้งสองอย่าง
คัดค้าน ท่านก็ไม่ได้บอกให้ใครทำ
สนับสนุน ท่านก็ไม่ได้บอกให้ใครทำ
ท่านอยู่ของท่านเฉยๆ
——————–
เรื่องนี้ หลวงพ่อท่านอธิบายให้คนวัดมหาธาตุฟังว่า ท่านเป็นเจ้าของบ้าน แขกมา ท่านก็ต้องต้อนรับตามมารยาท จะชอบจะชังอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่เกี่ยวกัน ท่านทำตามหน้าที่
หลวงพ่ออธิบายต่อไปว่า เวลานี้คนเราประพฤติการที่เสียมารยาทกันมาก-กับคนที่เคยมีตำแหน่งหน้าที่แล้วพ้นจากตำแหน่งไป
ท่านยกตัวอย่างในวงการคณะสงฆ์ พระเถระที่มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะสงฆ์ ตอนอยู่ในตำแหน่ง มีผู้ไปมาไม่ขาด ทั้งพระทั้งฆราวาส
พูดตามสำนวนบ้านก็ว่า หัวบันไดไม่แห้ง
แต่พอพ้นจากตำแหน่ง ที่เคยไปเคยมาก็หายหน้าไปสิ้น
งานทำบุญวันเกิดที่เคยคับคั่งก็โหรงเหรงทันตาเห็น
หลวงพ่อท่านว่า ชาวโลกเขาเป็นแบบนั้นก็ช่างเขา
แต่ชาววัดมาเป็นเหมือนเขาด้วย แบบนี้แย่มาก
หลวงพ่อให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก พระเถระรูปไหนมีตำแหน่ง ปกติไปมาถึงกันอย่างไร พอพ้นตำแหน่งท่านก็ยังไปมาถึงกันเหมือนเดิม
แล้วท่านก็วกมาที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ท่านบอกว่าเขาเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศ แม้จะพ้นตำแหน่งไปแล้ว เราก็ควรให้เกียรติ ไม่ต้องถึงระดับเหมือนเมื่ออยู่ในตำแหน่ง แต่ก็ควรให้ดูดีพอสมควร
ไม่ใช่พอพ้นตำแหน่งแล้วก็ปฏิบัติต่อเขาเหมือนมองไม่เห็นหัวกัน
ฟังที่ท่านอธิบายแล้ว ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง
หลวงพ่อท่านพูดและปฏิบัติตามหลักการ
จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ท่านก็ยังไม่เคยแสดงออกหรือบอกใครว่าท่านชอบใครหรือไม่ชอบใคร
ต่างกับบางวัด-หลายๆ วัด-ที่เหลืองก็แจ้ง แดงก็จ๋า ตลอดเวลา
——————–
เล่าเรื่องหลวงพ่อวัดมหาธาตุประหน้าไว้ก่อน
เพื่อยืนยันว่าผมเป็นคนวัดมหาธาตุคนหนึ่ง ถือคติเดียวกับหลวงพ่อวัดมหาธาตุ
เมื่อตอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ผมไม่ได้มีอาการชอบหรือชังใดๆ กับการปฏิบัติงานของท่าน
แต่มีเรื่องเดียวที่ผมสะดุดใจไม่เลิก คือการที่ท่านใช้คำนำหน้าชื่อว่า “นางสาว”
เมื่อตอนได้ยินชื่อท่านใหม่ๆ ผมเข้าใจว่าท่านยังเป็นโสด ก็เพราะคำนำหน้าชื่อว่า “นางสาว” นี่แหละ
แต่พอรู้ว่าท่านมีสามีแล้ว มีลูกแล้ว และยังอยู่กินกับสามีเป็นปกติ ผมก็จึงสะดุดใจไม่เลิก
ผมคิดตามประสาคนทั่วไป นั่นคือสตรีที่มีสามีแล้ว ตามธรรมเนียมของไทยก็ต้องใช้คำนำหน้าชื่อว่า “นาง” เว้นไว้แต่มียศ มีบรรดาศักดิ์ หรือสถานภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ว่าไปตามกติกาของกรณีนั้นๆ
ตอนเป็นเด็ก ผู้ชายก็เป็น “เด็กชาย” ผู้หญิงก็เป็น “เด็กหญิง”
พอถึงวัยตามที่ตกลงกัน เด็กชายก็เป็น “นาย” เด็กหญิงก็เป็น “นางสาว”
ผู้หญิง ถ้ามีสามีก็เปลี่ยนคำนำหน้าชื่อเป็น “นาง”
เห็นคำว่า “นาง” ก็รู้ได้ว่า มีสามีแล้ว
เห็นคำว่า “นางสาว” ก็รู้ว่ายังไม่มีสามี
นี่เป็นกติกาที่อำนวยให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกับความจริง
เป็นกติกาพื้นฐานที่เข้าใจตรงกันทั่วกัน จนรู้สึกกันว่าแม้ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ มันก็ควรเป็นแบบนี้ เพราะเราตกลงกันแบบนี้ และคนสามัญทั่วไปเขาก็ทำกันอย่างนี้
เป็นกติกาสามัญ ไม่มีเลศนัย ไม่ต้องมีหมายเหตุ
ไม่ต้องถามหลังไมค์ ไม่มีนัยซ่อนเร้น
และไม่มีอะไรลึกๆ อยู่ในใจทั้งสิ้น
ผมว่าคนรุ่นผมโดยทั่วไปต้องคิดอย่างนี้
——————–
ต่อมาจึงได้เรียนรู้ว่า มีกฎหมายบอกไว้ว่า สตรีที่แต่งงานแล้ว จะเลือกใช้คำนำหน้าชื่อว่า “นาง” ก็ได้ หรือจะยังใช้คำนำหน้าชื่อว่า “นางสาว” ก็ได้
ผมก็ถึงบางอ้อ ท่านใช้สิทธิ์ตามกฎหมายนั่นเอง
แต่ใจจริงผมก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับกฎหมายเท่าไรนัก เหตุผลก็คือ เมื่อเราเห็นสตรีที่ใช้คำนำหน้าชื่อว่า “นางสาว” จะรู้ได้อย่างไรว่า มีสามีแล้วหรือยังไม่มีสามี?
อุปมาพอให้ครึกครื้น-ก็เหมือนผู้ชาย มีคำนำหน้าชื่อว่า “นาย”
ถ้าไปบวชเป็นพระ ก็เปลี่ยนคำนำหน้าชื่อเป็น “พระ-”
เช่น นายทองย้อย ก็เปลี่ยนเป็น “พระทองย้อย”
แล้วถ้าเกิดมีกฎหมายให้สิทธิ์ว่า ชายที่ไปบวชเป็นพระจะเลือกใช้คำนำหน้าชื่อว่า “พระ” ก็ได้ “นาย” ก็ได้
เห็นคนใช้คำนำหน้าชื่อว่า “นาย” จะรู้ไหมว่าเป็นคนธรรมดาหรือว่าเป็นพระ
อุปมาฉันใด อุปไมยฉันนั้น
แต่เมื่อมันเป็นกติกาสังคม คือเป็นกฎหมาย ทุกคนทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับ
ผมก็ยอมรับ
…………………..
เท่าที่เขียนมา อาจจะมีบางท่านอยากจะบอกว่า ใครจะใช้คำนำหน้าชื่อว่าอะไร มันไปหนักที่สวมหมวกของใครด้วยหรือ
ขอเรียนว่า ถ้านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่ในฐานะคนธรรมดาทั่วไป ก็ไม่ควรจะต้องมีใครเดือดร้อนอะไร
แต่เมื่อท่านอยู่ในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะ ท่านย่อมไม่อาจปฏิเสธข้อสงสัยหรือความต้องการรู้ของใครๆ ในทุกเรื่อง
ถ้าเปลี่ยนคำพูดใหม่อาจพอช่วยให้เข้าใจแง่มุมนี้ได้บ้างกระมัง
คือผมไม่ได้สนใจว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมีสามีแล้ว ทำไมยังใช้คำนำหน้าชื่อว่า “นางสาว”
แต่ผมสงสัยว่า นายกรัฐมนตรีของประเทศผมซึ่งเป็นสุภาพสตรีมีสามีแล้ว ทำไมยังใช้คำนำหน้าชื่อว่า “นางสาว” ในเมื่อสตรีทั้งหลายที่มีสามีแล้วในประเทศนี้ย่อมใช้คำนำหน้าชื่อว่า “นาง” กันเป็นปกติ
เพราะฉะนั้น ขอความกรุณาอย่าเพิ่งรำคาญนะครับ
เป็นอันว่า มีเหตุผลข้อหนึ่งที่เรารับรู้กัน คือ-กฎหมายบัญญัติให้สตรีที่มีสามีแล้วเลือกใช้คำนำหน้าชื่อว่า “นางสาว” ได้
ไม่ว่าจะในฐานะ “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”
หรือในฐานะ “นายกรัฐมนตรี”
ท่านก็ทำตามกฎหมายนั่นเอง ไม่ได้ทำผิดอะไรเลย
อาจกล่าวได้ด้วยซ้ำไปว่าท่านเคารพกฎหมายอย่างยิ่ง หรืออย่างน้อยที่สุดท่านก็มีสิทธิ์ที่จะขอให้พวกเราให้เกียรติท่านด้วยการเคารพกฎหมายที่ให้สิทธิ์ท่านเลือกใช้คำนำหน้าชื่ออย่างนี้ด้วย
ถ้าไม่มีใครว่าอะไร ผมก็อยากจะขออนุญาตปรบมือให้ท่านด้วยซ้ำไป-ในฐานะที่จะทำอะไรก็มีกฎหมายรองรับเสมอ
ในแง่นี้ นับว่าเป็นแบบอย่างที่ดี-ซึ่งคนที่อยู่ในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศควรเป็นเช่นนั้น
ผมจึงมองท่านในฐานะเป็นแบบอย่างที่ดีของคนที่เคารพกฎหมาย ตลอดมา
——————–
เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๐ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอ่านคำพิพากษาสั่งจำคุกนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีจำนำข้าว ซึ่งอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ และความผิดกฎหมาย ป.ป.ช. เป็นเวลา ๕ ปี โดยไม่รอลงอาญา
ปรากฏว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่มาฟังคำพิพากษา และไม่มารับโทษตามคำสั่งศาล-ซึ่งดำเนินการตามกฎหมาย
ทำให้คนที่คิดอย่างผมรู้สึกมึนงงเป็นอันมาก
ตกลงว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นแบบอย่างของคนที่เคารพกฎหมาย
หรือว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นแบบอย่างของคนที่ไม่เคารพกฎหมาย
เราควรจะมองท่านอย่างไรจึงจะถูกต้องตรงกับความเป็นจริง
ถ้าคนเราเลือกเคารพกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ตัวเอง
แต่ไม่เคารพกฎหมายที่ทำให้ตัวเองเสียประโยชน์
เราจะเรียกการกระทำแบบนี้ว่าอะไรดี?
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๗ ตุลาคม ๒๕๖๐
๑๖:๓๗
—————-
หมายเหตุ: เฉพาะภาพที่มีหลวงพ่อ ได้จาก google
……………..
ตอน 7 แผน “กันที่ไว้รอท่า”
……………..
ตอน 5 นะจังงัง
……………..