วาลวีชนี – 1 ในเบญจราชกกุธภัณฑ์ (บาลีวันละคำ 4,348)
วาลวีชนี – 1 ในเบญจราชกกุธภัณฑ์
พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือ พจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเรียบเรียง คาถาที่ 358 มีข้อความดังนี้ –
…………..
ขคฺโค (จ) ฉตฺต’มุณฺหีสํ
ปาทุกา วาฬวีชนี
(อิเม กกุธภณฺฑานิ
ภวนฺติ ปญฺจ ราชุนํ)
(ราชกกุธภัณฑ์ ๕ คือ)
พระขรรค์, ฉัตร, อุณหีศ,
ฉลองพระบาท, วาฬวีชนี
…………..
หนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 หน้า 110 อธิบายคำว่า “เครื่องราชกกุธภัณฑ์” มีข้อความดังนี้ –
…………..
เครื่องราชกกุธภัณฑ์ (ราด-ชะ-กะ-กุด-ทะ-พัน)
เครื่องราชกกุธภัณฑ์ คือ เครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชาธิบดี จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ต้องทูลเกล้าฯ ถวายในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นประเพณีสืบเนื่องมาจากลัทธิพราหมณ์ โดยพระมหาราชครูพราหมณ์เป็นผู้ถวาย ประกอบด้วย พระมหาเศวตฉัตร พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี และฉลองพระบาทเชิงงอน
…………..
“วาลวีชนี” อ่านว่า วา-ละ-วี-ชะ-นี ประกอบด้วยคำว่า วาล + วีชนี
(๑) “วาล”
บาลีอ่านว่า วา-ละ รากศัพท์มาจาก วลฺ (ธาตุ = ระวัง, รักษา) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ว-(ลฺ) เป็น อา (วลฺ > วาล)
: วลฺ + ณ = วลณ > วล > วาล แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขารักษาไว้”
“วาล” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ขนหาง, ขนม้า, หาง (the hair of the tail, horse-hair, tail)
(2) กระชอนผม (a hair-sieve)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วาล, วาล– : (คำนาม) หาง; ขนสัตว์, ขนหางสัตว์. (บางทีเขียน พาล). (ป., ส.).”
(๒) “วีชนี”
บาลีอ่านว่า วี-ชะ-นี รากศัพท์มาจาก วีชฺ (ธาตุ = พัดโบกให้เกิดลม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: วีชฺ + ยุ > อน = วีชน + อี = วีชนี แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องพัดลม” หมายถึง พัด (a fan)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้เป็น “วิชนี” (วิ– สระ อิ) อ่านว่า วิด-ชะ-นี และ “วีชนี” (วี– สระ อี) บอกไว้ดังนี้ –
(1) วิชนี : (คำนาม) วีชนี. (ป. วีชนี; ส. วีชน).
(2) วีชนี : (คำนาม) วิชนี, พัด. (ป.; ส. วีชน).
โปรดสังเกตวิธีให้บทนิยามของพจนานุกรมฯ ที่ “วิชนี” บอกว่าคือ “วีชนี” ไม่บอกคำแปล ส่วนที่ “วีชนี” ก็บอกว่าคือ “วิชนี” แต่เพิ่มคำแปลว่า พัด ไว้ด้วย
คำในวงเล็บบอกให้รู้ว่า คำนี้บาลีเป็น “วีชนี” สันสกฤตเป็น “วีชน”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “วีชน” (วี-ชะ-นะ) บอกไว้ดังนี้ –
“วีชน : (คำนาม) พัด; พัสดุ; ไก่นาหรือไก่ฟ้าอย่างหนึ่ง; ห่านเทศ – เป็ดเทศ – หรือหงส์; a fan; thing or substance; a sort of pheasant; the ruddy goose.”
วาล + วีชนี = วาลวีชนี แปลตามศัพท์ว่า “พัดที่ทำด้วยขนหางสัตว์”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “วาลวีชนี” ว่า พัดวาลวีชนี, พัดหางจามรี
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วาลวีชนี” ว่า a fan made of a Yak’s tail, a chowrie (พัดทำด้วยขนหางจามรี, แส้)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วาลวีชนี : (คำนาม) พัดกับแส้ จัดเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์สิ่งหนึ่งในเบญจราชกกุธภัณฑ์, วาลวิชนี ก็ว่า. (ป., ส.).”
ขยายความ :
หนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 หน้า 114 เรียกเครื่องราชกกุธภัณฑ์นี้ว่า “วาลวิชนี” (-วิ– สระ อิ) มีข้อความดังนี้ –
…………..
วาลวิชนี (วาน-ละ-วิด-ชะ-นี) (พัดและแส้) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้าง ลักษณะเป็นพัดใบตาล ที่ใบตาลปิดทองทั้ง ๒ ด้าน ขอบขลิบทองคำ ด้ามทำด้วยทองลงยา เรียกว่า พัชนีฝักมะขาม ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ตามพระบาลีที่เรียกว่า “วาลวิชนี” ไม่ควรจะเป็นพัดใบตาล ควรจะเป็นเครื่องโบกปัดที่ทำด้วยขนจามรี เพราะวาล แปลว่า ขนโคชนิดหนึ่ง ตรงกับที่ไทยเรียก จามรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างแส้ขนจามรีเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ภายหลังใช้ขนหางช้างเผือก เรียกว่า “พระแส้หางช้างเผือก” แต่ก็ไม่อาจที่จะเลิกใช้พัดใบตาลของเดิมได้ จึงโปรดให้ใช้พัดใบตาลและพระแส้จามรีควบคู่กัน โดยเรียกว่า วาลวิชนี
…………..
ข้อควรสังเกต :
ทั้งพจนานุกรมฯ ทั้งหนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” บอกคำแปล “วาลวีชนี” เป็นสิ่งของ 2 สิ่ง คือ พัดและแส้ แต่พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา ศัพท์ว่า “วาลวีชนี” หรือ “วาฬวีชนี” หมายถึงของสิ่งเดียว ทับศัพท์ว่า “วาฬวีชนี” ไม่ได้บ่งบอกว่าจะให้หมายถึงแส้หรือหมายถึงพัด แต่ต้องเป็นของสิ่งเดียวเท่านั้น ถ้าเป็น 2 สิ่ง คือแส้ด้วย พัดด้วย ก็จะเกิน 5 เพราะท่านระบุไว้ชัดเจนว่า เครื่องราชกกุธภัณฑ์มี 5 สิ่ง (อิเม กกุธภณฺฑานิ ภวนฺติ ปญฺจ ราชุนํ)
ตามความเข้าใจของคนทั่วไป เห็นคำว่า “วาลวีชนี” ก็จะพูดว่า พัดวาลวืชนี คือนึกภาพเป็น “พัด” ไม่ใช่แส้
รูปวิเคราะห์ศัพท์ “วาลวีชนี” แสดงไว้ว่า “วาเลน กตา วีชนี วาลวีชนี” แปลว่า “วาลวีชนี คือพัดที่ทำด้วยขนหางสัตว์”
ตามรูปวิเคราะห์ คำหลักคือ “วีชนี” หมายถึง พัด แต่คำขยายคือ “วาล” หมายถึง แส้ (“วาล” แปลว่า “ขนหางสัตว์” แกว่งไปมาเพื่อไล่แมลง จึงหมายถึง แส้)
ทั้งพัดและแส้ กิริยาที่ใช้งานทำเหมือนกันคือ จับแกว่งไปมา แต่ผลที่ต้องการต่างกัน
พัด-แกว่งไปมาเพื่อให้เกิดลมเย็น
แส้-แกว่งไปมาเพื่อไล่แมลง
อันที่จริง พัดทำหน้าที่ไล่แมลงได้ด้วย แต่แส้ทำหน้าที่ไล่แมลงอย่างเดียว ทำให้เกิดลมเย็นไม่ได้
เมื่อ “วาลวีชนี” หมายถึงของสิ่งเดียว ถามว่า ของสิ่งเดียวนั้นควรจะเป็นพัดหรือควรจะเป็นแส้?
ถ้าเป็นพัด ก็ไม่จำเป็นต้องมีศัพท์ว่า “วาล” มาขยาย เพราะ “วีชนี” หมายถึงพัดได้เต็มตัวอยู่แล้ว เมื่อมี “วาล” มาขยายจึงเห็นได้ว่ามุ่งจะให้เป็นแส้
เมื่อมุ่งจะให้เป็นแส้ ทำไมจึงต้องมี “วีชนี” ซึ่งหมายถึงพัดอยู่ด้วยอีกเล่า?
ข้อนี้ยังไม่พบคำอธิบาย ได้แต่สันนิษฐานว่า พัดคงเป็นของที่มนุษย์จับถือติดมือมาก่อน ครั้นประสงค์จะใช้แส้ก็เอาพัดนั่นเองมาแก้ไข ด้ามที่จับคงเป็นพัด แต่เปลี่ยนใบตาลเป็นขนหางสัตว์ จากพัดโบกลมกลายเป็นพัดไล่แมลง คำว่า “วีชนี” คือพัดจึงติดมาด้วยเป็น “วาลวีชนี” คือเรียกชื่อเป็นพัด แต่ใช้งานเป็นแส้ สอดคล้องกับรูปวิเคราะห์ของศัพท์ที่แปลว่า “พัดที่ทำด้วยขนหางสัตว์” และสอดคล้องกับคำแปลของพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ที่แปล “วาลวีชนี” ว่า a fan made of a Yak’s tail (พัดทำด้วยขนหางจามรี)
สรุปว่า “วาลวีชนี” หมายถึงของสิ่งเดียว คือแส้สำหรับไล่แมลง ไม่ใช่พัดสำหรับโบกลม
ในอรรถกถาแห่งหนึ่งมีข้อความว่า “ฉตฺตคาหโก วาลวีชนีคาหโก ตาลปณฺณคาหโก” (สารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตนิกาย ภาค 3 หน้า 233)
ฉตฺตคาหโก = คนถือร่ม
วาลวีชนีคาหโก = คนถือแส้
ตาลปณฺณคาหโก = คนถือพัดใบตาล
แยกแส้กับพัดเป็นคนละอย่างชัดเจน ในที่นี้ใช้ศัพท์ “วาลวีชนี” เหมือนกัน เป็นอันยืนยันว่า “วาลวีชนี” หมายถึงแส้อย่างเดียว ไม่ใช่พัด
ถ้าเชื่อว่า “วาลวีชนี” หมายถึงของ 2 สิ่ง ดังที่พจนานุกรมฯ และหนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” บอกไว้ว่า คือ “พัดและแส้” คำบอกนี้ก็ยังคลาดเคลื่อนอยู่นั่นเอง
“วาล” แปลว่า ขนหางสัตว์ คือแส้
“วีชนี” แปลว่า พัด
รูปศัพท์ “วาลวีชนี” ถ้าจะแปลเป็นของ 2 สิ่ง ต้องแปลว่า “แส้และพัด” ไม่ใช่ “พัดและแส้”
ไม่ใช่หยุมหยิมไม่เข้าเรื่อง
แต่เรื่องของบาลีต้องมีหลัก
แถม :
ทั้งแส้และพัดมีนัยสอดคล้องกับคติของนักปกครองไทยที่ว่า “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”
แส้ ทำหน้าที่ไล่แมลง คือป้องกันอันตราย = บำบัดทุกข์
พัด ทำหน้าที่โบกให้เกิดลมเย็น = บำรุงสุข
การใช้แส้และพัดเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์จึงนับว่าเป็นปริศนาธรรมเตือนใจผู้ทำหน้าที่ปกครองแผ่นดินได้อย่างลึกซึ้ง ด้วยประการฉะนี้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: มุ่งรักษาประโยชน์ของบ้านเมือง
เท่ากับรักษาประโยชน์ตน
: มุ่งรักษาประโยชน์ตน
อาจทำได้แม้กระทั่งทำลายประโยชน์ของบ้านเมือง
#บาลีวันละคำ (4,348)
8-5-67
…………………………….
…………………………….