บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

จากสมาธิสั้น : ถึงหายนะของมนุษยชาติ

จากสมาธิสั้น : ถึงหายนะของมนุษยชาติ

————————–

คำว่า “สมาธิสั้น” นี้ผมได้ยินพูดกันมานาน แรกๆ จำได้ว่าพูดกันในวงวิชาการศึกษา พูดถึงลักษณะนิสัยของเด็กบางคนที่สนใจอะไรๆ เพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ 

ได้สิ่งนี้ ชอบอยู่พักเดียว ทิ้ง 

หันไปสนใจสิ่งอื่น 

ได้แล้วก็ทิ้งอีก หันไปสนใจสิ่งอื่นต่อไปอีก 

เรียกกันว่า “เด็กสมาธิสั้น” 

แรกๆ เหมือนกับจะบอกว่าเป็นความผิดปกติหรือเป็นโรคอะไรชนิดหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้มองกันว่าเป็นเรื่องปกติ 

ตอนนี้คำว่า “สมาธิสั้น” ดูเหมือนจะถูกนำไปใช้แก่คนทั่วไปด้วย

ความหมายก็ขยายออกไปเป็นว่า ไม่ชอบทำอะไรต่อเนื่องกันไปนานๆ 

ที่ปรากฏชัดที่สุดคือ อ่านหนังสือที่เป็นข้อความยาวๆ ไม่ได้ 

อ่านได้ก็ไม่รู้เรื่อง สมองไม่รับรู้

รวมทั้งเขียนประโยคยาวๆ เป็นเรื่องราวติดต่อกันก็ไม่ได้ด้วย

เขียนได้ก็ไม่เป็นเรื่อง 

เรียงข้อความไม่เป็นประโยคภาษาที่ดี 

สมองไม่รับรู้ว่าข้อความที่เป็นประโยคภาษาที่ดีนั้นคืออะไร

ดูข้อความตามโพสต์ต่างๆ ในเฟซบุ๊กนี่ก็จะเห็นได้ทั่วไป

เขียนกันสั้นๆ

บางทีก็ไม่เป็นภาษา

เมื่อก่อนยังเป็นแค่คำๆ เช่นสะกดคำแปลกๆ เช่น จุงเบย จร้า หุหุ หรือสร้างคำเพื่อเลี่ยงคำหยาบ เช่น มรึง กรู เชี่ย สัส ไอ้เหี้ยน ไอ้ห่าน (แต่สร้างแล้วใครอ่านก็รู้อยู่นั่นเองว่าเป็นคำหยาบ เป็นการเพิ่มคำหยาบให้มากขึ้นไปอีก และทำให้คำที่เดิมเขาไม่หยาบกลายเป็นคำหยาบไปเสียด้วย)

เวลานี้อาการไม่เป็นภาษาลามไปถึงการผูกประโยคประธานไม่เป็น

แม้คำว่า “ประโยคประธาน” นี่เองก็อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าคืออะไร

“ประธาน” คืออะไร

“กรรม” คืออะไร 

“กริยา” คืออะไร

“กริยา” กับ “กิริยา” ใช้ต่างกันอย่างไร

ไม่รู้ ไม่เรียน ไม่รับรู้ทั้งสิ้น

เขียนไปสั้นๆ ทื่อๆ ไม่เป็นภาษา

“คำ” ก็วิปริต

“ความ” ก็วิปลาส

ทั้งหมดนี้เราบอกกันว่าเป็นอาการอันเนื่องมาจาก-สมาธิสั้น

แต่ที่น่าตระหนกยิ่งกว่าก็คือ วิธีแก้

เวลานี้มีคนจำนวนมากพอใจจะแก้อาการสมาธิสั้นด้วยการตอบสนอง

หมายความว่าอย่างไร

หมายความว่า-เห็นว่าคนเดี๋ยวนี้อ่านอะไรยาวๆ ไม่ได้

ก็ตอบสนองด้วยการเขียนสั้นๆ

คนสมาธิสั้นก็ชอบ

คนแก้ก็เข้าใจว่าแก้ถูกทางแล้ว

เข้าล็อคทฤษฎี demand – supply 

ตอบสนองตามความต้องการตามความพอใจของผู้บริโภค

แต่อาจจะลืมนึกถึงข้อเท็จจริงที่ว่า-ความต้องการของมนุษย์หาที่สิ้นสุดมิได้

คำพระว่า นตฺถิ ตณฺหาสมา นที ไม่มีแม่น้ำที่จะเสมอด้วยความต้องการ

———————

อันที่จริงนั่นไม่ใช่การแก้ปัญหา

แต่เป็นการสนองตัณหาเท่านั้นเอง

สมาธิสั้นก็ยังคงมีอยู่เช่นนั้น ไม่ได้หายไปไหน

แต่อาการของสมาธิสั้นจะไม่หยุดอยู่เพียงเรื่อง-อ่านข้อความยาวๆ ไม่ได้

ต่อไปจะขยายไปถึงเรื่องอื่นๆ

ทำอะไรติดต่อกันนานๆ ไม่ได้

ยกตัวอย่างให้ขำเล่นก็ได้ – แต่รับรองว่าไม่ใช่เรื่องขำ

เช่น-รักใครนานๆ ไม่เป็น

เช้าบอกว่ารัก

สายก็เลิกรักแล้ว

วันนี้ตั้งใจไว้ว่าจะทำความดี

พรุ่งนี้ก็เลิกแล้ว

ถ้าเป็นนักการเมือง สมาธิก็ยิ่งสั้นหนักเข้าไปอีก

ปราศรัยบนเวทีบอกว่าจะทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

พอลงจากเวทีก็เอาอำนาจที่ประชาชนมอบให้ไปทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง

ต่อไปอาการสมาธิสั้นจะลุกลามไปถึงขั้นเป็นความจำสั้น 

ลูกจำพ่อแม่ไม่ได้

ลูกจะรู้จักว่าคนนี้เป็นพ่อคนนี้เป็นแม่ก็ในช่วงเวลาสั้นๆ เช่นตอนเป็นเด็ก ยังต้องพึ่งพ่อแม่ 

พอโตขึ้น พึ่งตัวเองได้แล้ว ก็จะจำไม่ได้ว่าใครเป็นพ่อเป็นแม่

ลองนึกดูว่าอาการเช่นว่านี้เป็นพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตชนิดไหน

พ่อแม่ก็จะจำลูกของตัวเองไม่ได้ด้วยเช่นกัน

ญาติพี่น้อง มิตรสหาย จำกันไม่ได้

คำว่า “จำกันไม่ได้” ไม่ได้หมายความเพียงแค่-จำชื่อไม่ได้ จำหน้าตาไม่ได้ หรือจำไม่ได้ว่าเป็นอะไรกัน

ทั้งชื่อ ทั้งหน้าตา ทั้งเป็นอะไรกัน อาจจำได้ทุกอย่าง 

แต่ระลึกไม่ได้ แยกแยะไม่เป็น ว่าควรปฏิบัติต่อกันอย่างไร หรือไม่ควรปฏิบัติอะไรต่อกัน

เจอกัน อยากเสพสุข ก็เสพกัน 

อยากทำร้าย ก็ทำร้ายกัน 

ไม่เลือกว่าใครเป็นใคร

นึกออกใช่ไหมครับว่าเป็นพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตชนิดไหน

เมื่อเอาความต้องการเป็นตัวตั้ง

แล้วเอาการตอบสนองความต้องการเป็นวิธีแก้

ความต้องการก็จะขยายตัวเติบโตขึ้นเรื่อยไป

อยากเสพ ก็ไขว้คว้าหามาเสพ

แรกๆ ก็เสพของที่ตัวมี

ต่อไปก็แสวงหาด้วยวิธีที่คนทั่วไปเขาทำกัน

หนักเข้าก็จะไม่เลือกวิธี 

ทำอย่างไรก็ได้ให้ได้อะไรก็ได้มาเพื่อเสพสนองความต้องการ

ไม่เลือกว่าดีชั่วถูกผิด

ขอให้สังเกตวงการธุรกิจ ทุกประเภทมีแต่การโฆษณาเชิญชวน ยั่วยุ ล่อหลอกให้ซื้อ ให้จ่าย ให้บริโภค ให้อยากได้

แต่ไม่มีโฆษณาเชิญชวนให้รู้จักวิธีหาทรัพย์ในทางที่ถูกต้อง วิธีทำมาหากิน วิธีตั้งเนื้อตั้งตัว

ใครจะได้เงินมาด้วยวิธีไหน ไม่สน 

สนอย่างเดียวว่า ให้คุณเอาเงินมาซื้อ มาจ่าย มาใช้ มาบริโภคสินค้าของฉันให้มากๆ-เท่านั้นพอ

ขอให้สังเกตด้วยว่า เวลานี้เด็กๆ ของเราถูกมอมเมาให้ถนัดในการจับจ่ายใช้สอย-ที่เรียกเป็นคำฝรั่งว่า shopping ตั้งแต่อายุยังน้อยๆ

แต่แทบจะไม่มีใครสอนให้เขารู้จักทำงานหาเงินด้วยวิธีสุจริต

ในยามว่าง เด็กญี่ปุ่นก้มหน้าอ่านหนังสือแสวงหาความรู้

แต่เด็กไทยก้มหน้าเขี่ยไอโฟนไอแพดแสวงหาความเพลิดเพลิน

นั่นคือเรากำลังตอบสนองความต้องการกันอย่างเพลิดเพลิน-อย่างไร้ขีดจำกัด

มันก็เริ่มต้นมาจาก-สมาธิสั้น ใช่หรือไม่

แล้วเราก็หาทางตอบสนองให้ถูกใจคนสมาธิสั้น

พอคนสมาธิสั้นถูกใจ เราก็เข้าใจว่า-แก้ปัญหาแบบนั้นถูกต้องแล้ว

แต่ความเป็นจริงก็คือเรายังไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย

ตรงกันข้าม เรากลับช่วยกันเลี้ยงปัญหานั้นไว้ให้เจริญเติบโต

———————

ทางแก้ก็คือ ถอยมาตั้งหลักกันใหม่ คิดกันใหม่

อันที่จริงไม่ใช่การคิดใหม่ เป็นความคิดเก่านั่นเอง เพียงแต่เราตะบึงไปข้างหน้าจนไม่ได้มองข้างหลัง

มีพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้นานนักหนาแล้ว นิยมยกไปอ้างกันเฉพาะวรรคที่ว่า –

ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ

แปลตามสำนวนเดิมว่า-ในหมู่มนุษย์ ผู้ฝึกตนแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด

ความเต็มๆ ของพระพุทธพจน์บทนี้มีว่า –

ทนฺตํ  นยนฺติ  สมิตึ 

ทนฺตํ  ราชาภิรูหติ 

ทนฺโต  เสฏฺโฐ  มนุสฺเสสุ 

โยติวากฺยนฺติติกฺขติ. 

ที่มา: นาควรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๓๓

แปลโดยประสงค์ว่า –

ช้างม้าพาหนะที่ฝึกดีแล้วจึงควรที่จะนำออกอวดในที่ชุมนุม

จึงควรที่จะเป็นราชพาหนะ

ใครที่อดทนอดกลั้นต่อคำล่วงเกินได้

เขาเป็นคนที่ฝึกตนได้แล้ว จึงจะเป็นผู้ประเสริฐในสังคม

………………

เป็นการแสดงนัยตรงๆ ให้รู้ว่า-แม้แต่สัตว์ ถ้าฝึกให้ใช้งานได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังควรชื่นชมและควรแก่ฐานะอันมีเกียรติ 

แต่มนุษย์นั้นถ้าฝึกตนให้ดีแล้วย่อมประเสริฐเหนือชั้นกว่ากว่าสัตว์ทั้งหลาย

และเป็นการแสดงนัยตรงข้ามให้รู้ว่า-มนุษย์ ถ้าไม่ฝึกตนก็จะไม่ประเสริฐอะไรเลย สู้สัตว์เดรัจฉานก็ไม่ได้

สรุปว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ฝึกได้

และต้องฝึก จึงจะประเสริฐ

ถ้าไม่ฝึก ก็เลวยิ่งกว่าสัตว์

เพราะฉะนั้น คนสมาธิสั้นก็ต้องฝึกได้เช่นกัน

แต่มิใช่ด้วยการสนองความต้องการไม่รู้จบ

หากแต่ด้วยการฝึกให้รู้จักควบคุมความต้องการให้อยู่ในกรอบที่พอดีพอควร

———————

ปัญหาต่อไปก็คือจะฝึกกันอย่างไร

ถ้าในระดับมหภาคหรือระดับนโยบาย ก็ควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ

แต่เนื่องจากผู้บริหารบ้านเมืองของเราไม่มีความคิดที่จะฝึกคนในชาติให้เป็นอะไรหรือให้มีคุณสมบัติอย่างไรทั้งสิ้น 

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องหวังพึ่งรัฐบาล-ไม่ว่าปัจจุบันหรือในอนาคต

ไม่ต้องหวังพึ่งคณะสงฆ์ (ซึ่งควรจะทำหน้าที่ฝึกคนในบ้านเมืองได้ดีที่สุดกว่าใคร)

ไม่ต้องหวังพึ่งแม้แต่วัด 

แม้แต่พระสงฆ์

ทางเดียวที่จะทำได้ก็คือแต่ละคนต้องทำกันเอง

แต่ละคนต้องฝึกคนในครอบครัว

ฝึกคนใกล้ตัว

และที่สำคัญที่สุด-ฝึกตัวเอง

คำว่า “สมาธิสั้น” เป็นคำตอบอยู่ในตัวแล้ว

สมาธิสั้น ก็ฝึกให้มีสมาธิยาว

ก็ใช้ “สมาธิ” นั่นแหละเป็นแบบฝึก

สมาธิมีอยู่แล้วในคำสอนของพระพุทธศาสนา

ความจริงสมาธิเป็นคำสอนที่มีอยู่แล้วก่อนพระพุทธศาสนาจะอุบัติ พระพุทธศาสนาไม่เคยปกปิดอำพราง

แต่พระพุทธศาสนาใช้สมาธิเป็นบาทฐานก้าวข้ามขึ้นไปถึงวิปัสสนาและนำไปสู่ความพ้นทุกข์สิ้นเชิง-ซึ่งไม่เคยมีในศาสนาอื่น

เวลาใครเอาภาพฝรั่งนั่งสมาธิมาเผยแพร่ ไทยเราก็พากันตื่นเต้นว่าฝรั่งสนใจพระพุทธศาสนา

มองให้ตรง ฝรั่งกำลังตบหน้าเรา

สมาธิมีอยู่ในศาสนาของเราเองแท้ๆ ตัวเองไม่ทำ ไม่ปฏิบัติ ไม่ฝึก

เห็นคนต่างชาติเขาฝึกสมาธิ 

ยังไม่รู้สำนึก 

ยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองใกล้เกลือกินด่าง

เอาแต่ตื่นเต้น ดีใจ

แล้วปล่อยให้ลูกหลานไทยสมาธิสั้นๆ เต็มบ้านเต็มเมือง

เพราะฉะนั้น มาช่วยกันลงมือแก้ปัญหา

ใครมีหลักวิชาอะไร หรือรู้วิธีการแก้ไขอย่างไร ก็ลงมือทำ ลงมือแก้

นึกวิธีปฏิบัติอะไรไม่ออก ทำง่ายๆ เพียงแค่-ฝึกให้ทุกคนสวดมนต์ก่อนนอน 

ต่อด้วยนั่งสมาธิ ๓ นาที ๕ นาที หรือนานกว่านั้น 

ทำทุกคืน ทำจนเป็นกิจวัตรประจำวัน

……………….

ผมมีลูก ๓ คน 

ฝึกให้ลูกสวดมนต์ก่อนนอนตั้งแต่ลูกยังพูดไม่ชัด

จนกระทั่งแต่ละคนออกจากบ้านแยกย้ายกันไปเรียนต่อ-ไปทำงานเลี้ยงตัว

ผมคิดว่าเหมือนปลูกมะม่วง มะพร้าว

มันอาจจะไม่ออกลูกออกผลทันทีที่เราปลูก

แต่เมื่อถึงเวลา มันจะผลิดอกออกผลงามสะพรั่งอยู่ในชีวิตจิตใจของพวกเขา

……………….

การสนองความต้องการเพื่อให้คนสมาธิสั้นถูกใจ อาจใช้เป็นขั้นต้นของกระบวนการฝึก-เหมือนการผ่อนสายป่าน หรือเตรียมความพร้อมก่อนที่จะกระตุก กระตุ้น ชัก ดึงให้กลับเข้าสู่เส้นทางที่ถูกที่ควรต่อไป

แต่ไม่ใช่ผ่อนจน-มนุษย์ถอยหลังกลับไปสู่ความเป็นสัตว์ป่า ที่ทำทุกอย่างเพียงเพื่อสนองความต้องการอันไม่มีขอบเขต

เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับเราช่วยกันทำสมาธิสั้นให้เป็นต้นทางแห่งหายนะของมนุษยชาตินั่นเอง

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๑ กันยายน ๒๕๖๐

๑๕:๐๖

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *