บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

Who is Viet Cong?

Who is Viet Cong?

ผมกำลังค้นคว้ารวบรวมเรื่องการขบฉันของพระสงฆ์อันเนื่องมาจากมีผู้วิจารณ์กรณีพระฉันชาบู เวลานี้ได้ข้อมูลมาพอสมควรแล้ว กำลังลงมือเขียน ก็พอดีไปเจอศัพท์ขำๆ เข้าคำหนึ่ง จึงขออนุญาตเก็บมาฝาก

ศัพท์นั้นคำบาลีท่านว่า “มุณฺฑกุฏุมฺพิกชีวิก” (สุมังคลวิลาสินี ภาค ๑ หน้า ๑๒๘ อธิบายความในพรหมชาลสูตร และมีในอรรถกถาชื่อสัทธัมมปัชโชติกา อธิบายความในคัมภีร์มหานิทเทสด้วย) 

ความเป็นมาของเรื่องในพรหมชาลสูตรก็คือ มีอาจารย์กับศิษย์คู่หนึ่งเป็นนักบวชประเภทปริพาชก อาจารย์พูดจาดูถูกพระรัตนตรัย แต่ศิษย์สรรเสริญพระรัตนตรัย

พระพุทธองค์ทรงปรารภเรื่องนี้ทรงแสดงข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนาที่เรียกกันว่า จูฬศีล มัชฌิมศีล มหาศีล

ข้อความตอนหนึ่งตรัสว่า คนทั้งหลายเมื่อจะสรรเสริญตถาคตก็จะพึงกล่าวว่า นักบวชเหล่าอื่นสะสมข้าวปลาอาหารไว้บริโภค แต่พระสมณโคดมเว้นขาดจากการบริโภคของที่สะสมไว้เช่นนั้น (อิติ  เอวรูปา  สนฺนิธิการกปริโภคา  ปฏิวิรโต  สมโณ  โคตโม.)

คัมภีร์ สุมังคลวิลาสินี อันเป็นคัมภีร์ชั้นอรรถกถา อธิบายความตอนนี้ว่า คำว่า “สนฺนิธิการกปริโภค” (บริโภคของที่สะสมไว้) นั้น มีแง่ที่ควรเข้าใจ ๒ นัย คือในแง่พระวินัย (วินยวเสน) กับแง่การปฏิบัติขัดเกลาตนเอง (สลฺเลขวเสน) 

ยกตัวอย่าง อาหารที่ไปบิณฑบาตได้มาหรือมีญาติโยมนำมาถวาย ฉันไม่หมดหรือรับประเคนแล้วยังไม่ได้ฉัน เก็บเอาไว้ฉันวันหลัง อย่างนี้ ถ้าฉันอาหารนั้นก็ผิดพระวินัย 

แต่ถ้าเลี่ยงบาลีสักหน่อย เอาอาหารนั้นให้สามเณร บอกว่าเก็บเอาไว้พรุ่งนี้ แบบนี้เกิดเป็นข้ออ้างได้ว่ายกให้คนอื่นไปแล้ว ขาดตอนกันไปแล้ว รุ่งขึ้นสามเณรเอาอาหารนั้นมาถวาย อย่างนี้ฉันได้ไม่ผิดพระวินัย 

แต่ว่าผิดธรรม คือไม่เป็นการปฏิบัติขัดเกลาตนเอง 

หมายความว่าการปฏิบัติของภิกษุชนิดที่ขัดเกลาตัวเองให้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ถูกต้องของการบวชก็คือ อาหารที่จะฉันต้องได้มาวันต่อวันจริงๆ โดยไม่ต้องใช้เลศนัยใดๆ เข้าช่วย

เพราะฉะนั้น วัตรปฏิบัติของพระจะมองแง่เดียวไม่ได้ ต้องมองไว้ทั้ง ๒ แง่ คือทั้งทางวินัยและทางธรรม

ท่านยังกล่าวถึงภิกษุที่ไม่สะสมข้าวปลาอาหารอย่างโจ่งแจ้ง แต่มีวิธี “หากิน” ที่แยบยล ยกตัวอย่างภิกษุรูปหนึ่ง พอเข้าพรรษาฝนชุก ไม่อยากออกบิณฑบาตเพราะทั้งเปียกทั้งเลอะเทอะ พอเช้ามืดก็ปลุกเณรให้ต้มยาคูฉันก่อนเลย (เทียบกับสมัยนี้ก็คงคล้ายๆ เล่นกาแฟหรือน้ำเต้าหู้+ปาท่องโก๋ไปรอบหนึ่งแล้ว) แล้วสั่งเณรให้เข้าไปในหมู่บ้าน

(๑) ให้ไปบอกบ้านโยมคนนั้นว่าวันนี้หลวงพ่อไม่ออกบิณฑบาต 

(๒) แล้วให้เณรไปขอบิณฑบาตเสบียงที่บ้านโยมคนโน้น (คนละบ้านกัน)

(๓) ฝ่ายเพื่อนพระด้วยกันถามว่าวันนี้ไปบิณฑบาตไหม ตอบว่าไม่ค่อยสะดวก เพื่อนพระก็บอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวบิณฑ์มาเผื่อ (ตามวิสัยสหธรรมิกที่ดี)

ต่อจากนั้นก็เป็นไปตามแผน คือ

– สามเณรได้เสบียงมาก็ปรุงเป็นอาหารถวาย (รอบที่ ๒ นับต่อจากยาคู)

– บ้านโยมที่สามเณรไปบอกว่าหลวงพ่อไม่ออกบิณฑบาต กลัวหลวงพ่ออด ก็เอาอาหารมาถวาย (รอบที่ ๓)

– เพื่อนพระกลับจากบิณฑบาตก็เอาอาหารมาเผื่อ (รอบที่ ๔)

คัมภีร์ท่านว่าหลวงพ่อรูปนี้ใช้แผนนี้ตลอดพรรษา เป็นอันว่ามีให้เลือกฉันได้ตามสบายทุกวัน ไม่ต้องสะสมอาหารให้ผิดพระวินัยเสียชื่อพระ

ท่านก็เลยขนานนามภิกษุประเภทนี้ว่า “มุณฺฑกุฏุมฺพิกชีวิก” (มุน-ดะ-กุ-ตุม-พิ-กะ-ชี-วิ-กะ) เขียนเพื่ออ่านแบบคำไทยว่า มุณฑะกุฏุมพิกะชีวิก อ่านว่า มุน-ดะ-กุ-ตุม-พิ-กะ-ชี-วิก แปลว่า ผู้ดำรงชีพอยู่อย่างเศรษฐีหัวโล้น 

ประโยคเต็มๆ ท่านว่าไว้ดังนี้ –

อยํ วุจฺจติ  ภิกฺขุ  มุณฺฑกุฏุมฺพิกชีวิกํ  ชีวติ  น  สมณชีวิกํ.

แปลว่า-ภิกษุที่ประพฤติเช่นนี้ เรียกว่ามีชีวิตอยู่อย่างเศรษฐีหัวโล้น มิใช่มีชีวิตอยู่อย่างสมณะ

——————-

ศัพท์ว่า “กุฏุมฺพิก” คำเดิมมาจาก กุฏุมฺพ + อิก ปัจจัย

กุฏุมฺพ” (กุ-ตุม-พะ) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษแปลว่า family property, estates, family (ทรัพย์สมบัติของตระกูล, หลักทรัพย์, ครอบครัว) 

ส่วน “กุฏุมฺพิก” แปลว่า a man of property, a landlord, the head of a family (ผู้มั่งคั่ง, เจ้าของที่ดิน, พ่อเรือน) 

คำว่า “มุณฺฑ” ซึ่งแปลว่า “โล้น” นั้นเป็นคำที่คนนอกศาสนาเรียกภิกษุอย่างดูหมิ่น เหมือนกับที่สื่อบ้านเราใช้เรียกบุคคลที่แต่งตัวคล้ายพระประพฤติการเสียหายต่างๆ อยู่ในทุกวันนี้

พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลชุด ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๑๑ ซึ่งว่าด้วยพรหมชาลสูตร แปล “กุฏุมฺพิก” (กุ-ตุม-พิ-กะ) ว่า “เศรษฐีหัวโล้น” (หน้า ๒๑๐) 

ส่วนพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลชุด ๙๑ เล่ม เล่มที่ ๖๖ อันเป็นคัมภีร์มหานิทเทส ความเรื่องเดียวกันนี้ แปล “กุฏุมฺพิก” ว่า “กุฎุมพีโล้น” (หน้า ๔๑๕)

อันที่จริงหนังสือชุดเดียวกัน ซ้ำยังเป็นเรื่องเดียวกัน ก็น่าจะมีคำแปลที่ตรงกันแม้จะไปอยู่คนละเล่มก็ตาม 

เข้าใจว่าทางมหามกุฏราชวิทยาลัยซึ่งเป็นเจ้าของพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลชุด ๙๑ เล่มก็มองเห็นข้อบกพร่องนี้ ทราบว่าตอนนี้กำลังดำเนินการชำระปรับปรุงคำแปลกันใหม่เพื่อให้ลงรอยเดียวกันตลอดทั้งชุด แต่เมื่อไรจะสำเร็จเรียบร้อยคงยังบอกไม่ได้ (ถ้าพูดอย่างเปิดอก ผมอยากมีส่วนร่วมด้วยอย่างยิ่ง ผมรักหนังสือชุดนี้มาก มีส่วนร่วมเป็นผู้ยกร่างแปล ๒ หรือ ๓ พระสูตรในสมัยที่มหามกุฏฯ เริ่มดำเนินการจัดทำโดยวิธีแบ่งแจกต้นฉบับบาลีไปยังบรรดามหาเปรียญทั้งหลาย)

——————-

คำว่า “มุณฺฑกุฏุมฺพิก” = “เศรษฐีหัวโล้น” หรือ “กุฎุมพีโล้น” นี้ถ้าผมเป็นคนเรียกเอง คงถูกพระคว่ำบาตรแน่นอน 

แต่รอดตัวเพราะคำนี้พระอรรถกถาจารย์ท่านเป็นผู้เรียก

เรียกว่า-พระท่านตำหนิพระด้วยกันเอง ไม่ใช่ชาวบ้านตำหนิพระ

——————-

ท่านที่มีอัธยาศัยละเอียดได้อ่านเรื่องนี้แล้วอาจรู้สึกกังวลหรืออึดอัดขัดใจว่า- แล้วนี่เอามาพูดทำไม

เราส่วนหนึ่งจะรู้สึกกันว่า เรื่องพระประพฤติไม่ถูกไม่ควรนั้นไม่น่าจะต้องเอามาเปิดเผย เหตุผลในทางแย้งก็อย่างเช่น 

– พระประพฤติไม่ถูกไม่ควรไม่ใช่มีเฉพาะในเวลานี้ แม้ในครั้งพุทธกาลนั่นเองก็มี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกจนถึงกับจะต้องยกขึ้นมาชี้ชวนให้สังคมดู

– พระที่ท่านประพฤติดีปฏิบัติชอบมีอีกตั้งเยอะทำไมไม่เอาพูดบ้าง เอาแต่ที่เสียมาพูดทำไม

– ทำอย่างนี้ต่างศาสนาเขามีแต่ยิ้มเยาะเราที่เห็นเราทะเลาะกันเอง ทำลายกันเอง

ถ้าถามว่าแล้วจะให้ทำอย่างไร เราก็มีเหตุผลในทางปฏิบัติ นั่นคือจัดการกันเองเป็นภายใน-ทำนองไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า ทำโดยวิธีที่ไม่ให้มีเรื่องอื้อฉาว

อีกประการหนึ่งที่นิยมยกขึ้นมาอ้างก็คือ พระท่านมีเจ้าคณะปกครองดูแลกันอยู่แล้ว ให้ท่านไปว่ากันเอง

——————-

วิธีคิดของผมก็คือ การพูดถึงความประพฤติที่ไม่ถูกต้องของพระไม่ใช่สิ่งต้องห้าม ต้องดูที่เจตนาว่าพูดทำไม พูดด้วยจิตเมตตาหรือจิตคิดทำลาย หรือหวังผลอะไรกันแน่

ถ้าพูดเพื่อขายข่าว-อย่างที่สื่อนิยมทำกัน-ผมไม่เห็นด้วย

ผมเคยตั้งปัญหาถามสื่อ 

เขาตอบว่า สื่อมีหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฏ

ผมย้อนว่า บาทหลวงประพฤติชั่วก็มี โต๊ะครูโต๊ะอิหม่ามประพฤติชั่วก็มี ทำไมไม่เอามาทำให้ปรากฏบ้าง

สื่อก็บอกว่า-ก็ชาวพุทธมีมากกว่า พระมีมากกว่า ก็ต้องมองเห็นได้ชัดกว่าศาสนาอื่น

ผมก็ว่า-แล้วพอจะให้บัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ทำไมอ้างว่าบ้านเรามีศาสนาอื่นอยู่ด้วย จะบัญญัติให้ศาสนาพุทธประจำชาติได้อย่างไร เราต้องคิดถึงศาสนาอื่นเขาด้วย

ตกลงว่า เวลาจะแจกเงิน ต้องได้รับแจกทุกคน 

แต่เวลาถูกตีหัว เลือกตีเป็นบางคน

พูดตามสำนวนในหนัง Unforgiven ก็ต้องว่า 

That ain’t fair! 

ไม่ยุติธรรมโว้ย!

(เสียงพากย์ไทยอย่างนี้จริงๆ)

ส่วนที่อ้างว่า-ควรจัดการเป็นการภายใน พระท่านมีเจ้าคณะปกครองดูแลกันอยู่แล้ว ให้ท่านไปว่ากันเอง-ผมค่อนข้างสิ้นหวัง

ที่ข้างบ้านผมมีบุคคลแต่งตัวคล้ายพระ แต่ไม่อยู่วัด ไพล่ไปอยู่บ้าน อยู่อย่างเปิดเผย ไม่ได้ปิดบังซ่อนตัว ทำกิจกรรมต่างๆ อยู่ในบ้านเหมือนคนบ้านทั่วไป ตอนสายๆ ตลาดเลิก ผู้หญิงในบ้าน-ซึ่งเข้าใจว่าจะเป็นปุราณทุติยิกา-เข็นรถขายของกลับจากตลาดจะเข้าบ้าน ท่านผู้นั้นนุ่งสบงใส่อังสะตัวเดียวก็จะออกมาช่วยเข็นรถเข้าบ้าน ทุกวัน ผมเจอบ่อย

วัดของท่านเจ้าคณะปกครองก็อยู่คนละฟากถนนนั่นเอง

ถามว่าท่านเจ้าคณะผู้ปกครองทราบหรือไม่?

ปัญหานี้ก็คล้ายๆ กับอีกปัญหาหนึ่ง-ที่ผมเห็นพระนั่งบิณฑบาต ก็เข้าไปนมัสการท่านเจ้าอาวาสซึ่งรู้จักกันเป็นอันดี

ท่านตอบว่า ในห้องเขามีมีดดาบยาวเป็นวา ถ้าเขาแทงอาตมา อาจารย์รับผิดชอบได้ไหมล่ะ

อ้าว!!

——————-

ได้ยินมาว่า ในท้องที่แห่งหนึ่ง มีผู้หวังดีเข้าไปเล่าแจ้งรายละเอียดในการประพฤติไม่ถูกไม่ควรให้ท่านเจ้าคณะผู้ปกครองทราบ ท่านเจ้าคณะฟังจบแล้วท่านก็บอกสั้นๆ ว่า โยมไปทำเรื่องมาสิ

“ไปทำเรื่องมาสิ” หมายความว่าให้ไปเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรมาเป็นทางการ

ระบบการบริหารของสงฆ์ยังยึดติดในเรื่องนี้มาก คือทุกเรื่องจะต้องมีแผ่นกระดาษเข้ามาส่งถึงมือจึงจะเริ่มพิจารณา (เริ่มพิจารณาเท่านั้น ยังไม่ใช่เริ่มแก้ไข จะแก้หรือไม่แก้ยังต้องพิจารณาต่อไปอีก) – ซึ่งก็เหมือนกับระบบบริหารราชการแผ่นดินของไทยที่แทบทุกกระทรวงทบวงกรมใช้วิธีนั่งรอให้ปัญหาวิ่งเข้ามาชน แต่ยากนักที่จะวิ่งออกไปชนกับปัญหา

หลายๆ กรณี ตัวท่านเจ้าคณะปกครองทำเสียเอง หรือมิเช่นนั้นก็ตกเข้าไปในอิทธิพลของผู้ประพฤติมิชอบด้วยวิธีการที่แนบเนียน (รู้กันดีว่าคืออะไรอย่างไร) จึงแทนที่จะดำเนินการแก้ไข ก็กลับช่วยปกป้องให้เสียอีก

………….

จะเห็นได้ว่า เอาปัญหามาพูด ก็ถูกตำหนิว่ากวนน้ำให้ขุ่น เอาเรื่องเสียหายมาขายศาสนา

นิ่งไว้ ให้ท่านจัดการกันเอง ท่านก็มาเป็นเสียอย่างนี้

——————-

เวลานี้มีกระแสแนวคิดที่น่าจับตามอง ๔ อย่าง คือ

๑ ยกเอาภัยจากต่างศาสนาขึ้นมาปราม-เอาเรื่องเสื่อมเสียมาประจานอย่างนี้อายต่างศาสนาเขาไหม เขายุให้เราทะเลาะกันยังไม่รู้ตัว เจตนาก็คือ ไม่ว่าใครจะทำไม่ดีไม่งามอย่างไรต้องเงียบไว้เท่านั้น อย่าเอามาพูด จะตกเป็นเหยื่อของต่างศาสนาเขา

ดูคล้ายกับจะกลัวภัยจากต่างศาสนาซึ่งยังไม่มาถึง มากกว่าภัยที่เกิดจากความประพฤติของคนในศาสนาที่กำลังเกิดอยู่ตรงหน้า

๒ คนที่เอาความประพฤติไม่ถูกไม่ควรของพระขึ้นมาพูดมักจะถูกเพ่งเล็ง ถูกรุมประณามว่าเป็นตัวเร่งให้ศาสนาเสื่อม (เรื่องดีๆ ไม่มีให้พูดแล้วหรือไง) ตรงกันข้าม ผู้ประพฤติไม่ถูกไม่ควรกลับลอยตัว ไม่มีใครเอ่ยถึง โดยเฉพาะก็คือไม่มีใครเอ่ยถึงความประพฤติไม่ถูกไม่ควรอันเป็นเหตุให้ต้องมีคนเอามาพูดนั้นเลย

ตรงนี้ทำให้นึกถึงคำกลอนวรรคหนึ่งในนิทานขรัวเต๊ะที่ว่า –

“มาส่งโจทก์ให้จำเลยไม่เคยเห็น”

คือผู้ประพฤติไม่ถูกไม่ควรกลายเป็นคนถูก 

คนเอาเรื่องมาพูดกลายเป็นคนผิดไป

นิทานขรัวเต๊ะเป็นหนังสือที่แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ว่าด้วยพระในวัดแห่งหนึ่งรวมหัวกันประพฤติชั่ว ชาวบ้านก็หลงศรัทธา พอมีคนที่รู้ความจริงพูดขึ้น คนพูดกลับถูกชาวบ้านจับตัวไปให้พระกลุ่มนั้นชำระโทษ

หนังสือนี้แต่งเป็นกลอน อ่านสนุก ผมมีต้นฉบับถ่ายสำเนาซึ่งได้รับความเอื้อเฟื้อจากท่านอาจารย์ Chachapon Jayaphorn ผมเอามาสแกนไว้ กำลังจะขอแรงญาติมิตรที่มีฝีมือช่วยเอาไปทำเป็นไฟล์เพื่อดาวน์โหลดเอาไปอ่านกันได้

๓ ความประพฤติไม่ถูกไม่ควรของพระนั้นเป็นเรื่องธรรมดา มีมาทุกยุคสมัย ความผิดก็เป็นเพียงอาบัติเล็กน้อย ไม่มีใครเขาถือกัน จึงไม่ควรยกขึ้นมาทำให้เป็นเรื่องใหญ่

แนวคิดนี้สวนทางกับพระพุทธพจน์ที่ตรัสถึงคุณสมบัติของภิกษุที่ดีในพระศาสนานี้ว่า –

อนุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี 

ผู้มีปกติเห็นความผิดเพียงเล็กน้อยว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัว

๔ “พระทุกรูปบวชโดยความเห็นชอบของสงฆ์ การจะให้พระรูปใดรูปหนึ่งพ้นจากความเป็นพระจะต้องได้รับอนุมัติจากสงฆ์” 

แนวคิดนี้มาใหม่ ผมกำลังตรวจค้นในคัมภีร์ว่ามีแสดงหลักการเช่นว่านี้ไว้บ้างหรือไม่ ญาติมิตรท่านใดพบ ขอความกรุณาแจ้งเป็นวิทยาทานด้วยครับ

ผมเชื่อว่าแนวคิดนี้จะถูกใจคนรุ่นใหม่ที่บูชาประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เพราะฟังดูเป็นหลักการที่เป็นประชาธิปไตย

ผมเข้าใจว่าแนวคิดนี้เกิดจากการที่พระประพฤติไม่ถูกไม่ควร เช่น กินเหล้า เสพยาบ้า เล่นการพนัน ถูกกระแสสังคมเรียกร้องให้ “จับสึก” จึงมีท่านจำพวกหนึ่งเห็นว่า การจับสึกนั้นเทียบเท่ากับโทษประหารชีวิต แต่ความผิดที่ทำมีโทษไม่ถึงขั้นนั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรจับสึกกันง่ายๆ

เจตนานั้นดี แต่ผลที่ตามมาอาจไม่เป็นอย่างที่คิด

ถ้าพูดกันลอยๆ ไม่อิงพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง แนวคิดเช่นนี้จะกลายเป็นมาตรการปกป้องคนทำผิดไปอย่างคาดไม่ถึง

พระที่ประพฤติผิดถึงขั้นขาดจากความเป็นพระ หรือแม้ไม่ถึงกับขาดจากความเป็นพระ แต่ทำความเสื่อมเสียให้แก่พระศาสนาอย่างร้ายแรง อาจใช้เล่ห์เพทุบายทำให้คณะสงฆ์ “ไม่อนุมัติ” ให้สึก ก็สามารถอยู่เป็นพระต่อไปได้สบายๆ

เท่ากับว่า-หลักการนี้ใหญ่กว่าพระธรรมวินัยนั่นเอง

ถ้าสังคมชวนกันคิดแบบนี้ ก็จะมีความหมายเท่ากับว่า-ท่าทีของผู้เกี่ยวข้อทุกฝ่ายเช่นนี้เองได้กลายเป็นสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลให้ผู้ประพฤติไม่ถูกไม่ควรได้มีโอกาสประพฤติไม่ถูกไม่ควรต่อไปได้เป็นอย่างดี

——————-

นึกถึงเรื่องนี้ ผมนึกถึงสงครามเวียดนาม คือสงครามที่อเมริกามารบกับพวกเวียดกงที่ประเทศเวียดนาม 

อเมริกานั้นยิ่งกว่าใหญ่เวียดกงหลายร้อยเท่า กำลังคนมากกว่า อาวุธยุทโธปกรณ์มากกว่า ทันสมัยกว่า เรียกว่าเหนือกว่าทุกทาง

เวียดกงนั้นแม้แต่รองเท้าก็ไม่มีจะใส่ได้ครบคน ไม่ต้องพูดถึงเรื่องอื่น

แต่ในที่สุดอเมริกาแพ้ ต้องถอยทัพกลับบ้านอย่างหมดรูป – แพ้ทั้งๆ ที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกทางนั่นแหละ

คำถามคือ ทำไม?

คนอื่นว่าอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ในความเห็นของผม-เพราะ-นโยบายหรือแนวคิด และการบริหารจัดการที่ไม่ถูกต้องนั่นเองคือสาเหตุ

คณะสงฆ์ของเรามีพระเถรานุเถระระดับขุนศึกแน่นขนัด 

มีพระราชาคณะพระเปรียญเสมือนแม่ทัพนายกองสะพรึบพร้อม 

มีกำลังพลคือพระหนุ่มเณรน้อยสะพรั่งไปทุกที่ 

มีพุทธศาสนิกชนเป็นสรรพกำลังสนับสนุนพร้อมมูล

แต่-นโยบายหรือแนวคิด และการบริหารจัดการที่ถูกต้อง ยังไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน

ถ้าสมมุติว่าคณะสงฆ์ไทยเป็นอเมริกา

Who is Viet Cong?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐

๑๗:๓๘

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *